ข้อมูลการฉีดวัคซีนต้านโควิด-19 ของประเทศอาเซียน ณ วันที่ 30 เมษายน 2564 ฉีดครบทั้ง 10 ประเทศแล้ว จำนวน 30,984,720 โดส ทั้งโดสแรกและโดสที่สอง
ถ้าคิดเป็นจำนวนโดส อินโดนีเซียฉีดมากที่สุด 20 ล้านโดส รองลงมาคือสิงคโปร์และกัมพูชา 2.2 ล้านโดส แต่ถ้าคิดจากสัดส่วนต่อจำนวนประชากรทั้งหมด สิงคโปร์ฉีดได้มากที่สุด เพราะมีคนเพียง 5 ล้านกว่าคนเท่านั้น คือฉีดได้ 19.5% อินโดนีเซียฉีดได้แค่ 3.6% ของประชากร เพราะมีคนมากถึงกว่า 200 ล้านคน
ประเทศไทยฉีดไปแล้ว 1.4 ล้านโดส คิดเป็น 1.1% ของประชากรทั้งหมด โดยเริ่มฉีดตั้งแต่วันที่ 28 กุมภาพันธ์ เปรียบเทียบกับสิงคโปร์ซึ่งฉีดเป็นประเทศแรก เมื่อวันที่ 30 ธันวาคม 2563 ฉีดไปได้ 2.2 ล้านคน จะเห็นว่า แม้ไทยจะเริ่มฉีดวัคซีนช้ากว่าประเทศอื่นๆ แต่ฉีดได้เร็ว
หลังจากวันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป ที่ไทยจะเริ่มต้นฉีดวัคซีนให้ประชาชนทั่วประเทศ โดยมีเป้าหมายจะฉีดให้ได้ครบ 100 ล้านโดส ครอบคลุมประชาชน 50 ล้านคน คิดเป็น 70% ของประชากรทั้งประเทศภายในสิ้นปีนี้ อัตราการฉีดวัคซีนจะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วแซงหน้าทุกประเทศในอาเซียน
การฉีดวัคซีนได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับจำนวนวัคซีนที่แต่ละประเทศได้รับ ทั้งที่ซื้อเอง หรือได้รับบริจาคจากจีน อินเดีย หรือโคแวกซ์ (Covax-Covid-19 Vaccines Global Access Facility โครงการเพื่อการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 ระดับโลก) ถึงวันนี้ วัคซีนที่ได้รับการรับรองให้ฉีดแบบฉุกเฉินมากกว่า 80% กระจุกตัวอยู่ในประเทศร่ำรวย ทั้งสหรัฐฯ อังกฤษ และกลุ่มประเทศอียู ซึ่งทุ่มงบประมาณจำนวนมหาศาลราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ ให้กับผู้ผลิตวัคซีนแต่ละราย ตั้งแต่ตอนที่ยังอยู่ในขั้นทดลอง ไม่รู้ว่าจะได้ผลหรือไม่ โดยมีเงื่อนไขว่า ถ้าสำเร็จ จะได้รับวัคซีนไปฉีดก่อนประเทศอื่นๆ
ด้วยเหตุนี้เอง วัคซีนจำนวนมากจึงไปกองกันอยู่ในประเทศตะวันตกจนเกินจำนวนประชากร ในขณะที่ประเทศเอเชีย ต้องรอให้ผู้ผลิตส่งมอบวัคซีนให้สหรัฐฯ แคนาดา อังกฤษและอียูก่อน กว่าจะถึงคิวที่ได้รับวัคซีนที่จองซื้อไปอย่างเร็วที่สุดคือ ไตรมาส 3
ดูอย่างสิงคโปร์ ซึ่งรวยที่สุดในอาเซียน ฉีดวัคซีนไฟเซอร์ก่อนใครเพื่อน ผ่านไปเกือบครึ่งปี ฉีดไปได้แค่ 2 ล้านโดส เพราะวัคซีนทยอยกันมาจำนวนไม่มากในแต่ละครั้ง
โคแวกซ์เคยเป็นความหวังของประเทศที่มีรายได้ปานกลาง ประเทศยากจน กว่าจะจัดสรรวัคซีนให้ทั่วถึงเท่าเทียมกัน โคแวกซ์วางแผนว่า จะส่งวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า 237 ล้านโดสให้ 142 ประเทศ ภายในสิ้นเดือนพฤษภาคมนี้ แต่ข้อมูลล่าสุดจากเว็บไซต์ www.gavi.org ณ วันที่ 29 เมษายน โคแวกซ์เพิ่งส่งมอบวัคซีนได้เพียง 49 ล้านโดส แต่ต้องจัดสรรให้ประเทศต่างๆ มากถึง 121 ประเทศ
ในเอเชีย อินโดนีเซียได้รับจัดสรรวัคซีน 11.7 ล้านโดส ได้รับจริง 1.12 ล้านโดส เมื่อวันที่ 8 มีนาคม และ 3.8 ล้านโดส วันที่ 26 เมษายน
เนปาลได้รับจัดสรร 1.92 ล้านโดส เพิ่งได้รับเพียง 348,000 โดส เมื่อวันที่ 7 มีนาคม
ติมอร์-เลสเต ได้รับจัดสรร 100,800 โดส แต่จนถึงตอนนี้ ได้รับแค่ 24,000 โดส เมื่อวันที่ 5 เมษายนที่ผ่านมา
วัคซีนแอสตร้าเซนเนก้า เป็นวัคซีนหลักของโคแวกซ์ที่แจกจ่ายให้กับประเทศที่เข้าร่วมโครงการจำนวน 340 ล้านโดส และเป็นวัคซีนไฟเซอร์ ไบออนเทคประมาณ 1.2 ล้านโดส สถาบันเซรั่มของอินเดีย เป็นผู้ผลิตวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าส่งให้กับโคแวกซ์
การระบาดที่รุนแรงในอินเดีย มีผู้ติดเชื้อวันละ 3 แสนคน เสียชีวิต 3-4 พันคน ทำให้อินเดียระงับการส่งออกวัคซีนแอสตร้าเซนเนก้าตั้งแต่กลางเดือนมีนาคม เพื่อนำวัคซีนมาใช้ในประเทศ จนกว่าสถานการณ์จะดีขึ้น ทำให้ส่งมอบวัคซีนให้โคแวกซ์ในเดือนมีนาคม-มิถุนายนได้เพียง 17.7 ล้านโดส จากทั้งหมด 60.5 ล้านโดส ที่เหลือต้องเลื่อนออกไปไม่มีกำหนด
ประเทศไทย ตัดสินใจไม่ร่วมโคแวกซ์ เพราะไม่มั่นใจว่า โคแวกซ์จะส่งมอบได้จริง แม้ว่าจะต้องจ่ายเงินซื้อไม่ได้รับแจกฟรี เนื่องจากเป็นประเทศรายได้ปานกลาง ทั้งโคแวกซ์ยังไม่สามารถระบุเวลาส่งมอบจำนวนวัคซีนที่จะได้รับ ประกอบกับแอสตร้าเซนเนก้าเลือกบริษัท สยามไบโอไซเอนซ์ของไทย เป็นฐานการผลิตในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และเป็น 1 ใน 15 ฐานการผลิตทั่วโลก
เรื่องไทยไม่ร่วมโคแวกซ์ ถูกฝ่ายตรงข้ามรัฐบาลนำไปปั่นกระแสโจมตีว่า เป็นความผิดพลาด ทำให้ไทยได้วัคซีนช้ากว่าเพื่อนบ้าน แต่ในความเป็นจริง ตัวเลขที่นำมาปั่นกันว่า ประเทศไหนได้รับวัคซีนโคแวกซ์เท่าไร เป็นแค่ตัวเลขที่โคแวกซ์บอกว่า จะจัดสรรให้เท่านั้น ไม่ได้มีการส่งมอบจริง
ตัวเลขการส่งมอบจริงเพียง 49 ล้านโดส ที่ต้องแบ่งกันถึง 121 ประเทศ และการระงับส่งออกวัคซีนของอินเดีย ซึ่งเป็นซัปพลายเออร์หลักของโคแวกซ์อย่างไม่มีกำหนด เป็นข้อพิสูจน์ว่า ประเทศไทยตัดสินใจถูกที่ไม่ร่วมโคแวกซ์
การเปิดให้ประชาชนที่มีอายุ 60 ปีขึ้นไป และกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัว ลงทะเบียนจองวัคซีนผ่านแอปพลิเคชัน และไลน์ หมอพร้อม ตั้งแต่วันที่ 1 พฤษภาคม ผู้ที่ลงทะเบียนได้แล้ว ได้รับแจ้ง วัน เวลา และโรงพยาบาลที่จะไปฉีดวัคซีนตั้งแต่วันที่ 7 มิถุนายนเป็นต้นไป เป็นสิ่งที่บ่งบอกว่า ตั้งแต่เดือนหน้า ประเทศไทยมีวัคซีนเพียงพอที่จะฉีดให้กับประชาชน 50 ล้านคนภายในสิ้นปีนี้
การตัดสินใจเลือกแอสตร้าเซนเนก้าที่ใช้ประเทศไทยเป็น 1 ใน 15 ฐานการผลิตทั่วโลก จึงเป็นการตัดสินใจที่ถูกต้องแล้ว