วันที่ 5 มีนาคม 64 นายศุภชัย พานิชภักดิ์ อดีตเลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังก์ถัด) และอดีตผู้อำนวยการใหญ่องค์การการค้าโลก (WTO) ปาฐกถาพิเศษในงาน TJA Talk เนื่องในโอกาสครบรอบ 66 ปี สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย หัวข้อ “มองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทย เศรษฐกิจโลก” ว่า ที่ผ่านมา ได้ถูกสอบถามถึงสถานการณ์ทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นหลังเกิดวิกฤตการระบาดของไวรัสโควิด-19 ทั่วโลก หลายเรื่องตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมา โดยคำถามแรก คือ กรณีที่รัฐบาลได้มีการพักชำระหนี้ของสถาบันการเงินให้กับประชาชนนั้น ส่วนตัวไม่เชื่อว่าจะทำให้สถาบันการเงินได้รับผลกระทบมากนัก
ทั้งนี้ เพราะปัจจุบันเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (BIS Ratio) ธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ธปท.กำหนดเพดานไว้ไม่ต่ำ 11% แต่สถาบันการเงินไทยการกันสัดส่วนนี้ไว้มากถึง 19-20% เช่นเดียวกับเงินสำรองระหว่างประเทศที่มีสะสมอยู่ถึง 2 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ มากกว่าปี 2540 ที่มีอยู่เพียง 5-8 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯเท่านั้น ถือว่าฐานะทางการเงินของประเทศยังคงแข็งแกร่งอยู่อย่างแน่นอน
ส่วนเรื่องการว่างงาน ปกติประเทศไทยมีอัตราการว่างงานเฉลี่ยต่อปีประมาณ 0.9% ยกเว้นเข้าสู่ช่วงเด็กจบใหม่เข้ามาตลาดงานก็อาจเพิ่มขึ้นอีกเล็กน้อย 3-4 แสนคน โดยที่ผ่านมา มีการนำเสนอว่า ช่วงการเกิดโควิด-19 จะทำให้มีจำนวนคนว่างงานทะลุถึง 8-10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริงที่ออกมาก็ไม่เป็นตามนั้น เพราะล่าสุดในปลายปีที่แล้ว มีจำนวนคนว่างงาน 7-8 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงานที่ประมาณ 1.9-2% เท่านั้น แต่ตัวเลขนี้อาจทะลุไปถึง 1 ล้านคน ก็เป็นไปได้ แต่จะไม่ถึง 2 ล้านคน ซึ่งตัวเลขที่ออกมาประเมินเอาไว้ส่าจะสูงถึง 8-10 ล้านคนเป็นไปไม่ได้แน่นอน
“หากเราจะพูดถึงแนวโน้มเศรษฐกิจในช่วงต่อไปนี้ แนวโน้มมันไม่น่าจะเลวลง แนวโน้มมันมีแต่จะเรียบๆ ทั่วโลกอาจมีการสะดุดบ้าง เพราะกระบวนการต่อสู้กับโรคระบาดมันจะเวียนกลับมา เพราะว่าเราสู้ชนะส่วนหนึ่งไปแล้ว เขาจะกลายเป็นพันธุ์ใหม่ แล้วกว่าเราจะเอา 100 กว่าประเทศทั่วโลกที่ติดไปกลับมาหายพร้อมเพรียงกัน อย่างน้อยคงต้องใช้เวลาถึง 5-7 ปี โดยทุกคนมีการฉีดวัคซีนแล้ว แต่วัคซีนที่ได้ก็ไม่รู้ว่าคุ้มกันได้ขนาดไหน ซึ่งสภาพที่เรามองจากในจุดที่มันค่อนข้าง จะแย่และจะแย่ไปมากกว่านั้นอีก มันไม่เป็นเช่นนั้นเสมอไป เพราะในช่วงที่เป็น Extreme Conditions หรือภาวะที่เรียกว่าสุดกู่ อย่าได้ลากเส้นทางเศรษฐมิติขึ้นมา เพราะมันไม่ใช่ภาวะปกติ มันจะกระโดด เพราะมันจะไม่ดีเหมือนเดิม แต่ก็ไม่อยากให้หนักใจ หรือตื่นตระหนกตกใจมาก”
นายศุภชัย กล่าวว่า ภาวะที่เราเจอวันนี้ ก็เห็นสอดคล้องกันกับนายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.พลังงาน ซึ่งออกมาเปิดเผยข้อมูลเศรษฐกิจไทย ว่า เรื่องตัวเลขเศรษฐกิจจากเดิมที่บอกว่าจะติดลบ 10% แต่ตัวเลขจริงออกมาทั้งปี 2563 เศรษฐกิจไทยติดลบ 6.1% ส่วนเรื่องของหนี้สินนั้น ไม่ใช่แค่รัฐบาลไทยอย่างเดียวแต่รัฐบาลทั่วโลกเจอโจมตีเหมือนกันหมดว่าเป็นรัฐบาลนักกู้กันทั้งนั้น ซึ่งมาถามผมอยากจะถามว่ามีประเทศไหนที่รัฐบาลไม่กู้เงินเอามาช่วยประชาชน เพื่อทำ Survival Economic หรือการทำเศรษฐกิจให้อยู่รอด คือ เอาแค่อยู่รอด แต่จะกู้มากกู้น้อย หรือพิมพ์แบงก์หรือไม่ ก็ทำทั้งนั้น
ล่าสุด ทั้งธนาคารโลก และ กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ต่างก็เปิดช่องให้หลายประเทศกู้เงินในเงื่อนไขพิเศษทั้งหมด เพื่อช่วยเหลือประเทศยากจนทั่วโลก ดังนั้น ในขณะนี้สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ซึ่งกำลังเข้าใกล้กรอบความยั่งยืนทางการเงินการคลังที่กำหนดเอาไว้ไม่เกิน 60% ต่อจีดีพี หรือประมาณ 50% นั้น หากเทียบกับช่วงวิกฤตต้มยำกุ้งก็เพิ่มไปถึง 60% แต่พอผ่านไปก็เริ่มชะลอลงเหลือ 40% และเพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ จนถึง 50% ซึ่งส่วนตัวมองว่า สัดส่วนที่กำหนดเอาไว้ 60% เป็นตัวเลขที่ดีหากทำได้ ส่วนประเทศอื่น เช่น ญี่ปุ่น และ สหรัฐอเมริกา มีสัดส่วนสูงกว่านี้มาก
“ผมเป็นคนออกไปพูดเมื่อปีที่แล้ว 2-3 ครั้ง ว่า หากกู้เงินเพิ่มจนทำให้สัดส่วนหนี้สูงทะลุกรอบ 70-80% ผมยังยอม เพราะตอนนี้เป็นช่วงที่ต้องกู้มาประคองเศรษฐกิจแบบ Survival Economic คุณอย่าเอามาตรฐานตอนที่ดีๆ มาพูดกัน คือ ถ้าคุณดีๆ อยู่แล้วคุณไปกู้ อย่างนี้เรียกว่าข้างในคุณเน่าแล้ว แต่ตอนนี้ทุกอย่างมันกำลังเน่าอยู่บนเปลือก เราต้องรักษาเอาไว้ไม่ให้มันไปหาข้างใน แต่ถ้าคุณบอกแบบนี้ไม่เอา ผมว่าคุณคิดแบบนี้คุณฉลาดไม่พอ โดยตอนนี้ดอกเบี้ยกำลังอยู่ใกล้ศูนย์ด้วย”
ทั้งนี้ ที่ผ่านมา รัฐบาลได้กู้เงินด้วยการออก พ.ร.ก.มาแล้ว ตอนนี้ยังมีเงินพอแน่นอน แต่ก็ต้องใช้ให้เหมาะสม ถูกเรื่อง ถูกเวลา ใช้กระสุนให้พอถ้าจะตุนเอาไว้ ดีกว่าไปถล่มใช้ทีเดียวหมดแล้วกู้ใหม่ แต่ถ้าหมดก็ต้องลองมาดูกันอีกที อย่างเอามาช่วยเอสเอ็มอี อยากให้ใช้ให้หมดไปเลย เงินยังเหลืออยู่อีก อยากให้ปล่อยเงินให้ง่าย อย่าหวงให้เขาเอาเงินไปใช้ลงทุน ถ้าทำได้เร็วเขาจะดีขึ้นทั้งหมดเลย แต่ถ้าเรายังชะลอๆ เขาจะอยู่ไม่รอดเมื่อสถานการณ์กลับมาดีแล้ว ตอนนี้เป็นเวลาไม่ปกติขืนไปรบแบบปกติคุณก็แพ้สงคราม
อดีตเลขาธิการอังก์ถัด กล่าวว่า การฟันฝ่าวิกฤตครั้งนี้ไปให้ได้นั้น ได้ยกประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาคในช่วงปี 2564 ของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ระบุเอาไว้ 8 ข้อ ซึ่งตรงกับที่คิดเอาไว้ คือ 1. การควบคุมการแพร่ระบาดและการป้องกันการกลับมาระบาดรุนแรงภายในประเทศ ที่ผ่านมา เราจัดการดีแต่ปล่อยคนเข้ามาน้อย แต่ก็ต้องดูให้เหมาะสมค่อยๆ เปิด โดยเฉพาะหลังจากมีวัคซีนเต็มที่ ซึ่งทั่วโลกจะทำแบบบับเบลเทรนด์ทั้งนั้น
2. การรักษาบรรยากาศทางการเมืองภายในประเทศ และการเมืองมีเสถียรภาพ ส่วนตัวคิดว่า ชั่วกัปชั่วกัลป์ เราขอกับประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยผมเริ่มต้นการเมืองมา จนเลิก การเมืองมีเสถียรภาพของบ้านเราเป็นอะไรที่ลำบาก แต่ว่าเฉพาะบ้านเรามีปัญหาก็ไม่ถูก เพราะจากที่ไปทำงานมากับหลายสิบประเทศทั่วโลก ก็เห็นปัญหานี้ว่าทำได้ยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่กำลังพัฒนา ประชาธิปไตยกำลังอยู่ในช่วงฟูมฟัก อ่อนแอ ก็ยังปัญหา และหวังว่า สักวันหนึ่งจะมี Political Distancing หรือการเมืองแบบเว้นระยะห่างเกิดขึ้นมาบ้าง ให้สงบๆ อยู่ห่างๆ กันบ้าง อย่าประชิดตัวกันมากเกินไป หรือใช้การเมืองแก้ปัญหาการเมืองอย่างเดียว โดยไม่ได้แก้เศรษฐกิจ เพราะทั้งหมดนั้นใช้เงินกระเป๋าเดียวกัน
3. ช่วยเหลือการท่องเที่ยวและเอสเอ็มอี เป็นการท่องเที่ยวเพื่อแก้ไขปัญหา ไม่ใช่ทำลายสิ่งแวดล้อม 4. เร่งการใช้งบประมาณภาครัฐ โดยเฉพาะเรื่องของการลงทุน 5. เร่งให้ภาคเอกชนได้ลงทุนจริง โดยจะต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนจริงให้ได้ เพราะปัจจุบันเรามีสัดส่วนการลงทุนจริงต่อจีดีพี 23% ขณะที่ค่าเฉลี่ยของประเทศกำลังพัฒนาอยู่ที่ 30% ดังนั้น จึงต้องทำให้ได้ 27-30% 6. การเตรียมความพร้อมทางด้านการท่องเที่ยว 7. การแก้ไขปัญหาภัยแล้งและภาคเกษตร และการรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก และ 8. การเตรียมตัวรับความเสี่ยงของเศรษฐกิจโลก
อย่างไรก็ตาม มี 4 ข้อ ที่อยากให้เน้น 1. การอัดฉีดเงินเข้าไปเพื่อประคองเศรษฐกิจนั้นทำได้ แต่ก็ต้องทำพร้อมกับการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไปด้วยโดยอย่าละเลย โดยเฉพาะการพัฒนาเศรษฐกิจชีวภาพ-เศรษฐกิจหมุนเวียน-เศรษฐกิจสีเขียว (BCG โมเดล) โดยเฉพาะ Bio Economic ที่มีความสำคัญอย่างมากกับประเทศไทย 2. ด้านการศึกษา จะถดถอยทุกปีไม่ได้ เพราะที่ผ่านการอันดับทางการศึกษาของไทย โดย WEF ประกาศออกมาลดลงอย่างต่อเนื่อง เช่น ตัวเลขเด็กมัธยมศึกษาที่ไปต่ออาชีวศึกษามีแค่ 45% ของการศึกษาทั้งประเทศ ในขณะที่ประเทศที่พัฒนาทางด้านอุตสาหกรรมแล้วจะมีสัดส่วนสูงถึง 90% เพื่อให้ผลิตคนให้ตรงตามความต้องการได้ และจากนี้ไป 20 ปีข้างหน้าสังคมไทยจะเข้าสู่ภาวะสังคมผู้สูงอายุระดับสุดยอดมีประชากรกว่า 28% ที่มีอายุเกิน 60 ปี พร้อมกันนี้ยังต้องพัฒนาทักษะคน โดยเพิ่มผลิตภาพเพิ่มขึ้น
3. การลงทุนปัจจุบันมีจำนวนการลงทุนน้อยมากและต่ำมาก โดยเฉพาะการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ปรับลดลงมาก โดยต่ำว่าประเทศเวียดนามแล้ว โดยมีคำขอแต่ยังไม่มีการลงทุน และ 4. เรื่องการส่งเสริมเศรษฐกิจชุมชนควบคู่ไปกับเอสเอ็มอี โดยให้ความสำคัญกับเรื่องนี้มากขึ้น เพราะถือเป็นเศรษฐกิจที่อยู่ในระดับฐานรากจริงๆ