สระแก้ว - ระบาดถึงชายแดนโรคอุบัติใหม่ในวัว “ลัมปี สกิน” พบขณะนี้มีเกษตรกรผู้เลี้ยงวัวเนื้อใน อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว ได้รับความเดือดร้อนจำนวนมาก ด้านปศุสัตว์อำเภอเร่งลงพื้นที่ฉีดยา ให้ความรู้
วันนี้ (20 พ.ค.) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ชาวบ้านในพื้นที่ 2 ตำบลของ อ.ตาพระยา จ.สระแก้ว กำลังหวาดกลัวโรคระบาดที่กำลังแพร่ระบาดในวัวเนื้อ จนทำให้มีเกษตรกรได้รับความเดือดร้อนแล้วไม่ต่ำกว่า 4 หมู่บ้าน
โดย นายณัฐชกร ว่าเร็วดี เกษตรกรบ้านโคกระกา ม.3 บอกว่า ตนเองเลี้ยงวัวเนื้อเกือบ 20 ตัว และเมื่อประมาณ 1 สัปดาห์ที่ผ่านมา ได้สังเกตเห็นอาการแปลกประหลาดในวัว โดยเริ่มจากการมีตุ่มขนาดเล็ก ก่อนจะขยายเป็นตุ่มขนาดใหญ่ และกระจายตามลำตัว
จากนั้นยังพบว่า วัวมีอาการเซื่องซึมและไม่กินอาหารกระทั่งตายในที่สุด และเมื่อตรวจสอบข้อมูลจากอินเทอร์เน็ต พบว่า เป็นอาการของโรคลัมปี-สกิน
ขณะที่ นายบุญส่ง จิตหาญ ปศุสัตว์อำเภอตาพระยา ซึ่งเดินทางลงพื้นที่ตรวจสอบยืนยันว่า โรคที่กำลังแพร่ระบาดในวัวเนื้อของชาวบ้านมีอาการใกล้เคียงกับ “โรคลัมปี-สกิน” ซึ่งเป็นโรคอุบัติใหม่ในวัว เพิ่งเข้ามาแพร่ระบาดในเมืองไทยเมื่อช่วงต้นปี 64
โดยเป็นเชื้อไวรัสที่จะติดต่อเฉพาะในวัว ควาย และยีราฟเท่านั้น และจะไม่ติดต่อสู่คน ส่วนพาหะนำเชื้อคือแมลงจำพวกกินเลือด ประเภทเหลือบ ยุง และเห็บ อย่างไรก็ดี เชื้อดังกล่าวก่อให้เกิดอัตราการตายในสัตว์ค่อนข้างต่ำ ขณะที่ลักษณะอาการจะพบตุ่มขนาด 2 ถึง 5 เซนติเมตรขึ้นทั่วทั้งตัว มีไข้สูง และไม่กินอาหาร หากปล่อยให้ตุ่มแตกเป็นแผลอาจส่งผลให้วัวติดเชื้อและตายในที่สุด
และจากการสำรวจข้อมูลเบื้องต้นพบว่า อ.อำเภอตาพระยา มีวัวเนื้อของชาวบ้านเกือบ 30 ตัวที่อยู่ในพื้นที่บ้านโคกระกา ม.3 ต.ทัพไทย บ้านเหนือ ม.4 และบ้านใหม่ไทยถาวร ม.5 รวมถึงบ้านหนองปรือ ม.3 ใน ต.ทัพราช ที่มีอาการคล้ายโรคลัมปี-สกิน
เบื้องต้น ปศุสัตว์ได้ประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมโรคระบาดและห้ามทำการเคลื่อนย้ายวัว ควาย จนกว่าจะควบคุมโรคได้พร้อมทั้งจะเร่งประชาสัมพันธ์ประกาศเสียงตามสาย และให้ความรู้ชาวบ้านเพื่อไม่ให้ตื่นตระหนก
"ตามข้อมูลของกรมปศุสัตว์ระบุว่า โรคลัมปี-สกิน พบการระบาดครั้งแรกที่ อ.พนมไพร จ.ร้อยเอ็ด ก่อนที่สถาบันสุขภาพสัตว์แห่งชาติจะยืนยันผลพบเชื้อไวรัสชนิดนี้ ซึ่งถือว่าเป็นการพบโรคลัมปี-สกิน เป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อต้นปี 64 หลังจากโรคนี้เริ่มแพร่ระบาดในเอเชียเมื่อปี 62 เริ่มจากประเทศจีน บังกลาเทศ และอินเดีย รวมทั้งอีกหลายประเทศ”
ปศุสัตว์อำเภอตาพระยา ยังเผยอีกว่า จากการสอบสวนโรคพบข้อมูลว่าสาเหตุเกิดจากการลักลอบนำวัวเนื้อติดเชื้อเข้ามาจากประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งขณะนี้ได้เร่งให้เจ้าหน้าที่เข้าฉีดยา และให้ความรู้แก่เกษตรกร