xs
xsm
sm
md
lg

“เลือดหมูต้มสุก” กินได้ ปลอดภัย ปลอดโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กฎหมายของแต่ละประเทศมีความแตกต่าง อะไรที่ใช้ได้ในบ้านเราอาจใช้ไม่ได้ที่บ้านเขา แค่เราเป็นนักท่องเที่ยวยังต้องศึกษาเพื่อไม่ให้เกิดการละเมิดกฎหมายโดยไม่ตั้งใจ เช่น จะหาซื้อหมากฝรั่งในสิงคโปร์ไม่ได้ ถ้าไม่มีคำสั่งแพทย์ และเมื่อเร็วๆ นี้ ก็เพิ่งทราบว่า ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีเลือดสัตว์เป็นส่วนประกอบ เช่น เลือดหมู เป็นสิ่งต้องห้ามในสิงคโปร์

จากกรณี สำนักงานอาหารแห่งสิงคโปร์ (Singapore Food Agency - SFA) จับกุมร้านอาหารไทยแห่งหนึ่ง ที่มีการจำหน่ายอาหารที่มีส่วนผสมของเลือดหมูก้อน (pig blood curd) โดยเลือดหมูอนามัยนั้นเป็นสินค้าจากประเทศไทยที่ถูกร้านอาหารนี้ลักลอบนำเข้าไปจำหน่ายอย่างผิดกฎหมาย แม้ผลิตภัณฑ์นั้นจะผลิตอย่างถูกอนามัยและสะอาดปลอดภัยเพียงใด กฎหมายย่อมเป็นกฎหมายโดยมีโทษปรับสูงสุด 5 หมื่นดอลลาร์สิงคโปร์ หรือราว 1.18 ล้านบาท และ/หรือจำคุกสูงสุด 2 ปี หรือทั้งจำทั้งปรับ นับเป็นโทษที่หนักหนาสำหรับผู้ลักลอบนำเข้ารายนี้ และด้วยกฎหมายสิงคโปร์ห้ามนำเข้าอาหารที่มีเลือดสัตว์เป็นส่วนประกอบเช่นนี้ ประเทศไทยจึงไม่มีการส่งออกเลือดหมูเข้าสิงคโปร์แต่อย่างใด

การจำหน่ายและรับประทานเลือดหมูไม่ได้ผิดกฎหมายไทย “เลือดหมูต้ม” เป็นส่วนผสมในเมนูยอดนิยมมากมาย อาทิ ต้มเลือดหมูตำลึง เลือดหมูผัดถั่วงอก เย็นตาโฟ ขนมจีนน้ำเงี้ยว ฯลฯ เพราะนอกจากจะปรุงง่ายและอร่อยแล้ว ยังเต็มไปด้วยคุณค่าทางโภชนาการ เพราะในเลือดหมูต้ม 100 กรัม มีโปรตีนสูงถึง 6.88%, คาร์โบไฮเดรต 0.21%, ไขมัน 0.40%, แคลเซียม 10.87 มิลลิกรัม, ฟอสฟอรัส 12.04 มิลลิกรัม และธาตุเหล็ก 12.00 มิลลิกรัม เลือดหมูต้มจึงเป็นอีกวัตถุดิบอาหารที่อยู่คู่ครัวไทยมาทุกยุคสมัย

กว่าจะได้มาซึ่งเลือดหมูต้มคุณภาพมาตรฐานนั้น ต้องผ่านกระบวนการมากมาย เริ่มตั้งแต่การเลี้ยงจนถึงได้ผลิตภัณฑ์เลือดหมูต้มพร้อมทาน เรื่องนี้อธิบดีกรมปศุสัตว์ น.สพ.สรวิศ ธานีโต ย้ำว่า การผลิตอาหารของไทย ยึดตามมาตรฐานอาหารปลอดภัยสากล มีการพัฒนาและนำเทคโนโลยีมาประยุกต์ใช้แทบทุกกระบวนการ โดยเฉพาะการผลิตหมูและผลิตภัณฑ์จากหมู ที่ทุกขั้นตอนต้องผ่านมาตรฐานตามที่กรมปศุสัตว์กำหนด

เริ่มจากกระบวนการเลี้ยงสุกรในฟาร์ม ต้องได้รับการรับรองมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดีสำหรับฟาร์มสุกร หรือ Good Agricultural Practices : GAP ซึ่งเป็นมาตรฐานบังคับ เพื่อผลิตหมูปลอดภัยปลอดสาร ส่งต่อไปยังโรงฆ่าสัตว์ที่ได้รับการรับรองการปฏิบัติที่ดีสำหรับโรงฆ่าสัตว์ หรือ Good Manufacturing Practice : GMP กระทั่งได้หมูซีกเข้าสู่โรงงานแปรรูป ที่จะต้องปฏิบัติตามหลักสุขลักษณะที่ดีในการผลิตอาหาร หรือ Good Hygienic Practice : GHP โรงงานบางแห่งยังใช้มาตรฐานที่เหนือกว่าที่กฎหมายกำหนด เช่น การวิเคราะห์อันตรายและจุดวิกฤตที่ต้องควบคุม หรือ Hazard Analysis and Critical Control Point : HACCP)

ทั้งหมดนี้เป็นมาตรฐานกำกับกระบวนการผลิตในอุตสาหกรรมหมู ดังนั้น จึงมั่นใจได้ว่าผลิตภัณฑ์ที่ผลิตภายใต้มาตรฐานเหล่านี้ มีความสะอาด ปลอดภัย ปลอดสาร เหมาะสำหรับการบริโภคอย่างแน่นอน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลิตภัณฑ์เลือดหมูต้มสุก ถือว่ามีกระบวนการผลิตที่สะอาดมาก

ยกตัวอย่างที่ โรงฆ่าสุกรบางคล้า จ.ฉะเชิงเทรา ภายใต้การกำกับดูแลของกรมปศุสัตว์ (ซึ่งเป็นสถานที่ผลิตเลือดหมูอนามัยแบรนด์ CP ที่รานอาหารไทยดังกล่าวเลือกนำเข้าไปสิงคโปร์) จะมีมาตรฐานการผลิตอย่างถูกสุขลักษณะ เน้นย้ำความสะอาดในระดับสูง โดยหลังจากเชือดแล้ว เลือดจะถูกดูดจากตัวหมูด้วยมีดพิเศษที่เรียกว่า มีด Vacuum จึงไม่มีหยดเลือดใดๆ สัมผัสพื้นตลอดการผลิต เลือดที่ได้จะถูกส่งเข้าถังเก็บโดยระบบท่อ แล้วบรรจุลงถาด จากนั้นปิดผนึก ก่อนเข้าสู่กระบวนการให้ความร้อนด้วยหม้อความดันที่อุณหภูมิ 90-95 องศาเซลเซียส เป็นเวลา 110 นาที ซึ่งเป็นระดับที่ทำลายเชื้อแบคทีเรียและเชื้อโรคต่างๆ ได้ทั้งหมด ผู้บริโภคชาวไทยจึงมั่นใจในมาตรฐานการผลิตเลือดหมูอนามัยแบรนด์นี้อย่างมาก

นอกเหนือจากเลือดหมูอนามัยแล้ว ในการเลือกซื้อเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์จากสัตว์ผู้บริโภควรพิจารณาแหล่งที่มาของผลิตภัณฑ์นั้นจากผู้ผลิตที่ได้มาตรฐานเชื่อถือได้ ผ่านการรับรองจากกรมปศุสัตว์และ อย. หรือเลือกซื้อผลิตภัณฑ์ปศุสัตว์ได้ง่ายๆ โดยสังเกตสัญลักษณ์ “ปศุสัตว์ OK” ณ สถานที่จำหน่าย และต้องปรุงสุกทุกครั้ง เพียงเท่านี้ก็มั่นใจได้ว่าจะได้รับอาหารที่สะอาดปลอดภัย


กำลังโหลดความคิดเห็น