สมเด็จพระปิยมหาราช ทรงเป็นปราชญ์ทางการประพันธ์พระองค์หนึ่งของกรุงรัตนโกสินทร์ นอกจากจะทรงมีพระราชนิพนธ์ทั้งร้อยแก้วร้อยกรอง จำนวน ๑๒ เรื่องแล้ว ยังมีบทพระราชนิพนธ์ทางด้านพระอารมณ์ขันไว้อีกมาก
สมเด็จฯกรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงเล่าไว้ใน “ตำนานบทละครเรื่องอิเหนา” ว่า ในปี ๒๔๑๒ ซึ่งเป็นปีที่ ๒ ในรัชกาล ได้มีช้างด่างจากเมืองเชียงใหม่มาสู่พระบารมีแล้ว ยังมีช้างทองแดงจากเมืองนครศรีธรรมราชมาอีกช้างหนึ่ง
เมื่อมีการปลูกโรงสมโภชที่สนามชัยให้ประชาชนได้ชมแล้ว เมื่อพาช้างเผือกเข้าไปไว้ในโรงช้างต้นในพระราชวังแล้ว ตามประเพณียังมีการสมโภชภายในอีกครั้งหนึ่ง โปรดให้มีละครหลวงที่โรงละครหลังวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ตอนเย็นมีเล่นระบำตลก โดยตัวละครล้วนเลือกมาแต่จำอวดผู้ชายที่มีชื่อเสียง ทรงนำบทระบำที่นิพนธ์ไว้ตั้งแต่ก่อนขึ้นครองราชย์เมื่อครั้งยังประทับอยู่ที่พระตำหนักสวนกุหลาบ มาให้แสดง เป็นที่เล่าขานกันว่าสร้างขบขันในเย็นนั้นยิ่งนัก แต่ก็ไม่มีการเก็บต้นฉบับไว้
ต่อมามีผู้ที่จำบทระบำนี้ได้คนละเล็กละน้อยมาต่อกันจนได้ครบ และพิมพ์เป็นหนังสือแจกในงานมงคลทำบุญอายุครบ ๖๐ ปีของเจ้าจอมมารดาเลื่อนในรัชกาลที่ ๕ เมื่อ พ.ศ.๒๔๗๕ มีสำนวนลีลาน่าสนุกสนานตามคำเล่าขานว่า
เมื่อนั้นฝ่าฝูงนางฟ้าหน้าเหมือนผี
อีกทั้งเทพบุตรสุดอัปรีย์จับระบำทำทีดูสิ้นเมือง
นางฟ้าเหยียบบ่าเทพบุตรฉวยฉุดยุดกรกันตามเรื่อง
ต่างทำแยบคายชายชำเลืองยักเยื้องหลอนหลอกกลอกหน้าตา
แล้วตีวงเวียนเหียนหันพัลวันไล่จับไม่เป็นท่า
เทพบุตรสกปรกยกกันมาเลี้ยวไล่ไขว่ขว้าพัลวัน
ตอนจบของพระราชนิพนธ์บทระบำนี้ ลงท้ายไว้ว่า
เทพไทได้สดับรับสั่ง
เอาเชือกรั้งเขาคร่าทำน่าขัน
บ้างเรียกร้องเทวามาช่วยกัน
เอาบ่าดันจนถลอกปอกเปิกไป
ทั้งพวกนาคเนรมิตด้วยฤทธิ์นาค
สิบเศียรสิบปากยาวใหญ่
เอาเศียรกระวัดรัดกันไว้
ทอดหางออกไปที่กลางทาง
เทพบุตรครุฑาคนธรรม์
ต่างจับนาคฉุดจนสุดหาง
ดึงปราดนาคขาดออกครึ่งกลาง
ต่างคนชุลมุนวุ่นไป
เป็นบทกลอนที่มีพระอารมณ์ขันบทหนึ่ง ซึ่งสร้างความสนุกสนานให้ผู้คนในยามนั้น จนต้องไปรวบรวมความทรงจำจากความประทับใจมาบันทึกไว้ให้คนรุ่นหลังได้สนุกด้วย