สงสัยจะว่างมาก ธนาพลเอาบ้างจับผิดงานวิจัยอาจารย์ไชยันต์ กล่าวหาว่าแก้ต่างรัฐประหารปี 57 ทำอาจารย์ขอใช้สิทธิพาดพิง กรุณาดูย่อหน้าสุดท้ายให้จบ งง บทสรุปกองทัพเผชิญทางสองแพร่งนี่แก้ต่างตรงไหน
วันนี้ (10 เม.ย.) เฟซบุ๊ก “Thanapol Eawsakul” ของนายธนาพล อิ๋วสกุล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน โพสต์ข้อความระบุว่า “จับพิรุธรายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์โครงการ รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กับอนาคตประชาธิปไตยของไทย โดยศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติประจำปีงบประมาณ 2557 ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก
ผมได้อ่านโครงการวิจัยฉบับเต็ม “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กับอนาคตประชาธิปไตยของไทย” โดยศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร และผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ภายใต้โครงการมหาวิทยาลัยวิจัยแห่งชาติ ประจำปีงบประมาณ 2557 ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก
สมมติฐานในงานวิจัยคือ การหารัฐประหารที่นำไปสู่ประชาธิปไตย โดยอ้างบทความของของ Ozon O. Varol ที่ชื่อว่า “The Democratic Coup d'État” ในปี 2012 (ต่อมาได้ตีพิมพ์เป็นหนังสือในปี 2017) ซึ่ง Varol ศึกษาการรัฐประหารใน ตุรกี (1960) โปรตุเกส (1974) อียิปต์ (2011) เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับรัฐประหาร ว่า เห็นไหมรัฐประหารก็นำมาสู่ประชาธิปไตยได้เช่นกัน (ดังนั้นอย่าเพิ่งด่ารัฐประหาร) งานวิจัยของ “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กับอนาคตประชาธิปไตยของไทย” เพื่อสร้างความชอบธรรมให้กับการรัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 ของไทยนั่นเอง
แต่ที่บอกว่ามีพิรุธก็คือ ในสารบัญนั้นมีความเห็นต่องานวิจัย “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กับอนาคตประชาธิปไตยของไทย ของ ศาสตราจารย์ ดร.ไชยันต์ ไชยพร” โดยผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ถ้าเป็นอย่างนี้ก็แปลว่า ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ไม่ใช่นักวิจัยร่วมสิครับ แล้วทำไมหน้าปกถึงบอกว่าเป็นนักวิจัยร่วม
เมื่อเปิดไปดูหน้า 335 ของงานวิจัยฉบับเต็ม ก็ไม่พบความเห็นของ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ ความจริงคือ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.ศุภมิตร ปิติพัฒน์ คือ การถอนตัวออกจากโครงการวิจัยนั่นเอง (แล้วอย่างนี้โครงการนี้จ่ายเงินให้ใครบ้าง)
เอาเข้าจริงงานวิจัยแบบ “หลุดโลก” เพื่อแก้ต่างให้กับการรัฐประหารนั้นมันไม่ควรเป็นงานวิจัยตั้งแต่ต้น แต่การที่โครงการนี้ได้เป็น โครงการเพื่อ “ขับเคลื่อนมหาวิทยาลัยสู่มหาวิทยาลัยระดับโลก” นั้นก็เป็นเรื่องที่น่าขำไม่แพ้กัน โดยเฉพาะได้จากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย”
ปรากฏว่า เฟซบุ๊ก “Chaiyan Chaiyaporn” ของ ศ.ดร.ไชยันต์ ไชยพร อาจารย์ภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทาลัย โพสต์ข้อความระบุว่า “ขอขอบคุณ คุณธนาพล อิ๋วสกุล ที่สละเวลาให้ความสนใจงานวิจัยของผมเรื่อง “รัฐประหาร 22 พฤษภาคม 2557 กับ อนาคตประชาธิปไตยของไทย” ผมได้แนบภาพถ่ายบางส่วนของบทสรุปงานวิจัยมา เพื่อตอบข้อสังเกตที่คุณธนาพลชวนให้สาธารณะสงสัย หวังว่าจะกรุณาสละเวลาอ่านนะครับ
ขอบคุณครับ ไชยันต์
ป.ล. ข้อความในย่อหน้าสุดท้ายของบทสรุปในงานวิจัยนี้ (หน้า 333) คือ “ขณะเดียวกัน ทางสองแพร่งที่กองทัพต้องเผชิญอยู่ขณะนี้ (ขณะนี้ หมายถึง ก่อนมีการเลือกตั้ง พ.ศ. 2562/) ก็คือ การประคับประคองให้สถานการณ์ดำเนินไปได้อย่างสมดุลระหว่างการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์ ความสงบเรียบร้อยภายในประเทศ และการฟื้นฟูสิทธิเสรีภาพของประชาชนในระบอบประชาธิปไตย หรือ มิฉะนั้น ก็ต้องเผชิญกับความขัดแย้งระหว่าง การเลือกสนับสนุนผู้นำกองทัพที่เกษียณไปแล้ว แต่ยังกุมอำนาจทางการเมืองอยู่ แต่ล้มเหลวในการบริหารราชการ กับ การเลือกผลประโยชน์ของกองทัพโดยทำรัฐประหารซ้อนขึ้นอีกครั้งหนึ่ง”
อนึ่ง นายธนาพล บรรณาธิการสำนักพิมพ์ฟ้าเดียวกัน ซึ่งมีแนวคิดไม่เอาสถาบันพระมหากษัตริย์อยู่แล้ว เป็นผู้พิมพ์หนังสือ “ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ” และ “ขุนศึก ศักดินา และพญาอินทรี” ซึ่งมี นายณัฐพล ใจจริง รองคณบดีฝ่ายกิจการนักศึกษา คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยราชภัฏสวนสุนันทา เป็นผู้แต่ง นำมาจากวิทยานิพนธ์ หัวข้อ “การเมืองไทยสมัยรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงคราม ภายใตระเบียบโลกของสหรัฐอเมริกา (พ.ศ. 2491-2500)” แต่พบว่าเป็นวิทยานิพนธ์ลวงโลก เพราะอ้างอิงข่าวในหนังสือพิมพ์บางกอกโพสต์ที่ไม่มีอยู่จริง ใส่ร้ายสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร และโจมตีสถาบันพระมหากษัตริย์ ทำให้ ม.ร.ว.ปรียนันทนา รังสิต หลานสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาชัยนาทนเรนทร ฟ้องเรียกค่าเสียหายจากนายณัฐพลและพวก 50 ล้านบาท