xs
xsm
sm
md
lg

“รสนา” ชี้ฟ้าทะลายโจรแบบผงใช้รักษาโควิดได้ผลดี กำหนดใช้แบบสารสกัดล็อกสเปกเอื้อธุรกิจยาหรือไม่

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“รสนา” ย้ำใช้แค่ผงฟ้าทะลายโจรก็ได้ผลดีในการรักษาอาการผู้ป่วยโควิด ไม่จำเป็นต้องใช้สารแอนโดรกราโฟไลด์สูงถึง 180 มก. ตามที่กำหนดในบัญชียาหลักแห่งชาติ ตั้งข้อสงสัยล็อกสเปกเพื่อเอื้อธุรกิจยาขนาดใหญ่หรือไม่

วันที่ 4 มิ.ย. 2564 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ....

ประสบการณ์ใช้ยาฟ้าทะลายโจรทะลายโควิดของจริงของประชาชนไม่ต้องถึง 180 มก./วัน

เมื่อวันที่ 2 มิถุนายน 2564 มีประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง บัญชียาหลักแห่งชาติ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2564 ได้ประกาศให้เพิ่มเติมรายการยาจากสมุนไพรในบัญชีแนบท้ายประกาศนี้ เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติด้านสมุนไพร พ.ศ 2564 ลงนามโดย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งหนึ่งในนั้นมีบัญชียาสารสกัดจากสมุนไพรฟ้าทะลายโจร และยาจากผงฟ้าทะลายโจรในรูปแบบแคปซูลและแบบเม็ด โดยรับประทานในขนาดยาที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก./วัน แบ่งให้วันละ 3 ครั้ง ใช้กับผู้ป่วยโรคโควิด-19 ที่มีความรุนแรงน้อย เพื่อลดการเกิดโรคที่รุนแรง โดยให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม (แพทย์แผนปัจจุบัน) เป็นผู้ใช้ และให้มีการติดตามประเมินประสิทธิผลและความปลอดภัยหลังการใช้อย่างเป็นระบบ

ในการทดลองทางคลินิกของกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก ได้มีการจ่ายยาฟ้าทะลายโจรในขนาดที่มีปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 60 มก./วัน ให้กับผู้ป่วยที่ติดเชื้อโควิด ที่ไม่แสดงอาการ และเป็นปริมาณยาที่ลดลงจากขนาดการใช้ที่ระบุในประกาศทางการถึง 3เท่า แต่กลับไม่ปรากฎว่ามีการระบุถึงขนาดการใช้นี้ ที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 60 มก./วันไว้ในประกาศดังกล่าว ซึ่งเป็นปริมาณที่ประชาชนใช้กันอยู่แล้ว และได้ผลดี การประกาศขนาด 180 มก./วัน อันเป็นขนาดการใช้ที่สูงกว่าขนาดปกติถึง 3 เท่าตัว อาจทำให้มีการจ่ายยาที่สูงเกินขนาดที่มีความปลอดภัยหรือไม่

การระบุให้ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม คือ แพทย์แผนปัจจุบันเป็นผู้ใช้ยาฟ้าทะลายโจรโดยตัดผู้ประกอบวิชาชีพแพทย์แผนไทยและแพทย์แผนไทยประยุกต์ไม่ให้เป็นผู้ใช้นั้นต้องถามต่อไปว่าผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมแผนปัจจุบันที่ไม่เคยมีประสบการณ์การใช้สมุนไพรมาก่อน จะยอมใช้ยาฟ้าทะลายโจรหรือไม่

อันที่จริงหมอแผนปัจจุบันสามารถใช้ได้ทั้งยาแผนไทยในบัญชี 2 และยาสมุนไพรในบัญชี 1 อยู่แล้วโดยที่ยาฟ้าทะลายโจรเป็นยาพัฒนาจากสมุนไพรที่แพทย์แผนไทยเคยใช้มาก่อน เหตุใดจึงต้องช่วงชิงยาของประชาชนในลักษณะเช่นนี้ ทั้งที่ประเทศตกอยู่ภายใต้วิกฤตการณ์โรคระบาดโควิดที่ผู้บริหารประเทศควรแสดงวิสัยทัศน์ให้เกิดการบูรณาการ ร่วมด้วยช่วยกัน ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันและแพทย์แผนไทย แต่การกำหนดมาตรฐานยาสมุนไพรที่กีดกั้นวิชาชีพการแพทย์แผนไทยและแผนไทยประยุกต์เช่นนี้ มีแต่การทำลายประโยชน์ของประชาชน และถูกตั้งข้อสงสัยได้ว่า มีการตั้งธง ล็อกสเปกยาฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์สูงถึง 180 มก./วัน ทั้งที่ไม่มีที่มาที่ไปว่ากำหนดจากอะไร นอกเสียจากว่าต้องการกำจัด “ผงฟ้าทะลายโจร” ที่ประชาชนเคยใช้ ให้เหลือแต่ “ยาสารสกัด” ที่เอื้อธุรกิจยาขนาดใหญ่ ใช่หรือไม่

การที่คณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติวางเงื่อนไขให้มีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อใช้รักษาโรคโควิดที่มีความรุนแรงน้อยโดยกำหนดให้หมอแผนปัจจุบันเท่านั้นเป็นผู้ใช้ แต่เมื่อมีผู้ป่วยโควิด หมอแผนปัจจุบันอาจไม่สั่งจ่ายยาฟ้าทะลายโจรเลยก็ได้ เพราะสามารถใช้ยาแผนปัจจุบันที่เคยใช้อยู่แล้ว ในขณะที่หมอแผนไทย หมอแผนไทยประยุกต์ที่เชี่ยวชาญการใช้ยาสมุนไพร ก็ไม่สามารถใช้ยาฟ้าทะลายโจรกับผู้ป่วยโรคโควิดได้

ดิฉันได้กระจายยาผงฟ้าทะลายโจรแคปซูล ตั้งแต่เดือนเมษายน 2564 เป็นต้นมา นับถึงเวลานี้ (4 มิ.ย. 2564)

ได้กระจายยาสู่ประชาชนผ่านไปยังกลุ่มต่างๆ ทั้งอาสาสมัครสาธารณสุข กทม.(อสส.กทม.) ทั้ง 50 เขต 65 ศูนย์ (จาก 69 ศูนย์) อาสาสมัครชุมชน (อสช.) พระภิกษุสงฆ์ทั้งในวัด กทม.และวัดต่างจังหวัด ชุมชนต่างๆ เรือนจำ แรงงานต่างชาติ รวมแล้วเป็นจำนวน 1,060,900 แคปซูล และจากการเก็บข้อมูลเบื้องต้น พบว่า ประชาชนที่ใช้ผงฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูลในหลากหลายยี่ห้อ ก็ใช้ได้ผลดี ไม่มีรายงานว่าเมื่อใช้ยาสมุนไพรตัวนี้แล้ว มีคนไข้อาการรุนแรงขึ้นถึงขั้นเชื้อลงปอด อย่างที่มีการกล่าวหาว่าการใช้ผงฟ้าทะลายโจรจะมีความลุ่มๆ ดอนๆ และทำให้เชื้อลงปอด !! ใช่หรือไม่

อีกประการหนึ่งในการดูแลผู้ป่วยติดเชื้อโควิด ก็เป็นการใช้ยาตามอาการทั้งสิ้น ยาฟ้าทะลายโจรก็สามารถใช้เป็นยารักษาตามอาการ ซึ่งไม่มีความจำเป็นต้องใช้ในขนาดสูงถึง 3 เท่าตัวจากขนาดที่ประชาชนเคยใช้ตามปกติที่ 60 มก./วัน

ที่สำคัญคือ ยาฟ้าทะลายโจรเหมาะที่จะใช้ตัดโควิดในยามต้นไข้ อุปมาเหมือนการตัดไฟแต่ต้นลม การปล่อยให้โรคฟักตัวหลายวัน เหมือนปล่อยไฟลุกลามเป็นไฟกองใหญ่แล้ว มีน้ำน้อยก็ดับไม่ได้ ฉันใดก็ฉันนั้น ดังคัมภีร์โรคระบาดในตักศิลาก็ระบุว่า ถ้าไข้ตัวร้อน (กำเดา) ลุกลามเกิน 4 วัน ต้องใช้ยาขนานอื่นต่อไป

การใช้ฟ้าทะลายโจรจึงไม่มีความจำเป็นที่ต้องใช้ในขนาดสูง 3 เท่าตัวตั้งแต่แรกและจากการเก็บข้อมูลหลายๆ กรณีของดิฉัน พบว่ากรณีหนึ่ง มีคนไข้ติดเชื้อ

โควิดที่ถูกกักตัวใน hospitel รวมกันในห้องเดียวกัน 3 ราย และทั้ง 3 ราย จะได้รับยาแผนปัจจุบันตามอาการ เช่น ยาแก้ไข้ ยาลดเสมหะ ยาแก้ไอ เป็นต้น และกรณีนี้พบว่าผู้ป่วย 2 ราย ได้กินยาฟ้าทะลายโจรที่เอาติดตัวไปด้วย แม้ผู้ป่วยมีอาการหนักพอสมควรคือมีไข้ ไอมาก มีเสมหะ ได้กินฟ้าทะลายโจร 5 วัน หยุด 2 วัน 2 รอบ แต่เชื้อก็ไม่ลงปอด เมื่อเทียบกับผู้ป่วยอีกรายที่เป็นไข้มาถึง5วัน ไม่ได้กินยาฟ้าทะลายโจร กินแค่ยาลดไข้แผนปัจจุบันอย่างเดียว กลับมีอาการรุนแรงขึ้น และเชื้อลงปอด ถูกแยกตัวออกไปเพื่อใช้ยาแผนปัจจุบันต้านไวรัส

นอกจากนี้ ยังมีอีก 2 กรณี ที่พบว่า สมาชิกในครอบครัวติดโควิด สมาชิกคนอื่นก็เป็นผู้เสี่ยงติดโควิดด้วย กรณีแรกพบว่าในครอบครัวหนึ่งที่เป็นชาวบางบอน ลูกชายคนโตติดเชื้อโควิด ดิฉันได้ส่งยาฟ้าทะลายโจรไปให้ ซึ่งพ่อ แม่ ของผู้ติดเชื้อได้กินฟ้าทะลายโจร เป็นเวลา 5วันๆ ละ 3 ครั้ง ครั้งละ 2 แคปซูล ตั้งแต่วันที่ 29 เมษายน ถึง 3 พฤษภาคม 2564 และไปตรวจเชื้อโควิดที่ศูนย์อนามัย 65 เมื่อวันที่ 5 พฤษภาคม 2564 พบว่าพ่อแม่ที่ได้กินฟ้าทะลายโจรไม่ติดเชื้อโควิด ทั้งที่กินน้อยกว่าที่ระบุในฉลากยาที่ให้กินครั้งละ 2-4 แคปซูล วันละ 4 ครั้ง แต่พ่อแม่ของผู้ติดเชื้อก็ไม่ติด แต่ปรากฏว่า ลูกชายคนเล็กอีกคนหนึ่ง ไม่ได้กินฟ้าทะลายโจร เพราะไม่คิดว่าจะติดเชื้อโควิดจากพี่ชาย เมื่อไปตรวจเชื้อในวันที่ 5 พฤษภาคม พร้อมพ่อแม่ ก็พบว่าติดโควิด และต้องไปกักตัว 14 วัน

กรณีที่ 2 เป็นครอบครัวของเด็กชายอายุ 4 ขวบ ไปศูนย์ซ่อมรถยนต์กับแม่ และมีพนักงานในศูนย์ติดโควิด พ่อแม่เด็กกินฟ้าทะลายโจร วันที่ 21 เมษายน 2564 และไปตรวจเชื้อวันที่ 25 เมษายน ผลปรากฏว่า ไม่ติดโควิด แต่ลูกชายอายุ 4 ขวบ ตรวจวันที่ 28 เมษายน พบว่า ติดโควิด และไปพักรักษาตัวที่ รพ.เด็ก ในวันที่ 30 เมษายน แม่ต้องไปอยู่กับลูกที่ รพ.เด็ก ดิฉันได้ส่งยาผงฟ้าทะลายโจรไปให้ ทั้งแม่และพ่อเด็ก ได้เริ่มกินฟ้าทะลายโจรอีกครั้ง ในวันที่ 30 เมษายน ถึงวันที่ 4 พฤษภาคม โดยกินวันละ 3 ครั้งๆ ละ 3 แคปซูล ซึ่งน้อยกว่าที่ระบุในฉลากยาที่ให้กิน 4ครั้งๆ ละ 2-4 แคปซูล แต่ก็พบว่าการตรวจเชื้อโควิดหลังจากนั้น พ่อ แม่ ทั้งคู่ไม่ติดโควิด

นี่เป็นเพียงกรณีตัวอย่างการใช้จริงของประชาชน ยังมีอีกหลายกรณีทีไม่ได้เอ่ยถึง ที่ได้พบว่าคนที่ได้กินผงยาฟ้าทะลายโจรบรรจุแคปซูล แม้ไม่ถึงขนาดยาตามที่กำหนดไว้ 180 มก./วัน ในการรักษา

โควิด ที่มีอาการน้อย ก็ยังปรากฏว่าได้ผลดี ทั้งเชื้อไม่ลงปอด และคนที่เสี่ยงติดเชื้อก็ไม่ติดเชื้ออีกด้วย

ดิฉันจึงหวังว่า จะมีการเก็บข้อมูลจากการใช้จริงของประชาชนเพื่อปรับปรุงขนาดการใช้ยาที่ลดลง เพื่อความปลอดภัย เพื่อประสิทธิภาพ และเพื่อความประหยัด อีกทั้งทำให้อุตสาหกรรมยาในประเทศมีความหลากหลาย ไม่ถูกผูกขาด และประชาชนสามารถเข้าถึงยาฟ้าทะลายโจรได้ง่าย และมีราคาย่อมเยา เพื่อให้เกิดการพึ่งตนเองด้านยา อันเป็นความมั่นคงทั้งด้านยา และเศรษฐกิจของประเทศในยามวิกฤตโควิด-19

หมายเหตุ มีเพื่อนมิตรถามว่าจะคำนวณการกินยาผงฟ้าทะลายโจรอย่างไร ขอตอบว่า ยาฟ้าทะลายโจรที่ผ่านมา เขาไม่ได้ให้ระบุว่าต้องมีสารสำคัญคือแอนโดรกราโฟไลด์เท่าไหร่ แต่ฟ้าทะลายโจรในไทยมีสารแอนโดรกราโฟไลด์มากกว่า 1% อยู่แล้ว ประมาณว่า 1-1.5% ดังนั้น แคปซูล 400 มิลลิกรัม มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 1% แปลว่า 400 มก. จะมีแอนโดรกราโฟไลด์ 4 มก.กินครั้งละ 4 แคปซูล จะได้สารแอนโดรฯ 4x4 = 16 มก. กินวันละ4ครั้ง = 16x4 = 64 มก./วัน ถ้าจะให้ได้สารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก./วัน คือ สูงกว่าขนาดปกติ 3 เท่า ต้องกิน 16x3 = 48 แคปซูล คนก็จะไม่กินผงฟ้าทะลายโจร เพราะเยอะมาก เขาก็จะหันไปกินสารสกัดแทน หรือผงฟ้าทะลายโจรต้องทำให้มีสารแอนโดรกราโฟไลด์เปอร์เซ็นต์สูงมาก เพื่อจำนวนน้อยลง ดิฉันคิดว่า ถ้าต้องกินผงฟ้าทะลายโจรมากขนาดนี้ บรรพบุรุษคงไม่เลือกฟ้าทะลายโจรมาทำยาเป็นแน่




กำลังโหลดความคิดเห็น