xs
xsm
sm
md
lg

หลังสงครามโลกครั้งที่ ๒ ดิ้นจนรอดเป็นผู้แพ้สงครามได้! แต่เกือบไม่รอดเป็นอาณานิคม!!

เผยแพร่:   โดย: โรม บุนนาค



เมื่อกองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนกำลังเข้าประเทศไทยในในที่ ๘ ธันวาคม ๒๔๘๔ พร้อมกับส่งฝูงบินเข้าถล่มเพิร์ลฮาร์เบอร์ ฐานทัพเรือของสหรัฐที่เกาะฮาวาย ต่อมาไทยได้ประกาศสงครามกับอเมริกาด้วย แต่รัฐบาลอเมริกันถือว่าการประกาศสงครามของรัฐบาลไทยมิได้เป็นไปตามเจตจำนงของประชาชนชาวไทย จึงไม่นำพาต่อการประกาศสงครามนี้ คงรับรองฐานะของทูตไทยว่าเป็นทูตของประเทศไทย แต่ไม่ยอมรับรัฐบาลที่กรุงเทพฯซึ่งอยู่ใต้อิทธิพลของญี่ปุ่น

ในทันทีที่ญี่ปุ่นบุกเข้าไทย เอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงวอชิงตัน คือ ม.ร.วเสนีย์ ปราโมช ได้จัดตั้งขบวนการเสรีไทยจากบรรดาคนไทยที่อยู่นอกประเทศ ให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร พร้อมกับเกิดขบวนการเสรีไทยเกิดขึ้นในประเทศไทยด้วย รัฐบาลอเมริกันรัฐบาลอังกฤษได้ยอมรับและให้ความช่วยเหลือแก่ขบวนการเสรีไทย มีการประสานงานกันเป็นประจำ จนช่วงปลายสงคราม ขบวนการเสรีไทยเตรียมพร้อมที่จะลุกขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นซึ่งหน้า แต่รัฐบาลอเมริกันกับอังกฤษขอร้องให้รอก่อนด้วยเหตุผลทางยุทธการ จนสงครามได้ยุติลง

สหรัฐอเมริกาประกาศว่า ในเวลา ๔ ปีที่ผ่านมา ไม่ได้ถือว่าประเทศไทยเป็นศัตรู แต่ถือว่าเป็นดินแดนที่จะต้องเข้าไปช่วยให้พ้นอำนาจศัตรู บัดนี้ประเทศไทยก็พ้นจากอำนาจปัจจามิตรแล้ว จึงใคร่จะเห็นประเทศไทยกลับสู่สังคมนานาชาติเช่นเดิม ในฐานะที่ประเทศไทยเป็นชาติเสรี มีอำนาจอธิปไตย และมีเอกราช

ส่วนอังกฤษนั้น แรกๆก็ทำเป็นหวังดีให้รัฐบาลใหม่ของไทยรีบประกาศว่า การประกาศสงครามของรัฐบาลจอมพล ป.พิบูลสงครามเป็นโมฆะ และเร่งเร้าเหลือเกินที่จะให้ส่งคณะผู้แทนไปเจรจาที่เมืองแคนดี ในลังกา ไทยจึงส่งไปเมื่อวันที่ ๔ กันยายน ๒๔๘๘ เพื่อเจรจารายละเอียดเกี่ยวกับการจัดให้ญี่ปุ่นทำพิธียอมแพ้และปลดอาวุธ แต่เมื่อไปถึงยังไม่ทันเจรจา อังกฤษก็ร่างความตกลง ๒๑ ข้อไว้แล้ว รอให้ไทยเซ็น

ข้อตกลงทั้ง ๒๑ ข้อนั้น ถ้าเซ็นไปก็เท่ากับการยอมรับเป็นเมืองขึ้น มีทั้งให้ยุบองค์การทหาร องค์การการเมือง ยอมชดใช้ค่าเสียหายของสัมพันธมิตรทั้งหมด เข้าควบคุมหนังสือพิมพ์ ตรวจข่าววิทยุ ควบคุมการคมนาคม สื่อสารทุกอย่างในประเทศ รวมทั้งควบคุมการปกครอง โดยต้องปฏิบัติตามความประสงค์ของเจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตร ต้องเกณฑ์แรงงานให้เมื่อเจ้าหน้าที่ฝ่ายทหารสัมพันธมิตรแสดงความประสงค์มา เรือสินค้าไทยไม่ว่าอยู่ในน่านน้ำสากลหรือน่านน้ำไทยต้องอยู่ในความควบคุมของฝ่ายสัมพันธมิตร ห้ามนำข้าว ดีบุก ยาง ไม้สักออกนอกประเทศ และสัมพันธมิตรจะเข้าควบคุมกิจการต่างๆตามที่สัมพันธมิตรต้องการ ฯลฯ

ไม่ทิ้งนิสัยนักล่าอาณานิคม จะฉวยโอกาสเอาไทยเป็นเมืองขึ้นให้ได้

คณะผู้แทนไทยเห็นว่าหนักหนาสาหัสจึงไม่ยอมเซ็น อ้างว่าเกินอำนาจที่ได้รับมอบหมายมา จึงส่งคนกลับมารายงานรัฐบาล รัฐบาลก็ไม่อาจตัดสินใจได้ จึงเสนอต่อสภาผู้แทน เมื่อรัฐบาลอ้างว่าถูกบีบบังคับ ไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ สภาจึงอนุมัติให้เซ็น แต่ให้บันทึกเป็นประวัติศาสตร์ไว้ว่า ถูกอังกฤษบังคับให้เซ็นโดยไม่สมัครใจ

ขณะเดียวกัน ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ คือ ปรีดี พนมยงค์ ซึ่งซ่อนตำแหน่งหัวหน้าขบวนการเสรีไทยในประเทศอยู่ในตำแหน่งนี้ และผู้แทนไทยที่ลังกา ได้ติดต่อกับฝ่ายอเมริกัน ว่าเสียแรงที่ร่วมมือมาด้วยดีแต่กลับถูกอังกฤษบังคับเหมือนไม่มีเอกราช ปรากฏว่ารัฐบาลอเมริกันไม่ทราบเรื่องนี้เลย จึงประท้วงรัฐบาลอังกฤษอย่างรุนแรงว่า ร่างที่ยื่นต่อไทยนี้ถือว่าทำในนามสัมพันธมิตร ฉะนั้นรัฐบาลอเมริกันต้องได้รับคำปรึกษา พร้อมทั้งแจ้งให้ฝ่ายไทยยับยั้งการลงนามไว้ก่อน

ต่อมาผู้แทนไทยได้ลงนามในข้อตกลงเฉพาะในเรื่องเกี่ยวกับการทหาร เช่น จะช่วยเหลือดูแลเชลยศึกสัมพันธมิตรและออกค่าใช้จ่ายในการเลี้ยงดู ร่วมมือในการปลดอาวุธญี่ปุ่น กักกันคนญี่ปุ่นกับคนเยอรมัน และมอบทหารทั้ง ๓ เหล่าทัพให้เจ้าหน้าที่ฝ่ายสัมพันธมิตรใช้

ต่อมาในวันที่ ๒๒ กันยายน หลังจากที่ ม.ร.ว. เสนีย์ ปราโมช หัวหน้าคณะเสรีไทยในต่างประเทศ กลับมารับตำแหน่งนายกรัฐมนตรีได้ ๕ วัน ก็ได้รับคำขอจากอังกฤษให้ส่งคณะเจรจาไปที่เมืองแคนดีอีก อ้างว่าเพื่อการกลับคืนสู่ความสัมพันธ์ปกติระหว่างอังกฤษกับไทย ปรากฏว่าครั้งนี้ข้อเสนอที่อังกฤษเตรียมให้คณะผู้แทนไทยพิจารณากลับหนักไปกว่า ๒๑ ข้อครั้งที่แล้วอีก ไทยต้องให้ข้าวจำนวน ๑.๕ ล้านตันโดยไม่คิดราคา ทั้งต้องจ่ายค่าบำรุงรักษาเชลยศึกและค่าพินาศของทรัพย์สิน
ข้าว ๑.๕ ล้านตันในขณะนั้นมีราคา ๒,๕๐๐ ล้านบาท เมื่อคิดเทียบอัตราค่าแรงงานที่ญี่ปุ่นจ้างกรรมกรทำทางรถไฟแค่วันละ ๒ บาท เงินจำนวนนี้จึงมหาศาล

ผู้แทนไทยส่งเรื่องมาให้รัฐบาลพิจารณา รัฐบาลได้ขอต่อรองไปหลายข้อ แต่ก็ไม่อาจตกลงกันได้ คณะผู้แทนไทยก็เลยกลับ ไม่ยอมเซ็น

ต่อมาในเดือนธันวาคม อังกฤษขอเจรจาใหม่อีกที่สิงคโปร์ ไทยเลยส่งคณะผู้แทนชุดเก่าไป แต่ก่อนจะออกเดินทาง นาย อี. เดนนิ่ง ที่ปรึกษาทางการเมืองของพลเรือเอก ลอร์ดหลุยส์ เมานต์แบตเตน ได้ส่งจดหมายถึง ม.ร.ว.เสนีย์ข่มไว้ก่อนว่า อังกฤษถือว่าขบวนการต่อต้านญี่ปุ่นของไทยยังไม่ให้ประโยชน์แก่สงครามอย่างจริงจัง และที่ไทยแสดงความประสงค์จะลุกขึ้นต่อสู้กับญี่ปุ่นแต่ผู้บัญชาการสูงสุดขอให้ระงับไว้ก่อนนั้น ก็เพราะเห็นว่าไทยยังไม่ได้รับการฝึกและมีอาวุธเพียงพอ ยังต้องอาศัยความช่วยเหลือของสัมพันธมิตรต่อไปอีก ตรงกันข้าม ไทยควรจะพอใจที่ฝ่ายสัมพันธมิตรทำให้ญี่ปุ่นแพ้ก่อนที่จะมีการรบขึ้นในประเทศไทย คนไทยจึงไม่ต้องเผชิญกับความโหดร้ายของสงคราม เมื่อคณะผู้แทนไทยไปถึงสิงคโปร์นายเคนนิ่งยังเปิดฉากอบรมอีกรอบว่า ข้อเสนอนี้เป็นข้อกำหนดขั้นต่ำที่สุดแล้ว อาจแก้ไขได้บ้างเฉพาะคำ แต่สาระเปลี่ยนแปลงไม่ได้ ผู้แทนไทยจึงต้องบินกลับมาปรึกษารัฐบาล รายงานว่าไม่มีการเจรจา อังกฤษจะให้เซ็นข้อเสนอเก่าลูกเดียว

ระหว่างนี้ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ก็เชิญอุปทูตอเมริกันมาพบ แจ้งเรื่องให้ทราบอีก นายชาร์ล โยสต์ อุปทูตแจ้งว่า เมื่อได้รับคำร้องจากไทยครั้งก่อนว่าถูกอังกฤษบีบ รัฐบาลอเมริกันได้ประท้วงอังกฤษไปแล้ว ขอให้พิจารณาให้เบาลง และขออย่าให้ลงนามก่อนที่รัฐบาลอเมริกันจะพอใจ ซึ่งอังกฤษก็รับว่าจะตอบให้รัฐบาลอเมริกันทราบในเดือนธันวาคม แต่ที่อังกฤษเร่งรัดให้ไทยลงนามนี้ อุปทูตขอให้รัฐบาลไทยรีบสั่งคณะผู้แทนไปว่าอย่าเซ็น รัฐบาลอเมริกันได้ประท้วงไปทางลอนดอนแล้ว และหากว่าอังกฤษจะเพิ่มข้อเรียกร้องหนักขึ้นไปอีกในฐานที่ไทยถ่วงเวลา รัฐบาลอเมริกันจะรับผิดชอบเอง

ต่อมาในวันที่ ๒๔ ธันวาคม อุปทูตอเมริกันก็เข้าพบ ม.ร.ว.เสนีย์ ปราโมช แจ้งว่าอังกฤษยอมผ่อนปรนลงมากแล้ว ฝ่ายอเมริกันพอใจ จึงขอถอนที่ไม่ให้ไทยลงนามไว้ 

ในที่สุดเมื่อวันที่ ๑ มกราคม ๒๔๘๙ ผู้แทนไทยก็ได้รับอนุมัติจากรัฐบาลให้ลงนามความตกลง ที่เรียกว่า “ความตกลงสมบูรณ์แบบเพื่อเลิกสถานะสงคราม ระหว่างประเทศไทยกับบริเตนใหญ่และอินเดีย” ซึ่งมีอยู่ทั้งหมด ๒๔ ข้อ โดยเรียกร้องข้าว ๑.๕ ล้านตันจากไทยอยู่ดี แถมยังพ่วงห้ามไทยขุดคลองที่คอคอกกระ เชื่อมทะเลอันดามันกับอ่าวไทยก่อนที่จะรับความเห็นชอบจากอังกฤษ และเพื่อตอบแทนการยอมรับสัญญานี้ รัฐบาลอังกฤษกับอินเดีย จะสนับสนุนให้ไทยเข้าเป็นสมาชิกองค์การสหประชาชาติ

จบเรื่องกับอังกฤษไปด้วยความขมขื่น ทำให้คนไทยต้องปันส่วนข้าวสารกันกินแล้ว รายต่อไปก็คือฝรั่งเศส ซึ่งแสบยิ่งกว่า นอกจากจะเรียกร้องดินแดน ๔ จังหวัดในในมณฑลบูรพา คือ พระตะบอง พิบูลสงคราม ลานช้าง และจำปาศักดิ์คืนแล้ว ยังเรียกร้องในสิ่งที่ไม่มีใครคาดคิดและคิดไม่ถึงจริงๆ ก็คือ ขอพระแก้วมรกตคืนด้วย
บ้าถึงขนาดนี้ จึงต้องต่อกันอีกตอนครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น