“หมออ๋อง” กังขา พปชร.รีบแก้ รธน. แทนที่จะปล่อย ส.ส.ร. “วิรัช” ขอเด็ดขาดไม่ปล่อยสงครามน้ำลาย เสียเวลาหวั่นประชุมล่ม “พรเพชร” รับห้ามอาจจะไม่ฟัง ภท.ชวนหนุนม. 55/1 “ถวิล” ค้านแก้ ม.144 ทำป่าช้าแตก และ ม.185 ย้อนตนเคยถูกย้ายสนองนักการเมือง
วันนี้ (24 มิ.ย.) ที่รัฐสภา มีการประชุมร่วมกันของรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 13 ฉบับ ต่อเป็นวันที่ 2 โดยมี นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา ทำหน้าที่เป็นประธานการประชุม โดยก่อนเข้าสู่วาระ นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) ได้ขอหารือว่า อยากให้ประธานฯ ทำหน้าที่ควบคุมการอภิปรายให้อยู่ในกรอบ เพราะเมื่อวานนี้ (23 มิ.ย.) ในช่วงการอภิปรายเกิดการปะทะกัน และเริ่มหนักขึ้น บางช่วงมีการพูดเสียดสีบอกว่า ส.ส. เอาดีใส่ตัวเอาชั่วใส่ ส.ว.นั้น ประธานฯ ไม่มีการพูดตัดบท ทั้งที่ตนพยายามบอกสมาชิกรัฐสภาให้อภิปรายให้อยู่ในกรอบ วันนี้จึงอาจทำให้สมาชิกเกิดอารมณ์คั่งค้าง ตนจึงอยากให้เราคุยกันด้วยเหตุด้วยผล ส่วนที่ประธานฯ ได้ชี้แจงเวลาอภิปรายที่เหลือของแต่ละฝ่าย ส่วนนี้ก็เป็นปัญหา เพราะแต่ละฝ่ายส่งรายชื่อกันทีละคนสองคน เหมือนการคุมเชิงกัน ตนอยากให้ทุกฝ่ายร่วมมือร่วมใจกันใช้เวลาที่มีค่า เพราะเราทราบกันว่าเวลา 16.00 น. เราต้องเริ่มนับคะแนน และต้องสิ้นสุดไม่เกิน 22.00 น. แต่หากดึกกว่านั้น องค์ประชุมไม่ครบจะเป็นอย่างไร จึงอยากให้ประธานฯ ดูแลองค์ประชุมเคร่งครัด
จากนั้น นายพรเพชร ชี้แจงว่า กรณีที่ตนไม่ค่อยห้ามการโต้เถียง และปล่อยให้พูดเสียดสีนั้น หากตนดำเนินการ สมาชิกฯก็จะไม่ฟัง จึงอาจเป็นการเสียเวลา หากตนไปขัดจังหวะก็จะลุกขึ้นมาอีกหลายครั้ง ส่วนไหนที่ไม่เกินเลยกันมากตนก็ปล่อย ส่วนเรื่องการเสนอชื่อขึ้นมาว่าใครขึ้นอภิปรายก่อนหลัง อย่างวันนี้ ส.ส. ฝ่ายค้านก็ยื่นมา 1 คน ฝ่ายรัฐบาลก็มีหลายคน และ ส.ว. ยื่นมา 3 คน แต่เนื่องจาก ส.ว. เหลือหลายคน ดังนั้น ในบางช่วงตนจะให้ ส.ว. พูด 2 คน และสลับกับฝ่ายค้าน และฝ่ายรัฐบาล ไม่เช่นนั้นหากครบเวลาทั้ง 2 ฝ่ายแล้ว จะต้องฟังแต่ ส.ว.พูด ตนไม่ได้ลำเอียงหรือไม่เป็นกลาง
ทั้งนี้ สมาชิกยังคงอภิปรายแสดงความเห็นอย่างหลากหลาย โดยส่วนใหญ่อภิปรายสนับสนุนการกลับไปเลือกตั้งรูปแบบเดิม คือ บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ขณะที่สมาชิกบางส่วนที่เป็น ส.ว. ยังคงไม่เป็นด้วยกับ ม.144 และ ม.185
นายชัยชนะ เดชเดโช ส.ส. นครศรีธรรมราช สมาชิกรัฐสภา กล่าวว่า ตนอยากให้สมาชิกอย่าคิดเพียงแค่ผลประโยชน์ส่วนตัวชั่วคราวที่มีในรัฐธรรมนูญฯ ในเวลานี้ แต่ขอไตร่ตรองและพิจารณาถึงผลประโยชน์ของประเทศและประชาชนเป็นสำคัญ ก่อนที่จะตัดสินใจลงมติในวันนี้ เราจำเป็นต้องแก้รัฐธรรมนูญ โดยในส่วนที่เกี่ยวกับระบบเลือกตั้ง ขอให้กลับไปใช้สัดส่วนจำนวน ส.ส. เหมือนรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2540 คือ ส.ส.เขต 400 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 100 คน เนื่องจากขณะนี้ ส.ส.แต่ละคนต้องดูแลประชาชนและพื้นที่จำนวนมาก โดยปัจจุบัน ส.ส. 1 คนต่อประชากรราว 180,000 คน ทำให้บางครั้ง ส.ส. ไม่สามารถดูแลประชาชนได้อย่างทั่วถึง ซึ่งถ้าหากเพิ่มจำนวนเขตเลือกตั้งเป็น 400 เขตแล้ว ส.ส. ก็สามารถดูแลประชาชนในเขตเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพ และ ให้การให้มีบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ เพื่อเป็นการให้ประชาชนแสดงเจตนารมณ์ของตนเอง เพราะบางคนก็ชอบคนแต่ไม่ชอบพรรค บางคนชอบทั้งพรรคทั้งคน ซึ่งถือได้ว่า เป็นการคานอำนาจกันระหว่าง ส.ส. 2 ประเภท
นอกจากนี้ ความไม่ชัดเจนในบทบัญญัติที่ห้ามไม่ ส.ส.แทรกแซงฝ่ายข้าราชการ เพราะผมเห็นว่า หากประชาชนมีเรื่องร้องเรียนมายังพวกผม พวกผมก็ต้องส่งเรื่องให้หน่วยงานราชการที่เกี่ยวข้อง เพื่อขอให้เร่งรัดในการแก้ไขปัญหาประชาชน แต่บางครั้ง พวกผมก็เสี่ยงที่จะถูกกล่าวหาว่า ตนไปแทรกแซงการทำงาน
“ปัญหาความเดือดร้อนของประชาชนไม่ควรได้รับการบอกกล่าวแค่ในสภาเท่านั้นเพราะฉะนั้น การแก้ไขรัฐธรรมนูญคราวนี้ จะเป็นการแก้ไขเพื่อประโยชน์ของประชาชนจริงๆ ดังนั้น ผมจึงอยากให้สมาชิกรัฐสภาทุกท่าน ใช้วิจารญาณในการลงมติรับร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ เพื่อเป็นการแก้ไขจุดบกพร่องของประชาธิปไตยในประเทศไทย ให้กลับมาสมบูรณ์ได้” นายชัยชนะกล่าว
นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ส.ส. พิษณุโลก เขต 1 พรรคก้าวไกล อภิปรายให้ความเห็นต่อร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในเรื่องของระบบเลือกตั้ง โดยระบุว่า เป็นที่แน่ชัดว่าการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญมาตราต่างๆที่พรรคพลังประชารัฐเสนอไม่ได้เพื่อแก้ปัญหาทางโครงสร้างการเมืองที่บิดเบี้ยวเลย เอาข้อดีบางข้อมาอ้าง เพื่อปกปิดมาตราสำคัญ แต่กลับยิ่งส่งเสริมผลประโยชน์ของรัฐบาลใน ‘ระบอบประยุทธ์’ การเสนอใน ม.144 และ ม.185 เปิดช่องให้ ส.ส.และ ส.ว. เข้าไปแทรกแซงการทำงานของราชการและการจัดสรรงบประมาณได้ พอมาบวกกับการเสนอแก้ไขระบบการเลือกตั้ง โดยไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. สภาแห่งนี้และประชาชนเลยดูออกไม่ยากว่า หวังกินทั้งงบประมาณ กินทั้งอำนาจในพื้นที่ กินอำนาจในการเลือกนายกรัฐมนตรี กินรวบเบ็ดเสร็จและมูมมาม
“ตอนนี้นอกห้องประชุม ประชาชนเกิดคำถาม เกิดความกังวล และความไม่เชื่อมั่นว่า เรากำลังทำอะไรกันอยู่ การเดินหน้าผลักดันให้ประชาชนจัดทำรัฐธรรมนูญทั้งฉบับไม่คืบหน้าเลยแม้แต่น้อย ถูกตีตก ถ่วงเวลาสารพัดรูปแบบ หรือถ้าจะทำก็ไปกำหนดตรงนั้นตรงนี้ให้ แก้นั้นได้ แก้นี้ไม่ได้ สารพัดวิธีการที่จะไม่ให้อำนาจกับประชาชน แต่กลับรีบเร่งเสนอเสนอหลายมาตรา หลายประเด็นจนประชาชนสับสน ขอให้ยอมรับกันตรงไปตรงมาว่า การเสนอแก้กติกาเรื่องการเลือกตั้งโดยไม่ปิดสวิตช์ ส.ว. เป็นไปเพื่อประโยชน์ของตัวเองทั้งนั้น และที่น่าสลดก็คือ เมื่อจะคุยเรื่องกติกาการแข่งขัน ผู้เล่นที่มีส่วนได้เสียมาเถียงกันเรื่องระบบเลือกตั้งกันเอง จึงไม่น่าแปลกใจที่ประชาชนจะตำหนิสภา ว่าเห็นแก่ประโยชน์ของตัวเองกันอยู่”
นายปดิพัทธ์ ชี้ว่า พรรคก้าวไกลเอง ก็ถูกกล่าวหาว่าที่ไม่ต้องการให้มีการแก้กติกาเลือกตั้ง เพราะกลัวแพ้ อยากยืนยันว่า ตนและเพื่อนๆอดีตพรรคอนาคตใหม่ เข้าสู่สนามการเลือกตั้งด้วยรัฐธรรมนูญ 60 โดยรู้ทั้งรู้ว่ากติกานี้ไม่ใช่แค่กติกาที่ไม่เป็นธรรมเท่านั้น แต่เขียนมาเพื่อพรรคที่สนับสนุนการสืบทอดอำนาจของ คสช. มีการใช้อำนาจรัฐเอาเปรียบทุกรูปแบบ แต่เราก็ตัดสินใจแข่ง เนื่องจากไม่รู้จะลงคะแนนให้พรรคใดที่เป็นตัวแทนอุดมการณ์และนโยบายที่เราต้องการ เราจึงตั้งพรรคขึ้นมาโดยยืนยันมาแต่แรกว่าพร้อมสู้ในทุกกติกา
นายณัฏฐ์ชนน ศรีก่อเกื้อ ส.ส.สงขลา พรรคภูมิใจไทย อภิปรายว่านายมีชัย ฤชุพันธุ์ อดีตประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) และคณะ รวม 21 คน ช่วยกันทำคลอดรัฐธรรมนูญ 60 กระทั่งมีลูก 2 คน วันนี้ทะเลาะกันทุกครั้ง ทั้งคำพูด และการแสดงออก พูดแบบชาวบ้านเรียกว่าตีกันเละ ลูกคนคนโต คือ ส.ว. 250 คน มาจากการแต่งตั้ง มีอำนาจโหวตนายกรัฐมนตรี นี่คือสิ่งที่กรธ. ฝากเป็นบาดแผลให้กับส.ว. ลูกคนเล็ก คือ ส.ส. 500 คน แต่พ่อแม่รักไม่เท่ากันปัญหาจึงเกิดขึ้น หลายคนบอกว่าการแก้ปัญหาของเรื่องนี้ คือการแก้รัฐธรรมนูญ 60 ซึ่งมีหลายฉายาทั้งรัฐธรรมนูญปราบโกง รัฐธรรมนูญคสช. รัฐธรรมนูญฉบับสืบทอดอำนาจ และรัฐธรรมนูญฉบับมีชัย วันนี้ ส.ส.ได้เสนอแก้ไขแล้ว 13 ฉบับ แต่สิ่งที่เราต้องพิจารณาคือประชาชนได้อะไรจากการแก้ไข ซึ่งพรรคภูมิใจไทย ขอแก้ไขมาตรา 55/1 กำหนดให้รัฐต้องจัดให้ประชาชนได้รับรายได้พื้นฐานอันจำเป็นต่อการดำรงชีพทั่วถึง เราเรียกว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับกินได้ เราไม่ได้แก้เพื่อตัวเอง แต่เราแก้เพื่อคนจนเพื่อคนหาเช้ากินค่ำ เป็นรัฐธรรมนูญยาใจคนจน ขอให้เพื่อนสมาชิกรัฐสภา สนับสนุนร่างแก้ไขฉบับนี้ เพื่อเป็นขวัญกำลังใจให้คนจน
นายถวิล เปลี่ยนสี ส.ว.อภิปรายว่า แม้รัฐธรรมนูญจะเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ ที่วางโครงการของบ้านเมือง กรอบกติกาอำนาจฝ่ายต่างๆ ในบ้านเมือง ตามหลักการแล้วไม่ควรได้รับการแก้ไขอย่างพร่ำเพรื่อ แต่เมื่อสถานการณ์เปลี่ยนไปก็ย่อมแก้ไขได้ แต่ครั้งที่แล้วที่เห็นว่าไม่ควรแก้เพราะเสนอแก้ม.256 หมวด15 เพื่อให้มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญใหม่ทั้งฉบับ เพราะไปทำเรื่องยาก แต่เมื่อเข้ามาช่องทางที่ถูกต้องคือรายมาตรา ก็เป็นโอกาสที่ส.ว.ที่ถูกต่อว่ามาตลอดว่าทำตัวเป็นจรเข้ขวางคลอง เป็นอุปสรรคต่อการแก้ไขรัฐธรรมูญมาตลอด ครั้งนี้จะตัดทอนเพิ่มเติมอะไร แม้จะกระทบต่อสิ่งที่ถูกกล่าวหาว่าเป็นผลประโยชน์ของพวกเราก็ทำได้เต็มที่มั่นใจว่าพวก ส.ว.จะพิจารณาด้วยเหตุผล
นายถวิล กล่าวว่า ม.144 ที่ตัดบทลงโทษที่รุนแรงตั้งแต่พ้นจากตำแหน่ง สิ้นสุดสมาชิกภาพ ตัดสิทธิ์ทางการเมือง รวมถึงติดคุกกับคนที่เข้าไปแทรกแซงงบประมาณ ถือเป็นการทำลายหลักการสำคัญ คือ การมุ่งการปราบโกงที่มีมายาวนาน หากปล่อยประเด็นนี้ออกไป ก็เหมือนไปแก้มัดตราสัง ป่าช้าแตกอย่างแน่นอน ปล่อยให้มีคอรัปชั่นหลอกหลอนประชาชนกันอีกรอบ ประเด็นนี้จึงรับไม่ไหว
และ ม.185 ที่ยอมไม่ได้เช่นกันที่แก้ไขให้ ส.ส. ส.ว. และ รมต. ใช้สถานะตำแหน่งหน้าที่ก้าวก่ายแทรกแซงโอนย้าย เลื่อนตำแหน่งเงินเดือน ขรก.และเจ้าหน้าที่รัฐ ตนเห็นแล้วแสลงใจมากเพราะเจอกับตัวเองและเจ็บจริงกับเรื่องนี้ เพราะเจ้าหน้าที่ของรัฐไม่ใช่พนักงาน ยาม คนงานส่วนตัวในบ้านที่นึกจะโอนย้าย เปลี่ยนหน้าที่ ลงโทษ หรือไล่ออกตามอำเภอใจ ท่านอาจจะคุ้นเคยในระบบของท่าน แต่ระบบราชการมีระบบคุณธรรมคุ้มครองอยู่จึงไม่ควรไปยุ่งปล่อยให้เขาอยู่กับระบบคุณธรรม ซึ่งมันดีอยู่แล้ว
“ผมประสบด้วยตัวเองที่ถูกโอนย้ายโดยไม่เกี่ยวข้องกับการบริหารราชการแผ่นดิน แต่ด้วยความสะใจ เพื่อประโยชน์ ของตนเอง พรรคพวก และญาติพี่น้องไม่น่ารื่นรมย์แต่อย่างใด สุดท้ายผมก็ต่อสู้เรียกหาความเป็นธรรมจนได้กลับคืนมาอย่างโดดเดี่ยว และยากลำบาก ต้องขอบคุณท่ีรับปากว่าจะไปแก้ไข 2 มาตรานี้ในขั้นกรรมาธิการ
ส่วนประเด็น ม.272 การได้รับความเห็นชอบผู้ได้รับการเสนอชื่อเป็นนายกรัฐมนตรี นายถวิล กล่าวว่า เรื่องนี้ต้องพูดกันให้ชัด จะพูดเอามันอย่างเดียว พวกตนแม้จะอายุมากกันแล้ว ไฟน้อยกันแล้ว แต่จะให้ใครมาปิดสวิตช์ง่ายๆ อย่างไร้เหตุผล จนถึงขั้นข่มขู่คุกคามเหยียดยามต่างๆ นั้น ยอมไม่ได้ แต่ถ้ามีเหตุผลมาพูดกัน ผมกระซิบเบาๆ ว่า เราพร้อมจะปิดสวิตช์ตัวเอง ในหลักการเสียงของ ส.ว.ไม่ได้ตัวชี้ขาดคนเป็นนายกฯ ถ้าไม่มีเสียงสนับสนุนในสภาไม่เพียงพอเป็นนายกฯไม่ได้ หรือถ้าได้เป็นก็เป็นได้ไม่นาน
“ส.ว. โดนด่าฟรี ทั้งที่ตอนเลือก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็น นายกรัฐมนตรี นั้นด้วยเสียง ส.ส. ไม่ใช่เสียงของ ส.ว. แบบนี้เนื้อไม่ได้กิน หนังไม่ได้รองนั่ง กลับโดนด่าฟรี ผมยอมรับว่า ส.ว.ไม่ได้มาจากประชาชน การเห็นขอบนายกรัฐมนตรี ไม่เป็นประชาธิปไตย หากเป็นสถานการณ์ปกติไม่ควรมี ดังนั้น ขอให้ตั้งสติ พิจารณาให้เป็นธรรม ใจกว้าง ว่า ความจริงเป็นประชาธิปไตยจริงหรือไม่ ตามหลักการที่สวยหรูหรือไม่ ที่ผ่านมา บ้านเมืองมืดมน ไม่ใช่ฝีมือพวกผม แต่มีกลุ่มที่อาศัยประชาธิปไตยบังหน้า โกงกิน คอร์รัปชัน ทำบ้านเมืองเสียหาย และเสนอกฎหมายนิรโทษกรรมเพื่อทำลายระบบนิติรัฐ นิติธรรม จนมีผู้ประท้วงจำนวนมาก ผมยอมรับว่า มีนักการเมืองที่ดี แต่มีไม่พอต้านทานคนไม่ดี ดังนั้น บทเฉพาะกาล จึงเขียนให้มี ส.ว. เพื่อเลือกนายกรัฐมนตรี” นายถวิล อภิปราย