xs
xsm
sm
md
lg

ห่วงเศรษฐกิจ-ไม่ล็อกดาวน์-ไม่เยียวยา แต่ควรเร่ง “ห้ามเคลื่อนย้ายประชากร” ออกจากพื้นที่สีแดง

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การระบาดของโควิด-19 ระลอกใหม่ แม้มาตรการ ศบค. แตกต่างจากรอบที่แล้ว ถึงจะห่วงเศรษฐกิจ ไม่ล็อกดาวน์ ไม่จ่ายเงินเยียวยา แต่ก็ควรเร่งสั่ง “ห้ามเคลื่อนย้ายประชากร” ออกจากพื้นที่สีแดง
 
รายงานพิเศษ

“ไม่ใช้คำว่าล็อกดาวน์ แต่เป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด”

“ล็อกดาวน์ ก็คือ เมืองร้าง”

ภาษาที่ใช้ในการสื่อสารในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 “ระลอกใหม่” ดูเหมือนจะถูกกำหนดกันมาเป็นอย่างดี ว่าจะต้องใช้ภาษาที่มีความหมายเบาลงกว่าเดิม

และที่เห็นได้ชัดจากสิ่งที่ตามมาก็คือ “ระลอกใหม่” นี้ ยังไม่มีมาตรการชดเชยเยียวยาใดๆ ออกมา

เป็นที่เข้าใจโดยทั่วกันว่า หากรัฐบาลใช้มาตรการเข้มข้นที่เรียกว่า “ล็อกดาวน์” นั่นหมายถึง รัฐบาลจะถูกกดดันอย่างหนัก ให้ต้องจ่ายเงินชดเชยเยียวยาเป็นจำนวนมหาศาล เช่นเดียวกับในช่วงการระบาดรอบที่แล้ว 

จนนำไปสู่การแถลงของศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (ศบค.) ว่า “เงินที่ถูกใช้จ่ายตรงนั้น เป็นภาษีของประชาชน ที่ต้องแบกรับกันทั้งหมด” เราจะยกเรื่องเงินเยียวยาทิ้งไปก่อน เพื่อให้เห็นภาพที่ชัดขึ้น


การใช้มาตรการที่ ศบค. เรียกว่า “พื้นที่ควบคุมสูงสุดและเข้มงวด” ในรอบนี้ ก็มีความแตกต่างจากการระบาดรอบที่แล้วอย่างมาก

เริ่มตั้งแต่ การแบ่งระดับความรุนแรงของปัญหาในแต่ละพื้นที่เป็นโซนต่างๆ ใช้ชื่อเรียกต่างกัน (ไม่ใช้สี แต่ก็คือ แดง ส้ม เหลือง เขียว) และโยนภาระการตัดสินใจใช้มาตรการต่างๆ ออกไปจากส่วนกลาง “ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด เป็นผู้ตัดสินใจประกาศมาตรการ”

หากจะมองย้อนกลับไปถึงต้นกำเนิดของ ศบค. ซึ่งย่อมาจาก “ศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019” ซึ่งตั้งขึ้นโดยอาศัยอำนาจตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน มีนายกรัฐมนตรีเป็นผู้มีอำนาจสูงสุดในการสั่งการ ... ไม่ใช่หรือ ??

แต่เหตุใดเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดกลับมาอีกครั้ง อำนาจในการตัดสินใจ จึงถูกโยนลงไปที่ท้องถิ่น ให้อำนาจผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งทำให้การจัดการของแต่พื้นที่ไม่เหมือนกัน

เช่น ร้านนวด สปาในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ถูกสั่งปิดไปแล้ว ร้านอาหารนั่งได้ถึง 21.00 น. ห้ามจำหน่ายสุรา ห้ามนั่งกินในร้าน แต่หากขับรถออกมาทางถนนงามวงศ์วาน หรือแจ้งวัฒนะ ท่านก็สามารถยังไปใช้บริการร้านนวด สปา และนั่งกินอาหาร สั่งสุรามาดื่มได้เหมือนเดิม เพราะท่านได้ข้ามเข้ามาในเขตจังหวัดนนทบุรี ซึ่งยังไม่มีคำสั่งเช่นนั้น


และที่สำคัญ คือ การเดินทางข้ามไปมาระหว่างจังหวัด ทำได้อย่างง่ายดาย


นั่นอาจสะท้อนให้เห็นว่า “มาตรการ” ที่กำลังใช้กันอยู่โดยไม่ได้ถูกกำหนดมาจาก ศบค. โดยตรง ยังมีช่องโหว่!


ลองไปดูที่ “สมุทรสาคร” คลัสเตอร์ใหญ่จุดแรกๆ ของการแพร่ระบาดรอบใหม่ ต่อจากคนที่ข้ามแดนมาจากผับ 1G1 ในท่าขี้เหล็ก ประเทศเมียนมา จะเห็นว่า จนมาถึงวันที่ 5 มกราคม 2564 มีรายงานว่า มีแรงงานในโรงงานปลากระป๋องแห่งหนึ่งติดเชื่อเพิ่มอีกประมาณ 900 คน

และที่สำคัญคือ แรงงานกลุ่มนี้บางส่วน ได้เดินทางออกนอกพื้นที่ไปยังจังหวัดอื่นแล้วก่อนหน้านี้

มองย้อนกลับไปอีกตั้งแต่จุดเริ่มต้นพบผู้ป่วยรายแรกที่แพใน “ตลาดกลางกุ้งจังหวัดสมุทรสาคร” (หรือที่คนมหาชัยเรียกสั้นๆ ว่า “ตลาดกุ้ง”) จนเป็นที่มาของการพบผู้ป่วยเพิ่มเป็นหลักพันคนในพื้นที่เดียวกัน มาตรการที่ถูกใช้ในทีแรกก็คือ การปิดตลาดกุ้ง และควบคุมแรงงานกลุ่มเสี่ยง โดยเฉพาะแรงงานจากประเทศเพื่อนบ้านให้อยู่ในนั้น

แต่ในพื้นที่โดยรอบไม่ได้ถูกควบคุมอย่างเข้มงวดในแบบเดียวกัน

ทั้งที่ก่อนหน้านั้น ก็มีการไปมาหาสู่กันอย่างแน่นอน ระหว่างแรงงานที่ตลาดกุ้ง กับแรงงานที่ทำงานที่อื่น... และโรงงานปลากระป๋องที่พบผู้ติดเชื้อ 900 คน แห่งล่าสุด ก็เป็นหนึ่งในสถานที่ที่ไม่ได้ถูกควบคุมด้วยมาตรการที่เข้มงวดแบบเดียวกับตลาดกุ้ง


การเลือกปิดเฉพาะพื้นที่วงแคบเช่นนี้ สะท้อนให้เห็นอย่างชัดเจนว่า รัฐบาล หรือ ศบค. ยังมีความกังวลอย่างมากต่อผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะตามมาจากการใช้คำสั่ง จนทำให้ภาระในการตัดสินใจตกไปอยู่กับผู้ว่าราชการจังหวัด ซึ่งแน่นอนว่า ต้องคำนึงถึงสิ่งที่รัฐบาลกังวลอยู่เช่นกัน

นั่นย่อมเป็นที่มาของ “วาทกรรม” ต่างๆ ที่ใช้ในการสื่อสารจาก ศบค. มาสู่ประชาชน คือ ไม่ใช้คำว่า “ล็อกดาวน์”

เพราะมีผลกระทบอย่างสูงต่อแนวทางการชดเชยต่างๆ ที่ตามมา

จึงไม่น่าแปลกใจเมื่อมีการประกาศที่ไม่สอดคล้องกับบริบททางเศรษฐกิจจึงต้อง “ยอมหัก”

ยอมหัก รมช.สาธารณสุข ที่ประกาศโดยใช้คำว่า ล็อกดาวน์ 5 จังหวัด

ยอมหัก กทม. ที่ประกาศห้ามเปิดร้านอาหารหลัง 19.00 น. นายกฯ ก็ให้เปลี่ยนเป็น 21.00 น.

ทั้งหมดนี้ ล้วนเป็นเรื่องที่น่าจะเข้าใจได้ว่า เหตุผลทางเศรษฐกิจและเงินที่มีในคลังของรัฐบาล มีความสำคัญอย่างมากต่อการกำหนดนโยบายการแก้ปัญหาโควิด-19 ที่รัฐบาลใช้คำว่า “ระลอกใหม่” ครั้งนี้

(ที่ไม่ใช้คำว่า ระลอก 2 คงเป็นเพราะกังวลว่าจะถูกเรียกร้องให้ต้องจ่ายเงินเช่นเดียวกับรอบแรก)


แต่เมื่อมาถึงตรงนี้ เราน่าจะพอเห็นหนึ่งในช่องโหว่ที่สำคัญของมาตรการที่ใช้ภายใต้วาทกรรม “ไม่ล็อกดาวน์” นั่นก็คือ “การเคลื่อนย้ายประชากร”

ประชากรกลุ่มเสี่ยงจากสมุทรสาคร ยังกระจายออกไปได้หลายพื้นที่ แม้ว่าสมุทรสาครจะถูกประกาศเป็นพื้นที่ควบคุมสูงสุดเข้มงวดแล้วก็ตาม นั่นคือคำถาม

ยังไม่นับประชากรจากบ่อน (หรือ โกดัง) ที่ จ.ระยอง ที่ไปไกลมากๆ อีก แต่กลุ่มนี้ก็เห็นใจเจ้าหน้าที่ เพราะเขาไม่แสดงตัว

อย่างที่เรารู้กันว่า “อาวุธที่มีประสิทธิภาพที่สุดของไวรัสชนิดนี้ คือ การเดินทาง”

จึงเป็นคำถามใหญ่ว่า แม้รัฐจะไม่ใช้คำว่า “ล็อกดาวน์” ด้วยเหตุผลใดก็ตาม

ดังนั้นต้องถามว่า “จำกัดการเคลื่อนย้ายประชากรจากพื้นที่เสี่ยงสูง” ทำได้หรือไม่ โดยไม่ต้องไปยุติการทำมาหากินอื่นๆ ที่ยังพอทำกันได้อยู่


เปรียบเทียบง่ายๆ คือ หากเราไม่สามารถคัดกรองคนที่จะเข้ามายังจังหวัดต่างๆ ได้ เพราะมันยากจะบอกว่าใครมาจากไหนบ้าง

เราก็ต้องกลับไป “สกัด” อย่าง “เข้มข้น” ไม่ให้คนจากพื้นที่สีแดงออกมาได้ ส่วนเศรษฐกิจในพื้นที่นั้นจะปิดอะไรได้มากน้อยแค่ไหนก็ว่ากันไป

แน่นอนว่า วิธีนี้ อาจจะทำให้ตัวเลขการติดเชื้อในพื้นที่สีแดงเพิ่มสูงขึ้นมาก แต่การจำกัดพื้นที่ ก็จะทำให้สามารถระดมสรรพกำลังไปช่วยได้ง่าย และไม่ต้องกังวลว่าการระบาดจะแพร่ออกไปหลายจุดจนยากต่อการติดตาม

มาถึงวันนี้ หากจะมีทางที่เจ็บน้อยที่สุด อาจต้องใช้วิธี “จำกัดการเข้า-ออกพื้นที่สีแดง” เช่นนี้

แม้ว่ามันจะช้าไปแล้ว แต่ก็ยังคงต้องตัดสินใจทำก่อนหรือไม่

“ไม่ทำให้เลือดหยุดไหล ก็รักษาต่อไม่ได้”

กำลังโหลดความคิดเห็น