อธิบดีกรมอนามัย ออกมาเปิดเผย หลังมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับ “แตงโมต้มน้ำตาล” รักษาโรคไต ยืนยันไม่สามารถรักษาได้ อีกทั้งหากรับประทานมากๆ เสี่ยงเป็นโรคเบาหวาน
จากกรณีมีการแชร์ข้อมูลเกี่ยวกับการใช้แตงโมพร้อมสูตรรักษาโรคไต ที่คนจีนนิยมใช้ เพื่อรักษาและบำรุงไต โดยใช้แตงโมต้มด้วยไฟอ่อนๆ เติมน้ำตาลเล็กน้อยปั่นทิ้วไว้ 4-5 วัน จะได้น้ำเหนียวๆ เรียกว่าน้ำตาลแตงโม กินครั้งละ 1 ช้อนโต๊ะ วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
ล่าสุด วันนี้ (9 มิ.ย.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย ออกมาเตือนถึงการแชร์เนื้อหาดังกล่าว ว่า ไม่เป็นความจริงแต่อย่างใด นอกจากจะรักษา “โรคไต” ไม่ได้แล้ว การกินน้ำตาลมากเกินไป ก็มีความเสี่ยงต่อโรคอ้วน เบาหวาน และฟันผุ ได้อีกด้วย โดยปกติผู้เป็น “โรคไต” ต้องควบคุมและจำกัดอาหารตามระยะของ “โรคไตเรื้อรัง” ไม่กินอาหารที่มีโซเดียม โพแทสเซียม และฟอสฟอรัสมาก และต้องควบคุมอาหารตามคำแนะนำของแพทย์และนักกำหนดอาหาร โดยเฉพาะ ผู้ที่มีระดับโพแทสเซียมในเลือดสูง ต้องงดกินผักและผลไม้ที่ มีโพแทสเซียมปานกลางและสูง ได้แก่ แครอท บล็อกโคลี ถั่วฝักยาว ฟักทอง มะเขือเทศ ส้มโอ องุ่น แก้วมังกร มะละกอ ส้ม ฝรั่ง แตงโม เป็นต้น
นอกจากนี้ ผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังควรระมัดระวังเรื่องการบริโภคอาหารด้วย โดยกินข้าวแป้งซึ่งเป็นแหล่งของคาร์โบไฮเดรต ไม่เกิน 6 ทัพพีต่อวัน ได้แก่ ข้าวขาว วุ้นเส้น ก๋วยเตี๋ยวเซี่ยงไฮ้ สาคู เป็นต้น หลีกเลี่ยงข้าวกล้องและขนมปัง กินเนื้อสัตว์ที่เป็นแหล่งของโปรตีน ได้แก่ ไข่ขาว เนื้อปลา เนื้อไก่ เนื้อหมูไม่ติดมัน เป็นต้น กินเนื้อสัตว์ไม่เกิน 7 ช้อนโต๊ะต่อวัน สำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะ 1-3 และไม่เกิน 5 ช้อนโต๊ะต่อวันสำหรับผู้ป่วยไตเรื้อรังระยะ 4-5 รวมถึงบริโภคอาหารลดหวาน มัน เค็ม โดยกินน้ำตาลไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน น้ำมันไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน และเกลือไม่เกิน 1 ช้อนชาต่อวัน
อีกทั้งควบคุมโซเดียม หลีกเลี่ยง น้ำปลา ซอสปรุงรส ผงชูรส อาหารหมักดอง เนื้อสัตว์แปรรูปต่างๆ ผักผลไม้ที่มีโพแทสเซียมสูง อาหารที่มีฟอสฟอรัสสูง ได้แก่ นม ไข่แดง ถั่ว ชา กาแฟ เป็นต้น และอาหารที่มีพิวรีนสูง ได้แก่ เครื่องในสัตว์ ยอดผัก ใจผัก หน่อไม้ หน่อไม้ฝรั่ง เป็นต้น