xs
xsm
sm
md
lg

“อาจารย์จุฬาฯ” เผย บังคับติดตั้งแอปฯ “หมอชนะ” อาจเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ออกมาแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับคำเตือนจาก ศบค.ให้ประชาชนโหลดแอปพลิเคชั่น หมอชนะ หากป่วยและพบว่าไม่มีแอปพลิเคชัน จะถือว่า มีความผิด นั้น ทางอาจารย์จากจุฬาฯ เผยว่า การติดตั้งระบบแอปพลิเคชันที่ภาครัฐกำหนด อาจเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้

จากกรณี นพ.ทวีศิลป์ วิษณุโยธิน โฆษกศูนย์บริหารสถานการณ์แพร่ระบาดเของโรคติดต่อโควิด-19 หรือ ศบค. เผยเกี่ยวกับการใช้แอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ว่า ข้อกำหนดฉบับล่าสุด (ฉบับที่ 17) ซึ่งออกมาตรการในการควบคุมโควิด-19 กำหนดให้ต้องมีการโหลดแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ไว้ในโทรศัพท์มือถือของประชาชน และหากพบว่าในเวลาต่อมามีการตรวจพบว่าบุคคลนั้นมีการติดเชื้อ แต่ไม่มีแอปฯ ดังกล่าว อาจมีความผิดตามโทษที่กำหนดไว้ในข้อกำหนดฉบับล่าสุด

ล่าสุด วันนี้ (7 ม.ค.) “ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย” อาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้โพสต์ถึงกรณีดังกล่าว ลงในเฟซบุ๊กส่วนตัว “Ponson Liengboonlertchai” เผยว่า ส่วนตัวผมเองมีข้อสังเกตในมาตรการข้างต้นที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การติดตั้งระบบแอปพลิเคชั่นที่ภาครัฐกำหนด” อาจเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้ อาจารย์ พรสันต์ ได้ระบุข้อความทั้งหมดว่า

“ว่าด้วยเรื่อง “หมอชนะ”

การแพร่ระบาดของโควิดรอบนี้ค่อนข้างกระจายเป็นวงกว้างอย่างรวดเร็ว แน่นอนว่า ภาครัฐเองย่อมมีหน้าที่ในการควบคุมดูแลสถานการณ์ดังกล่าวให้บรรเทาเบาบางลงผ่านการออกมาตรการต่างๆ โดยให้ประชาชนปฏิบัติตามอันเป็นสิ่งจำเป็นและเข้าใจได้

ล่าสุด รัฐพยายามยกระดับความเข้มข้นในการยับยั้งการแพร่ระบาดของโควิดโดยได้ประกาศข้อกำหนดฉบับที่ ๑๗ ซึ่งออกตามความ มาตรา ๙ แห่งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ. ๒๕๔๘ กำหนดมาตรการต่างๆ ให้ประชาชนปฏิบัติอย่างเคร่งครัดในการป้องกันโรค เช่น การรักษาระยะห่าง การสวมหน้ากากผ้าหรือหน้าการอนามัย การล้างมือ การตรวจวัดอุณหภูมิร่างกาย รวมถึงการติดตั้งระบบแอปพลิเคชั่นที่ภาครัฐกำหนด ทั้งนี้หากผู้ใดฝ่าฝืนถือเป็นความผิด มีโทษจำคุกไม่เกิน ๒ ปี ปรับไม่เกิน ๔ หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ (ข้อ ๔ แห่งข้อกำหนด)

อย่างไรก็ดี ส่วนตัวผมเองมีข้อสังเกตในมาตรการข้างต้นที่กำหนดขึ้นโดยเฉพาะอย่างยิ่ง “การติดตั้งระบบแอปพลิเคชันที่ภาครัฐกำหนด” อาจเป็นมาตรการที่ไม่ชอบด้วยรัฐธรรมนูญได้

กล่าวให้ชัดเจนยิ่งขึ้น จริงอยู่ว่า “แอปพลิเคชันติดตามตัว” (Tracking Application) จะเป็นมาตรการของภาครัฐที่ถูกออกแบบมาเพื่อมีวัตถุประสงค์ในการสกัดการแพร่ระบาดของโควิดอย่างมีประสิทธิภาพ แต่หากพิจารณาตามข้อเท็จจริงทั่วไป (ยังมิพักที่จะกล่าวถึงกลุ่มคนที่ยังไม่มีโทรศัพท์มือถือ) เราไม่อาจปฏิเสธได้ว่า ยังมีข้อจำกัดต่างๆ ที่ส่งผลให้ประชาชนหลายกลุ่มหลายท่านไม่สามารถติดตั้งแอปพลิเคชันที่ภาครัฐกำหนดในโทรศัพท์มือถือของเขาได้ เช่น ความรู้ความเข้าใจของประชาชนในการติดตั้งแอปพลิเคชันในโทรศัพท์ก็ดี ระบบของโทรศัพท์มือถือของประชาชนที่จะรองรับการติดตั้งแอปพลิเคชันก็ดี (ความสามารถของโทรศัพท์รุ่นต่างๆ) ฯลฯ

เมื่อทางภาครัฐกำหนดให้ประชาชนต้องปฏิบัติตามอย่างเคร่งครัด โดยมีการกำหนดโทษทางอาญากรณีมีการฝ่าฝืน (คุณหมอทวีศิลป์กล่าวผ่านการรายงานสถานการณ์โควิดวันนี้อย่างชัดเจนว่าหากปรากฏว่าผู้ติดเชื้อโควิดไม่มีการติดตั้งแอปพลิเคชัน “หมอชนะ” ถือว่าเป็นการฝ่าฝืนข้อกำหนด) แต่ยังคงปรากฏข้อจำกัดของประชาชนแต่ละคนที่อยู่บนพื้นฐานที่แตกต่างกันออกไปตามที่ผมอธิบายไปข้างต้น ทั้งยังไม่ปรากฏรายละเอียดที่ภาครัฐจะเข้ามาทำให้การปฏิบัติตามมาตรข้างต้นไม่เกิดความเดือดร้อนแก่ประชาชน (มาตรา ๙ แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ) จึงย่อมถือว่า “มาตรการติดตั้งแอปพลิเคชัน” มีลักษณะเป็นการเพิ่มภาระ หรือจำกัดสิทธิหรือเสรีภาพของประชาชนเกินสมควรแก่เหตุตาม อันเป็นการขัด หรือแย้งต่อมาตรา ๒๖ ของรัฐธรรมนูญ (และขัด หรือแย้งต่อ มาตรา ๙ แห่ง พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ที่เป็นฐานอำนาจในการออกข้อกำหนดเองเสียด้วยซ้ำไป)

ภาครัฐต้องไม่ลืมว่า การมีภารกิจในการดูแลความสงบเรียบร้อย ซึ่งรวมถึงการมีหน้าที่ในการดูแลด้านสาธารณสุข หรือสุขภาวะของประชาชน (Public Health) นั้น ไม่ได้หมายความว่า เพื่อแก้ไขปัญหาข้างต้น จะส่งผลให้รัฐสามารถออกมาตรการใดๆ ขึ้นมาก็ได้ตามอำเภอใจโดยมิได้คำนึงการเคารพและพิทักษ์รักษาสิทธิเสรีภาพของประชาชนซึ่งก็เป็นอีกหน้าที่หลักหนึ่งของรัฐที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ด้วยเฉกเช่นเดียวกัน”

กำลังโหลดความคิดเห็น