วันนี้ (5 ก.พ.) นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (รมว.ทส.) กล่าวว่า สถานการณ์กัดเซาะชายฝั่งสร้างผลกระทบโดยตรงต่อชุมชนและวิถีชีวิตพี่น้องประชาชนในพื้นที่แนวชายฝั่งทะเล ตนยอมรับว่าปัญหานี้มีความละเอียดอ่อน การดำเนินการต้องรอบคอบคำนึงถึงมิติเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม ต้องมองถึงการแก้ไขปัญหาที่กำลังเกิดขึ้น ณ ปัจจุบัน และผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต การแก้ไขปัญหาต้องยั่งยืน ซึ่งที่ผ่านมา ได้มีการกำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาโดยแบ่งกลุ่มหาดออกเป็น 8 กลุ่มหาดหลัก 44 กลุ่มหาด และ 318 หาด ตามลักษณะธรณีสัณฐาน เพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นระบบและยั่งยืน
นายวราวุธ กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ เตรียมประกาศกฎกระทรวงกำหนดเขตพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอีก 2 ฉบับ และกฎกระทรวงกำหนดพื้นที่ใช้มาตรการในการป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งสำหรับการดำเนินโครงการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาดและเขื่อนป้องกันตลิ่งริมทะเล ซึ่งอยู่ระหว่างกระบวนการเสนอคณะรัฐมนตรี ซึ่งมาตรการดังกล่าว เป็นเสมือน Checklist ที่มีความเข้มข้นมากในการตรวจสอบการก่อสร้างกำแพงกันคลื่นริมชายหาด ซึ่งจะช่วยป้องกันผลกระทบที่จะเกิดขึ้นได้เป็นอย่างดี
“อย่างไรก็ตาม จะหารือกับ นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัด ทส. อีกครั้ง ถึงแนวทางการบูรณาการการทำงานร่วมกับกระทรวงที่เกี่ยวข้อง รวมถึง องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เพื่อกำหนดแนวทางการทำงานร่วมกัน ซึ่งผมอยากให้พี่น้องประชาชนทุกคนมั่นใจว่า การดำเนินการทุกอย่างมุ่งหวังเพื่อความสุขและความปลอดภัยของชีวิตและทรัพย์สินของพี่น้องประชาชนเป็นสำคัญ และเพื่อให้เกิดการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างมั่นคงและยั่งยืน” รมว.ทส. กล่าว
ด้าน ดร.ยุทธพล อังกินันทน์ ที่ปรึกษา รมว.ทส.รองหัวหน้าพรรคชาติไทยพัฒนา เปิดเผยภายหลังการติดตามตรวจเยี่ยมโครงการปักแนวไม้ไผ่กันคลื่นในพื้นที่เพชรบุรี ว่า วันนี้ (5 ก.พ.) ตนพร้อมคณะทำงานลงพื้นที่ตรวจติดตามผลการดำเนินงาน โครงการบูรณาการการจัดการป้องกันและแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งทะเล 23 จังหวัด ใน 2 พื้นที่ ได้แก่ พื้นที่ ต.ปากทะเล อ.บ้านแหลม ระยะทางปักไม้ไผ่ประมาณ 1,550 เมตร ดำเนินการแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 2563 และพื้นที่ ต.บางแก้ว อ.บ้านแหลม ซึ่งเป็นพื้นที่เตรียมการปักไม้ไผ่ความยาวระยะปักประมาณ 1,750 เมตร พร้อมทั้งได้รับฟังการรายงานสถานการณ์จากสำนักงานทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งที่ 3 ทราบว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทั้ง 2 พื้นที่ เกิดขึ้นค่อนข้างรวดเร็วและต่อเนื่อง
ดร.ยุทธพล เผยอีกว่า ในปี 2563 ที่ผ่านมา ช่วงระยะเวลา 6 เดือน เกิดการกัดเซาะความยาวเพิ่มขึ้นกว่า 30 เมตร นอกจากนี้ จากสถิติที่ผ่านมา ในช่วงปี 2560-2562 พื้นที่กัดเซาะรุนแรงและพื้นที่กัดเซาะปานกลางมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นที่น่ากังวลและต้องเร่งแก้ไข ทั้งนี้ ตนได้สั่งการให้ติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง นอกจากนี้ ได้ให้หน่วยงานในพื้นที่หารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อช่วยกันวางแนวทางแก้ไขปัญหา รวมถึงการประชาสัมพันธ์ให้กับชุมชนและสังคมได้ทราบและร่วมเป็นกำลังในการเฝ้าระวังในพื้นที่ด้วย
ส่วน นายโสภณ ทองดี อธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) กล่าวเพิ่มเติมว่า การแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งโดยใช้ไม้ไผ่เป็นเสมือนกำแพงชะลอความรุนแรงของคลื่น เพื่อป้องกันพื้นที่หาดโคลน เป็นแนวคิดการใช้วัสดุธรรมชาติเพื่อลดมลพิษและผลกระทบข้างเคียง โดยกรมฯ ได้เริ่มใช้วิธีการดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2550-2563 ดำเนินการไปแล้วกว่า 41 พื้นที่ 13 จังหวัด ระยะทางปักไม้ไผ่กว่า 83,515 เมตร และในปี 2564 ได้ดำเนินการใน 6 พื้นที่ 5 จังหวัด ระยะทางปักไม้ไผ่กว่า 11,150 เมตร ทำให้มีพื้นที่สะสมตะกอนดินเลนหลังแนวไม้ไผ่กว่า 1,600 ไร่ และมีพื้นที่ป่าชายเลนเพิ่มขึ้นหลังแนวไม้ไผ่ประมาณ 315 ไร่ ซึ่งนับว่ามีประสิทธิภาพเป็นที่น่าพอใจอย่างมาก
“อย่างไรก็ตาม แนวทางการแก้ไขปัญหากัดเซาะในทุกพื้นที่ของประเทศ จะต้องเป็นไปตามแนวทางการจัดการตามมติคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 16 ม.ค. 2561 ซึ่งได้กำหนดรูปแบบ มาตรการ และแนวทางไว้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ กรมฯ ยังได้รวบรวมโครงการแก้ไขปัญหากัดเซาะชายฝั่งที่จะดำเนินการในปีงบประมาณ พ.ศ. 2565 ของทุกหน่วยงาน เสนอต่อผู้เชี่ยวชาญและผู้ทรงคุณวุฒิได้พิจารณาก่อนที่จะแจ้งผลการพิจารณาให้สำนักงบประมาณใช้ประกอบการจัดสรรงบประมาณ และที่สำคัญ เพื่อป้องกันมิให้เกิดความซ้ำซ้อน มีความถูกต้องตามหลักวิชาการ และไม่ก่อให้เกิดผลกระทบข้างเคียง” นายโสภณ กล่าวทิ้งท้าย