พบรถไฟฟ้าทุกสายสามารถใช้สิทธิ “เราชนะ” ได้ คนใช้แอป “เป๋าตัง” จำง่ายๆ ไปที่ห้องจำหน่ายตั๋วทุกสถานี ส่วนรถ ขสมก.ได้แค่ออกบัตรรายสัปดาห์และรายเดือน ขณะที่รถ บขส. ใช้ได้ที่สถานีเดินรถและจุดจอดทุกแห่ง ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใช้ได้ทั้งสองวงเงิน ค่าโดยสารฟรี 500 และสิทธิเราชนะ
จากกรณีที่รัฐบาลดำเนินโครงการเราชนะ สนับสนุนวงเงินช่วยเหลือค่าครองชีพ สูงสุด 7,000 บาท เพื่อบรรเทาภาระค่าครองชีพให้แก่ประชาชน และเพื่อลดการสัมผัสเงินสดรูปแบบการใช้จ่าย Cashless 100% โดยรับเงินทุกสัปดาห์ และสะสมสิทธิใช้จ่ายถึงสิ้นสุดโครงการ มีระยะเวลาโครงการ 29 ม.ค. ถึง 31 พ.ค. 2564 โดยพบว่า เมื่อวันที่ 26 ม.ค. ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบเรื่องสิทธิในการใช้จ่ายผ่านโครงการ เราชนะ ให้ครอบคลุมถึงค่าใช้บริการขนส่งสาธารณะ อาทิ ค่าบริการรถไฟในเขตเมือง รถไฟ เรือ รวมถึงขนส่งสาธารณะทุกประเภท ยกเว้นทางอากาศ หรือเครื่องบินเท่านั้น
สำหรับขั้นตอนการใช้สิทธิ “โครงการเราชนะ” กับระบบขนส่งสาธารณะต่างๆ จะต้องมีวงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ผ่าน G-Wallet โดยสรุปมีดังนี้ (ข้อมูล ณ วันที่ 4 ก.พ. 2564)
รถประจำทาง ขสมก.
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรุ่นแรก (เวอร์ชัน 2.0), บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (เวอร์ชัน 2.5) และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเวอร์ชัน 4.0 เฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ พระนครศรีอยุธยา สามารถใช้วงเงินค่าโดยสารรถเมล์ หรือรถไฟฟ้า 500 บาท ชำระค่าโดยสารได้อยู่แล้ว
ผู้รับสิทธิแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” : นำวงเงินจากแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สแกนซื้อบัตรโดยสารล่วงหน้าอิเล็กทรอนิกส์ทุกประเภท ได้ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.- 31 พ.ค. 2564 ที่จุดจำหน่ายที่มีสัญลักษณ์ “เราชนะ” กว่า 30 แห่ง โดยได้ยกเว้นค่าธรรมเนียมออกบัตร 30 บาท แล้วนำบัตรไปใช้ชำระค่าบริการโดยแตะที่เครื่อง EDC ของพนักงานเก็บค่าโดยสาร ปัจจุบันราคาจำหน่ายตั๋วล่วงหน้า รถธรรมดารายสัปดาห์ 120 บาท รายเดือน 480 บาท รถปรับอากาศรายสัปดาห์ 255 บาท รายเดือน 1,020 บาท
สำหรับจุดจำหน่ายบัตรโดยสารโครงการเราชนะ ประกอบด้วย อู่บางเขน ถนนพหลโยธิน, จุดจอดรถโดยสารแอร์พอร์ตบัส ท่าอากาศยานดอนเมือง และบีทีเอสจตุจักร, ป้ายหยุดรถโดยสารประจำทาง อนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ (เกาะพหลโยธิน ท่ารถสาย 63 และ 522, ฝั่งเกาะดินแดง ฝั่งเกาะพญาไท และฝั่งเกาะราชวิถี ท่ารถสาย 515) เดอะมอลล์บางกะปิ, เพชรรามา (เก่า), วัดไตรสามัคคี (ตรงข้ามช้างเอราวัณ), ตลาดสำโรง, บีทีเอสอุดมสุข (ฝั่งตลาดอุดมสุข), หน้าอู่สายลวดเก่า, ตลาดปากน้ำ
บีทีเอสแบริ่ง (ขาออก), แยกบางนา (ขาเข้า), บีทีเอสอ่อนนุช (หน้าโลตัส), ตลาดเอี่ยมสมบัติ, แยกเทพารักษ์ (ถนนศรีนครินทร์ ขาเข้าสมุทรปราการ), บิ๊กซีราชดำริ, ห้างเมโทร (เก่า), แยกประตูน้ำ (หน้าโรงแรมอินทรา), กรมศุลกากร (หน้าการท่าเรือฯ), การเคหะธนบุรี, หน้าเซ็นทรัลพระราม 2, วัดสน (ขาเข้า), กม.9 (ก่อนขึ้นทางด่วน), ตลาดบางปะกอก, เชิงสะพานพระปิ่นเปล่า ฝั่งธนบุรี (ขาเข้า), หน้าเดอะมอลล์บางแค, หน้าพาต้าปิ่นเกล้า, รพ.เกษมราษฎร์ (บางแค), อู่บัวทองเคหะ, หน้าห้างพันธุ์ทิพย์ งามวงศ์วาน, หน้ากองสลาก (เก่า), หน้าห้างเซ็นทรัลเวสต์เกต, อู่หมอชิต 2 (จุดจอดรับ-ส่งผู้โดยสาร)
รถไฟฟ้าบีทีเอส
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้รับสิทธิแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ใช้ได้เฉพาะการซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียว (Single Journey Card) สามารถติดต่อขอรับสิทธิโดยนำบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแอปพลิเคชันเป๋าตัง ไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อออกบัตรโดยสาร ได้ที่ห้องจำหน่ายตั๋วทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.- 31 พ.ค. 2564
อนึ่ง ไม่สามารถใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแอปพลิเคชันเป๋าตังที่ได้รับออกบัตร เติมเงิน หรือเติมเที่ยวเดินทางลงในบัตรแรบบิทได้ ใช้ได้เฉพาะการซื้อบัตรโดยสารเที่ยวเดียวเท่านั้น
รถไฟฟ้า MRT สายสีน้ำเงิน และสายสีม่วง
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ : บัตรสวัสดิการแห่งรัฐรุ่นแรก (เวอร์ชัน 2.0), บัตรสวัสดิการแห่งรัฐที่ลงทะเบียนกับการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) (เวอร์ชัน 2.5) และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเวอร์ชัน 4.0 เฉพาะผู้ที่มีภูมิลำเนาในกรุงเทพฯ นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร นครปฐม และ พระนครศรีอยุธยา สามารถใช้วงเงินค่าโดยสารรถเมล์หรือรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน ชำระค่าโดยสารได้อยู่แล้ว
แต่ถ้าต้องการใช้สิทธิเราชนะ จากวงเงินที่ได้รับ 650-700 บาทต่อสัปดาห์ สามารถใช้สิทธิได้ที่ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 5 ก.พ.- 31 พ.ค. 2564
ผู้รับสิทธิแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” : สามารถใช้สิทธิโครงการเราชนะกับรถไฟฟ้า MRT ระหว่างเวลา 06.00-23.00 น. ที่ห้องออกบัตรโดยสารทุกสถานี ตั้งแต่วันที่ 18 ก.พ.- 31 พ.ค. 2564
อนึ่ง ไม่สามารถใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแอปพลิเคชันเป๋าตังที่ได้รับ ออกบัตร หรือเติมเงินลงในบัตร MRT Card หรือ MRT Plus ได้ โดยจะได้รับเหรียญโดยสารประเภทบุคคลทั่วไป ไม่สามารถเปลี่ยนหรือคืนได้ทุกกรณี
รถไฟฟ้าแอร์พอร์ต เรล ลิงก์
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้รับสิทธิแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ใช้ได้เฉพาะการซื้อเหรียญโดยสาร โดยแสดงบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแอปพลิเคชันเป๋าตัง ไปติดต่อเจ้าหน้าที่เพื่อออกเหรียญโดยสาร (แบบเที่ยวเดียว) ที่ห้องจำหน่ายตั๋วโดยสารทุกสถานี ตั้งแต่เวลา 06.00-23.00 น.
โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถเลือกใช้เงินวงเงินค่าโดยสารรถเมล์หรือรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน หรือวงเงินจากโครงการเราชนะ 675-700 บาทต่อสัปดาห์ โครงการใดโครงการหนึ่งได้เพียงโครงการเดียวเท่านั้น
อนึ่ง ไม่สามารถใช้วงเงินในบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือแอปพลิเคชันเป๋าตังที่ได้รับ ออกบัตร หรือเติมเงินลงในบัตรโดยสารประเภท Smart Pass ได้ หากผู้โดยสารออกเหรียญโดยสารแล้ว ไม่สามารถคืนเหรียญโดยสารได้ทุกกรณี
รถโดยสาร บขส.
ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และผู้รับสิทธิแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” สามารถชำระค่าโดยสารผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” และบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ได้ที่ช่องจำหน่ายตั๋ว สถานีขนส่งผู้โดยสารกรุงเทพ สถานีเดินรถและจุดจอดรถโดยสาร บขส.ทั่วประเทศ (ยกเว้นซื้อตั๋วผ่านระบบออนไลน์ และเคาน์เตอร์เซอร์วิส) ตั้งแต่ 5 ก.พ. ถึง 31 พ.ค. 2564
โดยผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ สามารถใช้เงินวงเงินค่าโดยสารรถเมล์ บขส. 500 บาทต่อเดือน และวงเงินจากโครงการเราชนะ 675-700 บาทต่อสัปดาห์ ได้พร้อมกันทั้ง 2 สิทธิ์ แต่ต้องแจ้งพนักงานจำหน่ายตั๋วก่อนซื้อตั๋วโดยสาร แต่เมื่อออกบัตรโดยสารเรียบร้อยแล้วจะไม่สามารถขอคืนตั๋ว หรือแลกเป็นเงินสดได้ แต่สามารถเลื่อนการเดินทางได้ ตามเงื่อนไขที่กำหนด