ชวนฟังสัมมนาออนไลน์ เรียนรู้จากประสบการณ์ตรงจากวิทยากรระดับแนวหน้าจากองค์กรชั้นนำบนเวทีกิจกรรม Webinar ยกระดับ Digital Transformation กลไกหลักขับเคลื่อน “เศรษฐกิจดิจิทัล”
ดร.มนู อรดีดลเชษฐ ที่ปรึกษาปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร เปิดเผยว่า Digital Economy หรือเศรษฐกิจดิจิทัล เป็นนโยบายเศรษฐกิจสมัยใหม่ที่พร้อมเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินธุรกิจ ตลอดจนวางรากฐานการแข่งขันเชิงธุรกิจรูปแบบใหม่ ซึ่งจะทำให้ทุกภาคส่วนของเศรษฐกิจก้าวหน้า และสามารถแข่งขันในโลกสมัยใหม่ได้ โดยประเทศไทยได้ประกาศแผน “Digital Thailand” เพื่อก้าวสู่การเป็น “Thailand 4.0” ตามเป้าหมายที่วางไว้ คือ การขับเคลื่อนไปสู่ Value–Based Economy เศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนด้วย Technologies, Creativity, Innovation ทำให้เกิดการพัฒนาด้านโครงสร้างพื้นฐาน ทักษะด้านนวัตกรรม ด้านการใช้ข้อมูล ด้านการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และอื่นๆ เพื่อก้าวข้ามกับดักประเทศรายได้ปานกลาง เมื่อบริบททางเศรษฐกิจเกิดการเปลี่ยนแปลงไป
ทั้งนี้ แผน “Digital Thailand” ยังเป็นการต่อยอดโอกาสทางธุรกิจให้แก่ธุรกิจประเภทอื่นๆ เกือบทุกวงการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจ Startup ,SMEs รวมถึงแพลตฟอร์มอี-คอมเมิร์ซ และธุรกิจโลจิสติกส์ที่มีแนวโน้มเติบโตอย่างต่อเนื่อง นับตั้งแต่การใช้งาน Social Media แอปพลิเคชันสั่งซื้ออาหารออนไลน์ การสั่งซื้อสินค้าออนไลน์ เป็นต้น จะเห็นได้ว่าเทคโนโลยี ทำให้พฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ส่งผลให้ธุรกิจแบบดั้งเดิมต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ ที่เกิดจากการเชื่อมโยงกันของผู้คนในวงกว้าง และส่วนใหญ่เป็นการสื่อสารแบบสองทางผ่าน Facebook, Line, Twitter ทำให้เกิดการแชร์ประสบการณ์ แลกเปลี่ยนข้อมูล อีกทั้งผู้บริโภคเกิดความเชื่อในอินฟลูเอนเซอร์ และมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจซื้อสินค้า บริการมากขึ้น ซึ่งหากภาคธุรกิจยังคงทำธุรกิจในรูปแบบเดิมๆ ก็อาจไม่สามารถแข่งขันกับกับบริษัทที่มีความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีได้ ทั้งนี้ หากองค์กรจะไปต่อได้ จะต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาต่อยอดผลิตภัณฑ์เดิมหรือการสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ และการขยายตลาดหรือการหากลุ่มเป้าหมายใหม่ ไปพร้อมๆ กัน (Value Creation) อย่างไรก็ตาม การปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ใหม่ขององค์กรได้อย่างสมบูรณ์ไม่ได้เป็นเรื่องง่าย จะต้องอาศัยความมุ่งมั่นของผู้บริการ การวางแผนอย่างรอบคอบ และความร่วมมือจากทุกภาคส่วนของหน่วยงานนั้นๆ ด้วย
ด้าน รศ.ดร.ธนชาติ นุ่มนนท์ ผู้อำนวยการสถาบันไอเอ็มซี กล่าวว่า ปัจจุบันเทคโนโลยีได้พัฒนาไปอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้บริโภคได้รับความสะดวก รวดเร็ว จากการใช้อุปกรณ์อัจฉริยะต่างๆ โดยอาศัยเทคโนโลยี “IoT” ที่สามารถเชื่อมต่อหรือส่งข้อมูลถึงกัน ควบคุมการใช้งานได้ด้วยระบบเครือข่ายอินเทอร์เน็ต รวมไปถึงการเชื่อมต่ออุปกรณ์เข้ากับการใช้งานอื่นๆ เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในด้านต่างๆ ผ่านออนไลน์ อาทิ Smart Health, Smart Home, Smart Agriculture นอกจากนี้ “IoT” ยังเป็นสื่อกลางทำให้ผู้ประกอบการเข้าถึงข้อมูลในด้านต่างๆ ของผู้บริโภคจำนวนมาก และจัดเก็บในระบบคลาวด์ และประมวลผลข้อมูลได้อย่างทันท่วงทีและในรูปแบบเรียลไทม์ ไม่ว่าจะเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลขนาดใหญ่หรือจัดการข้อมูลระดับย่อยและสามารถเข้าถึงข้อมูลได้ตลอดเวลาพร้อมกับการกำหนดค่าความเป็นส่วนตัว อีกทั้งการเชื่อมต่อระบบอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อตอบโจทย์การพัฒนาและการนำข้อมูลที่รวบรวมไว้เป็น Big Data ที่สามารถนำไปใช้ในการวิเคราะห์ ด้วยเทคโนโลยี AI หรือปัญญาประดิษฐ์ เพื่อทำความเข้าใจผู้บริโภคอย่างแท้จริง และเพื่อพัฒนาระบบธุรกิจให้สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นสำหรับองค์กรธุรกิจ
อย่างไรก็ตาม จากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี ได้ส่งผลกระทบในวงกว้าง เศรษฐกิจไทยที่ดำเนินมาในโครงสร้างแบบเดิมได้ถูกดิสรัปต์จากระบบดิจิทัล ส่งผลต่อห่วงโซ่อุปทาน ทำให้ผู้ผลิตเข้าถึงผู้บริโภคได้โดยไม่ผ่านคนกลาง ทำให้ทุกองค์กรต่างเผชิญกับความท้าทายใหม่ ทั้งนี้ Digital Transformation จะเป็นโอกาสทางธุรกิจขององค์กร เป็นการนำระบบดิจิทัลเข้ามาตอบโจทย์กลยุทธทางธุรกิจ เพื่อให้ส่วนงานหลักและงานสนับสนุนขององค์กรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยใช้เทคโนโลยีดิจิทัลผสานกับกระบวนการ แนวทางการทำงาน รูปแบบขององค์กร และวัฒนธรรมองค์กร ซึ่งจะนำไปสู่การสร้างโมเดลธุรกิจใหม่ขึ้นมา ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้แก่ผู้ประกอบการ ผลลัพธ์ของการทำ digital transformation มีมากมาย ตั้งแต่การช่วยลดต้นทุน ทำให้นำสินค้าและบริการเข้าสู่ตลาดได้เร็วขึ้น ที่สำคัญคือ จะช่วยเพิ่มพูนทั้งความพึงพอใจของลูกค้าและสร้างยอดขายให้องค์กร หากผู้ประกอบการแบบดั้งเดิมสามารถยกระดับตนเองสู่องค์กรดิจิทัลได้ แน่นอนว่าจะช่วยให้องค์กรสามารถลดต้นทุนจากภาระงานที่ไม่จำเป็น และทำให้ประสิทธิภาพและผลผลิตในการทำงานดีขึ้น ซึ่งสุดท้ายแล้วจะช่วยเพิ่มผลกำไรให้แก่องค์กรได้อีกทาง
ทั้งนี้ บนเวทีกิจกรรม Webinar สัมมนาออนไลน์ ครั้งนี้ ยังได้มีการนำเสนอความรู้และประสบการณ์เกี่ยวกับบทบาทของ Digital Transformation ในหัวข้อ ”Success story of Digital Transformation in Thailand” ดำเนินรายการโดย นายวิชัย วรธานีวงศ์ FM 96.5 ซึ่งสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของการจัด JRIT ICHI CYBER MARKET STATION ตลาดไซเบอร์ออนไลน์ ที่จะช่วยยกระดับการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ในองค์กรอย่างมีประสิทธิภาพ
สำหรับผู้ประกอบการหรือผู้ที่สนใจสามารถลงทะเบียนเข้าชมงาน JRIT ICHI CYBER MARKET STATION ออนไลน์อีเว้นท์ โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ด้วยการลงทะเบียนที่หน้าเว็บไซต์ของงาน JRIT ICHI Cyber Market Station (https://bit.ly/2P8aPDM) โดยทีมงานจะทำการยืนยันการลงทะเบียน และส่ง Access Code เพื่อเข้าชม Webinar ผ่านทางอีเมลที่ลงทะเบียนไว้ หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่หมายเลขโทรศัพท์ 02-168-7838