ติ๊กตอก (TikTok) แพลตฟอร์มวิดีโอสั้นดาวรุ่งย้ำ 7 ฟีเจอร์ที่ช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครอง สามารถดูแลการใช้แพลตฟอร์มของบุตรหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ การันตี 7 ข้อนี้จะช่วยให้อุ่นใจทุกเมื่อที่บุตรหลานมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ถือเป็น 7 ด้านเบื้องต้นที่พ่อแม่ผู้ปกครองควรทำความเข้าใจในยุคดิจิทัล
TikTok มองว่าท่ามกลางโลกและสังคมในปัจจุบัน ปฏิเสธไม่ได้ว่าหนึ่งในสิ่งท้าทายของพ่อแม่และผู้ปกครองในยุคนี้ คือ การทำความเข้าใจและเท่าทันกับกระแสดิจิทัลที่กำลังมาแรง ซึ่งหนึ่งในบุคคลใกล้ชิดที่มีส่วนเกี่ยวข้องและได้รับผลกระทบก็คือ “เด็กและเยาวชน” ซึ่งเราต่างต้องยอมรับความจริงว่าเราไม่สามารถหลีกเลี่ยงการใช้งานดิจิทัลของเด็กได้ และสืบเนื่องจากสถานการณ์ COVID-19 ในปัจจุบัน ส่งผลให้ดิจิทัลได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันของผู้คนร่วมถึงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
“ในมุมที่เป็นประโยชน์ดิจิทัลได้เข้ามาเปิดโลกและสร้างโอกาสแห่งความเท่าเทียมในการเข้าถึงแหล่งความรู้และข้อมูลมหาศาลให้แก่เด็กยุคใหม่ แต่ในทางกลับกันดิจิทัลก็มาพร้อมภัยที่คาดไม่ถึง และอาจจะรุนแรงเกินกว่าที่เด็กและเยาวชนจะรับมือ” แถลงการณ์ระบุ
TikTok ยกตัวอย่างเด็กไทยยุคใหม่ที่เกิดมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัว ซึ่งถือเป็นเครื่องมือที่เข้ามาอำนวยความสะดวกในการใช้ชีวิตประจำวัน เช่น ติดต่อพูดคุยกับเพื่อน ค้นหาข้อมูลเพื่อการศึกษา การรับชมคอนเทนต์เพื่อความบันเทิง และการเรียนออนไลน์ในช่วงสถานการณ์ COVID-19 ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่สะท้อนให้เห็นว่าการสื่อสารของเด็กไทยเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว และในการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็วนั้นอาจมีภัยทางออนไลน์แอบแฝงแบบไม่รู้ตัว ต่างจากยุคของพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ไม่ได้เกิดมาพร้อมกับสิ่งอำนวยความสะดวกต่างๆ จึงขาดความเข้าใจในการใช้งานออนไลน์ที่ต่างกับเด็กยุคใหม่ และเนื่องในโอกาสวันเด็กแห่งชาติปี 2564 นี้ หนึ่งสิ่งสำคัญของเด็กไทยที่พ่อแม่ ผู้ปกครอง ควรตระหนักและให้ความสำคัญ คือ การเข้าใจพฤติกรรมการใช้งานออนไลน์ของบุตรหลาน เพื่อให้เกิดการสื่อสารที่ปลอดภัยในยุคดิจิทัล ตอบรับวันเด็กแห่งชาติปี 2564
ในฐานะแพลตฟอร์มวิดีโอสั้นที่เป็นที่นิยมในกลุ่มเด็กและเยาวชน TikTok ย้ำว่าได้พัฒนาประสบการณ์บนแพลตฟอร์มอย่างไม่หยุดนิ่งที่จะยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยบนแพลตฟอร์มเพื่อส่งเสริมสภาพแวดล้อมที่ดีให้แก่ชุมชนผู้ใช้ TikTok ควบคู่มาอย่างต่อเนื่อง ด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีและฟีเจอร์ที่หลากหลาย เพื่อเป็นเกราะป้องกันภัยจากโลกออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้น เนื่องด้วยสิ่งที่น่าเป็นกังวลสำหรับเด็กไทยยุคดิจิทัล คือ การอยู่กับหน้าจอมากเกินไปจนเกิดปัญหาด้านสุขภาพร่างกายและสุขภาพจิต ปัญหาการเสพติดหน้าจอ การได้รับชมคอนเทนต์ที่ไม่เหมาะสม และการถูกคุกคามในออนไลน์ในหลากหลายรูปแบบ ซึ่งสอดคล้องกับผลสำรวจสถานการณ์เด็กไทยกับภัยออนไลน์ปี 2563 จากศูนย์ประสานงานขับเคลื่อนส่งเสริมและปกป้องคุ้มครองเด็กและเยาวชนในการใช้สื่อออนไลน์ (COPAT) ภายใต้กรมกิจการเด็กและเยาวชน กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ ร่วมกับมูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ที่ได้ทำการสำรวจกลุ่มเด็กในช่วงอายุ 12-18 ปี ซึ่งผลการสำรวจพบหลายประเด็นที่น่าสนใจ ได้แก่ เด็ก 89% เชื่อว่าโลกออนไลน์มีภัยหรือความเสี่ยงต่างๆ 69% มีประสบการณ์ถูกกลั่นแกล้งในโลกออนไลน์ด้วยการถูกเรียกด้วยถ้อยคำที่หยาบคาย ดูหมิ่น และมีเด็ก 29% เคยนัดพบเพื่อนออนไลน์ เป็นต้น
ความปลอดภัยถือเป็นสิ่งที่ TikTok ให้ความสำคัญสูงสุดโดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับเด็กและเยาวชน และเพื่ออุดช่องโหว่จากภัยออนไลน์ที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตกับกลุ่มเด็กและเยาวชนที่เป็นผู้ใช้บนแพลตฟอร์ม TikTok ได้มุ่งส่งเสริมพัฒนามาตรฐานความปลอดภัยอย่างต่อเนื่อง ผ่านฟีเจอร์ต่างๆ ที่ช่วยให้พ่อแม่ ผู้ปกครองสามารถดูแลการใช้แพลตฟอร์มของบุตรหลานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และอุ่นใจทุกเมื่อที่บุตรหลานมีการใช้แพลตฟอร์มออนไลน์ ฟีเจอร์แรกคือ Screen Time Management หรือการจำกัดเวลาใช้บนหน้าจอ ซึ่งช่วยให้ผู้ใช้สามารถจำกัดเวลาได้ตั้งแต่ 40 นาที 60 นาที 90 นาที หรือสูงสุดที่ 120 นาทีต่อวัน
ฟีเจอร์ที่ 2 คือ Restricted Mode หรือการจำกัดเนื้อหาที่ไม่เหมาะสม โดยเมื่อเปิดใช้ TikTok จะจำกัดการแสดงเนื้อหาที่อาจไม่เหมาะสมสำหรับผู้ชมในแต่ละกลุ่ม ช่วยให้ผู้ใช้สามารถควบคุมเนื้อหาที่ต้องการรับชมได้ โดยหากต้องการรับชมเนื้อหาที่ไม่ได้ถูกกลั่นกรอง จะต้องใส่รหัสพาสเวิร์ดที่ตั้งไว้ ไม่เพียงเนื้อหา
ฟีเจอร์ที่ 3 คือ Direct Message จะจำกัดผู้คนที่จะส่งข้อความได้ โดย TikTok ได้ปิดการรับส่งข้อความสำหรับผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีเพื่อเป็นการป้องกันคนแปลกหน้าที่จะเข้ามาสื่อสารโดยตรงกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ซึ่งอาจเกิดเป็นภัยคุกคาม
ฟีเจอร์ที่ 4 คือการค้นหา (Search) ผู้ปกครองสามารถเข้าไปตั้งค่ากำหนดการค้นหาของบุตรหลานได้ ทั้งเนื้อหา ผู้ใช้ แฮ็ชแทก และเสียง
ฟีเจอร์ที่ 5 เกี่ยวกับความคิดเห็น (Comments) ผู้ปกครองสามารถเข้าไปตั้งค่าได้ว่าใครสามารถเข้ามาแสดงความคิดเห็นในวิดีโอโดยจะเลือกเปิดให้ทุกคนเข้ามาแสดงความคิดเห็น หรือเลือกเฉพาะคนที่รับเป็นเพื่อน หรืออาจจะตั้งค่าไม่ให้มีผู้เข้ามาแสดงความคิดเห็น
ฟีเจอร์ที่ 6 คือการค้นหาและดูเนื้อหาในแอ็กเคานต์ (Discoverability) ผู้ปกครองสามารถเข้าไปตั้งค่าความเป็นส่วนตัวให้แก่แอ็กเคานต์ของบุตรหลานได้ หรือกำหนดว่าใครที่สามารถเข้าถึงหรือดูเนื้อหาของบุตรหลานได้ รวมทั้งสามารถตั้งค่าเป็นสาธารณะที่เปิดให้ทุกคนสามารถค้นหาและดูเนื้อหาได้
ฟีเจอร์ที่ 7 คือวิดีโอที่ชื่นชอบ (Liked videos) ผู้ปกครองสามารถกำหนดได้ว่าใครที่จะสามารถดูวิดีโอที่บุตรหลานของคุณเข้าไปกดไลก์ หรือชื่นชอบได้
ล่าสุด TikTok ได้กำหนดบัญชีผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีให้มีสถานะเป็นส่วนตัว โดยผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีเมื่อเปิดแอ็กเคานต์บน TikTok แล้ว จะถูกตั้งค่าเป็นส่วนตัวโดยอัตโนมัติ ซึ่งหมายความว่าจะมีเพียงผู้ที่เจ้าของบัญชีอนุมัติเท่านั้นที่จะสามารถติดตามและดูเนื้อหาได้ รวมถึงวิดีโอที่สร้างโดยผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปีจะไม่สามารถดาวน์โหลดโดยผู้อื่นได้ การแสดงความคิดเห็นบนวิดีโอของผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี จะสามารถตั้งค่าโดยกำหนดให้ "เพื่อน" ที่สามารถแสดงความคิดเห็นได้ หรือเลือก "ปิดรับความคิดเห็น" และผู้ใช้ที่มีอายุต่ำกว่า 16 ปี จะไม่สามารถใช้ Duet และ Stitch ได้
“ที่ผ่านมา TikTok ให้ความสำคัญในด้านความปลอดภัยสูงสุดมาโดยตลอดทั้งในด้าน ทีมงาน นโยบาย การควบคุม และแหล่งเรียนรู้ เพื่อให้พ่อแม่ ผู้ปกครองมั่นใจได้ว่า TiKTok เป็นแพลตฟอร์มที่ปลอดภัยสำหรับเยาวชนและรู้สึกมั่นใจในทุกการใช้แพลตฟอร์มของบุตรหลาน ซึ่งเป็นเด็กไทยยุคดิจิทัลที่ปัจจุบันเติบโตมาพร้อมกับเทคโนโลยีที่อยู่รอบตัว” TikTok ทิ้งท้าย