xs
xsm
sm
md
lg

“ไชยันต์” โต้กลับ “ณัฐพล” อ้างภูมิหลัง “กรมพระยาชัยนาทฯ” แต่ยืมปากทูตมะกันให้คนเชื่อ ชี้มีแต่คาดคะเนปราศจากหลักฐาน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“ไชยันต์ ไชยพร” โต้กลับ “ณัฐพล ใจจริง” ที่ชักแม่น้ำทั้งแปดอ้างภูมิหลัง “กรมพระยาชัยนาทฯ” มีบทบาททำรัฐประหาร แต่ไม่ยกใส่วิทยานิพนธ์และหนังสือ อ้างแต่เฉพาะข้อความทูตสหรัฐฯ หวังให้คนอ่านเชื่อว่าออกจากปากเจ้าตัว ย้อนกลับที่ตัดข้อความออกครึ่งหนึ่ง อ้างถกเถียงกันได้ ถ้าไม่แน่ใจทำไมไม่ตัดออกทั้งคู่ มีแต่คาดคะเนปราศจากหลักฐาน ถึงขนาดกุข่าวบางกอกโพสต์ที่มีไม่อยู่จริง ยกคำพูดคนที่น่าเชื่อถือเพื่ออุดรูรั่ว รู้ทันเจ้าตัวพยายามตัดข้อความประโยคยาวๆ ให้สั้น แถมบางคนบอกมีพล็อตเรื่องให้เข้ากับพวกตัวเอง ทิ้งท้ายถ้าคิดเองก็ชื่นชมที่กล้าหาญ แต่เตือนถ้ามีใครยุให้ตอบแบบนั้น คนๆ นั้นไม่หวังดี

วันนี้ (23 มี.ค.) เฟซบุ๊ก Chaiyan Chaiyaporn ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้ตอบกลับนายณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา ผู้แต่งหนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” หลังนายณัฐพลโพสต์ข้อความตอบโต้ผ่านเฟซบุ๊กเพจ “ฟ้าเดียวกัน” ระบุว่า

“ตอบอาจารย์ณัฐพลครับ

จากที่อาจารย์เขียนข้อความ ทั้งในวิทยานิพนธ์ (หน้า 63) และในหนังสือ ขุนศึกฯ (หน้า 60) ว่า

“แต่การรัฐประหารครั้งนี้ไม่อาจสำเร็จได้ หากปราศจากสถาบันกษัตริย์โดยเฉพาะอย่างยิ่งบทบาทของกรมขุนชัยนาทเรนทร ผู้สำเร็จราชการฯและทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”

โดยอ้างข้อความจาก Brief Authority : Excursion of a Common Man in an Common World ของ Stanton หน้า 210 ความว่า :

“Later the Prince Regent told me it seemed to be in the best interest of the country to acquiesce in what had been done in order to avoid bloodshed. “As you know,” he told me, “bloodshed is abhorrent to us as Buddhist”

แปลเป็นภาษาไทย คือ

“ภายหลัง the Prince (กรมขุนชัยนาทฯ) กล่าวแก่ข้าพเจ้าว่า มันดูจะเป็นผลประโยชน์ที่ดีที่สุดสำหรับประเทศที่จะยอมรับในสิ่งที่ได้เกิดขึ้นไปแล้วเพื่อหลีกเลี่ยงการนองเลือด ‘อย่างที่รู้’ พระองค์กล่าวแก่ข้าพเจ้า ‘การนองเลือดเป็นสิ่งที่น่ารังเกียจสำหรับเราในฐานะชาวพุทธ”

และผมชี้ว่าจากข้อความของ Stanton ไม่สามารถเขียนหรือตีความได้เลยว่า “ทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”

อาจารย์ตอบผมกลับมาว่า อาจารย์ไม่ได้เขียนหรือตีความว่า “ทรงรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน” จากข้อความนี้เพียงข้อความเดียว (หมายความว่า อาจารย์เห็นด้วยว่า ลำพังข้อความนั้นข้อความเดียว ไม่สามารถตีความได้ว่า “ทรงมีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”) แต่อาจารย์เขียนและตีความจากบริบทและภูมิหลังของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร ซึ่งอาจารย์ก็ได้แจกแจงออกมาทั้งหมด 8 รายการ ดังนี้

1. ภูมิหลังที่ปรากฏใน คำพิพากษาศาลพิเศษ เรื่องกบฏ 2482 ที่ศาลตัดสินลงโทษกรมพระยาชัยนาทฯ ฐานก่อกบฏ ทำให้ทรงถูกถอดพระอิสริยศ ถูกจองจำ ต่อมาได้รับการอภัยโทษ - อาจารย์กล่าวไว้ในย่อหน้าสุดท้ายของหน้า 70

2. ภูมิหลังความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับราชสกุลมหิดลมาอย่างยาวนาน - ในย่อหน้าสุดท้ายของหน้า 70

3. เหตุการณ์ 9 มิถุนายน 2489 อันเป็นวันสวรรคตของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวอานันทมหิดล - ในหน้า 43

4. กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ตัวแทนจากราชสำนัก ได้รับการแต่งตั้งเป็นหนึ่งในสองของคณะผู้สำเร็จราชการฯ เมื่อ 16 มิถุนายน 2489 คู่กับพระยามานวราชเสวี ตัวแทนของรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง - ในเชิงอรรถที่ 38 หน้า 43

5. รายงานสถานทูตสหรัฐฯ ระบุความคืบหน้าในการสอบสวนคดีสวรรคตภายใต้รัฐบาลหลวงธำรงนาวาสวัสดิ์ว่าสามารถระบุตัวบุคคลได้ แต่ในที่นี้ผมไม่สามารถขยายความประเด็นนี้ได้มากกว่านี้ เพราะอาจมีผู้ให้ร้ายด้วยกฎหมายอื่นอีก ผมจึงชี้ให้เห็นถึงบริบทก่อนการรัฐประหารได้เพียงเท่านี้ - อาจารย์กล่าวอยู่บ้างเล็กน้อยในหน้า 57 ซึ่งเข้าใจได้ว่า อาจารย๋เกรงจะมีผู้ให้ร้ายด้วยกฎหมายอื่นกับอาจารย์

6. การรัฐประหารในคืนวันที่ 8 พฤศจิกายน 2490 - หน้า 62-63

7. รัฐธรรมนูญ 2490 ที่เกิดขึ้นจากรัฐประหาร ประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน หรือวันรุ่งขึ้นหลังจากการรัฐประหาร มีบทบัญญัติเพิ่มพระราชอำนาจให้สถาบันพระมหากษัตริย์หลายประการ เช่น ถวายพระราชอำนาจในการตั้งวุฒิสภา (มาตรา 33) ถวายอำนาจให้พระมหากษัตริย์มีอำนาจเพิกถอนรัฐมนตรีเฉพาะตัวได้ด้วยพระบรมราชโองการ (79) การรื้อฟื้นอภิรัฐมนตรี (หมวดที่ 2) ซึ่งเป็นองค์กรบริหารของเจ้านายเมื่อครั้งระบอบเก่าในสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นต้น - ไม่ได้มีมากตามที่อ้าง ดูเชิงอรรถที่ 6 หน้า 64

8. ต่อมา กรมพระยาชัยนาทนเรนทรทรงเป็นประธานคณะอภิรัฐมนตรี ทำหน้าที่ผู้สำเร็จราชการฯ ตามรัฐธรรมนูญ 2490 เมื่อรัฐธรรมนูญประกาศใช้ในวันที่ 9 พฤศจิกายน - อาจารย์ไม่ได้กล่าวไว้

และอาจารย์ยังได้กล่าวถึง ข้อมูลอื่นๆ เกี่ยวกับบริบทและภูมิหลังอื่นๆของกรมพระยาชัยนาทฯ อีกด้วย

ทีนี้ ถ้าบริบทและภูมิหลังของกรมพระยาชัยนาทฯ ที่อาจารย์ยกมาคือสิ่งที่ทำให้อาจารย์คิดและเชื่อมั่นว่า ต้องตีความการรับรองรัฐประหารของกรมพระยาชัยนาทฯว่า ท่านรับรองการรัฐประหาร “อย่างแข็งขัน”

แล้วทำไมอาจารย์ไม่ยกสิ่งเหล่านี้มาไว้เป็นเหตุผลในการตีความเช่นนั้นไว้ในวิทยานิพนธ์หรือหนังสือขุนศึกฯ ล่ะครับ ?

อาจารย์กลับอ้างแต่เฉพาะข้อความของ Stanton!

เป็นเพราะอาจารย์ต้องการให้คนอ่านเชื่อว่านี่คือสิ่งที่ Stanton กล่าวไว้เกี่ยวกับกรมพระยาชัยนาทฯ ใช่หรือไม่?

การที่คำกล่าวนี้ดูเหมือนออกจากปากของฝรั่งระดับเอกอัครราชทูตสหรัฐฯ อย่าง Stanton มันทำให้ข้อความที่ว่า “อย่างแข็งขัน” ของอาจารย์ดูน่าเชื่อถือมากกว่าการอ้างบริบทและภูมิหลังของกรมพระยาชัยนาทนเรนทร 8 ข้อที่อาจารย์เพิ่งมาเขียนในโพสต์ตอบผมนี้ใช่หรือไม่ครับ?

อาจารย์ถึงต้องรอให้ถูกตั้งคำถามก่อนแล้วจึงค่อยมาไล่เรียงให้ดูกันเป็นข้อๆ เช่นนี้

ก่อนอื่น ผมอยากจะเรียนอาจารย์ว่าคำว่า acquiesce ไม่ได้หมายความว่า ยอมรับ เฉยๆ คำนี้มีความหมายตามพจนานุกรมดังนี้ครับ

1. to accept or agree to something, often unwillingly (Cambridge dictionary)

2. to accept, comply, or submit tacitly or passively —often used with in or to https://www.merriam-webster.com/dictionary/acquiesce

3. accept something reluctantly but without protest. https://languages.oup.com/google-dictionary-en/

4. acquiesce ยอมรับโดยสงบ (under pressure) ยอมในที่สุด (พจนานุกรม Oxford River Books English-Thai Dictionary)

5. acquiesce (ækwies )Word forms: 3rd person singular present tense acquiesces , present participle acquiescing , past tense, past participle acquiesced

VERB If you acquiesce in something, you agree to do what someone wants or to accept what they do even though you may not agree with it. https://www.collinsdictionary.com/dictionary/english/acquiesce

6. acquiesce (in/to something) to accept something without arguing, even if you do not really agree with.

Senior government figures must have acquiesced in the cover-up.

She explained her plan and reluctantly he acquiesced. https://www.oxfordlearnersdictionaries.com/definition/english/acquiesce

ในการแก้ไขปรับปรุงวิทยานิพนธ์เพื่อตีพิมพ์เป็นหนังสือขุนศึกฯ อาจารย์ได้ตัดข้อความในหน้า 63 ของวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ที่เขียนว่า “ขณะนั้นกรมพระยาชัยนาทเรนทรงเป็นเพียงหนึ่งในคณะผู้สำเร็จราชการตามรัฐธรรมนูญฉบับ 2489 แต่ทรงลงนามพระนามประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ 2490 ที่เกิดจากการรัฐประหารแต่เพียงผู้เดียวอย่างรวดเร็ว” ออกไป

โดยอาจารย์ชี้แจงในโพสท์ถึงผมว่าเพราะอาจารย์เห็นว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นที่ยังถกเถียงได้ ดังนี้ “หากใครจะตีความว่านี่ไม่ใช่เวลาอันรวดเร็วและเห็นว่าความช้าเร็วเป็นประเด็นร้ายแรง ก็พึงใช้การถกเถียงอภิปรายตามจรรยานักวิชาการ”

สมมุติว่า ผมเห็นด้วยตามที่อาจารย์ว่ามาว่ามันเป็นประเด็นที่ถกเถียงได้ แล้วประเด็นการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขันไม่ใช่สิ่งที่ถกเถียงได้เหมือนกันหรือครับ ?

การที่อาจารย์เลือกเก็บไว้อันหนึ่ง ตัดทิ้งอีกอันหนึ่งแสดงว่าข้อความที่เหลืออยู่ “จำเป็น” มากสำหรับข้อเสนอวิทยานิพนธ์ของอาจารย์ใช่หรือไม่?

เพราะอาจารย์สามารถลบไปทั้งคู่ได้ เนื่องจากมีเหตุให้ไม่แน่ใจอยู่แล้ว ดังความหมายของคำว่า acquiesce ที่ Stanton เองใช้ ซึ่งมีความหมายต่างจาก “การสนับสนุนอย่างแข็งขัน” ที่อาจารย์ใช้มาก

อันที่จริง ถ้าผมเป็นอาจารย์ ผมจะไม่ยืมปากของ Stanton พูดแบบนี้

แต่ผมจะยกหลักฐานข้อมูลเชิงบริบทและภูมิหลังของกรมพระยาชัยนาทฯ มาอ้าง และเชื่อมโยงทั้งหมดให้เห็นว่า บนพื้นฐานของหลักฐานข้อมูลเหล่านี้ที่อาจารย์มี ไม่สามารถเข้าใจเป็นอย่างอื่นได้นอกจากว่าพระองค์ทรง “มีบทบาทในการรับรองการรัฐประหารอย่างแข็งขัน”

แต่แล้วทำไมอาจารย์จึงไม่ทำแบบที่ผมว่านี้หละครับ?

ถ้าให้ผมลองตั้งสมมติฐานดู ผมคิดว่าเป็นเพราะอาจารย์เองก็รู้ว่าหลักฐานข้อมูลที่อาจารย์มีทั้งหมดนั้นให้ได้แต่การคาดคะเน (ไม่เช่นนั้นอาจารย์คงไม่ต้องเสริมการคาดคะเนของอาจารย์ด้วยหลักฐานที่ไม่มีอยู่จริงจาก Bangkok Post ที่อาจารย์เขียนเอาเองว่าท่านไปเข้าประชุมคณะรัฐมนตรี และ Bangkok Post ออกมาปฏิเสธ) และอาจารย์เลือกใช้คำกล่าวของคนที่ดูน่าเชื่อถืออย่าง Stanton มาเป็นหลักฐานเพื่ออุดช่องโหว่อันใหญ่ในหลักฐานที่อาจารย์มี

ในเมื่อหลักฐานข้อมูลที่อาจารย์อ้างว่าเก็บรวบรวมมาอย่างดีแล้วให้ได้อย่างมากที่สุดคือการคาดคะเน ผมจึงไม่แปลกใจเลยที่ได้เห็นอาจารย์ตอบคำถามของผมด้วยคำตอบแบบตีความเชิงคาดคะเนเช่นนี้

อาจารย์อธิบายว่า

“ดังนั้น ข้อความที่กรมพระยาชัยนาทฯ ทรงกล่าวกับสแตนตัน ทูตสหรัฐฯ ภายหลังเหตุการณ์รัฐประหารจบสิ้นลงแล้วนั้น ผมตีความว่า กรมพระยาชัยนาทฯ ผู้ทรงผ่านประสบการณ์ในประเทศตะวันตกและอยู่ในสถานะอีลีทนั้น ท่านย่อมต้องระมัดระวังการสนทนากับทูต ท่านย่อมไม่กล่าวตรงๆ ว่า ท่านสนับสนุนการใช้กำลังทางการทหารในการเปลี่ยนแปลงทางการเมือง”

อาจารย์คาดคะเนของอาจารย์เอาเองโดยปราศจากหลักฐานอีกแล้วนะครับ !

ผมถามอาจารย์จริงๆ ว่านักประวัติศาสตร์ที่อาจารย์รู้จักเขาทำงานกันบนพื้นฐานของหลักฐานที่เลื่อนลอยแบบนี้กันหรือ?

ถามว่าเป็นไปได้ไหมว่ากรมพระยาชัยนาทฯอาจจะเป็นอย่างที่อาจารย์คิดและเชื่อ

ผมยอมรับว่าก็คงตัดความเป็นไปได้นี้ทิ้งแบบร้อยเปอร์เซ็นต์ไม่ได้ และต้องพิสูจน์กันด้วยหลักฐานข้อมูลต่อไป

แต่ที่ผมสงสัยอย่างเดียวคือ ทำไมอาจารย์ไม่เขียนข้อความนี้ไว้ในรูปของความเห็นของตัวอาจารย์เองลงในวิทยานิพนธ์และหนังสือเลยหละครับ?

ทำไมอาจารย์ต้องหลบอยู่หลังความน่าเชื่อถือของ Stanton แบบที่ผมกล่าวไปแล้วด้วย ?

ผมไม่อยากตัดสินเลยว่า ตกลงอาจารย์ได้พบข้อมูลประวัติศาสตร์ใหม่หรือข้อมูลประวัติศาสตร์ที่ค้นยากหรือไม่

แต่ผมคิดว่าสิ่งที่อาจารย์กำลังทำคือการ “สร้างประวัติศาสตร์” และเป็นการ “สร้างประวัติศาสตร์” ตาม “วิธีวิทยาทางประวัติศาสตร์ที่อาจารย์สร้างขึ้นมาเอง” เสียด้วย

ผมยอมรับเลยว่าเมื่อได้เห็นจุดผิดพลาดต่างๆที่ผมพบในงานอาจารย์นั้น ทั้งภาษาไทยและอังกฤษ ทำเอาผมอยากจะยกย่องอาจารย์เป็น academic juggler ขั้นเซียนเลยทีเดียว

เนื่องจากผมตั้งใจจะกล่าวถึงจุดผิดพลาดของงานอาจารย์ไล่ไปทีละจุด ดังนั้น วันนี้ผมขอตอบอาจารย์เท่านี้ ในครั้งหน้าผมจะชี้แจงจุดที่เหลือเพื่อให้เห็นว่า อาจารย์ยังทำแบบเดียวกันนี้กับหลักฐานข้อมูลอีกหลายชิ้นที่อาจารย์นำมาใช้อ้าง ที่อาจารย์มักใช้วิธีตัดข้อความที่เป็นประโยคยาวๆ ให้เหลือเพียงข้อความสั้นๆ ที่สื่อความหมายไปในทางที่อาจารย์ต้องการให้ผู้อ่านเข้าใจ

งานของนักประวัติศาสตร์คืองานประกอบสร้างความจริงให้ใกล้เคียงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงๆ บนพื้นฐานของข้อมูลหลักฐานที่ดีที่สุดที่สามารถหาได้

ไม่ใช่งานของนักตัดต่อภาพยนตร์หรือบทหนังบทละครนะครับ โดยเฉพาะมีความจริงทางประวัติศาสตร์และชื่อเสียงของบุคคลที่ล่วงลับไปแล้วเป็นเดิมพันเช่นในกรณีนี้

Last but not least นะครับ ผมมีเพื่อนดีและฉลาดใน FB ผมจึงอยากจะขอขอบคุณเพื่อนๆใน FB ขอยกมาแค่สักสองท่านครับ

ผมชอบที่คุณ Atisan Atipanyawong แสดงความเห็นมาว่า

“ได้อ่านที่คุณณัฐพลตอบกลับ (โพสต์ในฟ้าเดียวกัน) ทำผมสงสัยไม่น้อยเลยว่า เดี๋ยวนี้นักประวัติศาสตร์เขายอมรับการมี Plot เรื่องกันแล้ว จัดการกับหลักฐานที่ไม่เข้าพวก ด้วยการตีความให้มันเข้าพวก ประเสริฐแท้....”

และผมขอขอบคุณ คุณ Luket Chusorn ที่ตั้งข้อสังเกตว่า

“perhaps the word acquiesce is the key?....it means reluctantly accepting”

ผมว่าอาจารย์ทำใจให้สบายๆนะครับ ฟังเพลงนี้น่าจะเข้ากับสถานการณ์

https://www.youtube.com/watch?v=9mQ5JGbQhsw
เพลงชื่อ Questions ของวง Manfred Mann's Earth Band

In a dream it would seem
I went to those who close the open door
Turning the key I sat and spoke to those
Inside of me
They answered my questions with questions
And pointed me into the night
Where the moon was a star-painted dancer
And the world was just a spectrum of light
They reached to my centre of reason
And pulled on the touchstone that's there
The shock of that light has me reeling
And I fell into the depths of despair
They answered my questions with questions
And set me to stand on the brink Where…

กระนั้น หากอาจารย์ยังอยากจะโพสต์อะไรมาคุยกับผมต่อก็ได้นะครับ ยินดีครับ

ป.ล. อนึ่ง ถ้าสิ่งที่อาจารย์โพสต์ตอบมา เป็นการตอบที่อาจารย์คิดเองโดยลำพัง ผมก็ขอแสดงความชื่นชมและขอนับถือในความกล้าหาญอย่างยิ่งที่อาจารย์กล้าตอบมาตรงๆ แบบนั้น

ถ้าไม่ใช่ แต่มีใครแนะนำอาจารย์ให้ตอบผมและสาธารณะแบบนั้น

ผมว่า เขาไม่ได้หวังดีกับอาจารย์นะครับ

ความใจจริงและหวังดีครับ

ไชยันต์ ไชยพร”

กำลังโหลดความคิดเห็น