ที่ปรึกษา ศบค.เอือมสื่อมวลชน-คนใจต่ำโจมตี “หมอทวีศิลป์” ไม่เป็นธรรม กี่ครั้งแล้วต้องขอโทษความผิดพลาดที่ไม่ได้ก่อ ชี้ไม่มีใครอยากให้เกิด แต่ธรรมชาติมนุษย์ต้องการคนรับผิด ถามสื่อชอบขยี้ทัวร์ลงไปกี่ครั้ง ทำไมไม่คิดว่าเป็นธรรมหรือไม่ เปรียบ “สังคมจะแย่ ถ้าคนดีท้อแท้” ถือเป็นบททดสอบ ยอมให้คนดีท้อแท้ พ่ายแพ้ต่อความไม่เป็นธรรมหรือไม่
วันนี้ (9 ม.ค.) ผศ.ดร.วรัชญ์ ครุจิต ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายสื่อสารองค์การ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) และที่ปรึกษาด้านการสื่อสาร ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) โพสต์ข้อความลงในเฟซบุ๊ก Warat Karuchit ระบุว่า “ขอโพสต์เรื่องคุณหมอทวีศิลป์ อีกซักครั้งนะครับ เห็นบางคนพูดทำนองว่า คุณหมอเอาเวลาสาธารณะมาใช้พูดเรื่องส่วนตัว บางคนก็ทำตัวเป็นกูรู กูรู้ ว่าด้วยเรื่องหลักการเป็นโฆษกที่ดี ต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้
ขอโทษนะครับ ผมไม่แน่ใจว่าถ้าคุณมาอยู่ตรงนี้จะทำหน้าที่ได้อย่างนี้ นานขนาดนี้มั้ย
เรื่องที่คุณหมอพูด อาจจะเป็นเรื่องที่เกิดขึ้นกับคุณหมอ แต่ไม่ได้เป็นเรื่องของนายทวีศิลป์ในฐานะประชาชน หรือแม้แต่เรื่องของคุณหมอในฐานะจิตแพทย์สังกัดกระทรวงสาธารณสุข แต่เป็นเรื่องของโฆษก ศบค. ที่เป็นเป้าให้ผู้จิตต่ำเข้ามาบูลลี่ ด่าอย่างหยาบคาย เปิดเผยข้อมูลส่วนตัว คุกคามทางครอบครัว ต่อเนื่องซ้ำๆ มาเป็นปี และมีแม้กระทั่งโพสต์เชิงข่มขู่ถึงเอาชีวิต สิ่งที่คุณหมอพูด เป็นการใช้สิทธิการเป็นบุคคลสาธารณะ ชี้แจงประเด็นต่างๆ ต่อสาธารณะ ที่มีผู้ใส่ร้ายให้เกิดความเกลียดชัง ผมขอถามว่า ความเชื่อมั่นของสาธารณะต่อโฆษก ศบค. มีผลต่อการดำเนินมาตรการป้องกันโรคมั้ยครับ ที่ผ่านมาใครทำหน้าที่แจ้งข่าวสารให้ประชาชน จนเกิดการร่วมแรงร่วมใจสู้กับโควิดจนเราเอาชนะมาในรอบแรกได้ แบบนี้ยังคิดว่าเรื่องของโฆษก เป็นเรื่องส่วนตัวอีกมั้ยครับ?
คุณหมอทำหน้าที่แทบทุกวันมาเป็นปีแล้ว เสียงชื่นชมก็มาก แต่โดนด่าอย่างไม่เป็นธรรมก็มากเช่นกัน
ผมเห็นหลายคอมเมนต์พูดทำนองว่า คนเรามีผิดพลาดได้ และคุณหมอก็ยอมรับครับว่าการทำงานอาจมีผิดพลาดบ้าง แต่ท่านไม่ทราบหรอกครับ ว่ามีกี่ครั้งที่คุณหมอต้องยอมรับ ยอมขอโทษต่อ “ความผิดพลาด” ที่ไม่ได้มาจากตัวเอง ซึ่งบางครั้งก็ไม่ได้มีใครผิด ทุกคนไม่มีใครอยากให้เกิด แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤต แต่ธรรมชาติมนุษย์ในสังคมต้องการคนรับผิด แล้วหนึ่งในคนที่ต้องรับมาก็คือโฆษก ผมเชื่อว่า ถ้าคุณหมอไม่ได้เป็นจิตแพทย์ คงถอดใจไปนานแล้ว ด้วยความกดดันที่มหาศาลนี้ ทั้งกับตัวเอง และโดยเฉพาะกับครอบครัว
แทนที่คนและสื่อจะมาย้อนรอยเชิงตำหนิว่า คุณหมอพูดแล้ว “ทัวร์ลง” ไปกี่ครั้ง ทำไมไม่คิดว่า คุณหมอผ่าน “ทัวร์ลง” ต่างๆ มาได้อย่างไร และทัวร์ลงแต่ละครั้งนั้นเป็นธรรมกับคุณหมอในฐานะโฆษกหรือไม่
ในรอบแรกนั้น คนส่วนใหญ่ยังยอมฟังคุณหมอ สื่อส่วนใหญ่มองประโยชน์ประเทศชาติร่วมกัน ไม่พยายามสร้างดราม่า แต่พอสถานการณ์ดีขึ้น เริ่มมีปัจจัยต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นด้วยความหมั่นไส้ หรือความโกรธจากการที่โควิดกลับมา หรือเรื่องการเมืองก็ตาม ทำให้คุณหมอกลายเป็นเหยื่อที่ทั้งฝ่ายตรงข้ามจ้องจับผิด สื่อบางสำนักก็กลับไปสู่นิสัยเดิมที่ยุแหย่ ใส่ไฟ บิดเบือน ล่อเป้าให้คนมาบูลลี่ แบบนี้ถ้าเป็นท่านกูรูทั้งหลาย จะท้อมั้ยครับ
โพสต์นี้ไม่ได้อยากเขียนเพื่อมาอวยคุณหมออะไรทั้งนั้น คุณหมอไม่ได้เป็นเจ้านายผม ถ้าโควิดจบแล้วเราก็แยกย้ายกันไปทำงานของตัวเอง (ซึ่งเราทุกคนต่างก็อยากให้จบหน้าที่นี้ให้เร็วที่สุดทั้งสิ้น ไม่ได้อยากจะอยู่ตรงนี้นานๆ) ผมจึงไม่มีเหตุผลที่จะต้องมายกยอปอปั้น เอาใจคุณหมอ แต่ที่ต้องเขียนโพสต์นี้ ก็เพราะความรู้สึกที่ทนไม่ได้กับความไม่เป็นธรรมที่เกิดขึ้น ผมทำงานกับคุณหมอมาเกือบปี ผมบอกได้เลยว่า คุณหมอไม่ใช่เป็นแค่คนเก่ง แต่ที่สำคัญเป็น “คนดี” ที่สุดที่ผมรู้จักคนหนึ่ง และผมไม่อยากใช้คำว่าคนดีแบบเกร่อทั่วไป แต่คุณหมอเป็นข้าราชการที่สำนึกในพระมหากรุณาธิคุณอยู่เสมอ ถ่อมตน ซื่อตรง ห่วงใย คิดถึงความรู้สึกคนอื่นเสมอ (แน่นอนล่ะ ก็เป็นจิตแพทย์) และคุณหมออยู่ในกระแสสังคมมาเป็นปีแล้ว เคยได้ยินใครมาแฉเรื่องไม่ดีอะไรของคุณหมอบ้างมั้ย และผมบอกได้เลย คนอย่างพี่หมอไม่มีความทะเยอทะยานเล่นการเมืองใดๆ ทั้งสิ้น เรื่องแบบนี้ถ้ามีแวว เห็นแป๊บเดียวก็รู้ พี่หมอมีโอกาสสร้างซีน เอาดีเข้าตัว ทำตัวให้ดังได้ตลอดเวลา แต่ทั้งปีที่ผมเห็นแทบทุกวัน ไม่เคยมีแบบนี้เลย วันๆ พี่หมอก็ประชุม ประชุม ประชุม แถลงข่าว แล้วเราก็มากินข้าวกล่องธรรมดาๆ ด้วยกันเท่าที่วันนั้นจะมีอะไรให้เรากิน แล้วพี่หมอก็กลับไปทำงานต่อที่กระทรวง เป็นอย่างนี้ทุกวัน ไม่เคยให้สัมภาษณ์สื่อใดๆ (พี่หมอบอกทีมงานทุกคนว่าขอให้ปฏิเสธทุกกรณี) ไม่เคยใช้ความดังของตัวเองไปหาประโยชน์ ไปขายของ หารายได้ หรือประโยชน์ส่วนตัวใดๆ เลย (ดังนั้นจึงสามารถจะขอถอนตัวได้โดยไม่เสียดายใดๆ)
และอย่างที่ผมเคยโพสต์ไปนานแล้ว ทีม ศบค.ไม่มีงบประมาณอะไรเพิ่มเติมเลย ไม่มีเบี้ยประชุม ไม่มีสวัสดิการพิเศษ มีแค่ข้าวกล่องในแต่ละวันเท่านั้น (ซึ่งบางวันเราก็ซื้อกันเอง) ผมยืนยันอย่างคนที่รู้ข้อมูลจริงว่าคุณหมอไม่ได้วิ่งเต้นใช้เส้นสายขอตำแหน่งโฆษก ศบค.มา
สุดท้ายแล้ว ประเด็นของโพสต์นี้คงจะกลับมาที่ประโยคที่ว่า “สังคมจะแย่ ถ้าคนดีท้อแท้” เพราะนั่นแปลว่า คนทำดีแล้วรู้สึกว่าตนเองทำดีแล้วไม่ได้ดี คุณหมอรู้ครับว่ามีคนให้กำลังใจมาก แต่แน่นอนว่าการถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรมซ้ำๆ ไม่ว่าจะจิตแข็งแค่ไหน ก็ย่อมทำให้ต้องกลับมาตั้งคำถามว่า เราทำอย่างนี้ทุกวันไปเพื่ออะไร (และพี่หมอเองก็มีหน้าที่ของตัวเองที่ต้องรับผิดชอบในฐานะผู้ตรวจราชการของกระทรวงด้วย) และนั่นก็คือเหตุผลที่ผมตั้งโพสต์ขอให้ช่วยให้เหตุผลต่อคุณหมอ ให้ตอกย้ำสิ่งที่พี่หมออาจจะตั้งคำถามกับตัวเอง หรืออาจจะมีเหตุผลที่พี่หมอคิดไม่ถึงจากมุมของคนภายนอกก็ได้
ดังนั้น กลับมาที่ประเด็นเริ่มต้นว่า คนที่มองว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่คุณหมอเอาเรื่องส่วนตัวมาขอความเห็นใจ นั้นคงเป็นคนที่ขาด empathy ในการคิดถึงจิตใจผู้อื่น เพราะเรื่องนี้เกี่ยวข้องและมีผลกระทบกับเราทุกคน
จริงๆ การที่คุณหมอจะทำหน้าที่นี้ต่อไปหรือไม่ อาจจะไม่ใช่ประเด็นสำคัญที่สุด สำหรับผม ประเด็นไม่ได้อยู่ที่คุณหมอเป็นคนที่เหมาะสมที่สุดสำหรับตำแหน่งนี้หรือไม่ด้วยซ้ำ แต่ประเด็นที่สำคัญที่สุดสำหรับผมก็คือ นี่เป็นกรณีตัวอย่างที่เป็นบททดสอบที่ชัดเจน ว่าสังคมไทยในยุคนี้ จะเป็นสังคมที่จะยอมให้คนดีท้อแท้และพ่ายแพ้ต่อการกระทำที่ไม่เป็นธรรมหรือไม่? และถ้าเราไม่ยอม เราจะทำอย่างไร? ทั้งในฐานะประชาชน และ/หรือสื่อมวลชน?”