เอไอเอส เผยโควิด-19 เร่งองค์กรนำดิจิทัลขับเคลื่อนธุรกิจ ชี้บริษัทที่มีแผนดิจิทัลจะสามารถสร้างรายได้มากกว่าบริษัทที่ไม่ได้วางแผนนำดิจิทัลมาใช้งาน พร้อมอาสาเป็นพาร์ตเนอร์สร้างองค์กรสู่ยุคดิจิทัล
นายธนพงษ์ อิทธิสกุลชัย หัวหน้าคณะผู้บริหาร กลุ่มลูกค้าองค์กร บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือเอไอเอส กล่าวในงานสัมมนา AIS Business Digital Future 2021 - Your Trusted Smart Digital Partner หัวข้อ Accelerating Your Digital Transformation for Competition Disrupted ว่า สถานการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ทุกองค์กรต้องปรับตัวด้วยการนำดิจิทัลมาทรานส์ฟอร์มองค์กรของตนเอง เพื่อให้มีการเติบโตอย่างยั่งยืนมากขึ้น โควิด-19 เป็นตัวเร่งให้ทุกองค์กรปรับตัวเร็วขึ้น ซึ่งพบว่าองค์กรมีการปรับตัวมากถึง 18-40 เท่า จากการทำงานแบบเดิม และยังพบว่า บริษัทที่อยู่ในท็อปเท็น ผู้นำด้านดิจิทัลสามารถสร้างการเจริญเติบโตของรายได้มากถึง 5 เท่า เมื่อเทียบกับบริษัทที่ไม่ได้วางแผนไปสู่ดิจิทัล
อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยมีดิจิทัลลีดเดอร์เพียง 3% เมื่อเทียบกับทั่วโลกที่มี 5% แต่ประเทศไทยโชคดีตรงที่มีสัดส่วนของบริษัทที่ไม่มีแผนการนำดิจิทัลมาปรับปรุงในองค์กรเพียง 5% เท่านั้น เมื่อเทียบกับทั่วโลกที่มีสัดส่วน 9% เพราะประเทศไทยกำลังทำยูสเคส กำลังแอปพลายเทคโนโลยี เพื่อนำประเทศไทยสู่การเป็นประเทศดิจิทัล
ในช่วงสถานการณ์โควิด-19 เอไอเอสได้สนับสนุนกิจกรรมต่างๆ เช่น การสนับสนุนด้านเทคโนโลยีให้โรงพยาบาลสนาม 31 แห่ง การใช้ AI ในการสแกนปอดผู้ป่วย การสร้างแพลตฟอร์มเพื่อช่วยให้การทำงานของ อสม.ออนไลน์สะดวกขึ้น นอกจากนี้ ยังมีการทำแพลตฟอร์มการรักษาผู้ป่วยทางไกลให้โรงพยาบาล เพื่อลดการพบเจอ ความแออัด และลดการติดเชื้อ
ขณะที่ในส่วนของการช่วยเหลือผู้ประกอบการนั้น เอไอเอสได้ร่วมทำโครงการ State Quarantine นักท่องเที่ยวบนเรือยอชต์ด้วยการทำสายรัดข้อมืออัจฉริยะในการรายงานข้อมูลต่างๆ ไปยังแพทย์ เพื่อให้ผู้ประกอบการในภูเก็ตทำงานได้ ซึ่งจากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการในพื้นที่พบว่าโครงการนี้ทำให้มีเงินหมุนเวียนในพื้นที่กว่า 650 ล้านบาท
นอกจากนี้ เอไอเอสเพิ่งเปิดตัวศูนย์การค้าเสมือนจริงแห่งแรกในประเทศไทย เป็นแพลตฟอร์มให้ลูกค้าทำธุรกรรม และทำธุรกิจ ผ่านดิจิทัลได้ โดยมาจากผลพวงของเทคโนโลยี 5G ที่ปัจจุบันมีคนเข้ามาใช้งานมากกว่า 1 ล้านคน สามารถช่วยผู้ประกอบการทั้งรายเล็กและรายใหญ่ในการมีพื้นที่ในการทำธุรกิจรูปแบบใหม่นี้มากขึ้น
สำหรับเอไอเอส ไม่ได้นิ่งนอนใจในการนำเทคโนโลยีมาพัฒนาให้ลูกค้าของเรา เอไอเอสได้ก้าวข้ามความเป็นผู้นำด้านโทรคมนาคมไปสู่การเป็นดิจิทัลไลฟ์เซอร์วิส โพวายเดอร์ และสร้างดิจิทัลแพลตฟอร์มขึ้นมา พร้อมสร้างวัฒนธรรมองค์กร และดีเอ็นเอใหม่ๆ ให้คนในองค์กรด้วย แน่นอนว่าธุรกิจหลักของเรายังเป็นโทรคมนาคม ซึ่งต้องยึดไว้ แต่เราก็ต้องสร้างการเติบโตใหม่ๆ เช่น โอกาสของการใช้งานอินเทอร์เน็ตในยุคนิว นอร์มอล ที่เอไอเอสมีบริการไฟเบอร์ออฟติกให้ลูกค้า
รวมถึงการช่วยทรานส์ฟอร์มลูกค้าองค์กรไปสู่ดิจิทัลด้วยบริการและโซลูชันที่เรามี ที่สำคัญคือการเป็นพาร์ตเนอร์กับบริษัทชั้นนำต่างๆ ในการสร้างแพลตฟอร์มและโซลูชันร่วมกันเพื่อให้บริการแก่ลูกค้า เป็นเครื่องมือในการเร่งการทรานส์ฟอร์เมชันให้องค์กรของลูกค้า ขณะเดียวกัน เอไอเอสมีการลงทุนในธุรกิจใหม่ในแง่ของการให้บริการดิจิทัลใหม่ๆ ด้วย
"เอไอเอสต้องมีการสร้างวัฒนธรรมองค์กร เพื่อให้พนักงานมีความพร้อมในการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆ พร้อมรองรับกับเทคโนโลยีใหม่ที่เกิดขึ้นอยู่ตลอดเวลาในอนาคต และต้องทำงานด้วยความสนุก สิ่งเหล่านี้จะถูกสร้างเป็นดีเอ็นเอให้พนักงานของเอไอเอสทุกคน"
นายธนพงษ์ กล่าวว่า ตั้งแต่เอไอเอสเปิดให้บริการมา เอไอเอสมีการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านโทรคมนาคมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท มีบริการด้านดิจิทัลจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็น เน็ตเวิร์ก 5G ทั้งคลื่น 700 MHz เพื่อให้บริการครอบคลุม กว้างไกล คลื่น 2600 MHz และคลื่น 26 GHz ที่เหมาะกับองค์กรในการสร้างแอปพลิเคชัน 5G ตอบโจทย์การใช้งานเฉพาะทาง สามารถสร้างสรรค์โซลูชัน AR และ VR ตอบโจทย์การทำงานของโรงงานต่างๆ โซลูชัน IoT บริการดาต้า เซ็นเตอร์ โซลูชันไซเบอร์ ซิเคียวริตี ซึ่งมีความจำเป็นต่อองค์กรที่มีการเปิดระบบเป็นดิจิทัลอย่างมาก มีบริการไฟเบอร์ออปติก ที่มีความยาวแล้ว 1.6 แสนกิโลเมตร นอกจากนี้ ยังพร้อมให้การสนับสนุนสตาร์ทอัปไทยมาโดยตลอด