พบ ส.ส.คัดค้านกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง เวนคืนที่ดินบริเวณหมอชิตเก่า-บีทีเอสจตุจักร ฟื้นโครงการเก่า "บางกอกเทอร์มินอล" ชี้ประชาชนเดือดร้อนไม่ใช่แค่ถูกเวนคืนที่ดิน แต่คนที่ใช้เส้นพหลโยธินก็ซ้ำเติมรถติดหนักอยู่แล้ว อีกทั้ง บขส.แสดงจุดยืนไม่ย้ายแน่นอน
รายงานพิเศษ
จากกรณีที่กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง จะดำเนินโครงการพัฒนาที่ราชพัสดุบริเวณสถานีขนส่งหมอชิตเดิม เนื้อที่ 63-2-65 ไร่ มูลค่าลงทุน 2.6 หมื่นล้านบาท โดยมี บริษัท บางกอกเทอร์มินอล จำกัด หรือ บีเคที เป็นคู่สัญญา ซึ่งในเดือน ก.พ. 2564 จะเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร, กรมการขนส่งทางบก และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) เป็นต้น มาหารือเพื่อหาข้อสรุปที่ชัดเจนเกี่ยวกับการเดินหน้าโครงการอีกครั้ง รูปแบบโครงการจะเป็นลักษณะผสมผสาน (Mixed-use) ประกอบด้วย พื้นที่ชดเชยให้ราชการ (สถานีขนส่งผู้โดยสารและพื้นที่ราชการ) และพื้นที่เชิงพาณิชย์
น.ส.ภาดาท์ วรกานนท์ ส.ส.กทม.พรรคพลังประชารัฐ กล่าวในที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ว่า แผนที่กำหนดไว้ บริษัท ขนส่ง จำกัด (มหาชน) หรือ บขส. จะต้องย้ายไปเช่าพื้นที่กรมธนารักษ์ บริเวณสถานีรถไฟฟ้าบีทีเอส จตุจักร โดย บขส.จะใช้พื้นที่ร่วมกับโครงการคอมเพล็กซ์ของบริษัทเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งคาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในปี 2564 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 5 ปี นอกจากนี้ จะมีการก่อสร้างทางยกระดับเชื่อมโทลล์เวย์เข้ามายังโครงการฯ ซึ่งเป็นที่มาของการต้องเวนคืนที่ดินของชาวบ้านบริเวณนี้
ตนขอตั้งคำถามฝากไปยังที่ราชพัสดุ กรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ดังนี้ 1. สาเหตุที่ย้ายสถานีขนส่งหมอชิตเดิม ไปที่หมอชิตใหม่ ก็เพราะการจราจรที่ติดขัดมากบริเวณนี้ แล้วเหตุใดจึงต้องย้ายกลับมา 2. เคยสอบถามประชาชนหรือไม่ว่าอยากได้โครงการพัฒนาคอมเพล็กซ์แบบนี้หรือเปล่า คนเดือดร้อนไม่ได้มีแค่ชาวบ้านที่ถูกเวนคืน แต่ประชาชนที่สัญจรบริเวณนี้ก็เดือดร้อนไปด้วย ทุกวันนี้การจราจรแถวนี้ก็หนักหนาสาหัสมากพอแล้ว แล้วจะย้ายหมอชิต 2 กลับมารวมกับคอมเพล็กซ์ทำไม
3. ตนเข้าใจว่าการเวนคืนเป็นสิ่งจำเป็นสำหรับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของรัฐ แต่ต้องอยู่บนพื้นฐานของการที่ประชาชนได้ประโยชน์สูงสุด แต่การเวนคืนเพื่อสร้างคอมเพล็กซ์ที่ประชาชนไม่อยากได้ ขอถามกรมธนารักษ์ กระทรวงการคลัง ว่า มีความจำเป็นที่จะต้องย้ายหมอชิต 2 กลับมาจริงหรือ ถ้าประชาชนไม่ได้ประโยชน์ แล้วใครได้ประโยชน์
ด้านแหล่งข่าวจาก ส.ส.รายหนึ่ง ที่เข้าประชุมคณะกรรมการติดตามการใช้งบประมาณ กล่าวว่า หากถึงปี 2567 บีทีเอสจะย้ายศูนย์ซ่อมบำรุงไปที่ไหนได้ เป็นไปไม่ได้เลย ไม่มีที่ที่จะให้บีทีเอสไป ยังไงบีทีเอสก็จะต้องใช้ตรงนี้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง ไม่ว่าใครจะมาบริหารบีทีเอสก็ตามแต่ รัฐบาลไม่สามารถที่จะหาที่ดินในการสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงให้กับรถไฟฟ้าบีทีเอสได้เลย แล้วการย้ายบีทีเอสไปสร้างศูนย์ซ่อมบำรุงที่อื่นนอกจากย่านพหลโยธินที่ใกล้สวนจตุจักร เป็นไปไม่ได้ถึงอย่างไรกรุงเทพมหานคร และกระทรวงคมนาคมจะว่าอย่างไร ยังคงต้องใช้พื้นที่ตรงนี้เป็นศูนย์ซ่อมบำรุง
อีกทั้งกรุงเทพมหานครจะต้องรับผิดชอบจ่ายค่าก่อสร้างทางยกระดับ จากถนนวิภาวดีรังสิต เข้ามาที่บางกอกเทอร์มินอล (บีเคที) บริเวณหมอชิตเก่า ซึ่งใช้เงินมหาศาล ไม่รวมการเวนคืนที่จะต้องจ่ายให้กับประชาชน ถามว่ารัฐบาลมีเงินที่จะไปลงทุนหรือไม่ ในขณะที่บางกอกเทอร์มินอล ลงทุนเฉพาะอาคารเพื่อที่จะหาประโยชน์ พูดง่ายๆ วัตถุประสงค์ ต้องการหาคนมาป้อนให้กับเอกชน ถ้าพูดถึงการแก้ไขปัญหาการจราจร สนข. ตอบได้ดีอยู่แล้วว่าถนนพหลโยธินช่วงเช้าและช่วงเย็น รถติดมหาศาล เพราะรถจากสะพานควายวิ่งออกไปวิภาวดีรังสิต การที่จะเอาสิ่งที่จะต้องเกี่ยวข้องรถที่จะต้องส่งและรับคน จะมองว่าคนที่มากับรถ บขส. จะมาใช้รถไฟฟ้าอย่างเดียวมันไม่ใช่ ทั้งคนไปรับ ทั้งรถแท็กซี่ไปส่งและไปรับ รถจะติดอีกมหาศาล
ตนยืนยันว่า การที่เอากลับเข้ามาไม่ได้เกิดประโยชน์กับกรุงเทพฯ เลยแม้แต่น้อย และสิ่งที่คิดจะทำ ตนอยากให้คิดใหม่ เรามองในเชิงพาณิชย์มากเกินไป ใกล้ๆ กันมีกรมการขนส่งทางบก วันหนึ่งมีรถจำนวนมหาศาล และสิ่งที่ สนข. คิดว่าเป็นการอำนวยประโยชน์ให้ประชาชน ให้เกิดการเชื่อมโยงการขนส่งนั้น ปัจจุบันหมอชิตใหม่มีรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินไปรองรับอยู่แล้ว ใกล้ตรงนั้นอยู่แล้ว คนเขาสะดวกอยู่แล้ว ไม่จำเป็นต้องจะต้องมาขึ้นรถไฟฟ้าที่บีทีเอสจตุจักร
ตนได้มีโอกาสไปฟังประชาชนที่อยู่ในซอยวิภาวดีรังสิต 5 ทั้งซอยคัดค้านหมด เพราะไม่มีความชัดเจน ตลอด 10 ปีที่ผ่านมาประชาชนอยู่ด้วยความทุกข์ยาก เพราะที่ดินไม่มีมูลค่า ไม่มีใครสนใจมาลงทุนทางเลือกในเอกชนเลย เพราะมีพระราชกฤษฎีกาฉบับนี้อยู่ ไม่อยากให้กรุงเทพมหานครเป็นลูกไล่ ต้องกล้าแสดงจุดยืนของตัวเอง ไม่ใช่ว่าเขาสั่งอะไรก็ต้องทำ ถ้าทำแล้วไม่เกิดประโยชน์ คนก็ด่า กทม.ไม่ได้ด่าคนอื่น ตรงนี้ต้องพูดกันให้ชัด อย่าง บขส. ก็แสดงจุดยืนชัดเจนว่าการจะย้ายกลับมาที่ บขส.เก่าไม่เกิดประโยชน์