ไทยป่วยโควิด-19 เพิ่ม 745 ราย ติดในประเทศ 152 ราย ตายอีก 1 รวม 65 ราย ศบค.เบรก 28 จังหวัดพื้นที่ควบคุมสูงสุดงดจัดงาน “วันเด็กแห่งชาติ” ชงขยาย พ.ร.ก. ฉุกเฉิน 30-45 วัน ขณะที่ “ประจวบฯ” ไม่รอดเป็นจังหวัดที่ 54 โควิดเจาะไข่แดง “หมอทวีศิลป์” แนะดึงสติป่วยกายแต่อย่าป่วยใจ
วันนี้ (4 ม.ค.) เวลา 11.30 น. ที่ทำเนียบรัฐบาล นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) หรือ ศบค. แถลงสถานการณ์ตัวเลขผู้ติดเชื้อว่า วันนี้มีผู้ติดเชื้อรายใหม่ 745 ราย ติดเชื้อในประเทศ 152 ราย ติดเชื้อในแรงงานต่างด้าว (คัดกรองเชิงรุก) 577 ราย อยู่ในสถานที่กักกันที่รัฐจัดให้ 16 ราย รวมผู้ป่วยยืนยันสะสม 8,439 ราย หายป่วยแล้ว 4,352 ราย รักษาในโรงพยาบาล 3,016 ราย เสียชีวิตเพิ่ม 1 ราย รวมเป็น 65 ราย โดยผู้เสียชีวิตรายที่ 65 เป็นชายไทย อายุ 56 ปี อาชีพรับจ้าง ภูมิลำเนา กทม. มีโรคประจำตัว เป็นความดันสูง เบาหวานและไข้มันในเลือดสูง มีประวัติเดินทางไปในพื้นที่เสี่ยงจ.สมุทรปราการ และเขตคลองเตย กทม. วันที่ 28 ธ.ค.เข้ารับการรักษาแผนกผู้ป่วยนอกโรงพยาบาลใน กทม. มีอาการไข้ ปวดกล้ามเนื้อ รับประทานอาหารไม่ได้ 30 ธ.ค.มีอาการเหนื่อยมากขึ้นมีไข้ 38.5 องศาเซลเซียส ความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดต่ำลงเหลือ 85 เปอร์เซ็นต์ ผลเอกซเรย์พบว่ามีอาการปอดอักเสบ และหัวใจล้มเหลว จึงส่งตรวจในวันที่ 1 ม.ค.พบติดเชื้อโควิด และวันที่ 2 ม.ค.มีอาการเหนื่อย หอบมากขึ้น ใส่เครื่องช่วยหายใจ และวันที่ 3 ม.ค.อาการแย่ลง ระบบทางเดินหายใจล้มเหลว และเสียชีวิตในเวลาต่อมา สำหรับสถานการณ์ทั่วโลก มียอดผู้ติดเชื้อรวม 85,502,232 ราย รักษาหายแล้ว 60,452,918 ราย และเสียชีวิตรวม 1,850,607 ราย
นพ.ทวีศิลป์กล่าวต่อว่า ในวันเดียวกันนี้มีจังหวัดที่พบผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้น 1 จังหวัด คือ ประจวบคีรีขันธ์ พบผู้ป่วย 1 ราย เป็น 54 จังหวัด โดยจังหวัดประจวบคีรีขันธ์ถือเป็นพื้นที่สีเหลือง แต่อยู่ในพื้นที่ควบคุมสูงสุดใน 28 จังหวัด สำหรับพื้นที่ควบคุม 11 จังหวัดก็ต้องให้ความร่วมมือ เพราะถือว่ามีความเสี่ยงสูง เนื่องจากอยู่ติดกับจังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสูดทำให้เกิดการกระจายเชื้อได้ง่าย ส่วนพื้นที่ที่ยังไม่ติดเชื้อต้องปรับตัวและเฝ้าระวัง
เมื่อถามว่าตัวเลขรายงานผู้ติดเชื้อในจังหวัดสมุทรสาคร 505 ราย ทำไมถึงมากขึ้นทั้งที่มีการตรวจเชิงรุกอยู่ตลอด นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า สมมติฐานที่เกิดขึ้นจากการสอบสวนโรคกลุ่มก้อนแรงงานต่างด้าวในหอพักมีความแอดอัดซึ่งเรายังคงให้อยู่ที่ตรงนั้นไม่ได้พาออกมาเนื่องจากมีจำนวนค่อนข้างมาก จึงใช้วิธีการจัดการต้องตรวจเป็นระยะ โดยกระทรวงสาธารณสุขและจังหวัดมีการวางแผนวิธีการในการสุ่มตรวจเป็นระยะ และต้องนำเรียนว่าตัวเลขที่ออกมาไม่เกินไปความคาดหมาย เนื่องจากจำนวนคนที่อาศัยมาก มีความแอดอัด และอยู่ในระยะเวลาติดเชื้อ ถ้าหาเจอแล้วก็ยังต้องเจอ คล้ายกับกรณีที่ จ.ภูเก็ต ในการระบาดรอบแรกที่ใช้วิธีการปูพรมค้นหา แยกคนติดเชื้อออกจากคนที่ไม่ติดเชื้อ แต่ตัวเลขตอนแรกจะสูงและจะค่อยๆ ลดลง เมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมาพูดคุยกับปลัดกระทรวงสาธารณสุข เรากังวลว่าผู้ติดเชื้อเหมือนสะเก็ดไฟที่กระจายไปพื้นที่อื่นในช่วงที่มีการเดินทางก่อนหน้านี้ และไปถึง 54 จังหวัดแล้ว ซึ่งต้นทางไม่ใช่แต่แรงงานต่างด้าวอย่างเดียว ยังไปถึงบ่อนที่มีการลักลอบเล่นการพนัน ทำให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.สาธารณสุข และปลัดกระทรวงสาธารณสุข สั่งการว่าต้องตะครุบตัวคุมคนที่อยู่ตามสะเก็ดไฟให้ได้โดยเร็ว แต่ต้องได้รับความร่วมประชาชนในจังหวัดนั้นๆ ไม่ว่าจะเป็นบุคคลที่มีอาชีพเสี่ยง ไปในสถานที่เสี่ยง โดยการตรวจไม่มีค่าใช้จ่าย
เมื่อถามว่าต่อว่าการจัดงานวันเด็กจัดยังคงจัดได้ตามปกติได้หรือไม่ และมีมาตรการอย่างไร นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า ใน 28 จังหวัดที่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุด ห้ามจัดงานวันเด็ก ส่วนสีส้ม และสีเหลืองก็ต้องขอความร่วมมือ เพราะบรรยากาศแบบนี้ไม่ควรจัดดีที่สุด เพราะลูกหลานอยู่ในพื้นที่แอดอัด สัมผัสหยิบจับเครื่องเล่น จึงขอความร่วมมืองดไปก่อน เรายังมีวันจัดงานรื่นเริงได้อีกหลายวัน
เมื่อถามอีกว่าที่ประชุม ศบค.ในช่วงบ่ายวันเดียวกันนี้จะมีการขยายการประกาศใช้ พ.ร.ก.ฉุกเฉินที่จะหมดในวันที่ 15 ม.ค.นี้หรือไม่ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า มีอยู่ในวาระการประชุมนี้อยู่ด้วย ปกติมีการพิจารณาขยายออกไป 1 เดือน แต่รอบนี้อาจจะเป็น 45 วัน เพื่อให้ครบรอบในเดือน ก.พ. โดยมติจะเกิดขึ้นในที่ประชุม ศบค.บ่ายวันเดียวกันนี้ ส่วนมาตรการที่วางไว้ 2 ขั้นจะทำให้ขั้นที่ 1 ไปสู่ขั้นที่ 2 อย่างไรในอนาคตถ้ามีชุดข้อมูลเพิ่มเติมจะขอนำเรียนในวันที่ 5 ม.ค.นี้
เมื่อถามอีกว่าทำไมเราจึงเริ่มใช้มาตรการเข้มข้นหลังปีใหม่ เพราะทำให้เกิดความเสี่ยงกระจายไปยังพื้นที่อื่นๆ นพ.ทวีศิลป์กล่าวว่า การประกาศมาตรการต่างๆ ขึ้นอยู่กับชุดข้อมูล เพื่อมาพิจารณาอย่างรอบคอบและนำสั่งการ จะเร็วจะช้าต้องมีชุดข้อมูลเป็นหลัก แต่ครั้งนี้เราใช้ประสบการณ์ 1 ปีที่ผ่านมากับสถานการณ์ปัจจุบัน พูดถึงผลกระทบอย่างกว้างขวางจะเกิดอะไรนั้น เราต้องได้รับความร่วมมือจากรัฐ เอกชน และประชาชน ซึ่งรอบแรกเราทำได้ดี รอบนี้จะสำเร็จหรือมีอุปสรรคก็ขึ้นอยู่กับ 3 ส่วนนี้ อย่างไรก็ตาม เราจะเห็นภาพความร่วมมือกันมากขึ้น ตนในฐานจิตแพทย์ขอเรียนว่าสิ่งที่มาพร้อมกับภัยพิบัติ วิกฤตทั้งจากธรรมชาติและฝีมือมนุษย์จะเกิดผลกระทบด้านจิตใจ และตอนนี้ปฏิกิริยาที่มีคือ การตกใจกับตัวเลขที่เพิ่มขึ้น ถึงขนาดตื่นตระหนกและยิ่งเป็นวิกฤตที่เกิดจากฝีมือมนุษย์ก็จะมีความโกรธเข้ามา เพราะมีการมั่วสุมละเมิดจึงเกิดแรงโกรธในสังคม ในภาพจิตวิทยาสังคมเราเห็นในต่างประเทศมีความโกลาหลไม่ให้ความร่วมมือ ไม่ใส่หน้ากากอนามัย ละเมิดข้อห้ามต่างๆ ทำให้มีการติดเชื้อมากขึ้น แต่โชคดีที่ปีที่แล้วคนไทยไม่เกิดเรื่องเหล่านี้ ถ้าตอนนี้เรามีสติ เข้าใจสถานการณ์ เราจะประคับประคองสถานการณ์ไปได้ ป่วยกายแล้วอย่าป่วยใจ เราจะผ่านโรคนี้ไปด้วยกัน