ย้อนรอยหนึ่งในขุนพลเครือมติชน “ฐากูร บุนปาน” กับชีวิตการทำงานตลอด 37 ปีที่ผ่านมา แบบครบทุกรส บุกเบิกหนังสือพิมพ์ข่าวสด กลายเป็นเบอร์ 3 บนแผงหนังสือ ไปถึงการปรับตัวยุคดิจิทัลดิสรัปชัน เจอคดีทุกยุคทุกสมัย ดังนักรบไร้เหรียญตรา
รายงาน
นับเป็นอีกหนึ่งความสูญเสียในแวดวงสื่อมวลชน เมื่อ “ฐากูร บุนปาน”รองประธานคณะกรรมการเครือมติชน เสียชีวิตเมื่อเวลา 13.55 น. ของวันที่ 12 มกราคม 2564 หลังจากล้มป่วยด้วยโรคมะเร็งตั้งแต่ปี 2562 ที่ผ่านมา รวมอายุได้ 59 ปี
ก่อนหน้านี้ คอลัมน์ “ของดีมีอยู่” ซึ่งเป็นคอลัมน์ประจำฐากูร ในนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ ตีพิมพ์เป็นครั้งสุดท้ายในฉบับที่ 2100 ปีที่ 41 เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2563 ที่ผ่านมา ก่อนที่จะหายไปจากหน้ากระดาษ แทนที่ด้วยคอลัมน์กวีกระวาดมาแทน
เว็บไซต์มติชนออนไลน์ ระบุว่า ฐากูรป่วยเป็นมะเร็งตั้งแต่ปี 2562 โดยไม่มีสัญญาณเตือนใดๆ ที่เด่นชัดมาก่อน ลาออกจากตำแหน่งกรรมการผู้จัดการเพื่อรักษาตัว แต่ก็ยังมาทำงานที่อาคารมติชน สลับกับเข้ารับการรักษาโรคมะเร็ง
อาการป่วยของฐากูรได้ทรุดลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2563 เข้ารับการรักษาที่โรงพยาบาลวิชัยยุทธ แต่ก็ยังคงมีสติ สามารถพูดคุยได้ตลอดเวลา มีอารมณ์ขัน และตัดสินใจเรื่องการรักษาอาการป่วยร่วมกับครอบครัว
ไม่มีสัญญาณมาก่อนว่า ฐากูรจะจากไปเร็วขนาดนี้
ฐากูรถือเป็นหนึ่งในผู้บริหารเครือมติชน ที่ขับเคลื่อนองค์กรท่ามกลางพายุของดิจิทัลดิสรัปชัน ที่ถาโถมเข้ามายังธุรกิจสื่อ เมื่อราว 3-4 ปีก่อน เครือมติชนตัดสินใจยุบแผนกการพิมพ์และสายส่ง เพื่อหันไปรุกธุรกิจสื่อออนไลน์อย่างเต็มตัว
หนังสือพิมพ์มติชน ข่าวสด และสื่อสิ่งพิมพ์ในเครือ ปัจจุบันเครือมติชนเลือกใช้บริการ “เครือสยามสปอร์ต” ของเจ้าพ่อสื่อกีฬา “ระวิ โหลทอง”ตั้งแต่งานพิมพ์ยันสายส่ง ส่วนโรงพิมพ์มติชนปากเกร็ดได้เปิดให้เช่าโกดังเก็บของแทน
ปัจจุบัน เครือมติชนมีธุรกิจหลักอยู่ 4 ประเภท ได้แก่ หนังสือพิมพ์และนิตยสาร, สื่ออิเล็กทรอนิกส์และนิวมีเดีย, สถาบันอบรมวิชาชีพและการรับจ้างพิมพ์ และ รับจ้างจัดงาน (อีเวนต์)
ครั้งหนึ่ง ฐากูรกล่าวกับ เว็บไซต์วอยซ์ทีวี ระบุว่า เป็นความโชคดีที่เครือมติชนไม่ได้เข้าร่วมประมูลทีวีดิจิทัล ทำให้ทุ่มความสนใจไปที่สื่อออนไลน์มากขึ้น อีกทั้งหลายปีที่ผ่านมา มีข้อเท็จจริงยืนยันว่า “สิ่งพิมพ์ไปไม่ไหวแล้ว”
ฐากูร เปิดเผยว่า จากที่เคยขายหนังสือพิมพ์ทุกหัวในเครือ รวมกันวันละ 2.2 ล้านฉบับ วันนี้เหลือเพียง 1.1 ล้านฉบับ แต่ต้นทุนเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า เพราะยังต้องส่งหนังสือพิมพ์ 1,000 จุดทั่วประเทศ ต้องใช้รถ ใช้น้ำมัน ใช้คนขับเท่าเดิม
ตำแหน่งทางธุรกิจของมติชนตอนนี้ คือ ต้องเป็น “คอนเทนต์ โพรไวเดอร์” เพราะทรัพย์สินที่มีค่าที่สุดของสื่อคือเนื้อหา
ในช่วงที่มติชนประสบภาวะขาดทุน ฐากูรตัดสินใจล้างบ้านด้วยการปรับโครงสร้างองค์กร คุมรายจ่าย เพิ่มรายได้ โดยการเลิกกิจการโรงพิมพ์และขนส่ง และเพิ่มความสามารถในการหารายได้จากดิจิทัล
แม้รายได้จากการขายหนังสือ โฆษณาสื่อสิ่งพิมพ์ลดลงมา แต่รายได้ที่เพิ่มขึ้นอย่างเห็นได้ชัด คือ “กิจกรรมพิเศษ” เช่น อีเวนต์ สัมมนา เพราะเป็นการทำธุรกิจออนไลน์ควบคู่ออฟไลน์ จากคลิปที่มีผู้เข้าชม และรายได้จากโฆษณาดิจิทัล
เส้นทางชีวิตของฐากูร มีศักดิ์เป็นหลานชายของ “ขรรค์ชัย บุนปาน” ผู้ก่อตั้งเครือมติชน มีครบทุกรสชาติ
เรียนที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ประสานมิตร และเป็นศิษย์เก่าสวนกุหลาบวิทยาลัย รุ่น 97 ก่อนจะจบการศึกษาปริญญาตรี รัฐศาสตรบัณฑิต สาขาความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
นอกจากนี้ ยังผ่านการอบรมการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูงด้านวิทยาการพลังงาน สถาบันวิทยาการพลังงาน รุ่นที่ 1 (วพน.1) อบรมหลักสูตรนักบริหารระดับสูงด้านการพัฒนาธุรกิจอุตสาหกรรมและการลงทุนสถาบันวิทยาการธุรกิจและอุตสาหกรรม รุ่นที่ 1 และอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับสูง สถาบันวิทยาการตลาดทุน รุ่นที่ 18 (วตท.18) อีกด้วย
เริ่มต้นทำงานกับเครือมติชนตั้งแต่ปี 2527 หรือเมื่อ 37 ปีก่อน ในตำแหน่งผู้สื่อข่าวมติชน ก่อนจะย้ายไปเป็นผู้สื่อข่าวสายการเงิน หนังสือพิมพ์ธุรกิจราย 3 วัน “ประชาชาติธุรกิจ” และขยับเป็นหัวหน้าข่าว กองบรรณาธิการประชาชาติธุรกิจในเวลาต่อมา
เมื่อเครือมติชนปรับเปลี่ยนหัวหนังสือกีฬาเดิมของเครือรวมเข้าด้วยกันเป็น “ข่าวสด-สปอร์ตนิวส์”ในปี 2533 ฐากูรได้ย้ายมาเป็นหัวหน้าข่าวภูมิภาค หนังสือพิมพ์ข่าวสด-สปอร์ตนิวส์
9 เมษายน 2534 ข่าวสด-สปอร์ตนิวส์ เปลี่ยนชื่อหนังสือพิมพ์เป็น “ข่าวสด” พร้อมทั้งเปลี่ยนกองบรรณาธิการยกชุด ฐากูรได้เข้ามาเป็นบรรณาธิการบริหาร (บก.บห.) สร้างชื่อเสียงด้วยข่าวอุ้มฆ่า 2 แม่ลูกศรีธนะขัณฑ์ และการเปิดโปงอดีตพระยันตระ
กลายมาเป็นหนังสือพิมพ์ที่มียอดขายอันดับ 3 รองจาก “ไทยรัฐ-เดลินิวส์” ในเวลาไม่นานนัก แม้ภายหลังเครือเนชั่นยุค “สุทธิชัย หยุ่น” จะออกหนังสือพิมพ์ “คมชัดลึก”เมื่อวันที่ 16 ตุลาคม 2544 และมียอดขายอันดับ 3 แซงหน้าข่าวสดก็ตาม
ต่อมาเปลี่ยนบทบาทเป็นบรรณาธิการ หนังสือพิมพ์ข่าวสด ในปี 2547-2553 ก่อนที่จะมาเป็นผู้จัดการทั่วไป บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) เมื่อเดือนพฤษภาคม 2553 ภายหลังควบตำแหน่งบรรณาธิการที่ปรึกษา หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจและข่าวสด
กระทั่งวันที่ 9 มกราคม 2557 ก้าวเข้ามาเป็นบรรณาธิการอำนวยการเครือมติชน เมื่อ นายปิยะชาติ มงคลไชยสิทธิ์ กรรมการผู้จัดการ มีปัญหาสุขภาพ จึงเข้ามารับหน้าที่เป็นกรรมการผู้จัดการเครือมติชน เมื่อวันที่ 1 พฤษภาคม 2557
9 มกราคม 2563 ฐากูรเป็นรองประธานกรรมการเครือมติชน เนื่องจากปัญหาสุขภาพ โดยมี ปานบัว บุนปาน บุตรสาว นายขรรค์ชัย เป็นกรรมการผู้จัดการ ซึ่งย้ายมาจากรองกรรมการผู้จัดการสายการตลาดและการบริหารจัดการงานบุคคล
อีกบทบาทหนึ่ง ฐากูรเขียนคอลัมน์วิจารณ์เหตุบ้านการเมือง “สถานีคิดเลขที่ 12”หนังสือพิมพ์มติชนมาอย่างยาวนาน ก่อนที่จะเขียนคอลัมน์ “ของดีมีอยู่” ให้กับนิตยสารมติชนสุดสัปดาห์ แทน ขรรค์ชัย บุนปาน เมื่อวันที่ 6 กรกฎาคม 2555 เป็นต้นมา
นอกจากนี้ ยังมีงานเขียนคอลัมน์ “สวรรค์ในครัว”เกี่ยวกับอาหารการกิน ใช้นามปากกา “เขียง มะขาม” ลงในหนังสือพิมพ์ข่าวสด ซึ่งชื่อนามปากกามาจาก “เขียงเนื้อไม้มะขาม”ที่ถือว่าเป็นเขียงที่ดีที่สุดในการทำกับข้าว ก่อนที่จะนำมารวมเล่ม
รวมทั้งคอลัมน์ในมติชน “สิงโต สะออน”เป็นกลอนที่วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองไทย คอลัมน์ “ย่ำไปในดงเพลง” นามปากกา “เขบ็ดหัวโต”วิพากษ์วิจารณ์สังคมและการเมืองผ่านเพลงสากลและเพลงไทย งานเขียนเชิงวิเคราะห์ในหนังสือพิมพ์มติชน และเขียนบทบรรณาธิการให้กับสื่อในเครือ
อย่างไรก็ตาม เส้นทางชีวิตการเป็นสื่อมวลชนของฐากูรไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ เฉกเช่นคนทำสื่อคนอื่นๆ เปรียบเหมือนกับ “นักรบไร้เหรียญตรา” ที่ครั้งหนึ่งเคยตรวจสอบการทำงานของอำนาจรัฐและเอกชนอย่างเข้มข้น
หนังสือพิมพ์ข่าวสดยุคที่ฐากูรบุกเบิก วิพากษ์วิจารณ์การปฏิบัติหน้าที่ของตำรวจอย่างดุเดือด โดยเฉพาะการแต่งตั้งโยกย้ายตำรวจระดับนายพล จัดสรรตำแหน่งไม่ลงตัว และโจมตีตำรวจรับเงินสินบนยาเสพติด รับเงินเจ้าแม่ยาบ้า
ครั้งหนึ่งเคยถูกนายตำรวจใหญ่ฟ้องหมิ่นประมาท ฐานนำเสนอข่าวว่า นายตำรวจรายนี้ปล่อยเงินกู้ดอกเบี้ยโหด และมีสัมพันธ์ลึกซึ้งกับกะเทยรุ่นใหญ่
เคยถูกคนร้ายขว้างระเบิดใส่สำนักงาน ลามมาถึงหนังสือพิมพ์มติชน ถูกคนร้ายขว้างระเบิดใส่รถยนต์ รวมทั้งวางระเบิดใส่บ้านพัก สุริวงศ์ เอื้อปฏิภาณ บรรณาธิการข่าวขณะนั้น และขว้างระเบิดใส่บ้านเสฐียรพงษ์ วรรณปก คอลัมนิสต์ด้านศาสนาและปรัชญา
ปี 2548 กลุ่มจีเอ็มเอ็ม แกรมมี่ นำโดย “อากู๋” ไพบูลย์ ดำรงชัยธรรมพยายามเข้าเทกโอเวอร์เครือมติชน ด้วยการถือหุ้น 32.23% เกิดกระแสสังคมต่อต้าน สุดท้ายแกรมมี่ตัดสินใจยอมคืนหุ้นให้มติชนเหลือแค่ 20% ในเวลาต่อมา
หรือจะเป็นกรณี ทักษิณ ชินวัตร รักษาการนายกรัฐมนตรี ฟ้องหมิ่นประมาทพรรคประชาธิปัตย์ บรรณาธิการหนังสือพิมพ์ 3 ฉบับ ได้แก่ มติชน ข่าวสด และเดลินิวส์ พร้อมเรียกค่าเสียหายถึง 800 ล้านบาท เมื่อปี 2549 แต่ศาลก็ยกฟ้อง
ในช่วงการชุมนุมของ พันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตยเมื่อปี 2551 หนังสือพิมพ์ข่าวสดที่มีฐากูรเป็นบรรณาธิการ เคยถูกผู้ชุมนุมฟ้อง ร่วมกับ พล.ต.ต.สุรพล ทวนทองรองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (ขณะนั้น) ที่กล่าวหาว่าผู้ชุมนุมพกระเบิดมาเอง
คดีนี้ศาลได้ไกล่เกลี่ยประนอมข้อพิพาท กระทั่ง พล.ต.ต.สุรพล ยอมรับเองว่าให้ข่าวไปตามภาพที่สื่อมวลชนนำมาให้ แต่เมื่อปรากฏข้อเท็จจริงจากแพทย์ที่รักษาผู้ชุมนุมว่าเป็นเพียง “พวงกุญแจหนัง”จึงเสียใจและขอโทษ ผู้ชุมนุมจึงถอนฟ้องในที่สุด
นอกจากนี้ ยังมีกรณีที่หนังสือพิมพ์ข่าวสดถูกฟ้องหมิ่นประมาทในหลายคดี เช่น คดีหมอประกิตเผ่า หรือจะเป็นคดีหมิ่นประมาทนักการเมืองรายหนึ่ง เผยแพร่คลิปลับส่วนตัวลงหนังสือพิมพ์ เมื่อปี 2552 ศาลสั่งจำคุกฐากูร 2 ปี และปรับข่าวสด 2 แสนบาท
ปี 2563 คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติเอกฉันท์ชี้มูลความผิดอดีตนายกรัฐมนตรี ยิ่งลักษณ์ ชินวัตรสื่อค่ายมติชนและสยามสปอร์ต กล่าวหาฮั้วประมูลงานจัดอีเวนต์โครงการสร้างอนาคตไทย 2020 โดยมิชอบ
ขณะนี้ ป.ป.ช.ส่งเรื่องไปยังอัยการสูงสุด เพื่อฟ้องคดีต่อศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง
ฐากูร ยืนยันว่า การจัดอีเวนต์เป็นไปโดยบริสุทธิ์ ถูกต้องตามกฎหมาย และระเบียบราชการทุกอย่าง รวมทั้งขอสงวนสิทธิ์ในทางกฎหมาย ที่จะปกป้องชื่อเสียงเกียรติภูมิของตนเองด้วย
ปิดฉากชีวิตหนึ่งในขุนพลเครือมติชน ที่มีครบทุกรสชาติ เหลือไว้เพียงองค์กรให้คนรุ่นหลังอย่าง “ปานบัว” บุตรสาวขรรค์ชัยได้ขับเคลื่อน และตำนานในอดีตบนกฤตภาคข่าว ที่คนทำสื่อทั้งรุ่นเก่าและรุ่นใหม่ที่สนใจได้ศึกษาและนึกถึง