“สนธิ ลิ้มทองกุล” เตือน “ประยุทธ์-ศักดิ์สยาม-ผู้ว่าฯ รฟม.” ก่อสร้างรถไฟใต้ดินสายสีส้มต้องคิดให้รอบคอบ หลัง ขรก.กรมศิลปากร ห่วงแนวเส้นทางผ่านโบราณสถานหลายแห่ง ชี้ผลการทรุดตัวจะขยายกว้างออกไปถึง 2 กิโลเมตร ยกเคสที่เคยเกิดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ เทคโนโลยีการก่อสร้างต้องสูงกว่าทั่วไปเพราะผ่ากลางเมือง หวั่นอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย เสาลึกแค่ 18 เมตร พระบรมมหาราชวัง แค่เอาสายไฟลงดินก็ทรุด หวั่นกระทบวัดพระแก้ว
วันนี้ (26 มี.ค.) นายสนธิ ลิ้มทองกุล ผู้ก่อตั้งหนังสือพิมพ์ผู้จัดการ กล่าวในรายการคุยทุกเรื่องกับสนธิ แสดงความเป็นห่วงถึงโครงการก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย-ตลิ่งชัน ที่จะมีขึ้นในอนาคตอันใกล้ ระบุว่า เผอิญตนได้พบกับอดีตอธิบดี อดีตรองอธิบดีกรมศิลปากร และเจ้าหน้าที่กรมศิลปากร ซึ่งเป็นแฟนรายการที่ร้านก๋วยเตี๋ยวแห่งหนึ่งย่านอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ระหว่างการสนทนามีอยู่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่า โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้มของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ลอดผ่านสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์มากที่สุด ทะลุใจกลางเกาะรัตนโกสินทร์ มีสถานที่สำคัญอย่างวัดราชนัดดารามวรวิหาร ที่รู้จักกันในนามโลหะปราสาท, อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย, สนามหลวง, พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ, โรงละครแห่งชาติ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ และพระบรมมหาราชวัง
โดยแนวเส้นทางจะออกจากสถานีตลิ่งชัน วิ่งไปตามแนวทางรถไฟสายบางกอกน้อย ผ่านโรงพยาบาลศิริราช ลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา บริเวณเชิงสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า ผ่านใต้ถนนราชดำเนินกลางแล้วเบี่ยงใช้แนวถนนหลานหลวง ผ่านยมราชเข้าสู่แนวถนนเพชรบุรี เลี้ยวซ้ายเข้าถนนราชปรารถ ย่านประตูน้ำ ถึงดินแดง แล้วเลี้ยวผ่านไปตามถนนวิภาวดีรังสิต ผ่านศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.2 ดินแดง) เลี้ยวขวาไปเชื่อมกับโครงการรถไฟฟ้ามหานคร สายเฉลิมรัชมงคล ที่สถานีศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย ซึ่งจะเป็นสถานีหลักที่เป็นจุดเชื่อมต่อกรุงเทพฯ ฝั่งตะวันตกและตะวันออก แล้วเบี่ยงเข้าถนนพระรามที่ 9 ตัดผ่านถนนประดิษฐ์มนูธรรม เลี้ยวซ้ายเข้าถนนรามคำแหง ผ่านแยกลำสาลี ตัดผ่านถนนกาญจนาภิเษก (บางปะอิน-บางพลี) แล้วสิ้นสุดที่จุดตัดถนนสุวินทวงศ์บริเวณมีนบุรี ระยะทาง 39.8 กิโลเมตร แบ่งเป็นโครงสร้างใต้ดิน 30.6 กิโลเมตร โครงสร้างยกระดับอีก 9.2 กิโลเมตร มีทั้งหมด 30 สถานี สถานีใต้ดินมี 23 สถานี สถานียกระดับมีอีก 7 สถานี
“เรื่องนี้ทำไมผมเป็นห่วง ผมเป็นห่วงเพราะว่ารถไฟฟ้าสายสีส้ม ระยะทางและสถานี 3 ใน 4 ต้องอยู่ใต้ดิน และรถไฟสายนี้ผ่านย่านการค้า สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม และประวัติศาสตร์ของบ้านเมืองทั้งนั้นเลย โดยเฉพาะอย่างยิ่งสายสีส้มฝั่งตะวันตก ที่เริ่มจากศูนย์วัฒนธรรมฯ ไปตลิ่งชัน” นายสนธิกล่าว
นายสนธิกล่าวว่า เมื่อฟังคำพูดอดีตอธิบดีกรมศิลปากรแล้วก็เลยเอาข้อมูลรถไฟฟ้าสายสีส้มมาดู เริ่มจากศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย บริเวณถนนรัชดาภิเษกเป็นต้นไป มีสถานีสำคัญ ได้แก่ 1. สถานีดินแดง อยู่ใต้ถนนวิภาวดีรังสิตฝั่งขาเข้า หน้าศาลาว่าการกรุงเทพมหานคร (กทม.2) 2. สถานีรางน้ำ ใกล้กับอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ 3. สถานีราชปรารถ หน้าห้างอินทราสแควร์ กลางย่านการค้าประตูน้ำ 4. สถานีประตูน้ำ ใต้ถนนเพชรบุรี หน้าห้างพันธุ์ทิพย์พลาซ่า 5. สถานีราชเทวี เชื่อมต่อกับรถไฟฟ้าบีทีเอส 6. สถานียมราช ใต้ถนนหลานหลวงหน้าบ้านมนังคสิลา 7. สถานีอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ตั้งอยู่ใต้ถนนราชดำเนินกลาง บริเวณด้านตะวันออกของอนุสาวรีย์ ด้านหน้าลานพลับพลามหาเจษฎาบดินทร์ เป็นสถานที่เดิมของศาลาเฉลิมไทย เป็นลานด้านหน้าโลหะปราสาท วัดราชนัดดารามวรวิหาร ป้อมมหากาฬ และพระบรมบรรพต หรือภูเขาทองวัดสระเกศ 8. สถานีสนามหลวง ตั้งอยู่ใต้ถนนราชินี ด้านหน้าโรงละครแห่งชาติ เรียกว่าติดกับพระบรมมหาราชวัง และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อนที่รถไฟจะลอดใต้แม่น้ำเจ้าพระยา เมื่อลอดไปแล้วก็จะไปเจอ 9. สถานีศิริราช ใต้สะพานอรุณอมรินทร์ ใกล้โรงพยาบาลศิริราช ห่างจากโรงพยาบาลศิริราชปิยมหาราชการุณย์ (SIPH) เพียงเล็กน้อย ก่อนจะผ่านสถานีบางขุนนนท์ แล้วไปสิ้นสุดที่สถานีตลิ่งชัน เอาแค่ 9 สถานี จากทั้งหมด 30 สถานี จะเห็นว่ารถไฟสายสีส้มนั้นสำคัญแค่ไหน
“อดีตข้าราชการกรมศิลปากรชี้ให้เห็นว่า การขุดเจาะใต้ดินผ่านย่านและสถานที่สำคัญทางประวัติศาสตร์ หากดำเนินการอย่างไม่รอบคอบ เหมือนกับการสร้างสถานีรถไฟใต้ดินทั่วไป สายสีเขียว สายสีแดง สายสีม่วง อันนั้นจากในเมืองออกไปนอกเมือง อันนี้จากจุดนอกเมืองวิ่งผ่าเมืองเข้าไปเลย ขาดความระมัดระวัง เกรงว่าจะเกิดความเสียหายจากการทรุด อาจจะเกิดได้ทุกครั้งที่มีการทรุด อะไรก็ตามที่ทรุดลงไป ผลขยายของการทรุดจะกว้างออกไป 2 กิโลเมตร น้อยๆ ที่ไหน แล้วการขุดรถไฟใต้ดินข้ามแม่น้ำเจ้าพระยาก็มีความเสี่ยง เพราะใต้แม่น้ำเจ้าพระยายังมีหินขนาดใหญ่ที่ขวางอยู่ มีดิน มีทราย มีความซับซ้อนมากกว่าพื้นที่ปกติ เนื่องจากกรุงเทพมหานครตั้งอยู่ในที่ลุ่ม” นายสนธิกล่าว
นายสนธิกล่าวว่า เมื่อลากเส้นโรงละครแห่งชาติ ซึ่งจะเป็นสถานีสนามหลวง ไปยังพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว วัดระยะทางได้ประมาณ 800 เมตร โรงพยาบาลศิริราชซึ่งจะเป็นสถานีศิริราช มาถึงพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ระยะทางแค่ 1.2 กิโลเมตร และอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย มาถึงพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้ว ก็พอๆ กับโรงพยาบาลศิริราช ระยะทาง 1.2 กิโลเมตร เช็กข้อมูลแล้วมีตัวอย่างให้เห็นก่อนหน้านี้ ทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศหลายกรณีนับไม่ถ้วน เช่น เมื่อปี 2561 รถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน มีบริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) ดำเนินการ ก่อนหน้านี้บริเวณสถานีวังบูรพา (สถานีสามยอด) มีปัญหาเกิดขึ้น 26 เม.ย. 2561 ชาวบ้านโพสต์รูปภาพ มีป้ายขนาดใหญ่อธิบายความเดือดร้อนจากการก่อสร้างรถไฟฟ้าใต้ดินสายสีน้ำเงิน สถานีวังบูรพา ด้านถนนมหาไชย เขตพระนคร ทำให้บ้านทรุด น้ำท่วมบ้าน แจ้งเรื่องไปแล้วไม่มีการเยียวยา บอกให้ทำเรื่องขึ้นมาใหม่ จนชาวบ้านทนไม่ไหวขึ้นป้ายว่า “ทำร้ายประชาชน บริษัท อิตาเลียนไทยฯ ผู้รับเหมาก่อสร้างรถไฟฟ้า สถานีวังบูรพา ทำบ้านทรุด แตกร้าวเสียหาย เจรจาหลายครั้งขาดความรับผิดชอบ ไม่จบเสียที ประกาศหาหน่วยงาน หรือองค์กรใด ช่วยเหลือที” แล้วโพสต์ภาพลงในเฟซบุ๊ก เรื่องที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องพิเศษ เป็นเรื่องปกติธรรมดา และสามารถเกิดขึ้นได้ทุกเมื่อ เพราะฉะนั้นแล้วอย่าไปฟังว่ารับรองไม่มีทรุด มันทรุดมาแล้วหลายสิบหลังคาเรือน
การขุดเจาะรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน กรณีที่ 2 ลอดผ่านแม่น้ำเจ้าพระยาเพื่อมาโผล่ที่สถานีสนามไชย ใกล้วัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร เคยประสบความยากลำบาก เกือบกระทบโบราณสถาน อย่างวัดหงส์รัตนารามราชวรวิหาร แขวงวัดอรุณราชวราราม เขตบางกอกใหญ่ กรุงเทพฯ เป็นวัดที่มีศาลพระเจ้าตาก และสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์ เป็นวัดที่ พล.ต.อ.จักรทิพย์ ชัยจินดา อดีต ผบ.ตร. และ พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ อดีต ผบ.ทบ. เคยไปบวชที่นั่น ตอนที่ขุดเจาะมา ศาลพระเจ้าตากกับสระน้ำมนต์ศักดิ์สิทธิ์เกือบทรุดลงไป เพราะพื้นที่ริมแม่น้ำเจ้าพระยา หัวขุดเจาะน้ำในสระน้ำศักดิ์สิทธิ์รั่วลงมา จนบริษัทผู้รับเหมาต้องแก้ไขสถานการณ์ด้วยการฉีดสารเคมีทำให้ดินแข็ง ใช้เวลาหลายเดือน นอกจากนี้ ในการก่อสร้างสถานีสามยอดในโครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน ส่วนต่อขยาย ก็มีอาคารโดยรอบได้รับความเสียหาย รวมทั้งอาคารของสำนักงานทรัพย์สินพระมหากษัตริย์
กรณีที่ 3 วันที่ 8 ก.พ. 2564 การไฟฟ้านครหลวงขุดเจาะย้ายสายไฟลงบนดิน ทำให้การทรุดบนตัวถนนมหาราชเป็นหลุมกว้าง 1 เมตร ยาว 4 เมตร แรงกระเพื่อมกระจายไปถึง 2 กิโลเมตร เผลอๆ ในพระบรมมหาราชวังก็จะมีรอยร้าวเข้าไป กรณีที่ 4 มีการคาดการณ์ว่าการขุดเจาะลอดใต้อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย ซึ่งอยู่ในเกาะรัตนโกสินทร์ มีขึ้นเมื่อวันที่ 24 มิ.ย. 2482 จอมพล ป.พิบูลสงคราม เป็นนายกรัฐมนตรี ประเมินจากหลักฐานเก่า ภาพที่บันทึกเอาไว้ จากการใช้ปั้นจั่นตอกเสาเข็มเมื่อ 82 ปีก่อน วิศวกรและคนที่เชี่ยวชาญงานก่อสร้างเชื่อว่าเสาเข็มน่าจะเป็นไม้ ตอกได้ไม่ลึก มากที่สุด 18 เมตร เพราะฉะนั้น การก่อสร้างรถไฟใต้ดินในประเทศไทย ปกติจะสร้างในพื้นที่ใต้ดินประมาณ 30 เมตร มีระยะห่างจากอุโมงค์ถึงเสาเข็มแค่ 12 เมตร ซึ่งมีความเสี่ยงสูงว่าจะเกิดน้ำดันขึ้นจากใต้ดินเหมือนกรณีสถานีสามยอดที่วังบูรพา
ส่วนที่ต่างประเทศ เมืองโคโลญ ประเทศเยอรมนี เมื่อวันที่ 4 มี.ค. 2552 หรือเมื่อ 12 ปีที่แล้ว หอจดหมายเหตุนครโคโลญ ซึ่งสูง 6 ชั้น เกิดสั่นสะเทือนและถล่มลงเมื่อเวลา 14.00 น.ตามเวลาท้องถิ่น มีคนสูญหายไป 3 คน อพาร์ตเมนต์พังทลายหมด แรงดึงของแรงสั่นสะเทือนกระจายไปทำให้ทุกอย่างพังทลาย เมฆฝุ่นขนาดใหญ่ ซึ่งภายในหอจดหมายเหตุมีเอกสารเก่าแก่จำนวนมาก รวมทั้งเอกสารต้นฉบับที่เขียนด้วยลายมือของผู้ก่อตั้งลัทธิคอมมิวนิสต์ คือ คาร์ล มาร์กซ์ กับ ฟรีดริช เอ็งเงิลส์ จนวันนี้ยังไม่มีใครรู้ว่าอะไรทำให้อาคารถล่ม ใกล้กับถนนสายที่ตั้งอาคารกำลังมีการก่อสร้างถนน ก่อสร้างรถไฟใต้ดินสายใหม่ และหลังคาอาคารสถานีก่อสร้างก็ได้พังลงมาในวันเดียวกันด้วย นอกจากนี้ยังมีกรณีคล้ายคลึงกันอีก ในปี 2536 หรือเมื่อ 28 ปีที่แล้วที่เกาะไต้หวัน ปี 2562 ที่นครเซี่ยเหมิน ประเทศจีน ปี 2551 ที่เมืองหางโจว ประเทศจีน และที่ประเทศสิงคโปร์ ประเด็นก็คือในกรณีนี้จะมีมูลค่าความเสียหาย สูงกว่ามูลค่าการก่อสร้างโครงการทั้งหมดเสียอีก
“ยกตัวอย่างกรณีหอจดหมายเหตุเมืองโคโลญถล่มปี 2552 และกรณีอื่นๆ อดคิดไม่ได้ว่าถ้าการก่อสร้างไม่รอบคอบ ไม่ใช้เทคนิคที่พิเศษต่างจากการก่อสร้างรถไฟใต้ดินสายทั่วไป ถ้าพระบรมมหาราชวัง วัดพระแก้วทรุดลงไป พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา รับผิดชอบได้ไหม ผู้รับเหมาที่ประมูลงานได้ ผมไม่สนใจว่าใครได้ รับผิดชอบได้ไหมกับการทรุดตัว ไม่ต้องถึงกับถึงขั้นพังทลาย ซึ่งโอกาสพังทลายก็มี ไม่ใช่ไม่มี เพราะหอจดหมายเหตุยังพังทลายมาแล้ว บ้านประชาชนที่อยู่วังบูรพาก็ทรุดมาแล้วจากการทำงานของอิตาเลียนไทย แล้วถ้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกิดน้ำดันขึ้นมา เสามีอยู่แค่ 18 เมตร ข้อข้างล่างห่างจากพื้นดิน 30 เมตร ที่มีส่วนต่างอยู่ 12 เมตร มันนิดเดียว แล้วถ้าสมมติอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยเกิดทรุดลงมาทั้งอัน ... ผมกำลังชี้ให้เห็นว่าเส้นนี้ผ่านโบราณสถานหลายแห่ง พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ โรงละครแห่งชาติ โลหะปราสาท วัดราชนัดดา คุณค่าทางประวัติศาสตร์ของทุกจุด มีมูลค่ามากกว่าราคาค่าก่อสร้างที่กำลังจะประมูลกัน” นายสนธิกล่าว
นายสนธิกล่าวว่า นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รับผิดชอบได้ไหม ผู้ว่าการ รฟม.รับผิดชอบได้ไหม นายกรัฐมนตรีรับผิดชอบได้ไหม ถ้ามีเหตุการณ์เช่นนี้เกิดขึ้น อีกหน่อยถึงจะไม่อยู่แล้ว อีก 10 ปี 15 ปี อาจจะเป็นวิญญาณลอยล่อง ขึ้นอยู่กับสวรรค์หรือลงนรกก็แล้วแต่คุณงามความดีที่ทำ แต่ประวัติศาสตร์จะจารึกว่าในยุคนั้นได้มีการอนุมัติให้มีการก่อสร้างแบบนี้เกิดขึ้น และไม่ระมัดระวัง เดี๋ยวนี้การขุดเจาะทะเลลึกเป็นเรื่องปกติธรรมดา ไม่มีอะไรน่ากลัว คำถามคือ เมืองไทยมีเทคโนโลยีตัวนี้หรือยัง เพราะเทคโนโลยีในการทำรถไฟฟ้าสายสีส้มนั้น ต้องเป็นเทคโนโลยีที่ไม่ใช่เทคโนโลยีในการทำรถไฟฟ้าใต้ดินทั่วไป เพราะเป็นการผ่าเข้ามากลางเมือง แล้วผ่านสถานที่สำคัญ ถ้าพระบรมมหาราชวังเกิดทรุดขึ้นมา วัดพระแก้วต้องปิด คุณค่าทางประวัติศาสตร์ที่หายไปนั่นก็ส่วนหนึ่งซึ่งสำคัญมาก แต่อีกส่วนหนึ่งก็คือ อีกหน่อยนักท่องเที่ยวก็ไม่มาเมืองไทย เพราะไม่สามารถจะเข้าไปวัดพระแก้ว ชมพระแก้วมรกตได้ และการเปลี่ยนเครื่องทรงของพระแก้วมรกตตามฤดูกาลต่างๆ หากพระบรมมหาราชวังทรุดลงไปจะมีการเปลี่ยนเครื่องทรงหรือไม่ พระราชวังจักรีมหาปราสาท พระราชวังเทพบิดร ถ้าเกิดทรุดขึ้นมา แค่การไฟฟ้านครหลวงขุดพื้นที่เพื่อจะฝังสายไฟฟ้าแค่นั้นเอง ดินทรุดลงไปทันที แล้วเมืองไทยอีกหน่อยถ้ามีน้ำท่วมขึ้นมา ซึ่งต้องมีแน่นอน และท่วมเป็นเดือน ครึ่งปี สมมติท่วมครึ่งปีขอถามว่าน้ำลงไปไหม
“ผมอยากจะฝากให้คุณศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม รฟม. และก็ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้คิดให้ดีๆ เรื่องนี้ให้ระมัดระวัง อย่าใช้วิธีการง่ายๆ เหมือนแต่ก่อนที่ท่านสร้างโน่นสร้างนี่ งานนี้ต้องทำด้วยความรอบคอบ เพราะว่าถ้าอนุสาวรีย์ประชาธิปไตย พระบรมมหาราชวัง พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เกิดทรุดขึ้นมา ใครหน้าไหนจะกล้ารับผิดชอบ ที่แน่ๆ ประวัติศาสตร์ต้องจารึกว่าคนทั้งหลายที่ผมเอ่ยชื่อต้องรับผิดชอบ ตระกูลต้องรับผิดชอบ เพราะว่ามีส่วนร่วมในการตัดสินใจ ผมพูดมานี้ด้วยความเป็นห่วง” นายสนธิกล่าว