การสื่อสารที่ผิดพลาดในครั้งแรก โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งตาม พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ทำให้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ถูกวิจารณ์ไปมากแล้ว แต่หากตัดประเด็นที่มีการสื่อสารผิดพลาดออกไป ลองมาดูกันว่า แท้จริงแล้ว “หมอชนะ” มีระบบการทำงานอย่างไร?
รายงานพิเศษ
“หมอชนะ” กลายเป็นแอปพลิเคชั่นที่ถูกพูดถึงอย่างมากในทางลบ จากการสื่อสารของศูนย์บริหารสถานการณ์โควิด-19 (ศบค.) เมื่อวันที่ 7 มกราคม 2564
เมื่อ นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษก ศบค. บอกให้ประชาชนติดตั้ง “หมอชนะ” ไว้ในโทรศัพท์มือถือ และหากพบว่าใครติดเชื้อโควิด-19 แต่ไม่มีได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่นนี้ จะมีโทษตามกฎหมายทั้งโทษจำคุกและโทษปรับ
โดยอ้างว่าเป็นคำสั่งตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน (พ.ร.ก.ฉุกเฉิน)
ทำให้ถูกวิจารณ์อย่างหนัก ทั้งในประเด็นความเหลื่อมล้ำต่อคนจำนวนมาก และประเด็นการละเมิดสิทธิเสรีภาพของประชาชน ซึ่งอาจมีความไม่ไว้วางใจ หากจะต้องถูกบังคับด้วยกฎหมาย โดยจำยอมอนุญาตให้รัฐบาลเข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลได้ทั้งหมด
ต่อมาทั้ง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ นายอนุทิน ชาญวีรกูล รมว.สาธารณสุข ออกมาแก้ไขข้อมูล โดยยืนยันว่า ไม่มีโทษทางกฎหมายกับประชาชนที่ไม่ได้ติดตั้งแอปพลิเคชั่น “หมอชนะ” เพียงแต่อยากขอความร่วมมือให้ติดตั้ง เพื่อประโยชน์ในการควบคุมการแพร่ระบาดของโควิด-19 ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
แต่การสื่อสารที่ผิดพลาดในครั้งแรก ก็ทำให้ “หมอชนะ” ถูกวิจารณ์ไปมากแล้ว
แต่หากตัดประเด็นที่มีการสื่อสารผิดพลาดออกไป ลองมาดูกันว่า แท้จริงแล้ว “หมอชนะ” มีระบบการทำงานอย่างไร?
แอปพลิเคชันนี้มีเป้าหมายโดยตรงกับ 4 กลุ่ม ได้แก่
ผู้ป่วย ที่จะสะดวกในการรักษาจากข้อมูลเบื้องต้น เวลาเข้าไปรับการรักษาสามารถตรวจสอบได้ว่าไปที่ไหนทำอะไรมาบ้าง
บุคลากรทางการแพทย์ หลายครั้งที่บุคลากรทางการแพทย์เสี่ยงติดเชื้อ หรือบางคนก็ติดเชื้อ เพราะผู้ป่วยจำข้อมูลไม่ได้หรือปกปิดข้อมูล แอปพลิเคชันจะช่วยตรวจสอบข้อมูลเบื้องต้นของผู้ป่วยได้
ทางสังคม เมื่อมีผู้ใช้ในจำนวนมี่มากพอ แอปนี้จะชี้ให้เห็นว่าใครสัมผัสกับใคร ใครเสี่ยงแค่ไหน และควรปฏิบัติตัวอย่างไรเมื่อมีความเสี่ยง ร้านค้าหรือบริษัทเอกชน ก็สามารถที่จะคัดเลือกคนที่ไม่เสี่ยงเข้าไปในโรงงานหรือร้านค้าได้ ไม่จำเป็นต้องปิดไปเลย
ภาครัฐ จะสามารถควบคุมการระบาด หรือจัดการการระบาดได้รวดเร็ว
ระบบแบ่งเป็นสองส่วน คือ Front End จะอยู่ติดตัวกับทุกคน บันทึกข้อมูลต่างๆ ของผู้ใช้ และส่งข้อมูลต่อให้ Back End เพื่อประมวลผลต่อ และหากพบผู้ต้องสงสัยติดเชื้อ ข้อมูลจะสื่อสารต่อไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ให้สามารถติดต่อกับคนที่ต้องสงสัย เสี่ยงติดเชื้อ โดยไม่ต้องเข้าไปสัมผัสใกล้ชิด
แน่นอนว่า แอปพลิเคชันนี้ มีระบบการติดตาม เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคลในหลายช่องทาง นั่นเป็นที่มาของความกังวล ความไม่เชื่อใจ ว่าข้อมูลส่วนบุคคล จะมีโอกาสรั่วไหล ถูกนำไปใช้ในทางอื่น ถูกขายข้อมูล รวมทั้งถูกนำไปใช้ในทางการเมืองหรือความมั่นคงได้หรือไม่?
ในช่วงการระบาดของโควิด-19 รอบแรก เมื่อกลางปี 2563 ผู้ร่วมพัฒนาระบบ “หมอชนะ” เคยย้ำว่า แอปพลิเคชันหมอชนะ จะเก็บข้อมูลของแต่ละบุคคลในลักษณะที่ “ไม่บ่งบอกตัวตนของผู้ใช้” โดยจะส่งเฉพาะโลเคชั่นออกไป เมื่อข้อมูลเข้าไปในระบบส่วนกลางจึงเป็นข้อมูลที่ไม่ระบุตัวตน
“หมอชนะ” ให้ข้อมูลในช่วงปี 2563 ว่า ผู้ที่เก็บข้อมูลของผู้ใช้ คือโรงพยาบาลและกรมควบคุมโรค เมื่อกรมควบคุมโรคประเมินแล้วว่า บุคคลใดมีความเสี่ยงหรือติดเชื้อ ก็จะส่งข้อมูลย้อนกลับเข้ามาในระบบ ระบบจึงจะประมวลผลย้อนกลับไปอีก 15 วัน เพื่อค้นหาว่า ผู้ป่วยไปใกล้ชิดใครบ้าง และแจ้งเตือนกลุ่มที่มีความเสี่ยงต่อจากผู้ป่วยรายนี้ทันที
โดยจะแบ่ง QR Code ออกเป็น 4 ระดับความเสี่ยงจากน้อยไปหามาก คือ สีเขียว สีเหลือง สีส้ม และสีแดง พร้อมคำแนะนำการปฏิบัติตัวตามแต่ละกลุ่มสี และหากผู้ที่อยู่ใกล้ชิดกลุ่มที่เป็นสีส้ม สีแดง ติดตั้งแอปพลิเคชันนี้ไว้ด้วย ระบบก็จะแจ้งเปลี่ยนสีตามไปด้วยทันที เพราะเป็นระบบ Realtime
ข้อมูลที่จะถูกเก็บในแอป “หมอชนะ” เคยถูกเปิดเผยไว้ว่า มีข้อมูล Location ของผู้ใช้ และรูปภาพของผู้ใช้อีกหนึ่งรูปเท่านั้น และไม่ได้ส่งรูปเข้าสู่ระบบกลาง แต่จะใช้ก็ต่อเมื่อต้องเข้ารักษาที่โรงพยาบาล
ส่วนข้อมูลกลางจะถูกส่งไปเก็บที่ AWS ของ Amazon ซึ่งถือว่ามีความปลอดภัยระดับโลก โดยมี สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล (องค์การมหาชน) หรือ DGA เป็นเจ้าของข้อมูล โดยเคยมีแนวทางว่า การจะเปิดดูข้อมูลได้ ต้องผ่านการเข้ารหัสในรูปแบบ Third Party และข้อมูลจะมีอายุ 30 วันเท่านั้น ก่อนจะถูกลบทิ้งทันที
ผู้พัฒนาแอปพลิเคชัน เคยยอมรับว่า หากต้องการให้ “หมอชนะ” ใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ จะต้องมีผู้ติดตั้งแอปพลิเคชันเป็นจำนวนมาก หรือต้องทำให้ประชาชนส่วนใหญ่ติดตั้ง เพราะระบบเป็นการแจ้งเตือนแบบ Realtime ไปยังคนที่เสี่ยงและคนที่ใกล้ชิดผู้มีความเสี่ยง
ซึ่งนั่นอาจเป็นที่มาของการใส่ประเด็นการติดตั้ง “หมอชนะ” ไว้ในพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน เพราะรัฐอาจต้องการให้คนส่วนใหญ่ติดตั้งให้ได้
ดังนั้น การจะใช้ “หมอชนะ” ได้สำเร็จจริง “รัฐบาลจะต้องสร้างความไว้วางใจในการรักษาสิทธิเสรีภาพของข้อมูลส่วนบุคคลให้ได้ และทำให้ประชาชนเชื่อก่อนว่า ข้อมูลของพวกเขาจะใช้เพื่อประโยชน์ในการควบคุมโรคเท่านั้นจริงๆ”