“รสนา” เสนอล็อกดาวน์ชุมชนคลองเตย ให้กักตัวอยู่กับบ้าน เร่งคัดกรองผู้ป่วยแบบรู้ผลเร็ว (Rapid Test) โดยใช้เงินส่งเสริมสุขภาพ ที่ กทม.ได้รับจาก สปสช. มาช่วยค่าอุปโภค-บริโภค พร้อมระดมทุนจากผู้มีฐานะ จ่ายชดเชยหัวละ 5 พันบาท 1 เดือน ชี้ เซฟคลองเตย เซฟกรุงเทพฯ ประเทศไทยไปต่อได้
วันที่ 5 พ.ค. 2564 น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีต ส.ว. กทม. โพสต์เฟซบุ๊ก ว่า ... เซฟคลองเตย เซฟกรุงเทพฯประเทศไทยไปต่อได้
พี่น้องชาวคลองเตยส่วนใหญ่เป็นคนหาเช้ากินค่ำ หาค่ำกินเช้า มีรายได้พอเลี้ยงปากเลี้ยงท้อง เลี้ยงครอบครัวแบบวันต่อวัน เป็นแรงงานรากหญ้าที่ช่วยหล่อเลี้ยงปิรามิดเศรษฐกิจของกรุงเทพฯให้รุ่งเรืองมาช้านาน แต่วันนี้ พี่น้องชาวคลองเตยกำลังตกเป็นเหยื่อของโควิด ซึ่งไม่ใช่ความผิดที่พวกเขาเป็นต้นเหตุเลย เราทั้งหลายต่างก็รู้กันดีว่าการระบาดของโควิดระลอก 3 มีต้นเหตุมาจากใคร?!
ตอนนี้เริ่มมีกระแสเรียกร้องจากภายนอกให้ล็อกดาวน์ชุมชนคลองเตยโดยเร็ว เพื่อหยุดยั้งคลัสเตอร์คลองเตยไม่ให้แพร่กระจายออกไปสู่แหล่งอื่น
ดิฉันขอเสนอแนวทางในการดูแลชุมชนคลองเตยโดยชุมชน เพื่อชุมชน ด้วยความร่วมมือของภาครัฐและภาคเอกชน ดังนี้
1) มาตรการกักตัวอยู่กับบ้าน หรือ Home Quarantine และการคัดกรองผู้ป่วยแบบรู้ผลเร็ว (Rapid Test)
ดิฉันได้มีโอกาสคุยกับเลขาธิการ สปสช.จึงได้รู้ว่า สปสช.ก็ได้เตรียม Model Home Quarantine เอาไว้ แต่ต้องผ่าน หน่วยบริการทางการแพทย์รองรับ ได้แก่ รพ.ในสังกัด กทม. หรือศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม.และโรงพยาบาลของเอกชน ที่มีหมอ พยาบาลและเจ้าหน้าที่ด้านต่างๆ ซึ่งสามารถใช้ระบบการดูแลทางไกล(Telemedicine)
โดยสามารถปรึกษาทางการแพทย์พยาบาลคนไข้ติดเชื้อโควิด-19 และสามารถเบิกค่าใช้จ่ายต่างๆ ได้ เช่น ค่าเบี้ยเลี้ยงสำหรับคนทำหน้าที่ให้การบริการในชุมชนภายใต้การกำกับของโรงพยาบาล ค่าอาหาร 3 มื้อ สำหรับคนที่ถูกกักตัวรวมทั้งค่ายาและเวชภัณฑ์ต่างๆ เช่น เครื่องวัดออกซิเจนในร่างกายผู้ป่วย เครื่องให้ออกซิเจน เครื่องวัดความดัน เครื่องสแกนอุณหภูมิ และอุปกรณ์ที่จำเป็นอื่นๆ ซึ่งสามารถเบิกจ่ายจาก สปสช. ได้ทั้งหมด
อีกมาตรการหนึ่งสำหรับคลองเตยที่มีประชากรจำนวนกว่าแสนคน คือ การคัดกรองด้วยวิธี Rapid test ซึ่งเป็นการตรวจเชื้อแบบรู้ผลเร็ว
สามารถตรวจได้วันละเป็นหมื่นคน ซึ่งสหรัฐอเมริกา, สหราชอาณาจักร และเกาหลีใต้ ก็ใช้กันระบบคัดกรองแบบนี้ในภาวะฉุกเฉินที่มีคลัสเตอร์ผู้ติดเชื้อขนาดใหญ่ อย่างชุมชนคลองเตย สามารถแยกกลุ่มคนติดเชื้อจำนวนมากออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อได้ทันที ซึ่งการแยกคนติดเชื้อออกจากคนไม่ติดเชื้อมีความสำคัญสูงสุด เพราะการรอผลตรวจในอีกวัน หรือ 2 วันนั้น จะทำให้คนติดเชื้อนำเชื้อไปแพร่ต่อแบบไม่จบสิ้น แต่อย่างไรก็ตาม สามารถใช้วิธีการตรวจเชื้อแบบRT-PCR และRapid Testคู่ขนานกันไปได้
น้ำยาในการตรวจเชื้อแบบเร็วนั้น ราคาก็ไม่แพง เพียงคนละ 150 บาทเท่านั้น ทาง สปสช.เองก็ยืนยันว่า น้ำยาสำหรับทำ Rapid Test นั้นมีเพียงพอ และเบิกจ่ายจาก สปสช.ได้แน่นอน
2) กทม.ได้รับเงินส่งเสริมสุขภาพจาก สปสช.ใน 2 ปีที่ผ่านมา วงเงินราวๆ 1,500 ล้านบาท หากนำเงินเหล่านั้นลงมาช่วยเหลือชาวคลองเตยอย่างรีบด่วนผ่าน อสส.กทม. หรืออาสาสมัครชุมชนคนคลองเตยในการดูแลครอบครัวของผู้ติดเชื้อโควิดเพื่อเป็นค่าอาหาร 3 มื้อ เครื่องอุปโภค บริโภคที่จำเป็น หรือช่วยเหลือครอบครัวคนติดเชื้อที่อาจมีกลุ่มเปราะบางอยู่ในครอบครัว เช่น ผู้ป่วยติดเตียง เด็ก คนพิการ ผู้สูงอายุ อยู่ด้วย
3) การชดเชยค่าเสียโอกาสในการทำมาหากินของชาวคลองเตย นอกจากการเรียกร้องให้ชาวคลองเตยล็อกดาวน์ตัวเอง เราควรชดเชยให้ชาวคลองเตยอย่างเร่งด่วนเพื่อสนับสนุนชุมชนให้สามารถกักตัวเองอย่างสมัครใจ ซึ่งจะสามารถหยุดยั้งการแพร่ระบาดของโรคได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยที่พี่น้องชาวคลองเตยไม่เดือดร้อนจนเกินไป ขอให้เพื่อนร่วมชาติช่วยกันเป็น ท่อน้ำเลี้ยงให้ชาวคลองเตยสามารถอยู่รอดได้ในยามนี้
ดิฉันลองคำนวณคร่าวๆ หลังจากคุยกับคุณครูประทีป อึ้งทรงธรรม ฮาตะ ว่า ถ้าให้ชาวคลองเตยช่วยกันหยุดกิจกรรมการเคลื่อนไหว โดยเราหาทางช่วยเหลือชาวคลองเตยอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป คนละ 5,000 บาท ในระยะเวลา 1 เดือน โดยช่วยกันระดมทุนจากผู้มีฐานะทางเศรษฐกิจ คนชั้นกลางที่ยังไม่เดือดร้อนเป็นจำนวนเงินไม่เกิน 600 ล้านบาท สำหรับคน 120,000 คนโดยไม่ต้องลำบากรัฐบาล จะเป็นการช่วยหล่อเลี้ยงฐานปิรามิดทางเศรษฐกิจของประเทศในยามนี้ได้
เมื่อเราหยุดการแพร่ระบาดของเชื้อโควิด-19 ได้ที่คลองเตย ก็จะช่วยลดการแพร่เชื้อในจุดต่างๆ ของ กทม. ซึ่งต้องตัดสินใจโดยด่วน อย่าให้เกิดภาวการณ์ “กว่าถั่วจะสุก งาก็ไหม้” หมดเสียก่อน
เรามาร่วมเปลี่ยนคลัสเตอร์โควิดเป็นโมเดลคลองเตยในการแก้ปัญหาแบบ 3 ประสาน คือ ชุมชน รัฐ ร่วมเอกชน ที่สามารถเป็นตัวอย่างนำไปใช้สู้ภัยโควิดได้ทั่วประเทศ