เมื่อสมัยเด็ก ผู้เขียนได้รับฟังที่คนรุ่นเก่าเล่าหลายต่อหลายครั้งว่า เมื่อจะสร้างเสาหลักเมืองหรือประตูเมือง เจ้าเมืองก็จะให้เสนากลุ่มหนึ่งออกไปเดินตามหมู่บ้านในเวลากลางคืน แล้วร้องตะโกนเรียก อิน จัน มั่น คง เมื่อมีคนขานรับครบทั้ง ๔ คนแล้ว ก็จะนำมาเลี้ยงดูอย่างอิ่มหมีพีมัน จนเมื่อถึงฤกษ์ลงเสาก็จะผลักคนทั้ง ๔ นี้ลงหลุม แล้วปล่อยเสาลงมาทับ กลบดินลงหลุม เป็นการฝังอาถรรพ์ให้คนที่ง ๔ เป็นผีเฝ้ารักษาเมือง ถ้าข้าศึกเข้ามาก็ให้มาบอกเพื่อเตรียมการรับได้ทัน
เรื่องนี้ไม่ใช่เพิ่งเล่ากันในยุครัตนโกสินทร์ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา นายเยเรเมียส ฟาน ฟลีต ที่คนไทยเรียกกันว่า “วันวลิต” นายห้างฮอลันดาซึ่งเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยานานถึง ๑๕ ปี และเขียนหนังสือเกี่ยวกับเมืองไทยไว้ ๕ เล่ม ได้กล่าวถึงการสร้างประตูเมืองของกรุงศรีอยุธยาไว้ว่า
“..พระเจ้าแผ่นดินองค์ปัจจุบันทรงเปลี่ยนประตูทั้งหมด... ประตูเหล่านี้ถือเป็นที่ศักดิ์สิทธิ์ในประเทศสยาม พระเจ้าแผ่นดินทรงสั่งให้โยนหญิงมีครรภ์ ๒ คนลงใต้เสาแต่ละเสา และจำเป็นต้องใช้หญิงมีครรภ์ถึง ๖๘ คน สำหรับประตู ๑๗ ประตูนี้...”
วันวลิตยังเล่าอีกว่า ไม่เพียงแต่ประตูวังเท่านั้น การสร้างที่ประทับในพระบรมมหาราชวังก็ได้ทำพิธีนี้เช่นเดียวกัน เสาแต่ละต้นก็จะต้องต้องโยนหญิงมีครรภ์คนหนึ่งลงไป หญิงผู้ตายในเวลาใกล้คลอดยิ่งดี เชื่อว่าผู้หญิงเหล่านี้เมื่อตายแล้วจะเป็นผีปีศาจที่ดุร้าย ไม่เพียงคอยปกป้องเสาซึ่งตนถูกโยนลงมาเท่านั้น แต่ยังช่วยให้บ้านเมืองพ้นจากโรคร้ายอีกด้วย
วันวลิตเล่าอีกว่า หญิงมีครรภ์ที่กวาดต้อนมานี้ เกิดมี ๕ คนได้คลอดบุตรก่อนถึงฤกษ์ ทำให้เกิดความสังเวชกันขึ้น ออกญาจักรีจึงกราบทูนขอให้ปล่อยตัวหญิงทั้ง ๕ นี้ไป
นอกจากเรื่องสยองเรื่องนี้แล้ว นายวันวลิตยังเล่าเรื่องน่าตื่นเต้นของเมืองไทยไว้อีก อย่างการประหารชีวิต ออกหลวงมงคล จอมขมังเวทย์ผู้ภักดีต่อพระศรีศิลป์และตกเป็นกบฏ ซึ่งได้แสดงอภินิหารครั้งสุดท้ายที่หลักประหารไว้ว่า
“...เมื่อเขาอยู่ในอาการสงบเพื่อรับดาบที่ฟันลงมา เพชฌฆาตก็ไม่สามารถทำให้เกิดบาดแผลในร่างกายของเขาได้ แม้จะได้ฟันเต็มแรงจนใบดาบชนิดโค้งนั้นคดไปก็ตาม ทุกครั้งที่เพชฌฆาตฟันก็เกิดเสียงดังเหมือนคมดาบกระทบทั่งตีเหล็ก หลังจากนั้นออกหลวงมงคลก็ก็ลุกขึ้นดึงเชือกที่มัดตัวออก จับเพชฌฆาตไว้และบีบคอจนตาย เสร็จแล้วก็ขอน้ำ เขาเสกคาถาลงไปในน้ำ แล้วดื่มไปส่วนหนึ่ง ที่เหลือใช้ลูบไล้ร่างกาย และเอานิ้วขวาจุ่มลงในน้ำมนต์ ทำเครื่องหมายลงบนลำตัวด้านซ้ายใต้ซี่โครง ในประเทศสยามถ้าผู้ใดถูกตัดสินให้ตายด้วยคมดาบ ก็จะต้องถูกฟันตรงนั้นซึ่งไส้จะไหลออกมาอย่างเร็วที่สุด แล้วออกหลวงมงคลก็นอนลงแล้วสั่งให้เพชฌฆาตอีกคนที่ถูกนำตัวมาใหม่ให้ฟันเขาตรงที่ๆเขาทำเครื่องหมายเอาไว้ ถ้าหากฟันพลาดออกหลวงมงคลจะบีบคอให้เหมือนกับที่ทำกับเพื่อนเขาคนก่อน เพชฌฆาตฟันดาบลงไป แต่ด้วยความกลัวพลาดจึงทำให้ฟันผิด ฟันไม่ถึงตาย ออกหลวงมงคลร้องดังลั่นและสั่งให้ฟันตรงหัวใจมิฉะนั้นจะบีบคอเพชฌฆาตนี้เสียอีกคน นี่คือวาระสุดท้ายของออกหลวงมงคล บุคคลผู้น่าเกรงขาม ผู้ทำให้พระเจ้าแผ่นดินและทุกคนในราชสำนักตกอยู่ในความกลัว...”
วันลิตเข้ามาอยู่กรุงศรีอยุธยาสมัยพระเจ้าปราสาททอง แต่เรื่องกบฏครั้งนี้เกิดขึ้นก่อนที่พระเจ้าปราสาททองจะขึ้นครองราชย์ แสดงว่านายวันวลิตไปเอาเรื่องที่ชาวบ้านเล่ากันมาเขียนเอามันเพื่อให้คนยุโรปอ่าน แม้นายวันวลิตจะได้ชื่อว่าเป็นผู้บันทึกประวัติศาสตร์ไทยในยุคที่ผู้บันทึกอยู่ร่วมยุคสมัยก็ตาม แต่เรื่องประเภทนี้ก็แสดงว่านายวันวลิตตอกไข่ใส่เพื่อให้ฝรั่งอ่านสนุกสร้างเรตติ้ง
เรื่องที่ไม่น่าเชื่อเหล่านี้ เมื่อเล่ากันซ้ำไปซ้ำมา ก็เลยทำให้หลายคนเชื่อเป็นเรื่องจริงได้ อย่าง “ขุนช้าง ขุนแผน” ก็เป็นแค่วรรณคดีเรื่องเด่น
มาถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ ในหนังสือประวัติจังหวัดภูเก็ต ฉบับฉลอง ๒๕ พุทธศตวรรษ เมื่อ พ.ศ.๒๕๐๐ ได้กล่าวถึงการฝังหลักเมืองไว้ว่า
“เมื่อท้าวเทพกษัตรีและท้าวศรีสุนทรได้ถึงอสัญกรรมแล้ว พระยาถลาง (ทองพูน) ได้เป็นเจ้าเมืองถลาง ได้จัดหาสถานที่เพื่อสร้างเมืองใหม่ขึ้น และได้ตกลงให้สร้างเมืองใหม่ขึ้นที่ตำบลเทพกษัตรี อำเภอถลางในปัจจุบันนี้ โดยเรียกว่า “บ้านเมืองใหม่” เมื่อจัดหาที่ได้แล้ว จึงได้ประกอบพิธีกรรมขึ้นเพื่อฝังหลักเมือง โดยนิมนต์พระภิกษุสงฆ์รวม ๓๒ รูป เจริญพระพุทธมนต์อยู่ ๗ วัน ๗ คืน แล้วจึงให้อำเภอ ทนาย ป่าวร้องหาตัวผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมือง (ผู้ที่จะเป็นแม่หลักเมืองได้ ต้องเป็นคนที่เรียกกันว่า สี่หูสี่ตา คือกำลังมีครรภ์นั่นเอง) การป่าวร้องหาตัวแม่หลักเมืองนี้ ได้ประกาศป่าวร้องไปเรื่อยๆไปตลอดทุกหมู่บ้านว่า ไอ้เจ้ามั่น เจ้าคง อยู่ที่ไหนมาไปประจำที่ ในที่สุดจึงไปได้ผู้หญิงชื่อนางนาค ต้องแก่ประมาณ ๘ เดือนแล้ว นางนาคได้ขานตอบได้ ๓ ครั้งแล้ว ได้เดินตามผู้ประกาศไป ขณะนั้นเป็นเวลาพลบค่ำแล้ว เมื่อไปถึงหลุมที่จะฝังหลักเมือง นางนาคก็กระโดดลงไปในหลุมนั้นทันที ฝาหลุมก็เลื่อนปิด เจ้าพนักงานก็กลบหลุมฝังหลัก เป็นอันเสร็จพิธีการฝังหลักเมือง”
เรื่องนี้ก็ไม่เคยปรากฏในพงศาวดารเมืองภูเก็ต แต่มีผู้ตั้งข้อสังเกตว่าเหมือนกับเรื่องราชาธิราชตอนพระเจ้าฟ้ารั่วสร้างปราสาทและทำพิธีฝังเสาหลักเมือง ซึ่งมีความตอนหนึ่งว่า
“ครั้นวันฤกษ์พร้อมกันคอยหาฤกษ์ และนิมิตกึ่งฤกษ์เวลากลางวัน พอหญิงมีครรภ์คนหนึ่งเดินมาริมหลุม คนทั้งปวงพร้อมกันว่าได้ฤกษ์ แล้วก็ผลักหญิงนั้นลงในหลุม จึงยกเอาเสาปราสาทนั้นลงหลุม”
ตามตำรา “พระราชพิธีนครฐาน” ที่พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชทรงยึดถือในการทำพระราชพิธีฝังเสาหลักเมืองกรุงเทพมหานครนั้น มีมาแต่โบราณกาลหลายฉบับ แต่ไม่มีฉบับใดกล่าวว่าใช้ตนชื่ออินจันมั่นคงและผู้หญิงท้องมาฝังลงในหลุมอย่างโหดร้ายแบบนี้เลย
ตามตำรานั้นกล่าวว่า ให้เอาดินจากทิศทั้ง ๔ มาปั้นเท่าผลมะตูม สมมุติเป็นธาตุดิน น้ำ ลม ไฟ ให้คนถือคนละก้อนยืนอยู่ที่ปากหลุมคนละทิศ เมื่อพราหมณ์ผู้ทำพิธีถามว่าดินแต่ละก้อนนั้นมีคุณประการใด คนที่ถือก้อนธาตุดินก็บอกคุณของดินในมือตนว่า พระนครนั้นจะมีอายุยืนยาว เป็นที่ประชุมของประชาชนชั่วกัลปวสาน คนถือก้อนธาตุน้ำบอก พระกษัตริย์และเสนาอำมาตย์จะเจริญอายุวรรณะประสบสิริสวัสดิ์มงคลทั้งปวง คนถือก้อนธาตุลมว่า การกสิกรรมและพาณิชกรรมจะเจริญรุ่งเรือง สมบูรณ์ด้วยข้าวปลาอาหาร ส่วนคนถือก้อนธาตุไฟว่า เหล่าทหารจะแกล้วกล้า มีเดชเดชาเหนือเหล่าข้าศึก
เมื่อกล่าวจบแต่ละคนก็จะโยนก้อนดินลงในหลุม ตามด้วยแผ่นศิลายันต์ แล้วจึงอัญเชิญเสาหลักเมืองลงตั้งบนแผ่นศิลา อัญเชิญเทวดาเข้าประจำรักษาพระนคร
ไม่มีการเอาอิน จัน มั่น คง หรือหญิงสี่หูสี่ตาลงไปฝัง ซึ่งจะเป็นการสะเทือนใจชาวพุทธเกินกว่าที่จะรับกันได้ และจะไม่เป็นมงคลแก่พระนครเลย
เรื่องที่เอาคนทั้งเป็นฝั่งไปกับเสาหลักเมืองนี้ สันนิษฐานกันว่าน่าจะเป็นนิทานมากกว่า เล่ากันไปเล่ากันมาฟังแล้วสนุก ลิเกก็เล่นไว้มาก เลยนึกว่าเป็นเรื่องจริงไป
บางท่านก็วิเคราะห์ว่า ในสมัยก่อนเชื่อกันว่า เวลากลางคืนเป็นเวลาที่น่ากลัว ทั้งภูตผีปีศาจและคนร้ายก็จะออกอาละวาด อีกทั้งพวกเล่นไสยศาสตร์ก็จะมีการปล่อยของลองวิชากัน คนโบราณจึงห้ามลูกหลานไว้ว่า ถ้ามีเสียงผิดปกติในเวลากลางคืนก็อย่าไปทัก หรือถ้ามีใครที่ไม่คุ้นเคยเสียงมาเรียกก็อย่าได้ขานรับเป็นอันขาด จะมีภัยมาเข้าตัว เรื่องอิน จัน มั่น คง ก็คงเป็นอุบายหนึ่ง ด้วยความห่วงใยลูกหลานในเรื่องนี้ก็เป็นได้