น.ส.ณัฐพร ตรีรัตน์ศิริกุล ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจ้ยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ประมาณการจีดีพีไทยปี 64 เติบโตที่ระดับ 2.6% แต่ยังคงมีความไม่แน่นอนสูง โดยตัวแปรหลักอยู่วัคซีนโควิด-19 ซึ่งขณะนี้ในประเทศที่เป็นผู้คิดค้นและผลิตได้เริ่มมีปริมาณการฉีดในจำนวนที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แต่ก็ยังมีข้อติดตามในด้านของคุณภาพและระยะเวลาในการใช้ ขณะที่ประเทศไทยก็มีความคืบหน้าไปตามลำดับ โดยอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจดังกล่าวอยู่บนสมมติฐานที่ในไตรมาส 4 จะเริ่มมีนักท่องเที่ยวกลับเข้ามาในประเทศ ดังนั้น ในปีนี้นโยบายทางการเงินและการคลังจึงยังมีความจำเป็นที่จะต้องมีต่อเนื่องเพื่อลดผลกระทบและความไม่แน่นอนที่ยังมีอยู่
"ในขณะนี้เรายังมองว่าเศรษฐกิจไทยปีนี้มีโอกาสน้อยที่จะกลับไปหดตัวต่อเนื่องจากปีที่แล้ว แต่เราจะโตช้าหรือโตในระดับที่ต่ำสุดในภูมิภาค เพราะไทยเองมีปัญหาเชิงโครงสร้างอยู่จากเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพาการท่องเที่ยวสูงถึง 11% ของจีดีพี แม้ภาคการส่งออกที่น่าขยายตัวได้ 3% ในปีนี้หรือการท่องเที่ยวในประเทศที่อาจจะเพิ่มขึ้นก็ยังไม่สามารถชดเชยส่วนที่หายไปได้ ขณะที่เวียดนามมีสัดส่วน 9% ของจีดีพีและยังมีภาคการลงทุนจากต่างประเทศเข้ามาช่วย ดังนั้น ในระยะต่อไปนอกจากการเยียวยาแล้วต้องมีการฟื้นฟูและเพิ่มศักยภาพในด้านอื่นๆ เพิ่มเติมด้วย"
ด้านนโยบายการเงินนั้น ยังคาดการณ์ว่าธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายในระดับเดิมที่ 0.50% เนื่องจากปัจจุบันมีมาตรการทั้งด้านการเงินและการคลังออกมาเป็นระยะๆ อยู่แล้ว การปรับลดอัตราดอกเบี้ยอาจจะไม่ตอบโจทย์กับสถานการณ์ในปัจจุบันได้มากนัก แต่หากมีสถานการณ์แทรกซ้อน เช่น เกิดการระบาดระลอกใหม่ หรืออื่นๆ ที่มีความรุนแรงกว่านี้ก็มีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง
ในส่วนของภาคธุรกิจนั้น น.ส.เกวลิน หวังพิชญสุข ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า ในขณะนี้จะเน้นไปที่ 2 ธุรกิจที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างหนัก ได้แก่ ธุรกิจโรงแรมซึ่งได้รับผลกระทบโดยตรงจากสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งจากข้อมูลการสำรวจจากจังหวัดต่างๆ ในเงื่อนไขที่ มีการพึ่งพานักท่องเที่ยวต่างประเทศสูง มีจำนวนโรงแรมในพื้นที่เป็นจำนวนมาก และไม่ค่อยเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวแล้ว พบว่าผู้ประกอบการโรงแรมใน 6 จังหวัดนี้เข้าข่ายที่ยังต้องติดตามได้แก่ ภูเก็ต กระบี่ พังงา สุราษฎร์ธานี ชลบุรี และกรุงเทพฯ ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกได้รับผลกระทบจากกำลังซื้อที่ลดลง และการปืดพื้นที่ในบางช่วง
นอกจากนี้ ธุรกิจจะต้องมีการปรับตัวให้ทันกับสภาวการณ์ที่เปลี่ยนไปหลังสถานการณ์โควิด-19 ซึ่งที่แน่ๆ ก็คือตลาดจะเล็กลงจากหนี้ครัวเรือนที่เพิ่มสูงขึ้นต่อเนื่อง จากปีก่อนที่ 86% ปีนี้น่าจะแตะ 90-91% ซึ่งจะทำให้กำลังซื้อลดลง และการเข้าสู่สังคมสูงอายุของไทยที่กำลังใกล้เข้ามา
น.ส.ธัญญาลักษณ์ วัชระชัยสุรพล รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท ศูนย์วิจัยกสิกรไทย จำกัด กล่าวว่า จากสถานการณ์ดังกล่าว ผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มเอสเอ็มอี ทั้งในกลุ่มท่องเที่ยว และค้าปลีก ในกลุ่มค้าปลีกที่เป็นร้านอยู่ในห้างสรรพสินค้าต่างๆ โดยหลักแล้วจะเป็นปัญหาด้านขาดสภาพคล่อง ซึ่ง ณ ปลายปีก่อนมีผู้ประกอบการเอสเอ็มอีเข้ามาขอความช่วยเหลือประมาณ 27-28% จากก่อนหน้านี้ที่เกือบแตะ 50% ของพอร์ต และเมื่อเกิดการระบาดระลอกใหม่นี้ก็อาจจะมีปัญหาสภาพคล่องเพิ่มขึ้นอีก ดังนั้น แนะนำให้ผู้ประกอบการติดต่อสถาบันการเงินผู้ให้กู้เพราะมีโปรแกรมต่างๆ ที่ให้ความช่วยเหลืออยู่ต่อเนื่อง