ในปลายเดือนกันยายน ๒๔๘๘ ที่ผู้แทนไทยไปเจรจากับอังกฤษที่เมืองแคนดีนั้น ระหว่างการเจรจาผู้แทนฝรั่งเศสได้ยื่นหนังสืออย่างเป็นทางการขอให้นำเสนอต่อผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ มีข้อความขอทำความตกลงกับไทยมีลักษณะคล้ายกับอังกฤษ โดยขอคืนดินแดนที่ไทยได้มาเมื่อ พ.ศ. ๒๔๘๔ ในสงครามอินโดจีน ไทย-ฝรั่งเศส พร้อมทั้งขอพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรด้วย ซึ่งเรื่องนี้เมื่อคณะรัฐมนตรีรับทราบ ก็ลงความเห็นกันว่าเป็นคำขอที่น่าขบขัน และเชื่อว่าฝรั่งเศสมีเจตนาจะยั่วไทยมากกว่า
รัฐบาลได้ให้ผู้แทนไทยตอบฝรั่งเศสเป็นข้อๆไป คือ
๑. รัฐบาลไทยประหลาดใจมากที่ฝรั่งเศสถือว่าไทยยังมีสถานะเป็นศัตรูกับฝรั่งเศส ทั้งนี้เพราะทั้ง ๒ ประเทศมิได้มีการประกาศสงครามต่อกัน และมิได้มีการรบพุ่งกัน รัฐบาลฝรั่งเศสชุดนี้ก็มาจากขบวนการฝรั่งเศสเสรีที่ให้การร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตรต่อสู้กับฝ่ายอักษะ เช่นเดียวกับรัฐบาลไทยชุดนี้เช่นกัน ฉะนั้นจึงไม่ชอบด้วย
เหตุผลที่จะถือว่าขบวนการต่อต้านทั้ง ๒ เป็นศัตรูกัน อีกทั้งระหว่างสงคราม เมื่อฝรั่งเศสไม่สามารถหาข่าวจากแหล่งที่เชื่อถือได้ในอินโดจีน ฝ่ายต่อต้านของไทยก็ช่วยหาให้ ซึ่งหน่วยสืบราชการลับของอังกฤษและอเมริกาทราบดี และแม้ว่ารัฐบาลฝรั่งเศสในสมัยนั้นจะยอมให้ญี่ปุ่นใช้อินโดจีนเป็นฐานทัพบุกไทยและมลายู ไทยก็ยังเป็นมิตรกับอินโดจีนของฝรั่งเศสและประเทศฝรั่งเศสมาตลอด ประจักษ์พยานข้อนี้ก็คือได้ช่วยเหลือคนฝรั่งเศสที่หลบหนีภัยเข้ามาประเทศไทยอย่างมิตร
๒. ไทยพร้อมจะเจรจากับฝรั่งเศสในโอกาสอันควร ตามความตั้งใจแน่วแน่ที่จะทำทุกอย่างเพื่อส่งเสริมมิตรภาพความสัมพันธ์ฉันท์มิตร และการเป็นเพื่อนบ้านที่ดี แต่ทว่าเวลานี้ยังไม่เหมาะที่จะเจรจา
๓. สถานการณ์ในอินโดจีนขณะนี้ยังไม่เรียบร้อย แต่ในส่วนดินแดนที่ไทยได้คืนมานั้น ประชาชนมีสิทธิเสรีภาพ สามารถเลือกตั้งผู้แทนเข้าร่วมประชุมในรัฐสภาไทย ถ้าประชาชนเหล่านี้จะเสียสิทธิ์โดยกลับไปอยู่กับฝรั่งเศสแล้ว เขาคงจะขมขื่นและขุ่นเคืองประเทศไทยมาก ที่ทำให้เขาต้องตกไปอยู่ในฐานะลำบาก
๔. พิจารณาท่าทีทั่วไปของสัมพันธมิตรในเรื่องเปลี่ยนแปลงดินแดนที่ทำกันมา เช่น มณฑลอัตซาส ลอเรน ดินแดนนี้ควรจะตกเป็นของฝรั่งเศส เพราะประชาชนส่วนใหญ่เป็นชาวฝรั่งเศส จะได้หลุดพ้นจากการปกครองของเยอรมัน แต่ดินแดนที่ไทยได้คืนมา ประชาชนมีเสรีภาพอยู่แล้ว แต่จะกลับถูกตัดเสรีภาพถ้ากลับไปอยู่กับฝรั่งเศส
๕. อย่างไรก็ดี ไทยพร้อมที่จะให้มีการลงประชามติ โดยมีผู้แทน ๔ มหาอำนาจ คือสหรัฐอเมริกา อังกฤษ จีน และรัสเซีย เป็นกรรมการ
๖. ส่วนข้อเรียกร้องเกี่ยวกับพระพุทธมหามณีรัตนปฏิมากรนั้น ไม่มีรัฐบาลไทยชุดใดที่ยังเคารพตนเองอยู่สามารถจะรับฟังได้
แต่แล้วอังกฤษก็ยื่นมือเข้ามา โดยอ้างว่าฝรั่งเศสยอมถอนข้อเรียกร้องเรื่องพระแก้วมรกตแล้ว แต่อังกฤษไม่ยอมรับนับถือการเปลี่ยนแปลงดินแดนที่เกิดขึ้นโดยใช้กำลังบังคับนับตั้งแต่สงครามโลกครั้งที่ ๒ อุบัติขึ้น และฝรั่งเศสก็เป็นมิตรกับอังกฤษ ฉะนั้นอังกฤษจะขอสงวนสิทธิ์ที่จะกล่าวถึงปัญหาเรื่องดินแดนของฝรั่งเศสไว้ในความตกลงระหว่างอังกฤษกับไทยอีกด้วยถ้าจำเป็น
ในที่สุดอังกฤษก็ตามมาบีบไทยในปัญหาดินแดนกับฝรั่งเศสอีก ให้ไทยตกลงกับฝรั่งเศสแต่โดยดี มิฉะนั้นอังกฤษก็จะเรียกร้องดินแดนคืนจากไทยให้ฝรั่งเศสเอง และเมื่อ ม.ร.ว.เสนีย์สอบถามไปยังทูตอังกฤษและทูตอเมริกันแล้ว ก็ยอมรับว่าเป็นเรื่องจริง ทั้งอุปทูตอเมริกันยังแนะนำให้ไทยรีบตกลงเสีย มิฉะนั้นฝรั่งเศสอาจจะทำเรื่องวุ่นที่ชายแดนได้ และระหว่างที่กำลังเจรจากันอยู่นั้น ฝรั่งเศสก็ทำเรื่องวุ่นขึ้นจริงๆ
ในวันที่ ๗ พฤษภาคม ๒๔๘๙ ฝรั่งเศสที่ท่าแขกยิงปืนเล็กยาว ปืนกล ปืนใหญ่ ข้ามฝั่งโขงเข้ามาเขตเทศบาลนครพนมอย่างหนัก ถูกศาล สถานีตำรวจ สำนักงานเทศบาล และบ้านเรือนราษฎรพัง คนญวนถูกกระสุนปืนใหญ่ตาย ๑ คน เรือกลไฟจม ๒ ลำ สาเหตุมาจากญวนและลาวอิสระได้เข้ายึดเมืองหินบูรณ์ ฝรั่งเศสหาว่าคนญวนอพยพในเขตไทยและคนไทยข้ามไปช่วยด้วย จึงยิงเข้ามา นอกจากนี้ทหารฝรั่งเศสที่หินบูรณ์ก็ระดมยิงมาที่ท่าอุเทนด้วย ต่อมาในวันที่ ๒๔ พฤษภาคม ทหารฝรั่งเศสก็ข้ามโขงมายึดดินแดนไทยอยู่หลายวัน รัฐบาลไทยได้ร้องเรียนเรื่องนี้ไปยังผู้นำประเทศมหาอำนาจและเลขาธิการองค์การสหประชาชาติ ซึ่งฝรั่งเศสก็ยอมรับว่าทหารฝรั่งเศสเคยข้ามโขงมาฝั่งไทยจริง เพื่อติดตามโจรผู้ร้ายที่ข้ามไปรังควานฝรั่งเศส ประเทศมหาอำนาจทั้งหลายได้แนะนำให้ไทยยุติปัญหากับฝรั่งเศสเรื่องดินแดนโดยเร็ว
ในที่สุด ฝรั่งหัวแดงทั้งหลายต่างก็รวมหัวกันไม่ยอมรับวิธีการได้ดินแดนคืนมาของไทย แต่ไม่มีการพูดถึงวิธีการได้ดินแดนจากไทยไปของฝรั่งเศส และไม่มีใครช่วยไทยได้แม้แต่จีน ต่างเกรงจะกระทบผลประโยชน์ของตัวกันทั้งนั้น
ในที่สุดไทยก็ต้องยอมเซ็นสัญญาคืนดินแดนที่มีกรณีพิพาทให้ฝรั่งเศสไปทั้งหมด ที่กรุงวอชิงตัน เมื่อวันที่ ๑๗ พฤศจิกายน ๒๔๘๙ เป็นไปตามประสงค์ของอังกฤษและอเมริกา
ต่อมาอีกไม่นาน ประเทศต่างๆในอินโดจีนที่ไม่อาจทนต่อการกดขี่ขูดรีดของฝรั่งเศสได้ ก็ลุกขึ้นต่อสู้ และขับไล่นักล่าอาณานิคมฝรั่งเศสออกไปจากอินโดจีน
จะว่าไปแล้วชาติต่างๆในเอเซียและแอฟริกา ก็ได้บทเรียนจากญี่ปุ่นไปไม่น้อย ที่เคยคิดกันว่าชาติตะวันตกเท่านั้นที่เป็นผู้ยิ่งใหญ่ในโลกนี้ แต่แล้วชาติตะวันออกอย่างญี่ปุ่นก็สามารถขับไล่ชาติมหาอำนาจตะวันตกจนแตกกระเจิง ถ้าไม่รวมหัวกันคงเอาญี่ปุ่นไม่อยู่แน่ และชาติในอินโดจีน ก็ได้ให้บทเรียนแก่ชาติในเอเซียและแอฟริกา เพื่อนร่วมชะตากรรมที่ถูกดขี่สูบเลือดมาเป็นศตวรรษว่า เอกราชและอธิปไตยจะได้มาก็ด้วยการต่อสู้เท่านั้น ไม่ใช่ด้วยความเมตตาของผู้กดขี่