xs
xsm
sm
md
lg

“นายกฯ” กำหนด 8 มาตรการ หวังควบคุมสถานการณ์คลัสเตอร์คลองเตย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ออกมาโพสต์เฟซบุ๊กแสดงความเป็นห่วงกรณี “คลัสเตอร์คลองเตย” พร้อมเผย 8 มาตรการ เพื่อควบคุมสถานการณ์ โดยได้มีการพูดคุยกับทีมแพทย์ที่ปรึกษา กรุงเทพมหานคร และ ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. เป็นที่เรียบร้อยแล้ว

วันนี้ (4 พ.ค.) พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ระบุข้อความผ่านเพจ “ประยุทธ์ จันทร์โอชา Prayut Chan-o-cha” เกี่ยวกับคลัสเตอร์การระบาดในชุมชนคลองเตย ซึ่งมีลักษณะเป็นชุมชนที่มีแออัด ทำให้พบผู้ติดเชื้อแล้วกว่า 300 รายและยังมีผู้เสี่ยงสูงอีกนับ 1,000 คน

ซึ่ง นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม ได้ระบุข้อความว่า “กรณีการแพร่ระบาดของโควิดที่เขตคลองเตย ผมได้ติดตามสถานการณ์มาโดยตลอด โดยมีผู้ติดเชื้อไปแล้วเป็นจำนวนมาก หลายรายอยู่ในชุมชนแออัดที่แพร่ระบาดในครอบครัว และยังมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น เมื่อวานนี้ในช่วงบ่าย ผมจึงได้เรียกประชุมกับทีมแพทย์ที่ปรึกษา กรุงเทพมหานคร รวมทั้ง ศูนย์ปฏิบัติการ ศบค. อย่างเร่งด่วน เพื่อกำหนดมาตรการเพื่อควบคุมสถานการณ์ดังนี้ครับ

1. ให้มีการตรวจเชิงรุกในชุมชนเพิ่มขึ้นอย่างเร่งด่วน ทั้ง 39 ชุมชน เน้นไปที่ที่ 20 ชุมชนที่เกิดการระบาด โดยเร่งตรวจชุมชนที่มีการติดเชื้อ ให้ได้อย่างน้อย 1,000-1,500 คนต่อวัน โดยหน่วยเคลื่อนที่ และรถเก็บตัวอย่างชีวะนิรภัยพระราชทาน โดยจะตรวจเชิงรุกให้ได้อย่างน้อยทั้งหมด 20,000 คน ซึ่งได้ดำเนินการทันทีตั้งแต่เมื่อวานนี้แล้ว

2. หากพบผู้ติดเชื้อ ให้มีการแยกผู้ป่วยออกจากชุมชนตามระดับอาการ เขียว เหลือง แดง เพื่อให้ศูนย์เอราวัณส่งตัวต่อเข้ารับการรักษา ณ สถานพยาบาลสำหรับกลุ่มนั้นๆ โดยเบื้องต้นจะถูกส่งตัวไปที่ศูนย์แรกรับ-ส่งต่อ ที่สนามกีฬานิมิบุตร หรือศูนย์พักคอยการส่งตัว ที่วัดสะพาน เขตพระโขนง หรือโรงพยาบาลสนาม ที่ จ.สมุทรสาคร

3. กลุ่มสีแดง หรือกลุ่มติดเชื้อและมีอาการหนัก จะถูกส่งต่อไปยังโรงพยาบาลของ กทม. ทันที ซึ่งผมมีความเป็นห่วงผู้ป่วยในกลุ่มนี้มากที่สุด จึงได้เร่งรัดให้มีการเตรียมโรงพยาบาลสำหรับผู้ป่วยหนักเพิ่มเติมให้เร็วที่สุด เมื่อวานนี้ ได้มีการเปิดโรงพยาบาลสนาม ICU ที่สนามกีฬาเฉลิมพระเกียรติ เขตทุ่งครุ เพื่อเพิ่มจำนวนเตียงสำหรับผู้ป่วยอาการหนักเพิ่มขึ้นอีก 432 เตียง และเชื่อมั่นว่าจะช่วยให้ผู้ป่วยหนักได้รับการรักษาได้อย่างทันการณ์ ซึ่งจะช่วยป้องกันการเสียชีวิตได้

4. ส่วนกลุ่มผู้เสี่ยงสูงที่ยังไม่พบว่าติดเชื้อ จะต้องกักตัวในบ้านจนกว่าจะได้รับการแจ้งผล และให้ผู้นำชุมชนช่วยเป็นผู้ประสานงาน ส่งอาหารให้ผู้กักตัว

5. วันนี้จะมีการระดมกำลัง 10-20 จุด เพื่อฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มเสี่ยงทั้งหมด วันละ 1,000-3,000 คน รวมให้ได้อย่างน้อย 50,000 คน ภายใน 2 สัปดาห์ และจะฉีดต่อไปให้ได้ถึง 60% ของประชาชนในชุมชนแออัดคลองเตย หรือประมาณ 80,000 คน

6. นอกจากนี้ ยังมีการเตรียมการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในพื้นที่เพิ่มเติม โดยกรุงเทพมหานคร และกระทรวงกลาโหม ที่จะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด

7. ให้มีการดูแลช่วยเหลือประชาชนในพื้นที่อย่างเร่งด่วนในการส่งอุปกรณ์ป้องกันโรค อาหาร ยา และสิ่งของจำเป็นอื่นๆให้หน่วยงานที่ต้องลงพื้นที่

8. ให้ทุกเขตใน กทม. เตรียมการเชิงรุก โดยใช้รูปแบบ Model คลองเตยนี้ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดในอนาคต
ทั้งหมดนี้ได้ทำไปแล้ว โดยผมได้กำชับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้ดำเนินการอย่างเต็มที่ เพื่อป้องกันการขยายวงของการแพร่ระบาด และให้รายงานความคืบหน้ากับผมโดยตรง ผมจะติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดเพื่อประเมินความจำเป็นในการปรับแผนการควบคุมสถานการณ์หากมีความจำเป็น เป้าหมายคือการจำกัดวงการแพร่ระบาดให้เล็กที่สุดและควบคุมให้ได้เร็วที่สุด เจ้าหน้าที่ทุกคนกำลังเร่งทำงานกันอย่างเต็มที่เพื่อความปลอดภัยของพี่น้องประชาชนทุกคนครับ”



กำลังโหลดความคิดเห็น