xs
xsm
sm
md
lg

วิทยานิพนธ์หรือนิยาย? “ไชยันต์” ชำแหละผลงาน “ณัฐพล” จุดที่สาม “เอกสารอ้างอิง” ไม่ได้พูดแบบนั้นเลย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ชำแหละวิทยานิพนธ์ฉาวแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “ไชยันต์ ไชยพร” เช็กจุดที่สาม ผลงานของ “ณัฐพล ใจจริง” หัวข้อ “จอมพล ป.” กับการล้มแผนทางการเมืองของกลุ่มรอยัลลิสต์ เช็กเชิงอรรถอ้างเอกสาร 3 ชิ้น ไม่มีข้อความตามที่ณัฐพลอ้างถึงเลย และกรมพระยาชัยนาทฯ ไม่ได้ทำแบบนั้น ชี้ถ้าจะยกบริบทและปัจจัยแวดล้อมก็ยกมาแบบชัดๆ ไม่ใช่หลบอยู่หลังคำรายงานของสแตนตัน ซึ่งความจริงก็ไม่ได้รายงานแบบนั้น

วันนี้ (10 เม.ย.) เฟซบุ๊ก “Chaiyan Chaiyaporn” ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย โพสต์ข้อความถึงจุดบกพร่องของวิทยานิพนธ์ หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” ซึ่งเป็นของ นายณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ที่สำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกันนำมาพิมพ์เป็นหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี”

ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุว่า ได้เคยชี้จุดผิดพลาดในวิทยานิพนธ์ของนายณัฐพล ไปแล้วสองจุด อันได้แก่ หนึ่ง การสร้างเรื่องให้ สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร เข้าประชุมคณะรัฐมนตรี โดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ สอง การเขียนให้กรมขุนชัยนาทฯ รับรองรัฐประหารอย่างแข็งขัน โดยไม่มีหลักฐานตามที่ใส่ไว้ในเชิงอรรถ มาคราวนี้ คือ จุดที่สาม

ในวิทยานิพนธ์หน้า 77 หัวข้อ 3.5 จอมพล ป. กับการล้มแผนทางการเมืองของ “กลุ่มรอยัลลิสต์” บรรทัดที่ 8-18 นายณัฐพลเขียนว่า

“ในที่สุด เมื่อคณะรัฐประหารยื่นคำขาดให้ ควง อภัยวงศ์ ในฐานะนายกรัฐมนตรีลาออก ในวันที่ 6 เมษายน 2491 ทันที การยื่นคำขาดขับไล่รัฐบาลควงที่ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ให้การสนับสนุนลงจากอำนาจครั้งนี้ สถานทูตสหรัฐฯรายงานว่า เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดยทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล ทำให้ส่งทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร ว่า “ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง สถานทูตรายงานต่อไปว่า ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป”

เนื้อความตอนนี้ใช้เชิงอรรถที่ 52 โดยนายณัฐพลอ้างเอกสาร 3 ชิ้น สำหรับข้อความครึ่งแรกที่นายณัฐพลอ้างว่า เป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐฯความว่า “เหตุการณ์ดังกล่าวสร้างความไม่พอพระทัยให้กับกรมพระยาชัยนาทฯ ผู้สำเร็จราชการเป็นอย่างมาก โดย

(ก) ทรงพยายามให้ความช่วยเหลือควงด้วยการทรงไม่รับจดหมายลาออก และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารแต่ความพยายามของพระองค์ไม่เป็นผล

(ข) ทำให้ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหารว่า “ปัญหาทางการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย”

(ค) ทรงกล่าวว่า "รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง”

เมื่อตรวจสอบกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ไม่ปรากฏว่ามีข้อความดังที่นายณัฐพลเขียนไว้นี้เลย และสำหรับข้อความครึ่งหลังที่นายณัฐพลอ้างว่าเป็นรายงานจากสถานทูตสหรัฐฯอีกเช่นกันที่ว่า กรมพระยาชัยนาทฯ (ง) “ทรงมีแผนการที่ใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป” เมื่อเช็กกับเอกสารที่ใช้อ้างอิงทั้ง 3 ชิ้นแล้ว ก็ไม่ปรากฏว่ามีข้อความที่ระบุว่ากรมพระยาชัยนาทฯ ทรงทำการกระทำทั้ง 4 อย่างนี้เลย

ส่วนเอกสารอ้างอิงที่ ศ.ดร.ไชยันต์ นำมาพิสูจน์ ได้แก่ เอกสารชิ้นแรก NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตัน กับ รมว.ต่างประเทศ วันที่ 7 เมษายน 2491 เนื้อความที่พอจะเกี่ยวข้องกับกรมพระยาชัยนาทฯ มากที่สุดในเอกสารชิ้นนี้ คือที่เขียนว่า

“ถึงแม้รัฐบาลตัดสินใจว่าจะไม่มีการประชุมสภาสมัยวิสามัญจนกว่าจะถึงการเลือกตั้งในเดือนมิถุนายน แรงกดดันจากผู้สำเร็จราชการและประธานวุฒิสภาอาจทำให้ต้องมีการประชุมสภาในเดือนพฤษภาคม เหตุผลคือ ถ้าปราศจากรัฐสภาก็ไม่มีคณะอภิรัฐมนตรี ไม่มีการแต่งตั้งวุฒิสภาชุดใหม่ ไม่มีประธานวุฒิสภาที่จะลงนามในคำสั่งของพระมหากษัตริย์ ไม่มีคณะตุลาการรัฐธรรมนูญ (tribunal) ที่จะบังคับใช้บทบัญญัติต่างๆ เกี่ยวกับสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร”
[“All though government decided no special session parliament advantages pressure from Regency and Senate president may result in May session. Reasons being no Regency council without parliament, no new Senate appointment, no Senate president to countersign orders, no constitutional tribunal to enforce new provisions particularly regards RP's.”]

“ผมคิดว่าเนื้อความส่วนนี้ชัดเจนในตัวเองว่า ไม่เกี่ยวกับสิ่งที่ อ.ณัฐพล เขียนว่า ท่านกระทำเลย และไม่จำเป็นต้องอธิบายความใดๆ อีก” ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุ

นอกจากข้อความที่เกี่ยวกับกรมพระยาชัยนาทฯแบบเฉียดๆ นี้แล้ว ไม่มีที่ใดในเอกสารชิ้นนี้ทั้งสิ้นที่กล่าวว่ากรมพระยาชัยนาทฯ (ก) ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา และทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร หรือ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงครามและคณะรัฐประหารว่า “ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” หรือ (ค) ทรงกล่าวว่า “รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง” หรือ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป

เอกสารชิ้นถัดไป คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, สแตนตันกับ รมว.ต่างประเทศ วันที่ 8 เมษายน 2491 ในเอกสารชิ้นนี้ก็ไม่มีข้อความที่กล่าวถึง (ก) กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงพยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหารเลย

ตรงกันข้าม เอกสารรายงานว่ากรมพระยาชัยนาททรงถูกจอมพล ป. และคณะรัฐประหารบังคับให้เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง

โดยจากคำบอกเล่าของพระองค์ที่ถ่ายทอดโดยสแตนตัน เริ่มต้นจากเช้าวันที่ 6 เมษายน 2491 ที่พระองค์เจ้าจักรพันธุ์เพ็ญศิริ เสด็จมาเยี่ยมพระองค์พร้อมพระชายาและนายพันเอกท่านหนึ่ง และแจ้งให้พระองค์ทราบว่าคณะรัฐประหารตั้งใจจะบังคับให้นายควงลาออกแล้วตั้งจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทน และขอให้พระองค์เสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรี และต่อมาเมื่อคณะอภิรัฐมนตรีขอพบจอมพล ป.

จอมพล ป. ก็มาพร้อมกับหลวงกาจซึ่งเป็นคนสนิท และหลวงกาจบอกแก่คณะอภิรัฐมนตรีว่า ทหารจะไม่ยอมรับใครเป็นนายกรัฐมนตรีนอกจากจอมพล ป. แม้กรมพระยาชัยนาทฯ จะทักท้วงว่านายกรัฐมนตรีควรเป็นคนอื่น เนื่องจากจอมพล ป. เป็นผู้บัญชาการทหารบกอยู่แล้วก็ตาม

[“He said he had summoned Phibun to appear before Council and that Field Marshall was accompanied by general luang Kach. Field Marshall talked at length situation in Siam, menace of Chinese and communists, and Rangsit said he talked very intelligently. Prince Rangsit described developments which forced resignation Khuang and said Council now faced with problem appointing new Prime Minister. At this juncture Luang Kach said Phibun obvious man. Rangsit suggested since Phibun was Commander-In-Chief Army someone else perhaps more suitable as Prime Minister. Luang Kach in very vehement manner declared military group would accept no one but Phibun.”]

ทำให้ในที่สุดหลังจากที่คณะอภิรัฐมนตรีอภิปรายกันแล้วก็ต้องยอมให้แก่แรงกดดันและเสนอชื่อจอมพล ป. เป็นนายกรัฐมนตรีแทนนายควง

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร ว่า “ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” –

เอกสารชิ้นนี้รายงานว่า กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่า “ทรงรู้สึกว่าเรื่องที่เกิดขึ้นนี้เป็นโศกนาฏกรรมสำหรับประเทศสยาม และคนที่เป็นอันตรายร้ายแรงที่สุดต่อประเทศ คือ กลุ่มผู้ติดตามทั้งฝ่ายทหารและฝ่ายการเมืองที่รายล้อมรอบตัวจอมพล ป. ซึ่งเป็นคนที่ไร้ศีลธรรม

[“Prince Rangsit described these developments as real tragedy for Siam and said greatest danger lay in group of unscrupulous followers both military and political now surrounding Field Marshall.”]

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่า “รัฐบาลของจอมพล ป.และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้มลง”

เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่า กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตันว่าจอมพล ป. “น่าจะ”ประสบความยุ่งยากในการตั้งรัฐบาล” [“He anticipated Field Marshall would experience difficulty in forming government”]
โดยเฉพาะอย่างยิ่งเพราะพระองค์ยืนกรานกับเขาว่าคณะรัฐมนตรีต้องประกอบด้วยคนดี [“He, Prince Rangsit, had insisted that cabinet must consist of good men.”]
และทรงยอมรับว่า “ไม่ได้ถึงกับเป็นไปไม่ได้เสียทีเดียวที่จอมพล ป. และรัฐบาลของเขาจะถูกโค่นล้มในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า” [“not improbable Phibun and his government would be overthrown in few months time.”]

สำหรับ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป –
เอกสารชิ้นนี้รายงานเพียงว่าพระองค์ทรงกล่าวถึงความเป็นไปได้ที่รัฐสภาโดยเฉพาะวุฒิสภาจะตอบโต้กลับด้วยการลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. เนื่องจากท่านทรงทราบองค์ประกอบที่เป็นอยู่ของรัฐสภาและทราบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่สนับสนุนนายควงซึ่งเป็นนายกรัฐมนตรีที่มาจากการเลือกตั้ง ดังนั้นจึงอาจลงมติไม่ไว้วางใจจอมพล ป. [“attitude of parliament particularly Senate which is largely pro-Khuang, also uncertain and rather than and risk vote no confidence by fighting parliament”]

และท่านก็ได้กล่าวตามมาด้วยว่า จอมพล ป. อาจจะเลือกใช้วิธียุบสภาหรืออย่างน้อยก็ยกเลิกวุฒิสภาเพื่อให้รัฐบาลของตนมั่นคงจากการถูกลงมติไม่ไว้วางใจ [“Phibun may seek dissolution present parliament or at least of Senate by putting pressure on Supreme State Council which appointed Senate”] ซึ่งเท่ากับพระองค์เองก็ตระหนักอยู่แล้วว่ารัฐบาลนี้อาจอยู่รอดได้ ดังที่อ้างไปแล้ว ซึ่งเท่านี้ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าทรง “มีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ทั้งวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้งและสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร” ในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรนั้น จะเห็นได้จากเอกสารชิ้นต่อไปว่าพระองค์แทบไม่มีศรัทธาเท่าใดนักเสียด้วยซ้ำ

ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าวอีกว่า จากกรณีนี้ ถ้านายณัฐพลทำงานแบบที่อ้างไว้เกี่ยวกับวิธีวิทยาโดยให้ความสำคัญกับบริบทในการตีความจริงๆ ก็ควรยกบริบทและปัจจัยแวดล้อมมาชี้ให้เห็นแบบชัดๆ เลยว่าเพราะเหตุใดจึงควรเชื่อว่าท่านมีการกระทำเช่นนี้จริง โดยไม่ต้องหลบอยู่หลังคำรายงานของสแตนตันอีกแล้ว ซึ่งก็เห็นกันอยู่แล้วว่าความจริงแล้วเขาก็ไม่ได้รายงานแบบนั้นด้วย

“ผมอยากเสริมว่า ตัวสแตนตันเองเขากล่าวถึงการรัฐประหารครั้งนี้ ว่า “เขารู้ว่ารัฐบาลสหรัฐจะมองสิ่งที่เกิดขึ้นนี้ด้วยความเสียดายอย่างยิ่งว่าเป็นการใช้กำลังโดยพลการ” [“I said I most unhappy at turn of events and knew US government could only view this further instance arbitrary use force with great regret.”] แต่คิดว่า อาจารย์ณัฐพลคงไม่สนใจท่าทีของสแตนตันต่อรัฐประหารที่กระทำโดยจอมพล ป. เท่าไหร่นัก เมื่อเทียบกับรัฐประหารที่อาจารย์ยัดเยียดให้ กรมขุนชัยนาทฯ ทรงรับรอง “อย่างแข็งขัน” ใช่ไหม” ศ.ดร.ไชยันต์ กล่าว

ส่วนเอกสารชิ้นที่สาม คือ NARA, RG 59 Central Decimal File 1945-1949 Box 7251, บันทึกบทสนทนาระหว่างพระองค์เจ้ารังสิตกับสแตนตัน วันที่ 9 เมษายน 1948 เอกสารชิ้นนี้มีเนื้อความซ้ำกับเอกสารชิ้นที่สามค่อนข้างมาก จะมีจุดที่ต่างกันเพียงเล็กน้อย แต่ไม่มีที่ใดเลยที่สแตนตันรายงานว่ากรมขุนชัยนาททรง (ก) พยายามช่วยนายควงโดยไม่รับจดหมายลาออกของเขา หรือทรงสั่งการให้วุฒิสภามีมติให้ระงับการลาออกของนายควงเพื่อท้าทายอำนาจของคณะรัฐประหาร

สำหรับ (ข) ทรงบริภาษจอมพล ป. พิบูลสงคราม และคณะรัฐประหาร ว่า “ปัญหาการเมืองเกิดจากทหารและนักการเมืองที่ชั่วร้าย” เอกสารชิ้นนี้บันทึกคำกล่าวของพระองค์ว่า ทรงผิดหวังที่จอมพล ป. ไม่สามารถรักษาคำพูดและควบคุมคนของเขาได้ดังที่เคยให้ไว้กับพระองค์และคนอีกหลายๆคนว่า เขาจะไม่ยุ่งเกี่ยวกับการเมือง และทรงกล่าวว่าพระองค์รู้สึกว่าพิบูลและผู้สนับสนุนของเขาได้ทำความผิดพลาดที่เป็นอันตรายในการที่จู่ๆ ก็ไล่รัฐบาลที่พวกเขาเองเป็นผู้สร้างขึ้นและชื่อเสียงของนายพลรวมทั้งเกียรติยศของพวกของเขาจะได้รับผลกระทบอย่างรุนแรง

สำหรับ (ค) ทรงกล่าวว่า รัฐบาลของจอมพล ป. และคณะรัฐประหารจะต้องถูกโค่นล้ม และ (ง) ทรงมีแผนการที่จะใช้ฐานกำลังทางการเมืองของสถาบันกษัตริย์ และ “กลุ่มรอยัลลิสต์” ในรัฐสภาทั้งสมาชิกวุฒิสภาที่ทรงแต่งตั้ง และสมาชิกสภาผู้แทนฯ ของพรรคประชาธิปัตย์ดำเนินการต่อต้านรัฐบาลต่อไป เอกสารชิ้นนี้รายงานว่าทรงแสดงความคิดเห็นว่ารัฐบาลของจอมพล ป. น่าจะอยู่ได้ไม่กี่เดือน โดยทรงอธิบายว่าจอมพล ป. เป็นคนทะเยอทะยาน และคนรอบๆ ตัวเขาก็เป็นแบบเดียวกัน และสิ่งนี้จะย้อนกลับมาทำลายตัวจอมพล ป. เอง และเมื่อสแตนตันสอบถามพระองค์ว่าทรงคิดว่าจอมพล ป. จะสามารถพึ่งการสนับสนุนของรัฐสภาได้มากหรือไม่ ทรงตอบว่าวุฒิสภาส่วนใหญ่ไม่เอาจอมพล ป. แต่สภาผู้แทนราษฎรนั้น พระองค์คิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้เพราะสภาแห่งนี้ไม่ใคร่จะมีความรู้ความสามารถเท่าใดนักบวกกับมีการทุจริตคอร์รัปชั่นด้วย จึงคาดเดาไม่ได้เลยว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับคนเหล่านั้นเมื่อจอมพล ป. ขอมติไว้วางใจจากพวกเขา และจะไม่ทรงแปลกใจเลยหากมีการเพิ่มแรงกดดันให้คณะอภิรัฐมนตรีต้องยุบวุฒิสภาเป็นอย่างน้อยซึ่งจะลดความเสี่ยงที่พิบูลจะถูกลงคะแนนไม่ไว้วางใจ

“ข้าพเจ้าได้สอบถามว่า พระองค์คิดว่า พิบูลจะสามารถพึ่งการสนับสนุนจากรัฐสภาได้มากหรือไม่ พระองค์เจ้ารังสิต (กรมขุนชัยนาทฯ) ตอบว่า สำหรับวุฒิสภาความรู้สึกที่นั่นส่วนใหญ่แล้วไม่เอาพิบูลและสนับสนุนนายควง สำหรับสภาล่างพระองค์ดูเหมือนจะคิดว่าอะไรก็เกิดขึ้นได้ แล้วก็อธิบายว่าความสามารถของสมาชิกสภาล่างนั้นต่ำมากแล้วหลายคนก็ทุจริตคอร์รัปชัน” ศ.ดร.ไชยันต์ ระบุ
กำลังโหลดความคิดเห็น