xs
xsm
sm
md
lg

เมื่อเริ่มการศึกษาในไทยสมัย ร.๕! ทั้ง ร.ร.หลวง ร.ร.ราษฎร์ พากันตั้งแต่ ร.ร.สตรี!!

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: โรม บุนนาค


“Girl Scouts” เนตรนารีของสตรีวังหลัง ใน พ.ศ.๒๔๕๗
“ความเท่าเทียมกันของบุรุษและสตรี” เป็นประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากในสังคมโลกและสังคมไทย ทั้งในด้านกฎหมายและวัฒนธรรม อีกทั้งด้านธรรมชาติ ทำให้ผู้หญิงตกเป็นรองผู้ชาย แต่ในสังคมไทยแต่โบราณกาล เราไม่มีความแตกต่างในเรื่องนี้มากเหมือนจีน อินเดีย หรือตะวันออกกลาง

ความไม่เท่าเทียมกันในด้านธรรมชาติ เราจึงแบ่งการงานกันทำตามความเหมาะสมของร่างกาย อย่างเช่นในสมัยกรุงสุโขทัย ศิลาจารึกได้กล่าวว่า “ผู้หญิงทอผ้า ผู้ชายตีเหล็ก” และในสังคมที่มีภัยรอบด้าน ผู้หญิงที่ต้องรักนวลสงวนตัวตามวัฒนธรรม จึงถูกกำหนดให้อยู่แต่ในบ้าน ทำงานบ้านและเย็บถักปักร้อย ให้ผู้ชายออกไปทำงานนอกบ้าน ส่วนการเรียนเขียนอ่านนั้น ก็ส่งเสริมให้แต่ผู้ชายได้เรียนเพื่อเข้ารับราชการ ส่วนผู้หญิงก็เรียนเย็บปักถักร้อยและการทำครัวอยู่ที่บ้าน

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อบ้านเมืองเจริญรุ่งเรืองขึ้น มีการเปิดประเทศรับอารยธรรมตะวันตก เริ่มเห็นความสำคัญของการศึกษา จึงมีการเปิดโรงเรียนขึ้นเป็นครั้งแรกในสมัยสมัยรัชกาลที่ ๕ แต่ก็น่าแปลกใจว่าโรงเรียนแห่งแรกของประเทศไทยทั้งโรงเรียนหลวงและโรงเรียนราษฎร์ พากันตั้งแต่โรงเรียนสตรี ก่อนจะมีโรงเรียนชายตามมาทีหลังเกือบ ๑๐ ปี

ในปี ๒๔๑๗ มิสชันนารีอเมริกันได้เปิด “โรงเรียนกุลสตรีวังหลัง” ขึ้นที่อาคารพระราชวังบวรสถานพิมุข หรือพระราชวังหลัง ซึ่งก็คือส่วนหนึ่งของโรงพยาบาลศิริราชในปัจจุบัน นอกจากจะสอนการเขียนอ่านแล้ว ยังสอนการเย็บปักถักร้อยการทำงานบ้านเป็นหลัก ทำให้ผู้หญิงเปิดประตูบ้านออกมาโรงเรียนกัน

ในปี ๒๔๒๓ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวฯโปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง "โรงเรียนสุนันทา" ขึ้นที่ปากคลองตลาด เป็นโรงเรียนประจำสำหรับสตรีแห่งแรก เพื่อเป็นอนุสาวรีย์แด่สมเด็จพระนางเจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ (พระนางเรือล่ม) แต่ตั้งได้ไม่นานก็มีอันต้องเลิกล้มไป

เมื่อมีโรงเรียนสตรี ๒ แห่งแล้ว ในปี ๒๔๒๕ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเห็นความสำคัญของการมีโรงเรียน ซึ่งตอนนั้นยังเรียกกันว่า “โรงสกูล” เยาวชนทุกคนควรจะได้รับการศึกษาเพื่อจะได้เป็นกำลังของชาติในวันข้างหน้า จึงทรงตั้ง “โรงเรียนพระตำหนักสวนกุหลาบ” ขึ้นที่พระตำหนักสวนกุหลาบในพระบรมมหาราชวัง เมื่อวันที่ ๘ มีนาคม ๒๔๒๕ เพื่อเลือกสรรราชนิกูลและบุตรขุนนางมาศึกษาสำหรับรับราชการ

ต่อมาจำนวนนักเรียนเพิ่มมากขึ้น สถานที่เรียนเริ่มคับแคบ จึงได้ย้ายออกจากพระบรมมหาราชวังไปเรียนตามที่ต่างๆหลายแห่ง รับนักเรียนทั่วไป ในที่สุดได้มาสร้างโรงเรียนที่ถนนตรีเพชร ใกล้วัดราชบูรณะ หรือวัดเลียบ โดยใช้งบประมาณของวัดที่จะสร้างเป็นตึกแถวอาคารพาณิชย์ให้เช่าทำการค้า มาเป็นอาคารเรียนโดยเก็บเงินค่าเล่าเรียนแทนค่าเช่า ซึ่งก็คือ “โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย” ในปัจจุบัน

โรงเรียนสวนกุหลาบ นอกจากจะมีประวัติความเป็นมาที่ยาวนาน สร้างบุคลากรสำคัญให้กับประเทศในหลากหลายวงการแล้ว ยังมีสิ่งก่อสร้างในโรงเรียนที่ถือเป็นโบราณสถานสำคัญของชาติ คือตึกยาว ๑๙๘.๓๕ เมตร มี ๓๗ ห้องเรียน ซึ่งเป็นตึกยาวที่สุดในประเทศไทย แต่ตอนที่สร้างสะพานพระพุทธยอดฟ้า มีการเวนคืนที่ดินเพื่อตัดถนนตรีเพชร โรงเรียนสวนกุหลาบถูกตัดที่ออกไปจนถึงตึกเรียน ตึกยาวเลยต้องทำหน้าที่เป็นรั้วโรงเรียนด้วยในปัจจุบัน

ปี ๒๔๔๐ โรงเรียนสตรีก็เกิดขึ้นอีกแห่งหนึ่ง เมื่อสมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดเกล้าฯให้จัดตั้ง "โรงเรียนเสาวภาผ่องศรี" ได้ชื่อตามพระนามเดิมของพระองค์ ที่บริเวณวังของพระเจ้าวรวงศ์เธอพระองค์เจ้าจุลจักรพงษ์ ใกล้ปากคลองตลาด เป็นโรงเรียนไป-กลับ เปิดสอนตั้งแต่ชั้นมูลจนถึงขั้นสูงสุดคือประโยคประถมศึกษา

ในเดือนมิถุนายน ๒๔๔๔ พระปริยัติธรรมธาดา เมื่อครั้งยังเป็นหลวงประเสริฐนิติ ได้ตั้ง "โรงเรียนบำรุงสตรีวิชา" โรงเรียนสตรีขึ้นอีกแห่ง โดยเช่าที่จากพระคลังข้างที่ ถนนบ้านหม้อ ซึ่งก็คือสถานที่ตั้งโรงเรียนเสาวภาในปัจจุบัน ด้านหลังติดกับโรงเรียนสวนกุหลาบ เป็นโรงเรียนเล็กๆ มีนักเรียนเพียง ๒๕ ตน แต่รับทั้งชายและหญิง

ในวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๔๐ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ ได้โปรดเกล้าฯให้ย้ายโรงเรียนเสาวภาผ่องศรีไปรวมกับโรงเรียนบำรุงวิทยา โดยบริจาคทรัพย์ส่วนพระองค์สร้างอาคารเรียนใหม่ และโปรดเกล้าฯให้คัดนักเรียนชายออก เหลือแต่นักเรียนหญิง

ต่อมาในวันที่ ๑ เมษายน ๒๕๒๓ กระทรวงศึกษาธิการได้ยกฐานะโรงเรียนเสาวภาผ่องศรีเป็น “วิทยาลัยอาชีวศึกษาเสาวภา” เปิดสอนวิชาด้านคหกรรมศาสตร์ ปัจจุบันเปิดสอนในระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ ปวช.และ ปวส.

ต่อมาในปี ๒๔๔๘ สมเด็จพระศรีพัชรินทราบรมราชินีนาถ โปรดฯให้ตั้งโรงเรียนสตรีขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่บริเวณตึกมุมถนนอัษฎางค์กับถนนจักรเพชร ตำบลปากคลองตลาด พระราชทานนามว่า “โรงเรียนราชินี” ต่อมาได้ย้ายไปอยู่ที่ถนนพระอาทิตย์ จนถึงปี ๒๔๔๙ จึงย้ายมาอยู่ที่ตึกสุนันทาลัย ปากคลองตลาด ซึ่งก็คือสถานที่ตั้งโรงเรียนราชินี (ล่าง) ในปัจจุบัน

เมื่อมีการส่งเสริมการศึกษาของสตรีกันอย่างจริงจังในยุคเริ่มต้นการศึกษาของไทยเช่นนี้ ความเหลื่อมล้ำในฐานะและสิทธิของสตรีที่ยังมีปัญหาอยู่ในหลายประเทศ จึงไม่มีเหลืออยู่ในสังคมไทย

ปัจจุบัน มีข้อมูลทางด้านสถิติที่น่าสนใจคือ
ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้าเรียนในระดับอุดมศึกษาตั้งแต่ปริญญาตรีถึงปริญญาเอกมากกว่าผู้ชาย เฉพาะในระดับปริญญาตรี ปีการศึกษา ๒๕๖๑ จะมีนักศึกษาหญิง ๖๐ เปอร์เซ็นต์ นักศึกษาชายเพียง ๔๐ เปอร์เซ็นต์ ส่วนกลุ่มวิชาที่เลือก จะแตกต่างกันบ้าง ก็ขึ้นกับความชอบหรือธรรมชาติของร่างกาย ไม่เกี่ยวกับความเหลื่อมล้ำ

ในด้านตลาดแรงงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ระบุว่า ปัจจุบันแม้จะมีผู้ชายทำงานหารายได้นอกบ้านมากกว่าผู้หญิง แต่ผู้หญิงที่ทำงานนอกบ้านมีระดับการศึกษาโดยเฉลี่ยสูงกว่าผู้ชาย แต่อัตราการว่างงานของคนที่เรียนจบปริญญาตรี ผู้หญิงมีอัตราว่างงานสูงกว่าผู้ชายบ้างเล็กน้อย ก็อาจเป็นเพราะผู้หญิงเลือกวิชาเรียนที่ไม่สนองตอบความต้องการของตลาดแรงงาน ทั้งยังมีภาระในการสร้างครอบครัวด้วยการมีบุตร ทำให้นายจ้างรังเกียจที่ผู้หญิงมีสิทธิลาคลอดบุตรได้นานถึง ๓ เดือน โดยยังได้รับค่าจ้าง ทำให้เพิ่มต้นทุนของสถานประกอบการ

ตั้งแต่การปฏิรูปในสมัยรัชกาลที่ ๕ เป็นต้นมา ผู้หญิงที่เคยทำแต่งานบ้านหรืองานเกษตรและการค้าขายเล็กๆน้อยๆ ได้มีโอกาสทำงานนอกบ้าน เป็นครู พยาบาล จนงานราชการบางหน้าที่ แต่ปัจจุบัน ผู้หญิงได้มีบทบาทกระจายอยู่ทุกสาขาอาชีพ ทั้งทางธุรกิจ ราชการ และการเมือง ไทยเป็นประเทศหนึ่งที่มีผู้หญิงนั่งอยู่ในตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงขององค์กรมากที่สุดด้วย

นี่ก็คือการปรับตัวของไทยให้ก้าวทันกับการก้าวหน้าของสังคมโลก ซึ่งเราไม่แพ้ใครในเรื่องนี้ และเป็นประเทศที่ยืนอยู่อย่างสง่าผ่าเผยในปัจจุบัน



ตึกสุนันทาลัย ร.ร.ราชินี


กำลังโหลดความคิดเห็น