เอเจนซีส์/MGRออนไลน์ – บริษัทยาโมเดอร์นาของสหรัฐฯวันนี้(3 พ.ค)ทำสัญญากับองค์กรกาวี (GAVI)พันธมิตรวัคซีนซึ่งเป็นหนึ่งในองค์กรร่วมบริหารโครงการ COVAX ตกลงส่งวัคซีนโควิด-19 จำนวน 500 ล้านโดสในราคาทุนเพื่อส่งให้ประเทศกำลังพัฒนาและยากจนที่ร่วมโครงการ COVAX สู้การระบาดไวรัส ด้านสหภาพยุโรปมีแผนที่จะเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวซึ่งได้รับการป้องกันจากวัคซีนโควิด-19สามารถเข้าได้ตั้งแต่มิถุนายนนี้
CNN สื่อสหรัฐฯรายงานวันนี้(3 พ.ค)ว่า บริษัทไบโอเทคสหรัฐฯ โมเดอร์นาแถลงในวันจันทร์(3)ประกาศข้อตกลงร่วมกับ(GAVI)พันธมิตรวัคซีนในการส่งมอบวัคซีนโควิด-19ของทางบริษัทจำนวนสูงสุด 500 ล้านโดสให้กับชาติกำลังพัฒนาและชาติยากจน
โดยในแถลงการณ์โมเดอร์นากล่าวว่า บริษัทคิดราคาต่อโดสต่ำที่สุด โดยล็อตแรกจำนวน 34 ล้านโดสจะถูกส่งมอบในไตรมาสที่ 4 ของปี 2021 พร้อมกับทางเลือกสำหรับอีก 466 ล้านโดสในปี 2022
สื่อสหรัฐฯระบุว่า ข้อตกลงครอบคลุม 92 ประเทศซึ่งเข้าร่วมกับโครงการ COVAX ซึ่งเป็นโครงการความริเริ่มในการจัดซื้อวัคซีนจำนวนมากและนำมาแจกจ่ายให้กับบรรดาชาติยากจนที่ไม่สามารถต่อสู้กับบรรดาชาติร่ำรวยในการได้สัญญากับบริษัทยายักษ์ใหญ่ต่างๆได้
ทั้งนี้ COVAX นั้นถูกบริหารโดยองค์การกาวี องค์การอนามัยโลก และพันธมิตรเพื่อนวัตกรรมการเตรียมความพร้อมทางด้านโรคระบาด (Epidemic Preparedness Innovations) ซึ่งโครงการได้รับเงินสนับสนุนมาจากการบริจาคจากชาติต่างๆ สถาบัน และองค์กรข้ามชาติ
โดยทาง CEO โมเดอร์นา สเตฟาน บานเซล (Stéphane Bancel) กล่าวผ่านแถลงการณ์ถึงข้อตกลงที่มีบางช่วงกล่าวว่า “ทางเรารับรู้ว่ามีหลายชาติจำกัดทางทรัพยากรในการเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 เราสนับสนุนพันธกิจของ COVAX เพื่อทำให้มั่นใจว่าจะมีการเข้าถึงในวงกว้าง ราคาย่อมเยา และเท่าเทียมต่อวัคซีนโควิด-19 และเรายังคงรักษาพันธสัญญาในการทำทุกสิ่งเท่าที่เราจะทำได้เพื่อทำให้การระบาดที่ยังคงเกิดขึ้นในเวลานี้ต้องหมดไปด้วยวัคซีนโควิด-19 ประเภท mRNA ของพวกเรา”
และในแถลงการณ์ที่ออกมาของโมเดอร์นายังมีการเผยแพร่แถลงการณ์ของซีอีโอ กาวี ดร. เซธ เบิร์กลีย์ (Dr. Seth Berkley) ที่ระบุว่าเขารู้สึกยินดีสำหรับข้อตกลงระหว่างกันที่เกิดขึ้นซึ่งจะช่วยให้ COVAX สามารถเข้าถึงวัคซีนโควิด-19 อีกประเภทได้
ทั้งนี้ไทยไม่ได้ลงนามเข้าร่วมเป็นพันธมิตรของ COVAX จึงเป็นที่น่าเสียดายที่ไทยอาจต้องพลาดในการได้วัคซีนโมเดอร์นาในราคาประหยัดซึ่งมีประสิทธิภาพการป้องกันถึง 94.1% และเมื่อไม่กี่วันมานี้ทางองค์การอนามัยโลกได้อนุมัติไฟเขียวให้วัคซีนตัวนี้สามารถใช้ฉุกเฉินได้ โดยเฉพาะในเวลาทีี่ไทยเห็นจำนวนผู้เสียชีวิตเพิ่มสูงถึง 31 รายในวันอังคาร(3) สูงที่สุดที่เคยมีมาตั้งแต่เกิดการระบาด
โดยก่อนหน้าเมื่อกุมภาพันธ์ สื่อในประเทศได้เคยรายงานถึงสาเหตุที่ ไม่ได้เข้าร่วม COVAX โดย นพ.นคร เปรมศรี ผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ชี้ว่า ไทยเป็นประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงทำให้ไม่ได้รับสิทธิ์ได้รับวัคซีนฟรี ในรายงานได้ชี้ไปถึงประเทศอาเซียนที่ได้รับวัคซีนฟรีจาก COVAX ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว เมียนมา ฟิลิปปินส์ และเวียดนาม
อย่างไรก็ตามเมื่อ MGRออนไลน์ตรวจเว็บไซต์ฐานข้อมูลธนาคารโลกล่าสุดพบว่าทั้งฟิลิปปินส์และเวียดนามถูกจัดอยู่ในประเทศรายได้ปานกลางระดับต่ำ แต่ทว่าอินโดนีเซียถูกจัดอยู่ในกลุ่มรายได้ปานกลางระดับสูงเช่นเดียวกันกับไทย
และผู้อำนวยการสถาบันวัคซีนแห่งชาติ ยังชี้ต่อว่า สาเหตุที่ไม่เข้าร่วมเนื่องมาจากไม่สามารถเลือกวัคซีนได้ ต่อรองไม่ได้ เสี่ยงที่จะได้รับวัคซีนช้าและมีราคาแพง ทั้งนี้โครงการ COVAX ปัจจุบันมีประเทศเข้าร่วมกว่า 180 ประเทศ และได้ทำสัญญากับบริษัทยายักษ์ใหญ่ชื่อดังเป็นต้นว่า ไฟเซอร์ แอสตราเซเนก้า และล่าสุดบริษัทโมเดอร์นาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน EU ล่าสุดมีแผนต้องการเปิดพรมแดนให้นักท่องเที่ยวต่างชาติที่ได้รับภูมิคุ้มกันโควิด-19 สามารถเดินทางเข้าได้ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย เป็นต้นไปหลังจากปิดพรมแดนมาตั้งแต่ 1 ก.ค ปี 2020 โดยในข้อเสนอวันจันทร์(3)ของสหภาพยุโรปมีใจความว่า “ชาติสมาชิกเห็นสมควรอนุญาตให้มีการเดินทางเข้าสู่ EU ของกลุ่มคนที่ได้รับ 14 วันเป็นอย่างน้อยก่อนเดินทางมาถึง โดสสุดท้ายของวัคซีนที่ได้รับการอนุญาตในสหภาพยุโรป”
ซึ่งในเวลานี้วัคซีนโควิด-19ที่ได้รับอนุญาตในยุโรปคือ วัคซีนไฟเซอร์ วัคซีนแอสตราเซเนก้า วัคซีนจอห์นสันแอนด์จอห์นสัน และวัคซีนโมเดอร์นา
ทางข้อเสนอกล่าวต่อว่า หากชาติสมาชิกตัดสินใจที่จะยอมที่จะไม่บังคับการตรวจก่อนเข้าประเทศและการกักตัวสำหรับพลเมือง EU ที่ได้รับการฉีดวัคซีนแล้ว ชาติสมาชิกนั้นเห็นสมควรที่ต้องปฎิบัติเช่นเดียวกันสำหรับนักท่องเที่ยวซึ่งได้รับภูมิคุ้มกันที่มาจากนอกสหภาพยุโรป
โดยทางEUมีแผนที่จะเสนอให้ใช้ใบรับรองดิจิทัลที่ทางนักเดินทางจำเป็นต้องยื่นหลักฐานแสดงว่า คนเหล่านั้นได้รับวัคซีนโควิด-19แล้วเพื่อเข้าสู่พรมแดนชาติสมาชิกในกลุ่ม