xs
xsm
sm
md
lg

จาก ผบ.ทบ.สู่นักปกครอง มีผลงานจนจารนัยไม่หมด! ยูเนสโกยกย่องเป็นบุคลสำคัญของโลก!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค



คนที่อ่านประวัติศาสตร์ไทยคงจะต้องคุ้นเคยกับพระนาม พระเจ้าบรมวงศเธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นอย่างดี โดยเฉพาะในสมัยรัชกาลที่ ๕ ทรงมีบทบาทไปทุกด้าน ซึ่งล้วนแต่เป็นงานใหญ่มีความสำคัญต่อบ้านเมือง ทรงเป็นเสนาบดีที่วางรากฐานการปกครองมาจนถึงทุกวันนี้ ทรงริเริ่มจัดการศึกษา การสาธารณสุข และโบราณคดี ทั้งนิพนธ์หนังสือประวัติศาสตร์และความรู้ด้านต่างๆไว้กว่า ๖๕๐ เรื่อง เป็นคนไทยคนแรกที่องค์การยูเนสโกประกาศยกย่องให้เป็นบุคคลสำคัญของโลก ที่ทรงสร้างผลงานอันเป็นมรดกทางปัญญาไว้มาก แต่พระองค์ไม่ได้เป็นพระราชโอรสที่ได้ไปศึกษาในต่างประเทศเหมือนพระบรมวงศานุวงศ์อื่นๆ สำเร็จจากโรงเรียนนายร้อยทหารบกในไทย และรับราชการการทหารมาจนตำรงตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกพระองค์แรก ก่อนจะถูกโอนมาเป็นเสนาบดีกระทรวงมหาดไทยพระองค์แรกอีกเหมือนกัน

สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพ ทรงเป็นพระราชโอรสในพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กับเจ้าจอมมารดาชุ่ม ธิดาพระยาอัพภันตริกามาตย์ (ดิศ) ประสูติในพระบรมมหาราชวังเมื่อวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๔๐๕ ทรงเริ่มเรียนหนังสือและภาษาอังกฤษในโรงเรียนหลวง และผนวชเป็นสามเณรก่อนจะเข้าศึกษาต่อในโรงเรียนนายร้อยทหารบก สำเร็จการศึกษาในปี ๒๔๒๐ ได้รับพระราชทานยศนายร้อยตรีทหารมหาดเล็ก บังคับกองแตรวง และรับราชการทหารตลอดมาจนได้รับโปรดเกล้าฯเป็นผู้บัญชาการทหารบก

จากนั้นโปรดเกล้าฯให้ย้ายออกจากงานฝ่ายทหาร ไปปฏิบัติงานฝ่ายพลเรือน เป็นผู้กำกับกรมธรรมการ ต่อมาเป็นอธิบดีกรมศึกษาธิการ ผลงานของพระองค์ในช่วงนี้คือ ทรงกราบทูลพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวขอขยายโรงเรียนทหารมหาดเล็กที่ทรงตั้งขึ้นเมื่อเป็นผู้บังคับการกรมทหารมหาดเล็ก มารับพลเรือนเข้าร่วมเรียนด้วยด้วยเพื่อรับการขยายตัวของระบบราชการ และย้ายมาตั้งในพระบรมมหาราชวัง มีฝึกอย่างทหารและเรียนอย่างพลเรือน มีชื่อว่า “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” มีคนหนุ่มมาสมัครเข้าเรียนกันมากจนสถานที่คับแคบ จึงย้ายออกมานอกพระบรมมหาราชวัง เป็น “โรงเรียนสวนกุหลาบ” ในปัจจุบัน ทรงก่อตั้ง “โรงเรียนฝึกหัดข้าราชการพลเรือน” ซึ่งต่อมาได้กลายเป็น “จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย” มหาวิทยาลัยแรกของไทย รวมทั้งทรงแต่ง “ตำราเรียนเร็ว” ให้เด็กอ่านออกเขียนได้ภายใน ๓ เดือน ใช้แทนแบบเรียนเก่าที่ต้องใช้เวลาเรียนถึง ๓ ปี จนมีเด็กลาออกไปก่อนที่จะอ่านออกเขียนได้

ในปี ๒๔๓๕ ได้รับโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย เพื่อวางรากฐานการปกครองแบบใหม่ ทรงจัดระบบการปกครองส่วนภูมิภาค เป็นระบบ “เทศาภิบาล” รวมหัวเมืองต่างๆเป็นมณฑล มีข้าหลวงเทศาภิบาลเป็นผู้บังคับบัญชา อยู่ในอำนาจของเสนาบดีกระทรวงมหาดไทย แบ่งเขตยอยลงไปเป็นจังหวัด อำเภอ ตำบล และหมู่บ้าน

ในด้านสาธารณสุข ทรงมีพระดำริให้มี “โอสถสภา” สำหรับผลิตยาแจกจ่ายให้ราษฎรในตำบลห่างไกล ปัจจุบันคือ “สถานีอนามัย” ทรงจัดตั้ง “ปาสตุรสภา” สถานที่ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งปัจจุบันก็คือ “สถานเสาวภา” ทั้งยังทรงวางรากฐานกิจการพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ ทรงจัดตั้งกรมศิลปากร กรมพยาบาล กรมป่าไม้ และริเริ่มการออกโฉนดที่ดิน

ในปี ๒๔๕๘ ดำรงตำแหน่งเสนาบดีกระทรวงมุรธาธร ส่วนยศทางการทหารได้เลื่อนขึ้นเป็นนายพลเอก

สมัยรัชกาลที่ ๗ ในปี ๒๔๖๘ ทรงดำรงตำแหน่งอภิรัฐมนตรี และในปีต่อมาดำรงตำแหน่งนายกราชบัณฑิตสภา ในปี ๒๔๗๒ จึงได้รับโปรดเกล้าฯเลื่อนพระอิสริยยศเป็น “สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ”
 
หลังเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี ๒๔๗๕ กรมพระยาดำรงฯและครอบครัวต้องทรงลี้ภัยไปอยู่ปีนัง และต้องทรงเผชิญกับความลำบากยากเข็นทั้งด้านการเงินใช้จ่ายเมื่อเกิดสงครามโลกครั้งที่ ๒ ต่อมาในปี ๒๔๘๕ ทรงมีพระอาการประชวรด้วยโรคพระหทัยพิการ จึงขออนุญาตญี่ปุ่นผู้ยึดครองกลับมารักษาพระองค์ในประเทศไทย จนมีพระอาการดีขึ้น แต่ต่อมาในวันที่ ๑ ธันวาคม ๒๔๘๖ ก็สิ้นพระชนม์ ณ วังวรดิศ ขณะพระชันษาได้ ๘๑ ปี

ในวันที่ ๒๑ มิถุนายน ๒๕๐๕ ครบรอบ ๑๐๐ ปีวันประสูติ องค์การยูเนสโกแห่งสหประชาชาติ ได้ประกาศให้กรมพระยาดำรงราชานุภาพเป็นบุคคลสำคัญของโลก ทรงเป็น “พระบิดาแห่งประวัติศาสตร์ไทย” เนื่องด้วยผลงานที่ทรงสร้างไว้ขณะยังมีพระชนมชีพได้ตกเป็นมรดกทางปัญญาของคนไทยมาจนทุกวันนี้ ทั้งในด้านการศึกษา สาธารณสุข ประวัติศาสตร์ และโบราณคดี

และในวันที่ ๒๗ พฤศจิกายน ๒๔๕๕ คณะรัฐมนตรีกำหนดให้วันที่ ๑ ธันวาคมของทุกปี ซึ่งเป็นวันสิ้นพระชนม์ เป็น “วันดำรงราชานุภาพ” เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รำลึกถึงพระองค์ ผู้ทรงมีคุณูปการต่อประเทศชาติ






กำลังโหลดความคิดเห็น