xs
xsm
sm
md
lg

"สุพัฒนพงษ์"แจงศก.ไทยไม่แย่ สวนฝ่ายค้าน"รัฐบาลVeryกู้"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์

"สุพัฒนพงษ์" รองนายกฯและรมว.พลังงาน แจง 8 เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย ไม่ได้แย่อย่างที่ฝ่ายค้านอภิปราย ว่าเป็น "รัฐบาล Very กู้" ยันสถาบันการเงินยังมีความแข็งแกร่ง แบงก์ไม่ล้ม

วานนี้ (21ก.พ.) นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกฯ และรมว.พลังงาน โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก ในหัวข้อ "เรื่องจริงเศรษฐกิจไทย" ชี้แจง 8 ประเด็น ข้อสงสัยของฝ่ายค้าน ในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล โดยยืนยันว่าไม่ได้แย่อย่างที่อภิปรายในสภา

ผมได้เตรียมชี้แจงข้อสงสัย และข้อกล่าวหาของพรรคฝ่ายค้าน เรื่องการบริหารเศรษฐกิจของรัฐบาล แต่ก็ไม่มีโอกาสได้พูดในสภา เนื่องจากเวลาไม่พอ จึงขอสรุปสาระสำคัญ ซึ่งเป็นข้อมูลอีกด้านหนึ่งที่จะทำให้มองเห็นการบริหารจัดการเศรษฐกิจของรัฐบาล และข้อเท็จจริงของสถานการณ์เศรษฐกิจไทยขณะนี้

1. การฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ... ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่าประเทศไทยย่ำแย่ที่สุดในรอบหลายสิบปี ปีที่ผ่านมาเป็นปีที่ย่ำแย่ของทุกประเทศ จุดต่ำสุดของไทยอยู่ที่เดือนเม.ย.63 หลังรัฐบาลค่อยๆ ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ดัชนีชี้วัดทุกตัวจึงดีขึ้นตามลำดับ จนกระทั่งเดือน ธ.ค.มีการระบาดระลอกใหม่ ดัชนีบางตัวก็ยังดีกว่าเดือนเม.ย. ด้วยเรามีประสบการณ์ และข้อมูลจากการระบาดครั้งแรก จึงไม่จำเป็นต้องล็อกดาวน์ แต่คุมเข้มบางจังหวัด ตัวเลขศก. ดูจะลดลง แต่สัญญาณบวกได้ปรากฏอยู่ในไตรมาส 4 โดยมีอัตราการขยายตัวเพิ่มขึ้น ทั้งการบริโภค การลงทุนของภาคเอกชน รวมถึงการลงทุนและบริโภคของรัฐ

ข้อมูลของสภาพัฒน์ ปี 63 เราติดลบ 6.1% แต่ถ้าติดตามข้อมูลมาตั้งแต่ต้นปี หลายสถาบันเห็นว่าไทยจะติดลบ 10%,8.5% แต่เราร่วมมือกัน และควบคุมได้ ถือว่าบอบช้ำไม่มาก เมื่อเทียบกับประเทศอื่นในภูมิภาคเดียวกัน ไม่มีใครไม่ลบ แต่ที่ต่ำที่สุดคือ ฟิลิปปินส์ มีเพียงเวียดนามที่เป็นประเทศที่เพิ่งเติบโต แต่ก็เติบโตน้อยกว่าอัตราที่เคยเติบโตอยู่มาก ปีที่ผ่านมาประเทศไทยเราไม่ได้แย่ที่สุด เราเกาะกลุ่มอยู่ในประเทศส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้

2.การว่างงาน...ผู้อภิปรายหลายท่านบอกว่ามีคนว่างงาน 10 ล้านคน แต่คงเป็นประมาณการตั้งแต่ช่วงแรกที่เกิดการระบาด เพราะเขาไม่รู้ว่าการระบาดอย่างนี้ มีผลกระทบให้เกิดการว่างงานกันเท่าไร ก็คงมองในกรณีเลวร้ายที่สุดถึง 10 ล้านคน แต่ตัวเลขจริง คือ 1.9% ในขณะที่ประเทศอื่นๆ ในอาเซียนสูงกว่านี้ แสดงให้เห็นถึงความบอบช้ำที่มีทั่วโลก แต่ประเทศไทยเราทำได้ดี

3.ความน่าเชื่อถือในสายตานานาชาติ... 3สถาบันจัดอันดับเครดิต คือ มูดี้ส์ ฟิทช์เรตติ้ง และสแตนดาร์ด แอนด์ พัวร์ส ประเมินให้ไทย อยู่ในอันดับเท่าเดิม ในขณะที่หลายประเทศถูกปรับลดอันดับลง สำหรับความเชื่อมั่นในการบริหารจัดการของประเทศไทยที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเรื่องศก.หรือการควบคุมการแพร่ระบาด ล่าสุดเราติดอันดับ 1 ใน 4 ประเทศที่ควบคุมการระบาดของโควิด-19 ดีที่สุดในโลก ในขณะที่ความเข้มแข็งทางการเงิน การคลัง ติดอันดับต้นๆ ของประเทศเกิดใหม่ที่น่าลงทุนที่สุด นี่คือการประเมินเมื่อเดือนม.ค.ที่ผ่านมานี้เอง

4. รัฐบาล Veryกู้ จริงหรือเปล่า... ปี 63 หนี้สาธารณะของเราอยู่ที่ราว 52% ของจีดีพี หรือ 8.1 ล้านล้านบาท ตอนที่ท่านนายกฯ รับตำแหน่งใหม่ๆ หนี้สาธารณะ มีอยู่ 5.5 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท แต่เมื่อเทียบกับรัฐบาลก่อนหน้านั้น ซึ่งอยู่ในตำแหน่ง 2 ปี 8 เดือน หนี้ของเขาเพิ่ม1.3 ล้านล้านบาท รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ อยู่ 6 ปี 9 เดือน หนี้เพิ่มขึ้น 2.6 ล้านล้านบาท เฉลี่ยกู้ต่อเดือนไม่ต่างกัน แต่รัฐบาลพล.อ.ประยุทธ์ ยังกู้น้อยกว่าด้วยซ้ำไป เงินกู้เหล่านี้ได้ถูกกระจายไปใช้ในการลงทุนโครงการสำคัญๆ ตั้งแต่ปี 59-63 จำนวน 162 โครงการ ด้านคมนาคม สาธารณูปโภค และพลังงานเกือบทั้งหมด นี่คือ การสร้างพื้นฐานให้ประเทศไทยเติบโตต่อไปในอนาคต และเป็นการกู้ที่ไม่ เกินเลยจากรัฐบาลก่อนหน้านี้

5. รัฐบาลนี้ทำให้หนี้ครัวเรือนสูงที่สุด... หนี้ครัวเรือนสูงมาตั้งแต่ 10 กว่าปีที่แล้ว และสูงมาเรื่อยๆ ตอนที่ท่านนายกฯ เข้ามาเมื่อกลางปี 57 เรามีหนี้ครัวเรือนประมาณ 80% ท่านพยายามประคับประคองไม่ให้เพิ่ม มีปีหนึ่งลดลงไปที่กว่า 70% พอมาเกิดวิกฤต จีดีพี ลดลงจาก 80% ที่พยายามรักษาไว้ กลายเป็น 86% เราพยายามบริหารจัดการให้เป็นหนี้มีคุณภาพ 65% ของหนี้ครัวเรือนจึงเป็นหนี้ที่กู้เพื่อซื้อที่อยู่อาศัย ใช้ประกอบธุรกิจ ซื้อพาหนะ ที่เหลือเป็นเรื่องการอุปโภคบริโภค ซึ่งในไตรมาสที่ 3 ของปี 63 ที่เกิดโควิด-19 แล้ว เรามีหนี้ครัวเรือนเป็นหนี้เสียที่อยู่ในระบบธนาคารเพียง 3% อยู่ในเกณฑ์ค่าเฉลี่ยของหนี้เสียของระบบธนาคาร

6.แบงก์จะล้มไหม...ความแข็งแกร่งของสถาบันการเงิน ดูที่ทุนที่มีความเพียงพอต่อสินเชื่อที่ปล่อยออกไป ซึ่งวันนี้ อยู่ในสัดส่วน 20% มากกว่าอัตราขั้นต่ำที่ธปท. กำหนด คือ11% นับว่าสูงกว่าราว 2 เท่า หรือหนี้เสียในระบบ 3.1% ถ้าเรากลัวกันว่าศก.ดิ่ง แล้วแบงก์จะล้ม ก็ไปดูกันตอนวิกฤตต้มยำกุ้ง ตอนนั้นทุนของสถาบันการเงิน มีเพียง 9.5% ซึ่งต่ำกว่าปัจจุบันมากกว่าครึ่งหนึ่ง ต้องถือว่าสถาบันการเงิน เข้มแข็งมาก สินเชื่อก็โตขึ้นในปีที่ผ่านมา กำไรยังมีอยู่ สถาบันการเงินยังมีความเข้มแข็งที่จะดูแลลูกหนี้

7. ธุรกิจหนี้ท่วมจนต้องปิดกิจการมากที่สุด... วันนี้ 21 สถาบันการเงิน มีการปรับโครงสร้างหนี้จำนวนที่อยู่ในวิสัยที่ลูกหนี้จะดำเนินกิจการต่อไปได้ และในปี 63 มีการจัดตั้งใหม่ 63,340 ราย เช็คเด้งน้อยลง 23% การขอใบอนุญาตส่งเสริมการลงทุน มีผู้ขอมากกว่าปี 62 สำหรับเรื่องที่บอกว่า ประชาชนหนี้ท่วมจนอยู่ไม่ได้นั้น ที่ผ่านมาเราให้ไป 50,000 ล้านบาท เป็นเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำ มีจำนวนคนหลายล้านคน ที่ได้รับการช่วยเหลือเรื่องดอกเบี้ย และการพักชำระหนี้ จนถึงสิ้นปี มีมาตรการเยียวยาครอบคลุมคน 42.3 ล้านคน และรัฐบาลยังได้มีมาตรการลดค่าน้ำ ค่าไฟ และเงินสมทบประกันสังคม พร้อมเสริมสภาพคล่อง สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเป็นเงิน 2 แสน 9 หมื่นกว่าล้านบาท

ก่อนโควิด-19 ระลอกใหม่เมื่อเดือนธ.ค.63 ครม.อนุมัติการช่วยเหลือผ่านการค้ำประกันของ บยส. ให้ธุรกิจที่มีปัญหาโดยเฉพาะที่เป็นเอสเอ็มอี ในวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท กลุ่มที่เป็นรายย่อย ไมโครเอสเอ็มอี อีก 2.5 หมื่นล้าน นอกจากนี้การคิดดอกเบี้ยผิดนัด ธปท. ปรับการคิดดอกเบี้ยผิดนัดใหม่เป็นอัตราดอกเบี้ยปกติ และคิดดอกเบี้ยผิดนัดตามจำนวนที่ผิดนัด ตรงนี้เป็นการบรรเทา ลดค่าใช้จ่ายทางการเงินจะมีผลตั้งแต่ เม.ย. 64

8.ประเทศไทยไม่ได้เหลื่อมล้ำมากที่สุด... มีคนพูดว่าประเทศไทยเหลื่อมล้ำมากที่สุดในโลก นั่นเป็นแค่มิติเดียว คือความมั่งคั่ง ถ้าจะดีต้องดูให้ครบทุกมิติ ต้องดูโอกาส การเข้าถึงระบบสาธารณสุข สิทธิประโยชน์ต่างๆ การดูแลโดยภาครัฐบาล รวมกันแล้ว ไทยเราเป็นประเทศอันดับต้นๆในอาเซียน ที่มีความเหลื่อมล้ำน้อย ยิ่งหากดูเรื่องความยากจน เราน้อยที่สุด ถ้าไม่นับสิงคโปร์ เพราะรัฐบาลสร้างโอกาส มีสวัสดิการด้านสาธารณสุข และมีสวัสดิการที่ดูแลประชาชนที่มีความเปราะบาง


กำลังโหลดความคิดเห็น