เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า
นายวุฒิพงศ์ จิตตั้งสกุล ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการคลัง ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจการคลังประจำเดือนมกราคม 2564 พบว่า “เศรษฐกิจไทยในเดือนมกราคม 2564 ส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า ทั้งในด้านการใช้จ่ายภายในประเทศ และในด้านการท่องเที่ยว ซึ่งเป็นผลจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ที่เกิดขึ้นตั้งแต่กลางเดือนธันวาคม 2563 อย่างไรก็ดี การส่งออกสินค้ายังขยายตัวได้ต่อเนื่องจากเดือนก่อนหน้า” โดยมีรายละเอียด สรุปได้ดังนี้
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการบริโภคภาคเอกชนมีสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะการบริโภคในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายรถยนต์นั่งและปริมาณรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่กลับมาลดลงที่ร้อยละ -46.9 และ -6.6 ต่อปี ตามลำดับ สอดคล้องกับการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ระดับราคาคงที่ ลดลงร้อยละ -7.8 เช่นเดียวกับดัชนีความเชื่อมั่นของผู้บริโภคลดลงมาอยู่ที่ระดับ 47.8 จากระดับ 50.1 ในเดือนธันวาคม 2563 ซึ่งเป็นการปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ระลอกใหม่ภายในประเทศ ทำให้ผู้บริโภคมีความกังวลเกี่ยวกับการชะลอตัวทางเศรษฐกิจและการจ้างงาน อย่างไรก็ดี รายได้เกษตรกรในเดือนมกราคม 2564 ยังคงขยายตัวได้ที่ร้อยละ 8.0 ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านการลงทุนภาคเอกชนส่งสัญญาณชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า โดยการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร สะท้อนจากปริมาณการจำหน่ายรถยนต์เชิงพาณิชย์กลับมาลดลงร้อยละ -5.4 ต่อปี ตามการชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศ สำหรับการลงทุนในหมวดการก่อสร้าง สะท้อนจากปริมาณจำหน่ายปูนซีเมนต์ขยายตัวร้อยละ 1.6 ต่อปี อย่างไรก็ดี การจัดเก็บภาษีการทำธุรกรรมอสังหาริมทรัพย์ลดลงที่ร้อยละ -9.9 ต่อปี
เศรษฐกิจภาคการค้าระหว่างประเทศขยายตัวต่อเนื่องจากเดือนก่อน สะท้อนจากมูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินสกุลดอลลาร์สหรัฐ ขยายตัวร้อยละ 0.4 ต่อปี โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลก และความต่อเนื่องของมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจในหลายประเทศ โดยสินค้าที่ขยายตัวได้ดี ได้แก่ 1) สินค้าอาหาร เช่น น้ำมันปาล์ม และผลิตภัณฑ์มันสำปะหลัง ที่ขยายตัวร้อยละ 345.1 และ 50.5 ต่อปีตามลำดับ สอดคล้องกับการส่งออกผักและผลไม้สด แช่เย็น แช่แข็ง และอาหารสัตว์เลี้ยงที่ขยายตัวต่อเนื่อง 2) สินค้าที่เกี่ยวข้องกับการทำงานที่บ้าน (Work from Home) เช่น เครื่องโทรสาร โทรศัพท์และอุปกรณ์ และเครื่องใช้ไฟฟ้าภายในบ้าน เช่น เฟอร์นิเจอร์และชิ้นส่วน เตาไมโครเวฟและเครื่องใช้ไฟฟ้าที่ให้ความร้อน ตู้เย็นและตู้แช่แข็ง เป็นต้น และ 3) สินค้าที่เกี่ยวกับการป้องกันการติดเชื้อและลดการแพร่ระบาด เช่น เครื่องมือแพทย์และอุปกรณ์ ผลิตภัณฑ์เภสัชภัณฑ์ และถุงมือยาง นอกจากนี้ ยังมีสินค้าที่เริ่มกลับมาฟื้นตัว ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ แผงวงจรไฟฟ้า เคมีภัณฑ์ และเม็ดพลาสติก เป็นต้น อย่างไรก็ดี การส่งออกทองคำ สินค้าเกี่ยวเนื่องกับน้ำมัน และเครื่องรับวิทยุ โทรทัศน์และส่วนประกอบลดลง ทั้งนี้ เมื่อพิจารณามูลค่าการส่งออกสินค้า โดยจำแนกเป็นรายตลาดคู่ค้าหลักของไทย พบว่า ตลาดคู่ค้าหลักของไทยเกือบทุกตลาดปรับตัวดีขึ้น โดยเฉพาะการส่งออกไปตลาดสหรัฐฯ ขยายตัวต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 ติดต่อกัน ที่ร้อยละ 12.4 ต่อปี เช่นเดียวกับการส่งออกไปทวีปออสเตรเลียและจีนขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 30.3 และ 9.9 ต่อปีตามลำดับ ขณะที่การส่งออกไปตลาด CLMV กลับมาขยายตัวในรอบ 10 เดือนที่ร้อยละ 3.8 ต่อปี
เครื่องชี้เศรษฐกิจไทยด้านอุปทานชะลอตัวจากเดือนก่อนหน้า สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมที่ปรับตัวลดลงมาอยู่ที่ระดับ 83.5 ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากความกังวลเกี่ยวกับการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ระลอกใหม่ในหลายจังหวัด ส่งผลให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจชะลอตัว ประกอบกับผู้ส่งออกประสบปัญหาตู้คอนเทนเนอร์ไม่เพียงพอ ทำให้มีต้นทุนค่าขนส่งทางเรือเพิ่มขึ้น สำหรับบริการด้านการท่องเที่ยว พบว่า ในเดือนมกราคม 2564 มีนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติประเภทพิเศษ (Special Tourist Visa : STV) รวมถึงนักท่องเที่ยวกลุ่มสิทธิพิเศษ (Thailand Privilege Card) และนักธุรกิจ จำนวน 7,649 คน โดยส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวยุโรป โดยเฉพาะฟินเเลนด์ สวิตเซอร์แลนด์ เเละเดนมาร์ก นอกจากนี้ บางส่วนเป็นนักท่องเที่ยวชาวอาเซียน เช่น สิงคโปร์ และอินโดนีเซีย ในขณะที่ภาคเกษตร สะท้อนจากดัชนีผลผลิตสินค้าเกษตรขยายตัวเล็กน้อยที่ร้อยละ 0.9 ต่อปี จากการเพิ่มขึ้นของผลผลิตข้าวเปลือก มันสำปะหลัง และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ เป็นต้น
เสถียรภาพเศรษฐกิจยังอยู่ในเกณฑ์ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปอยู่ที่ร้อยละ -0.3 ต่อปี และอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานอยู่ที่ร้อยละ 0.2 ต่อปี ขณะที่สัดส่วนหนี้สาธารณะ ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2563 อยู่ที่ร้อยละ 52.1 ต่อ GDP ซึ่งยังอยู่ภายใต้กรอบวินัยการเงินการคลังที่ตั้งไว้ตามพระราชบัญญัติวินัยการเงินการคลังของรัฐ พ.ศ.2561 ส่วนเสถียรภาพภายนอกยังอยู่ในระดับมั่นคง และสามารถรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเศรษฐกิจโลกได้ สะท้อนจากทุนสำรองระหว่างประเทศ ณ สิ้นเดือนมกราคม 2564 อยู่ในระดับสูงที่ 256.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ