xs
xsm
sm
md
lg

ทริสคาดเศรษฐกิจโต 2.6% แบงก์ยังกระทบ-นอนแบงก์ขยับฟื้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายศักดิ์ดา พงศ์เจริญยง กรรมการผู้จัดการ บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด กล่าวในงานสัมมนา "แนวโน้มเศรษฐกิจและภาวะอุตสาหกรรมหลักของไทยในปี 2564" ว่า ปี 2563 ถือว่าเป็นปีที่ยากลำบากมากสำหรับภาคธุรกิจส่วนใหญ่ที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจทรุดตัวอันเนื่องมาจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ธุรกิจในแทบทุกภาคส่วนมีรายได้และกำไรที่ลดลงอย่างมาก ขณะเดียวกัน ก็ได้เห็นความพยายามของธุรกิจทั้งหลายในการแก้ปัญหาการลดลงอย่างมากของรายได้โดยการลดต้นทุน ตลอดจนเก็บสะสมเงินสด และเลื่อนการใช้จ่ายด้านการลงทุนออกไปเนื่องจากเล็งเห็นถึงความยากลำบากที่รออยู่ข้างหน้า 

สำหรับระยะเวลาในการฟื้นตัว ระดับภาระหนี้ และสถานะสภาพคล่อง เมื่อพิจารณาจากผลการดำเนินงานรายไตรมาสของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตจากทริสเรทติ้งจำนวนทั้งสิ้น 136 รายแล้วจะเห็นได้ว่าธุรกิจส่วนใหญ่ในภาคการผลิตเริ่มฟื้นตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 แต่ระยะเวลาในการฟื้นตัวจะแตกต่างกันไปอย่างมีนัยสำคัญในแต่ละอุตสาหกรรม โดยธุรกิจในภาคบริการโดยเฉพาะธุรกิจโรงแรมและสายการบิน การฟื้นตัวยังคงมีความไม่แน่นอนสูงจากการระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ทั้งในประเทศไทยและทั่วโลกจากผลกระทบของโควิด-19 ที่ส่งผลทำให้รายได้และกระแสเงินสดของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตดังกล่าวลดลงอย่างมาก ดังนั้น สิ่งที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้คือการเพิ่มขึ้นของอัตราภาระหนี้ซึ่งบ่งบอกถึงสถานะทางการเงินที่อ่อนแอของบริษัท

อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งได้เห็นแนวโน้มที่ดีขึ้นตั้งแต่ในช่วงไตรมาสที่ 3 ของปี 2563 จากการที่บริษัทต่างๆ เริ่มฟื้นตัวจากช่วงที่เลวร้ายในไตรมาสที่ 2 ในการนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าแนวโน้มการฟื้นตัวจะดำเนินต่อไปในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าผลการดำเนินงานของบริษัทที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตส่วนใหญ่จะฟื้นตัวกลับไปอยู่ในระดับก่อนเกิดโควิด-19 ได้ภายในปี 2565

นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในช่วงที่นักลงทุนตื่นตระหนกต่อผลกระทบจากการระบาดของไวรัสในปี 2563 เป็นเครื่องเตือนใจให้บริษัทต่างๆตระหนักถึงความจำเป็นในการกระจายแหล่งเงินทุนให้มากขึ้น สัญญาณการฟื้นความเชื่อมั่นของนักลงทุนในการลงทุนในตราสารหนี้เริ่มปรากฏให้เห็นอย่างชัดเจนโดยเฉพาะอย่างยิ่งตราสารในกลุ่มตราสารหนี้ที่มีอันดับเครดิตระดับสูง อย่างไรก็ตาม การกลับมาของความต้องการลงทุนก็มาพร้อมกับต้นทุนการกู้ยืมที่สูงขึ้นอย่างมีนัยสำคัญด้วยเช่นกัน ส่วนต่างอัตราผลตอบแทน (Credit Spread) ของตราสารหนี้ภาคเอกชนในปี 2563 ได้ถ่างขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในทุกอันดับเครดิต อย่างไรก็ตาม ข้อมูลในช่วง 2-3 เดือนที่ผ่านมาแสดงให้เห็นว่าส่วนต่างเริ่มมีแนวโน้มแคบลงในกลุ่มผู้ออกตราสารที่มีอันดับเครดิตระดับสูง

ด้านแนวโน้มเศรษฐกิจไตรมาส 4 ทริสเรทติ้งคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจไทยเมื่อพิจารณาจากผลผลิตมวลรวมภายในประเทศจะขยายตัวที่ระดับ 2.6% ในปี 2564 ซึ่งฟื้นจากการหดตัวที่ระดับ 6.1% ในปี 2563 แม้ว่าเศรษฐกิจไทยจะมีทิศทางในการฟื้นตัวที่ชัดเจน แต่การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ก็สร้างอุปสรรคในการฟื้นตัวที่กำลังจะเริ่มดีขึ้น เนื่องจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังคงต้องพึ่งพารายได้จากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นสำคัญ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในปี 2564 จะอยู่ที่ระดับ 3 ถึง 4 ล้านคน ทั้งนี้ แม้จะตระหนักได้ว่าเศรษฐกิจไทยจะต้องลดการพึ่งพาการท่องเที่ยวลง แต่ในระยะสั้นนั้นการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวยังถือว่าเป็นหัวใจสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ ในขณะที่ภาคการส่งออกนั้นมีแนวโน้มที่จะฟื้นตัวได้ช้ากว่าเนื่องจากประเทศเศรษฐกิจหลักยังคงได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 นอกจากนี้ การฟื้นตัวของการบริโภคภาคเอกชนก็มีแนวโน้มที่จะได้รับแรงกดดันจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการระบาดของโควิด-19 ไม่ว่าจะเป็นปัญหาในเรื่องระดับหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น หรือปัญหาการว่างงาน และปัญหาสภาพคล่องที่ตึงตัวของภาคธุรกิจ

ดังนั้น ความหวังจึงขึ้นอยู่กับประสิทธิผลของการกระจายการฉีดวัคซีนในประเทศต่างๆ ทั่วโลกอันจะนำมาสู่การฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยวของไทยได้ในไตรมาสสุดท้ายของปี 2564 และการใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศต่างๆ ทั่วโลกซึ่งจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก โดยทริสเรทติ้งมองว่ามาตรการช่วยเหลือด้านเศรษฐกิจต่างๆ ของรัฐบาลไทยที่มีให้แก่กลุ่มประชากรที่มีความเปราะบางนั้นได้ผลในระดับหนึ่งที่จะช่วยให้เศรษฐกิจกลับมาฟื้นตัว และการใช้จ่ายภาครัฐก็ยังคงเป็นปัจจัยขับเคลื่อนหลักสำหรับระบบเศรษฐกิจไทยต่อไปในระยะ 2-3 ปีข้างหน้าด้วย โดยรวมแล้ว ทริสเรทติ้งมองว่าระบบเศรษฐกิจของไทยกำลังเริ่มฟื้นตัว โดยที่ระยะเวลาในการฟื้นตัวนั้นจะขึ้นอยู่กับปัจจัยภายนอกที่สำคัญหลายประการเป็นหลัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งประสิทธิภาพและประสิทธิผลในการฉีดวัคซีนและการฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจทั่วโลก

**กลุ่มแบงก์ยังกระทบ-NPL ขาขึ้น**

ทั้งนี้ หากมองเป็นรายกลุ่มแล้ว ธุรกิจธนาคารเห็นได้จากผลการดำเนินงานของกลุ่มธุรกิจธนาคารในปี 2563 ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงจากการระบาดของโควิด-19 เนื่องจากการเพิ่มขึ้นของสำรองหนี้เสียเป็นหลัก โดยที่กำไรสุทธิของธนาคารที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์จำนวน 9 แห่งลดลงกว่า 30% จากปีก่อน แต่สิ่งที่เป็นปรากฏการณ์ด้านบวกคือการเติบโตของสินเชื่อของธนาคารขนาดใหญ่ที่สูงเกินคาดจากการที่ธุรกิจขนาดใหญ่มีการเร่งเบิกใช้วงเงินสินเชื่อในช่วงที่การไถ่ถอนตราสารหนี้ที่มีอยู่เดิมโดยการออกตราสารหนี้ชุดใหม่ไม่สามารถกระทำได้ โดยคาดว่าอัตราการเติบโตของสินเชื่อน่าจะกลับลงมาอยู่ในระดับต่ำซึ่งเป็นสิ่งที่เห็นได้ในธนาคารไทยในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา เนื่องจากสภาพคล่องในตลาดตราสารหนี้ได้กลับสู่สภาวะปกติแล้ว คุณภาพสินทรัพย์เป็นประเด็นที่ทริสเรทติ้งมีความกังวลเนื่องจากผลกระทบจากสภาพเศรษฐกิจที่มีต่อลูกหนี้ในปี 2563 และเชื่อว่าสินเชื่อด้อยคุณภาพน่าจะยังปรับตัวเพิ่มขึ้นแต่อยู่ในระดับที่จัดการได้จากการที่สภาพเศรษฐกิจค่อยๆ ฟื้นตัว สำหรับการตั้งสำรองหนี้เสียนั้น จากการที่ธนาคารหลายแห่งได้ปรับเป้าในการตั้งสำรองลดลง ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าระดับการตั้งสำรองโดยรวมน่าจะลดลงในปี 2564

ดังนั้น ผลการดำเนินงานทางการเงินของกลุ่มธนาคารน่าจะค่อยๆ ฟื้นตัว ในขณะเดียวกัน ระดับเงินกองทุนของธนาคารส่วนใหญ่น่าจะยังคงแข็งแกร่งซึ่งมีปัจจัยสนับสนุนคือความสามารถในการทำกำไรที่สูงซึ่งทำให้สามารถรองรับการตั้งสำรองได้ รวมทั้งการจ่ายเงินปันผลที่จำกัด และการเติบโตของสินเชื่อที่ต่ำลง

**กลุ่มนอน-แบงก์เริ่มขยับฟื้น**
ส่วนธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารการระบาดของโควิด-19 ได้ส่งผลกระทบต่อบริษัทในกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในด้านการเติบโตของสินเชื่อและความสามารถในการสร้างรายได้ ส่วนในด้านคุณภาพสินทรัพย์นั้น มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่บริษัทต่างๆ เสนอแก่ลูกหนี้ก็สามารถช่วยชะลอและลดทอนผลกระทบต่างๆ ที่มีต่อคุณภาพสินทรัพย์ลงได้ โดยทริสเรทติ้งคาดว่าการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะช่วยสนับสนุนการเติบโตของสินเชื่อของสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารในปี 2564 จากยอดขายรถยนต์มีการฟื้นตัวกลับมาอย่างแข็งแกร่งและคาดว่าจะเป็นไปอย่างต่อเนื่องในปี 2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าความต้องการสินเชื่อรถยนต์ใหม่จะเติบโตอย่างเข้มแข็ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับการขนส่ง อย่างไรก็ตาม สินเชื่อรถจักรยานยนต์ยังคงมีความผันผวนจากการถดถอยลงอย่างมากของคุณภาพสินเชื่อซึ่งส่งผลให้การขยายสินเชื่อใหม่ยังคงเป็นไปอย่างระมัดระวังในช่วงปีที่ผ่านมา

ในฟากธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียนรถยังมีการเติบโตที่ดีพร้อมกับการควบคุมคุณภาพสินเชื่อให้อยู่ในระดับที่ดีไว้ได้ อย่างไรก็ตาม การแข่งขันที่ทวีความรุนแรงขึ้นจากผู้ประกอบการรายใหม่คาดว่าจะสร้างแรงกดดันต่อความสามารถในการทำกำไรของผู้ประกอบการ ในส่วนของธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลนั้น การลดลงของเพดานดอกเบี้ยได้ส่งผลกระทบต่อรายได้โดยรวมของผู้ประกอบการ อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อรายได้ดังกล่าวจะบรรเทาลงจากรายได้ค่าธรรมเนียมที่เข้มแข็งขึ้นจากยอดการใช้จ่ายผ่านบัตรที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น ในส่วนของความแข็งแกร่งของฐานทุนนั้น ธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารส่วนใหญ่ยังคงมีฐานทุนที่แข็งแกร่งเพียงพอที่จะรองรับความสูญเสียที่อาจจะเกิดขึ้นตามแต่ละประเภทของสินทรัพย์

โดยภาพรวมแล้ว ทริสเรทติ้งคาดว่าธุรกิจและผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทในกลุ่มธุรกิจสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารจะมีการฟื้นตัวที่ค่อยๆ ดีขึ้นในปี 2564 นี้แม้ว่าคุณภาพของสินทรัพย์จะยังคงเป็นปัจจัยเสี่ยงหลักที่ต้องจับตามองอย่างใกล้ชิดต่อไป
กำลังโหลดความคิดเห็น