“รสนา” เริ่มโครงการนำร่องคนไทยตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 กระจายยาฟ้าทะลายโจรในพื้นที่ กทม. 50 เขต พรุ่งนี้ (24 เม.ย.) โดยนำไปมอบให้ อสส.กทม. 65 ศูนย์ รวมทั้งสิ้น 234,000 แคปซูล คาดสามารถช่วยเหลือคนป่วยได้ 3,900 คน
วันนี้ (23 เม.ย.) น.ส.รสนา โตสิตระกูล อดีตสมาชิกวุฒิสภา และผู้เสนอตัวลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กแฟนเพจ รสนา โตสิตระกูล ว่า โควิด-19 ระลอก 3 จากคลัสเตอร์แหล่งบันเทิงทองหล่อในเดือนเมษายน 2564 เพียงไม่ถึงเดือน มีคนป่วยเพิ่มเดือนเดียว 17,780 คน และคนตาย 16 คน เทียบกับโควิด-19 ระลอกแรกใช้เวลาทั้งปี 2563 มีคนป่วย 6,772 คน มีคนตาย 67 คน ส่วนระลอก 2 ที่สมุทรสาครระยะเวลามกราคม-มีนาคม 2564 มีคนป่วย 21,035 คน มีคนตาย 27 คน (ตัวเลขวันที่ 22 เมษายน 2564)
จะเห็นได้ว่าโควิด-19 ระลอก 3 แพร่เชื้อเร็วและรุนแรง ทำให้มีคนตายในระยะเวลาสั้นมาก เช่น เคสตายที่ 104 (เคสที่ 16 ของระลอก 3) ผู้ป่วยชาย อายุ 32 ปี ชาวเมืองนนท์ ไทม์ไลน์ระบุสัมผัสผู้ติดเชื้อวันที่ 4 เมษายน วันที่ 8 เริ่มมีไข้ต่ำๆ ไอ เสมหะปนเลือด วันที่ 15 เมษายน มีอาการเหนื่อยหอบ วันที่ 16 เมษายน เข้ารักษาตัวที่ รพ.เอกชน เอกซเรย์พบปอดอักเสบรุนแรง 19 เมษายน เสียชีวิต อีกรายเป็นหญิงอายุ 56 ปี ชาวกรุงเทพฯ เสียชีวิตรายที่ 109 (คนที่ 15 ของระลอก 3) ไทม์ไลน์วันที่ 10 เมษายน เริ่มมีไข้ ไอ 13 เมษายน ไปตรวจเชื้อ 14 เม.ย.ผลตรวจเป็นบวก รอยืนยันผล 17 เม.ย. เสียชีวิตวันที่ 19 เม.ย. จะเห็นได้ว่าเชื้อระลอก 3 รุนแรงถึงตายในระยะเวลาสั้นๆ แค่ไม่ถึง 2 อาทิตย์
วันนี้ ฟังสื่อรายงานว่า ศบค.ประเมินหากพบผู้ป่วยเพิ่มวันละ 2,000 ราย ระบบสาธารณสุขจะรองรับไม่ไหว อาจต้องมีการเตรียมกักตัวที่บ้าน และอาจต้องมีห้องไอซียูสนาม ไม่ใช่แค่ รพ. สนาม
เหตุการณ์วิกฤตเช่นนี้เป็นเรื่องน่าเห็นใจหมอ พยาบาล และเจ้าหน้าที่สาธารณสุข ที่อยู่ด่านหน้า ทำงานเหนื่อยสายตัวแทบขาดในการรับมือกับการติดเชื้อจำนวนมากในแต่ละวัน สิ่งที่เป็นปัญหามา
ระยะหนึ่งแล้วคือ การตรวจเชื้อต้องรอคิว และกว่าจะรู้ผล กว่าจะหาเตียงได้ โดยระหว่างรอคนที่ติดเชื้อระลอกใหม่อาจจะแพร่เชื้อต่อ หรืออาการเพียบหนักจนเสียชีวิตดัง 2 กรณีตัวอย่างที่ยกมา
กรณีผู้ติดเชื้อระลอก 3 กว่าเชื้อจะแสดงอาการก็ใช้เวลา 3-4 วัน ถ้าในระยะนั้นมีการใช้ยาฟ้าทะลายโจรกระจายให้ผู้ติดเชื้อตั้งแต่เริ่มมีอาการ คาดว่า เชื้อไวรัสไม่น่าจะลุกลามหนักจนถึงขั้นเสียชีวิตก็เป็นได้ จากรายงานผลของกรมการแพทย์แผนไทยฯที่จ่ายยาให้คนไข้ติดเชื้อโควิด-19 ใน รพ ศูนย์ รพ ทั่วไป และ รพ สนาม จำนวน 9 แห่ง ผู้ป่วยจำนวน 304 คนที่ติดเชื้อ
โควิด-19 ที่มีอาการน้อย ถึงปานกลาง ใช้ฟ้าทะลายโจร 3 วัน อาการดีขึ้นทุกคน เชื้อไม่ลงปอด และหายภายใน 5 วัน
เป็นเรื่องน่ายินดีที่กระทรวงสาธารณสุขโดยรัฐมนตรี อนุทิน ชาญวีรกูล ร่วมกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข อธิบดีกรมแพทย์แผนไทย อธิบดีกรมควบคุมโรค และอธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ ได้ตัดสินใจประกาศใช้ฟ้าทะลายโจรในคนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่รักษาตัวอยู่ใน รพ ต่างๆ ทั่วประเทศทั้ง 12 เขต ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุขโดยได้จัดอีเวนต์คิกออฟ มอบยาฟ้าทะลายโจรผ่านนายแพทย์สาธารณสุข เมื่อวานนี้ (22 เมษายน 2564)
ดิฉันได้สอบถามระดับผู้บริหารของกระทรวงสาธารณสุขบางท่าน ว่า นโยบายของรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ซึ่งเป็นรองนายกรัฐมนตรีด้วยนั้นได้รวมการแจกยาฟ้าทะลายโจรให้กรุงเทพมหานครไว้ด้วยหรือไม่ ? จึงได้ทราบว่า กรุงเทพฯคือพื้นที่เขต 13 ที่เป็นอิสระไม่อยู่ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข นโยบายเรื่องการใช้ฟ้าทะลายโจรจึงไม่ได้รวม กทม.ไว้ด้วย แต่มี รพ. บางแห่งใน กทม.ที่ยินดีรับยาฟ้าทะลายโจรไปใช้กับคนป่วยติดเชื้อโควิด-19
ดิฉันมีความเห็นว่าในฐานะที่ กทม.เป็นศูนย์กลางการแพร่ระบาดระลอก 3 นี้ และมีคนติดเชื้อจำนวนมาก เพื่อช่วยกันรักษาระบบสาธารณสุขไม่ให้เกิดภาระหนักจนล่ม อยากขอเสนอถึงท่านผู้ว่าฯ
กทม.โปรดมีนโยบายร่วมกับกระทรวงสาธารณสุขให้นำฟ้าทะลายโจรมาใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มีอาการน้อยถึงปานกลาง เพื่อตัดไข้แต่ต้นทาง ป้องกันไม่ให้ลุกลามเป็นอาการหนักถึงขั้นเสียชีวิต ทั้งเป็นการสงวนทรัพยากรทางการแพทย์ เครื่องให้ออกซิเจนและยาฟาวิพิราเวียร์ ที่สั่งซื้อเข้ามาเพื่อใช้กับกรณีคนไข้อาการหนัก ซึ่งเป็นการคัดกรองคนอาการน้อย และปานกลางให้หายโดยเร็ว จะเป็นความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจของประเทศ เพราะขณะนี้เรายังไม่สามารถฉีดวัคซีนให้ประชาชนได้ครอบคลุมมากพอที่จะควบคุมโรคไม่ให้แพร่กระจาย และป้องกันคนติดเชื้อไม่ให้ป่วยหนักจนเสียชีวิตได้
ดิฉันขอเสนอว่านอกจากการใช้ฟ้าทะลายโจรใน รพ.ของ กทม.แล้ว ควรมีการกระจายยาฟ้าทะลายโจรลงไปในระดับชุมชน ผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขกรุงเทพมหานคร (อสส.กทม.) ทั้ง 68 เขต และอาสาสมัครชุมชนต่างๆ เพื่อช่วยเหลือประชาชนใน กทม. จะเป็นการกระจายอำนาจและใช้ศักยภาพของภาคประชาสังคมในกทม.ช่วยแบ่งเบาภาระในระบบสาธารณสุขในขณะนี้ที่รับภาระหนักอึ้ง เพื่อเราจะได้ไม่เกิดโศกนาฏกรรมแบบกรณี อาม่าผู้สูงอายุมากถึง 3 ท่าน ที่ถูกทอดทิ้งอยู่ในบ้าน เพราะสมาชิกอื่นถูกกักตัวใน รพ. เพราะติดเชื้อ จนอาม่าท่านหนึ่งอายุ 85 ปี ได้เสียชีวิต เป็นที่น่าเศร้าสลดใจอย่างยิ่ง
เพื่อเป็นการนำร่องการกระจายยาฟ้าทะลายโจรให้กับประชาชนใน กทม.ดิฉันและทีมงานมูลนิธิสุขภาพไทย และมูลนิธิพุทธิกาที่เคยระดมทุนจากประชาชนเพื่อช่วยกระจายอาหาร สิ่งของจำเป็นเมื่อเกิดการระบาดเชื้อโควิดระลอกแรกเมื่อปี 2563 ครั้งนี้ดิฉันและทีมงานได้ทำ “โครงการนำร่องคนไทยตื่นรู้สู้ภัยโควิด-19 กระจายยาฟ้าทะลายโจรในพื้นที่ กทม.50 เขต “ผ่าน อสส.กทม. และอาสาสมัครชุมชนโดยดิฉันจะเดินทางพร้อมทีมงานนำฟ้าทะลายโจรที่ขึ้นทะเบียนยาสามัญประจำบ้านที่ได้รับบริจาคมา ไปมอบให้ อสส.กทม.65 ศูนย์โดยจำนวนฟ้าทะลายโจรที่มอบให้ศูนย์ละ 1 ลังๆ ละ 60 กระปุก แต่ละกระปุกมี 60 แคปซูล รวมทั้งสิ้น 234,000 แคปซูล โดยยา1กระปุก เพียงพอสำหรับใช้กับคนไข้ 1 คน จะสามารถช่วยเหลือคนป่วยได้ 3,900 คน
ดิฉันหวังว่าผู้ว่าฯ กทม.จะได้ช่วยสานต่อให้มีการกระจายยาฟ้าทะลายโจรให้ทั่วถึงเพื่อให้ชุมชนต่างๆ มียาใช้ในวิกฤตโควิด เพื่อรักษาชีวิตประชาชน และลดภาระในระบบสาธารณสุขที่แบกรับภาระมากมายในขณะนี้