กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข ห่วงประชาชนบางกลุ่มไม่กล้ากินเนื้อไก่ช่วงนี้ หวั่นเกิดการปนเปื้อนจากโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ในจังหวัดสระบุรี แนะเพิ่มความมั่นใจก่อนกินต้องปรุงสุกทุกครั้ง พร้อมย้ำล้างมือให้สะอาดทั้งก่อนและหลังปรุงอาหาร
วันนี้ (1 มิ.ย.) นายแพทย์สุวรรณชัย วัฒนายิ่งเจริญชัย อธิบดีกรมอนามัย เปิดเผยว่า จากกรณีการระบาดของโควิด-19 ภายในโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรีข้อมูล ณ วันที่ 30 พฤษภาคม 2564 ทางสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดสระบุรีได้ ดำเนินการตรวจค้นหาผู้ป่วยเชิงรุกพนักงานโรงงานแปรรูปเนื้อไก่สระบุรี ซึ่งมีพนักงานรวมทั้งสิ้นจำนวน 5,862 คน ได้ตรวจเชิงรุกแล้วจำนวน 3,400 คน ทราบผลการตรวจแล้ว จำนวน 2,299 คน พบผู้ติดเชื้อจำนวน 391 คน ส่งผลให้ประชาชนบางกลุ่มมีความวิตกกังวลต่อการบริโภคเนื้อไก่ในช่วงนี้ ซึ่งที่ผ่านมาข้อมูลขององค์การอนามัยโลกยังไม่พบหลักฐานที่แสดงว่ากระบวนการปรุงประกอบทําให้มีการแพร่เชื้อโควิด-19 ส่วนข้อมูล ขององค์การอาหารและยาของสหรัฐอเมริกา ระบุว่าความเสี่ยงจากการติดเชื้อผ่านทางอาหารและภาชนะบรรจุอาหารนั้นมีค่อนข้างต่ำ แม้ว่าจะมีรายงานพบผู้ป่วยจากโรงงานหรือสถานประกอบการผลิตอาหาร แต่ยังไม่มีหลักฐานแสดงว่าเชื้อไวรัสผ่านมาถึงผู้บริโภคโดยผ่านอาหาร หรือบรรจุภัณฑ์จากโรงงานที่มีคนงานติดเชื้อ
“ทั้งนี้ เพื่อเพิ่มความปลอดภัยประชาชนควรเลือกซื้อไก่จากแหล่งที่เชื่อถือได้ และก่อนนำไก่ดิบมาปรุงประกอบอาหารต้องล้างให้สะอาดก่อน โดยเฉพาะภายนอกบรรจุภัณฑ์ก่อนนำมาเก็บหรือเตรียมปรุงเพื่อกำจัดคราบไขมัน สิ่งสกปรกที่ติดมาออกไป ถ้ามีมากควรล้างด้วยน้ำอุ่นหรือน้ำสะอาด แล้วจึงนำมาชำแหละเอาส่วนต่าง ๆ และกระดูกที่ไม่ต้องการออก เพื่อนำมาปรุงสุกโดยใช้ความร้อนสูงกว่า 70 องศาเซลเซียส ในเวลาไม่น้อยกว่า 5 นาที เป็นการทำลายเชื้อโรคต่าง ๆ รวมถึงเชื้อโควิด-19 ได้ด้วย แต่หากซื้อเนื้อไก่แช่แข็งผ่านทางออนไลน์ ต้องสังเกตบรรจุภาชนะห่อหุ้มด้วยพลาสติกแช่เย็น ป้ายที่บอกวันเดือนปีที่ผลิตและวันเดือนปีที่ควรบริโภค สำหรับการเก็บเนื้อไก่ดิบนั้น หากซื้อมาประกอบอาหารแล้วแต่ใช้ไม่หมด ควรเก็บในอุณหภูมิ 0-5 องศาเซลเซียส ซึ่งจะเก็บได้นาน 3-5 วัน หรือเก็บในช่องแช่เย็นที่อุณหภูมิ -18 องศาเซลเซียส จะเก็บได้นาน 12 เดือน ส่วนอาหารปรุงสุกที่เก็บไว้นานกว่า 2 - 4 ชั่วโมง ควรนำมาอุ่นร้อนก่อนทุกครั้งในมื้อต่อไป และควรล้างมือให้สะอาดด้วยสบู่และน้ำทุกครั้งก่อน และหลังปรุง ก่อนกินอาหารและหยิบจับ รวมทั้งหลีกเลี่ยงการใช้มือสัมผัสใบหน้า ปาก จมูกและตา เพื่อสุขอนามัยที่ดี” อธิบดีกรมอนามัย กล่าว