“รสนา” เผยสถานการณ์โควิด-19 ในชุมชนคลองเตยยังวิกฤต ระบบจัดการที่ล่าช้า ติดขัดกฎระเบียบ ทำให้จัดหาเตียงรองรับไม่พอ ผู้ติดเชื้อต้องอยู่ปะปนในชุมชนแพร่เชื้อไม่หยุด วอนนายกฯ ใช้อำนาจสั่งจัดตั้ง รพ.สนามโดยเร็ว พร้อมเร่งตรวจเชิงรุกแยกผู้ติดเชื้อออกจากชุมชน ระดมอาสาสมัครเข้าช่วย
วันนี้ (13 พ.ค.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล ในหัวข้อ คลองเตยวิกฤต การลุกลามแพร่เชื้อโควิด-19 ใน กทม.ยังไม่หยุด ชุมชนแออัดหลายแห่งกลายเป็นแหล่งแพร่เชื้อหลัก เพราะการบริหารจัดการที่ล่าช้า ยึดระเบียบมากกว่าชีวิตผู้คนทั้งที่ระเบียบเหล่านั้นไม่สอดคล้องกับการแก้ปัญหาในสถานการณ์จริง
คลองเตยยังวิกฤตเพราะปัญหาที่ซุกอยู่ใต้พรม กรณีคนต่างด้าวที่กระจายอยู่ตามเขตต่างๆ ใน กทม.ทั้งที่มาโดยถูกกฎหมาย และผิดกฎหมาย และคนเหล่านี้เช่าบ้านอยู่ร่วมกัน เมื่อติดเชื้อก็จะแพร่กระจายเชื้อให้กัน และแพร่ให้คนไทยด้วย การที่ไม่แยกคนติดเชื้อออกจากชุมชนก็ทำให้การแพร่เชื้อขยายไม่หยุด การไม่สามารถแยกคนติดเชื้อออกจากชุมชน เพราะไม่มีทั้ง รพ.และ รพ.สนามรองรับ ส่วนข้อเสนอเรื่องการกักตัวในชุมชน (Community Quarantine) ก็ทำไม่ได้เพราะติดขัดข้อระเบียบเก่า นายกฯ รวบอำนาจไว้ในมือ แต่ก็ไม่สั่งการให้ผู้ว่าฯ กทม.ปฏิบัติ กทม.คือมหานครใหญ่ ไม่ใช่การบริหารระดับอำเภอแบบเก่าๆ
วัดสะพานในชุมชนคลองเตยที่ใช้เป็นสถานที่พักคอยในการแยกผู้ติดเชื้อโควิดจากชุมชนคลองเตยมาพักคอย และต้องถูกส่งเข้า รพ.ในระบบภายใน 24 ชม.ก็ทำไม่ได้ เพราะ รพ.ไม่มีเตียง เมื่อ รพ.และ รพ.สนามไม่มีเตียง สถานที่พักคอยอย่างวัดสะพานก็ไม่สามารถรับคนป่วยโควิดเพิ่ม ทำให้คนติดเชื้อโควิดทั้งคนไทย คนต่างด้าวกระจายอยู่ในพื้นที่ที่ไร้การควบคุม
“อย่างกรณีชาวพม่าแรงงานถูกกฎหมายในคลองเตย ชื่อ นายไซ อ่อง ลิน อยู่บ้านเลขที่ 7 ถนน สุนทรโกษา แขวงคลองเตย เขตคลองเตย กรุงเทพฯ 10110 ตรวจเชื้อที่ตลาดคลองเตย ซอย 8 วันที่ 7/5/2021 พบเชื้อบวก ติดเชื้อป่วยมาเกือบ 10 วัน แต่ไม่มีรถมารับไป รพ. เพื่อนเล่าให้ดิฉันฟังมา 2 วันแล้ว รออยู่ว่าจะมีรถมารับ แต่จนถึงวันนี้ก็ยังรออยู่ จนนายคนนี้จากป่วยน้อยกลายเป็นอาการเพียบหนัก ต้องใช้เครื่องช่วยหายใจ ทำให้ดิฉันอดตั้งข้อสังเกตไม่ได้ว่าการตายในรอบนี้ถึง 32 คนนั้นเป็นเพราะการบริหารที่ซุกปัญหาไว้ใต้พรมหรือไม่ เรื่องนายไซ อ่อง ลิน เป็นเพียงตัวอย่างเดียวของยอดภูเขาน้ำแข็งของคนต่างด้าวในคลองเตยและเขตต่างๆ ทั่ว กทม.ที่รัฐบาลต้องเข้ามาดูแลร่วมกับ กทม.เพื่อจัดการหยุดยั้งการแพร่กระจายเชื้อต่อ”
กรณีคนต่างด้าวที่มาทำมาหากินในประเทศไทยที่ในระยะแรกไม่มีการตรวจเชื้อให้ ยกเว้นรถพยาบาลพระราชทานที่จะมาตรวจเชื้อให้อยู่ 4 วัน (วันที่ 7 พ.ค. ถึงวันที่ 11 พ.ค.) แต่เมื่อตรวจแล้วก็ไม่มี รพ.หรือ รพ.สนามรับไปรักษา อย่าว่าแต่คนต่างด้าวเลย แม้แต่คนไทยก็ไม่มีเตียงว่างให้รักษา หรือกักตัวเฝ้าดูอาการ
คนที่ป่วยน้อยเมื่อได้ยาฟ้าทะลายโจรก็หายดี แต่ปรากฏว่าหมอใน รพ.สนามบางแห่งถามคนต่างด้าวที่ถูกส่งมาว่ากินยาอะไร พอบอกว่านายจ้างให้กินฟ้าทะลายโจร หมอจะบอกว่าให้ทิ้งไป ทั้งที่ยาฟ้าทะลายโจรก็เป็นยาในบัญชียาหลักแห่งชาติเหมือนกับยาพาราเซตามอล จากนั้นหมอก็ให้ยาพาราเซตามอล และยารักษาตามอาการ เช่น ยาแก้ไอ ยาลดน้ำมูก เป็นต้น
กทม.เป็นพื้นที่ระบาดหนักที่สุดที่ควรจะเร่งจัดการตรวจเชื้อ และจัดสถานที่แยกตัวให้เร็วที่สุด ในเมื่อท่านนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ได้รวบอำนาจตาม พ.ร.บ.31 ฉบับมาไว้ในมือ ก็ควรเร่งรีบสั่งการให้รวดเร็ว
ขอกราบเรียนเสนอ
1) ขอให้ประกาศใช้พื้นที่ว่างของหน่วยราชการ และรัฐวิสาหกิจทั้งหลายมาทำ รพ.สนามอย่างรวดเร็วเช่นในพื้นที่ของการท่าเรือฯ พื้นที่ในสนามบินดอนเมือง พื้นที่ศูนย์ราชการ พื้นที่ของ TOT ฯลฯ และอาศัยทหารช่างในการก่อตั้ง รพ.สนามให้ทันต่อสถานการณ์ เพื่อรองรับผู้ติดเชื้อโควิดใน กทม.
2) ระดมการตรวจเชิงรุกให้มากที่สุด เพื่อแยกคนติดเชื้อออกมาจากชุมชน ระดมแพทย์ พยาบาลจากทุกจังหวัดที่มีคนป่วยน้อยให้มาดูแลพื้นที่ รพ.สนาม
3) เปิดโอกาสให้อาสาสมัครชุมชนเข้ามาร่วมจัดการการกักตัวระดับชุมชน (community quarantine) และการดูแลสมาชิกครอบครัวของผู้ติดเชื้อโควิด
4) ระดมอาสาสมัครจากภาคประชาชน และภาคเอกชน วัด อาสาสมัครแพทย์แผนไทย และแพทย์แผนไทยประยุกต์เข้ามาช่วย ทั้งการตั้ง รพ.สนาม และการส่งอาหาร 3 มื้อ และดูแลการรักษาให้แก่คนป่วย
ขอวิงวอนท่านนายกรัฐมนตรี และผู้ว่าฯ กทม.ที่ใช้อำนาจควบคุมการระบาดโควิดในขณะนี้ ได้กรุณาเร่งมือในสถานการณ์วิกฤต ให้มีลักษณะรวดเร็วทันต่อเหตุการณ์เพื่อหยุดยั้งการแพร่ระบาดใน กทม.ด้วยเถิด