ทีมพัฒนาแอปฯ Away Covid-19 ท้อ ถูกเฟกนิวส์โจมตี กล่าวหาเป็นแอปฯ 18 มงกุฏ ด้าน "หมอเอ้ก" ยันถึงล็อกดาวน์ เจ็บแต่อาจไม่จบ เหตุเตียงที่รองรับคนป่วยโควิดเกิน 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว บานปลายกว่านี้จะลำบาก แนะล็อกดาวน์ตัวเองในช่วงเวลาจำเป็น จะช่วยลดจำนวนตัวเลขผู้ติดเชื้อได้
กรณี Away Covid-19 แอปพลิเคชันที่ถูกพัฒนาโดยบริษัท แมพพิเดีย จำกัด สำหรับติดตามไทม์ไลน์สถานการณ์โควิดแต่ละวันผ่านแอปพลิเคชั่น Line กดปุ่มเข้าไปจะรู้ทันทีว่าตำแหน่งที่อยู่มีจำนวนผู้ป่วยหรือผู้ติดเชื้อเท่าไหร่ อยู่ในพื้นที่เสี่ยงหรือไม่ แต่ล่าสุดกลับมีประเด็นดราม่าเกิดขึ้น โดยมีคนโจมตีว่าแอปฯ ดังกล่าวเป็นแอปฯ 18 มงกุฏ เป็นแอปฯ มิจฉาชีพ หลอกเงินคน
รายการโหนกระแสวันที่ 6 ม.ค. 64 "หนุ่ม กรรชัย กำเนิดพลอย" ในฐานะผู้ดำเนินรายการ ผลิตในนามบริษัท ดีคืนดีวัน จำกัด ออกอากาศทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 12.35 น. ทางช่อง 3 กดเลข 33 เปิดใจสัมภาษณ์ ชิงชัย หุมห้อง, ชานนท์ กิจจารักษ์ และ ธีระยุทธ อินทร์จันทร์ ทีมพัฒนาแอปฯ Away Covid-19 ถึงประเด็นดราม่าที่เกิดขึ้น รวมทั้ง "นพ.คณวัฒน์ จันทรลาวัณย์" หรือ "หมอเอ้ก" ที่ปรึกษารัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข
ทีมพัฒนา Away Covid-19 เป็นแอปฯ หรือเปล่า?
ชิงชัย : "ถ้าจะเรียกสั้นๆ มันคือมินิแอปฯ ที่อยู่บนแพลตฟอร์มไลน์ ถ้าเรียกเป็นทางการก็คือเป็น Line Official Account"
ทำไมอยู่ดีๆ ทำแอปฯ นี้ขึ้นมา ไปเกี่ยวข้องกับภาครัฐมั้ย?
ชิงชัย : "ไม่ครับ ตอนแรกเราไม่ได้เกี่ยวอะไรกับภาครัฐ เริ่มต้นคือเรามีพัฒนามาตั้งแต่มี.ค.ปีที่แล้ว แต่ก่อนพัฒนาเราเข้าร่วมกิจกรรม NUX Line เป็นกิจกรรมที่ทางม. นเรศวรร่วมกับไลน์ไทยแลนด์ จัดขึ้นมาเพื่อให้ทีมผู้ประกอบการ ทีมนักศึกษา พัฒนาแอปฯ บนแพลตฟอร์มไลน์นั่นเอง เพื่อสร้างแอปฯ เข้าร่วมแข่งขัน เราก็เลยฟอร์มทีมกัน และพัฒนาแอปฯ ตัวนี้ขึ้้่นมา"
ทุนเอามาจากไหน?
ชิงชัย : "เราไม่ได้เริ่มต้นลงทุนอะไรเลย เพราะเราเอาไอเดียของเรามาสร้างขึ้นมา เดิมทีเรามีวิธีการทำเทคโนโลยีด้านแผนที่อยู่แล้ว การใช้พวกซอฟต์เวย์ระบบสนเท่ภูมิศาสตร์ เรามีความเชี่ยวชาญด้านนี้ และเราทำเทคโนโลยีด้านนี้ ก็อยากเอาไอเดีย อยากเอาข้อมูลที่มีอยู่ในตัวหนังสือรูปภาพมาแสดงบนแผนที่"
นี่คือจุดเริ่มต้นการทำแอปฯ ทีนี้ข้อมูลต่างๆ นานา ที่เข้าไปจะเจอตัวแดงๆ เป็นรูปคน นั่นคือคนที่ติด ถ้าเกิดเราไปคลิกตรงรูปคนจะปรากำว่าคนนี้คือใคร ติดที่ไหนยังไง ข้อมูลเหล่านี้เอามาจากไหน?
ชานนท์ : "เอาจากประกาศกระทรวงสาธารณสุขที่เขาประกาศไทม์ไลน์ผู้ป่วยในจังหวัด แล้วเอาชื่อสถานที่มาค้นหาตำแหน่ง นอกเหนือจากข้อมูลที่กระทรวงประกาศ เราจะไม่เอามาขึ้น เพราะข้อมูลไม่น่าเชื่อถือ เราพยายามเอาข้อมูลกระทรวงมาใส่เท่านั้น"
มีการติดต่อกับกระทรวงสาธารณสุขเองมั้ย?
ชิงชัย : "ตอนนี้เริ่มมีหน่วยงานภาครัฐเริ่มเข้ามาติดต่อ อยากจะลิงค์ข้อมูลกับเรา อยู่ในระหว่างนัดคุยกันอยู่"
ทำมานานหรือยัง?
ธีระยุทธ : "ทำมานายเกือบปี ตั้งแต่เดือนมี.ค. ปีที่แล้ว เกือบ 1 ปีแล้วครับ"
ทั้งสามคนที่ทำ ยังเรียนอยู่มั้ย เป็นใครจากไหน ทำไมต้องมาทำ?
ชิงชัย : "เราเรียนจบแล้ว เราจบม.นเรศวรทั้งหมด ผมจบภูมิศาสตร์ น้องจบไอที คอมพิวเตอร์ น้องอีกคนจบด้านวิจัย"
เอาความสามารถแต่ละคนมาร่วมกันผลิตขึ้นมา ให้ใช้ฟรี?
ชิงชัย : "ใช้ฟรี ไม่ได้ทำมาเพื่อขาย จริงๆ เราตั้งใจให้ใช้ฟรีตั้งแต่แรก โดยที่เรานำเสนอไอเดียกับ NUX Line ตอนนั้นเราเริ่มแค่จังหวัดเดียว พิษณุโลกก่อน พอจังหวัดด้านข้างอยากใช้ เราก็เลยทำทั้งประเทศไปเลย"
ข้อมูลเราร้อยเปอร์เซ็นต์หรือยัง การเข้าไปดูว่าจำนวนคนติดอยู่ตรงไหน จุดไหน หรือเอามาแค่ตามข่าว?
ชานนท์ : "เอามาแค่ที่กระทรวงประกาศครับ ถ้าไทม์ไลน์ไม่แจ้งเราก็ยืนยันตำแหน่งไม่ได้"
มีคนออกมาบอกว่าแอปฯ นี้เป็นแอปฯ 18 มงกุฏ หลอกเอาเงินเขา คือยังไง ตัวเดียวกันมั้ย?
ธีระยุทธ : "ตัวนี้เป็นข่าวตั้งแต่เดือนมี.ค. ตอนมี.ค. คนใช้ 1.6 ล้าน มีข่าวนี้เข้ามาบอกว่าเราเป็นแอปฯ หลอกลวง เข้าไปแฮ็กข้อมูลเขาแล้วปลอมแแปลงเป็นคนๆ นั้นแล้วไปขอยืมเงิน ซึ่งไม่ใช่ความจริงเลย ตอนนั้นเราแถลงการณ์ไปหมดแล้ว เป็นเหมือนเฟกนิวส์โจมตีเรา ยืนยันครับ"
แจ้งความหรือยัง?
ธีระยุทธ : "แจ้งความแล้ว ตั้งแต่มี.ค. 63"
มุมภาครัฐก็มีแอปฯ แบบนี้?
หมอเอ้ก : "มีครับ ก่อนหน้านี้ที่เราใช้ทั้งชัยชนะ และปัจจุบันที่รณรงค์ให้ใช้กันคือหมอชนะ สามารถติดตามดูพื้นที่ได้ ซึ่งคงมีหลายแอปฯ ที่เข้าใจว่าจุดประสงค์หรือที่อยู่เบื้องหลังคงอยากช่วยติดตามกลุ่มเสี่ยงหรือคนติดเชื้อ ช่วยสอบสวนโรค คงมีหลายๆ อัน คราวนี้ตรงส่วนนี้อยู่ที่ว่าวัตถุประสค์ของแต่ละแอปฯ คืออะไร อย่าง Away Covid-19 ผมเพิ่งทราบข้อมูลจากตรงนี้ ก็ยินดีอยู่แล้วถ้าหากตรงนี้จะช่วยมาติดตามผู้ที่สงสัยหรือเสี่ยงในการติดเชื้อ"
ไม่ได้มีมาตรการหรือกฎกระทรวงห้ามทำแบบนี้ ข้อกฎหมายมาบล็อกห้ามทำ ไม่มี?
หมอเอ้ก : "ไม่มีหรอกครับ ใครอยากช่วยเราก็ยินดีอยู่แล้ว แต่มีอยู่ประเด็นเดียว คือการช่วยเหลือต้องชัดเจนว่าส่วนไหนใครทำอะไร การมีมือมาช่วยเยอะไม่ได้หมายความว่าจะเป็นประโยชน์เสมอไป แค่นั้นเอง แต่ว่าใครก็ตามที่เข้ามาช่วยเหลือพวกเรา เราก็ยินดีรับอยู่แล้ว เพราะตอนนี้เราก็งานล้นมือ อีกข้อคือต้องรักษาข้อมูลประชาชนของผู้ที่เสี่ยง หรือมีความเสี่ยงติดเชื้อ ตรงนี้เป็นหลักมากกว่า"
ข้อมูลAway Covid-19 กับหมอชนะ หรือไทยชนะ ข้อมูลทุกอย่างควรต้องตรงกันไม่งั้นจะมีความสับสน ตรงนี้จะมีทางเชื่อมโยงกันยังไงได้บ้าง?
หมอเอ้ก : "จริงๆ แล้วก่อนหน้านี้ตั้งแต่ระบาดระลอกแรก มีการนั่งประชุมนั่งคุยกัน ว่าควรรวมหัวช่วยกัน ซึ่งพยายามที่ให้แต่ละฝ่ายเอาข้อมูลมาเชื่อมกัน อีกหน่วยงานหนึ่งที่ต้องให้ความสำคัญและเขาดำเนินงานเป็นหัวหน้านำมาตลอดคือกระทรวงดีอีที่ออกมาตรการต่างๆ ออกแอปฯ ต่างๆ เอามาใช้ แต่ต้องเข้าใจว่าข้อมูลมันเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ดังนั้นในหลังบ้านสาธารณสุขเองก็โกลาหลพอสมควร ดังนั้นตรงส่วนนี้ถ้ามีเทคโนโลยีเข้ามาช่วยเราก็ยินดีรับอยู่แล้ว"
ผมมีแอปฯ เหมือนกัน เราแอดไปในแอปฯ Away Covid-19 ผมอยู่ตีกมาลีนนท์ ตรงสีแดงๆ?
ชิงชัย : "อันดับแรกถ้าเราดูด้านบนซ้ายว่าเราอยู่ใกล้จุดเสี่ยง จุดเสี่ยงตรงนี้คือไทม์ไลน์ผู้ป่วย และจะเริ่มหายไปหลัง 14 วัน ครบแล้ว ตามประกาศกระทรวง"
ธีระยุทธ : "จุดกระพริบๆ คือจุดเสี่ยงที่กระทรวงประกาศ เห็นวันที่เท่าไหร่เวลาอะไร"
ขยายมาในวงแดงๆ ตรงพื้นที่ที่อยู่ มีโอกาสอยู่ในพื้นที่จุดเสี่ยงเหมือนกัน ต้องระวังไว้เวลาไปไหนยังไง ก่อนหน้านี้มีคนแดงๆ เต็มไปหมดเลย คนจะตกใจมั้ย?
ชิงชัย : "จริงๆ ตัวที่สังเกตได้คือตัววงกลม เราเริ่มต้นตรงรัศมีที่เราอยู่ปัจจุบัน 5 กิโลเมตร"
สมมติกดไปที่ตัวคนแดงๆ ก็จะขึ้นมาปึ้งๆ ผู้ป่วยรายที่ ไทม์ไลน์ บอกอยางนี้เลย มีทั้งหมดมั้ย?
ธีระยุทธ : "ไม่ทั้งหมดครับ"
จดลิขสิทธิ์หรือยัง?
ชิงชัย : "ก่อนเราพัฒนาก็มีสิ่งที่เราเคยวางไว้อยู่แล้ว แต่ตัวที่ไปจดเป็นสิทธิบัตรยังไม่ได้ทำ"
ทำไมไม่จด?
ชิงชัย : "แค่ตอนนี้ก็โดนด่าแล้ว"
ตั้งใจทำให้ดี ให้ประชาชนใช้กัน อยู่ดีๆ มีข่าวว่าแอปฯ ปลอม โดนหลอก โดนด่าเละเทะ ถอดใจมั้ย?
ชิงชัย : "ช่วงแรกปีที่แล้วเราถอดใจ เราก็รู้สึก เราคิดว่าเราตั้งใจทำอะไรอย่างนี้ ด้วยความที่เราถนัดด้านนี้ก็อยากช่วยเหลือสังคมส่วนหนึ่ง แต่ทีนี้ผลตอบกลับมา กลายเป็นว่าเราเป็นใครไม่รู้เพราะเราไม่มีชื่อเสียง ทำให้เขาไม่มั่นใจกับทีมเรา มันเป็นใคร หรืออะไรอย่างนี้"
ใครโจมตีเรา รู้มั้ย?
ชิงชัย : "เราระบุตัวไม่ได้ครับ เราไม่ทราบเลยครับ"
บางคนบอกว่าพอเข้าแอปฯ มันจะเข้าไปถึงข้อมูลโทรศัพท์ อันนี้จริงมั้ย?
ธีระยุทธ : "คือแอปฯ นี้อยู่บนไลน์ และเราล้วงข้อมูลจากไลน์ไม่ได้ ไลน์ไม่ให้ข้อมูลผู้ใช้งานอยู่แล้ว"
คุณผ่านเกณฑ์ทางไลน์ไป ไลน์ก็ต้องสแกนก่อนขั้นนึงว่าเป็นแอปฯ ถูกต้องมั้ย?
ธีระยุทธ : "ใช่ครับ"
เคยมีคนไหนไปขอเงินมั้ย?
ธีระยุทธ : "ไม่มีครับ ตอนนี้ยังไม่เจอกรณีแบบนั้นนะที่ทักไปขอเงิน"
คุณจะบอกว่ามีคนโจมตีคุณ?
ธีระยุทธ : "ครับ"
ตกลง 900 คนที่มีข่าวออกมาว่าโรงงานปลากระป๋องแห่งหนึ่งมีการตรวจเชื้อเองในโรงงาน มีคนติด 900 คน มีคนไทย 100 คน ล่าสุดทางบริษัทมีการออกจดหมายยืนยันว่าเขามีการกักตัว ทำรพ.สนาม ควบคุมตัวกัก 14 วันในโรงงาน ในส่วนผลิตภัณฑ์มีการแยกส่วนเลย ไม่ได้พัวพันเกี่ยวข้องกับปลากระป๋อง เขาปฏิบัติตามมาตรการสาธารณสุข ทีนี้คนตัวเลขเรื่องตัวเลข วันเดียว 900 คน แต่ทำไมประกาศออกมาไม่มี?
หมอเอ้ก : "ตัวเลขนี้คงเป็นตัวเลขรวม 900 คน ตัวเลขจริงๆ อยู่ในวันสองวันที่ผ่านมาที่ขึ้นหลักร้อย โดยรวมแล้วประมาณ 900 คน ที่รับรายงานมาเข้าใจว่าท่านอธิบดีคงมีการแถลงในวันนี้ตอนบ่าย เป็นตัวเลขสรุป ข่าวคงหลุดออกมาว่ามีทั้งสิ้น 900 คน จากโรงงานเอกชนแห่งหนึ่ง ซึ่งจริงๆ เห็นเราอาจเห็นไปแล้วจากบางส่วนในสองสามวันที่ผ่านมา ที่ตัวเลขขึ้นหลักร้อยคน"
จะบอกว่า 900 คน ยอมรับว่ามีติดจากโรงงานนี้ แต่เจอวันละเท่านี้ๆๅ?
หมอเอ้ก : "ใช่ครับ ตัวเลขทยอยออกมา"
ไม่ได้ปั้งเดียวเจอ 900 แล้วออกมาประกาศ?
หมอเอ้ก : "900 คงเป็นไปได้ยาก เพราะปัจจุบันเราตรวจแอ็กทีฟสกรีนนิ่ง หรือแอ็กทีฟหาเคส 900 เป็นตัวเลขสะสมมากกว่า ความชัดเจนเดี๋ยวกระทรวงสาธารณสุขจะมีการแถลงบ่ายนี้ แต่เบื้องต้นรับรู้มา 900 คือการสะสมของตัวเลขหลายๆ วันที่มีการแถลงไปแล้ว"
โรงงานนึงเจอ 900 คน ไม่ได้มีแค่โรงงานเดียว โรงงานอื่นมีการตรวจหรือยัง?
หมอเอ้ก : "กำลังไล่ตรวจหลายๆ ที่ ที่มีความเสี่ยง ภาพรวมไม่ใช่แค่โรงงานอย่างเดียว หลายที่ที่มีความเสี่ย ง ไม่ใช่แค่สมุทรสาคร อย่างเช่นเขต 6 หรีอภาคตะวันออกเราก็มีการเข้าไปสกรีนนิ่งมากขึ้น บางที่ก็มีเอกชนบางกลุ่มที่อยู่ในรายที่เป็นกลุ่มเสี่ยงก็ติดต่อเข้ามาว่าเขาอยากตรวจหาเชื้อเหมือนกัน ไม่ได้สุ่มหรือเจาะจงแค่บางโรงงานเท่านั้น"
มุมตัวเลขในการติดวันนี้ กระทรวงสาธารณสุขคาดมั้ยว่าจะขึ้นไปเป็นพันราย มีโอกาสมั้ยตัวเลขถีบมากขึ้นไปวันละพันกว่า?
หมอเอ้ก : "ถามแบบนี้ก็ต้องตอบว่ามีโอกาส ถามแบบนี้คำตอบมันกว้างมาก อยู่ที่มาตรการทางภาครัฐเอง และการประพฤติตัวประชาชนด้วย ต้องเรียนว่าไวรัสไม่ได้ลอยไปเอง มันไปพร้อมมนุษย์ที่เป็นคนพาเชื้อไวรัสไป ดังนั้นถ้าพวกเราไม่ช่วยกัน ร่วมมือกัน ในการดูแล ไม่เว้นระยะห่างทางสังคม ถามว่าเป็นไปได้มั้ย เป็นไปได้อยู่แล้ว ถ้าใช้ชีวิตปกติก็เป็นไปได้ แต่ถ้าหากเราล็อกดาวน์ตัวเองอยู่บ้าน ไปช่วงเวลาจำเป็นเท่านั้น หลีกเลี่ยงการพบผู้คนอยู่ในพื้นที่แออัด ผมคิดว่าตัวเลขนี้จะค่อยๆ ลดลง ช่วงสองสามวันที่ผ่านมามีกระแสเยอะ พอตัวเลขเยอะขึ้นประชาชนก็ตื่นตระหนกว่าจะไปถึงเมื่อไหร่ วัคซีนจะได้ถึงเมื่อไหร่ ล็อกดาวน์หรือไม่ ก็ต้องเรียนชี้แจงว่าถ้าวันนี้หากดูจำนวนเตียงที่เรามีทั่วประเทศเกือบ 2 หมื่น ที่รองรับโควิดทั่วประเทศ วันนี้อัตราการครองเตียงดูเคสสะสมก็ได้ประมาณ 1,500-1,600 ประมาณ 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นตัวเลขที่เพิ่มขึ้นทุกวัน แต่จริงๆ แล้วมันคือความสามารถในการรองรับเคสของระบบสาธารณสุขกับจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้น นั่นคือสิ่งสำคัญที่สุดที่ต้องดู"
"นั่นเป็นจุดแตกหักว่าเราจะรับไหวไม่ไหว วันนี้ถ้าหากลงลึกไปดูตัวเลขจริงๆ ทางภาคตะวันออก หรือเขตที่เรียนแจ้ง จะพบว่าจำนวนเตียงกับอัตราการครองเตียงตอนนี้เกิน 50 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว มีการเปิดรพ.สนาม ภาครัฐนำร่องโดยร่วมกับทางทหารเรือ ทหารบกก็แต่แล้ว ในค่ายที่เห็นในข่าวจะมีเตียงเข้ามา อัตราการครองเตียง รวมกับสมุทรสาคร มันเกิน 50 เปอร์เซ็นต์ไปแล้ว นี่คือเหตุผลทำไมรมช.สาธิต ถึงออกมาพูดว่าเราอาจต้องล็อกดาวน์แล้ว เนื่องจากกลุ่มคนที่เพิ่มขึ้น เราเริ่มตามไม่ไหวแล้ว แม้แต่เพื่อนผมเองที่เป็นแพทย์อยู่รพ.ที่ศรีราชา มีผู้ประกันตนประกันสังคมตามโรงงานเยอะมาก ณ วันนี้หน่วยที่ไม่เกี่ยวการติดเชื้อ เช่นศัลยกรรมกระดูกต้องผลัดกันอาทิตย์ละคนมาทำงานเพื่อไม่ให้คนใดคนหนึ่งติด ดังนั้นจุดแตกหักคือถ้าหากบุคลากรเราติดแล้วถูกควอเรนทีน จำนวนกำลังพลหรือทรัพยากรบุคคลจะลดลง ทีนี้คนที่มีปัญหาจะไม่ใช่แค่ผู้ป่วยโควิด แต่เป็นผู้ป่วยโรคอื่น ไส้ติ่งแตกบ้าง อุบัติเหตุบ้าง ที่มาแล้วจะไม่มีกำลังคนช่วยรักษา นี่คือเหตุผลว่าทำไมถึงต้องมีการเสนอให้ล็อกดาวน์ ผมคิดว่าทุกคนคงได้ยินข่าว ใครจะใช้คำพูดอะไรก๋ได้ แต่หลักการสำคัญ ณ วันนี้ คือในบริเวณที่มีความเสี่ยงสูง ต้องใช้คำว่าควบคุมระดับสูงสุดก็ตาม ต้องหยุดหรือลดการเคลื่อนตัวมนุษย์ที่เป็นพาหะเพื่อลดตัวเลขลง ดังนั้นที่พูดว่าเจ็บแล้วจบ มันอาจจะไม่จบนะครับ แต่การลดตัวเลข ลดเพื่อให้ความสามารถสาธารณสุขยังคงอยู่ได้ นี่คือจุดประสงค์"
"ผมขออนุญาตนำคำพูดหมอคนนึงที่พูดกันในโซเชียลมีดีย การล็อกดาวน์เราก็ทราบว่ามันมีผลเสียเยอะ ซึ่งผมก็เข้าใจคนที่ตัดสินใจ ถามว่าทำไมก่อนหน้านี้ไม่ล็อกดาวน์ก่อนปีใหม่ ให้หยุดคนเดินทาง หลังปีใหม่จะได้ใช้ชีวิตปกติ ก็มีเหตุผลทางเศรษฐกิจเข้ามาเกี่ยวข้อง ซึ่งผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญตรงนั้น แต่ก็เข้าใจว่ามันต้องบาลานซ์กัน ซึ่งการล็อกดาวน์เหมือนทุกคนก็รู้ มันเหมือนการปล่อยเงินกู้นอกระบบ ต้องเสียดอกเบี้ยแพงมาก เราอยู่อย่างนั้นไม่ได้ แต่การล็อกดาวน์ช่วงนึงจะช่วยลดจำนวนเคสที่เพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ให้บุคลากรหรือภาครัฐมีเวลาเตรียมตัว ช่วยทำให้เราสามารถควบคุมเคสที่ค่อยๆ เพิ่มขึ้น มากกว่าการกระโดดขึ้นมาได้ นั่นคือเหตุผล"
"ใครใช้คำว่าล็อกดาวน์ก็ไม่สำคัญหรอกครับ วันนี้มันอยู่ที่มาตรการที่ออกมา ณ วันนี้ถามว่ามาตรการมีอะไรบ้าง ณ วันนี้พื้นที่ควบคุมสูงสุด หนึ่งการเข้าออกอาจไม่สะดวกสบายเหมือนเมื่อก่อน มีด่าน มีการตั้งมาตรการกระทรวงสาธารณสุข มีการตรวจคัดกรองเชื้อ ฝ่ายความมั่นคงเขียนไว้ว่าใครมีรหมายจับต้องโดนล็อกตัว ต่างๆ พวกนี้ สองการออกไปข้างนอกโดยไม่จำเป็นคงไม่แนะนำ การเข้ามาต้องมีเหตุผลชัดเจนว่าเข้ามาเพราะเหตุผลอะไร มีความจำเป็นอย่างไร ย้ำอีกนิดว่าตรงส่วนนี้ ปัญหาทางนโยบายคือจะมีคนสูญเสียผลประโยชน์บนโต๊ะเสมออยู่แล้ว แต่เราจะช่วยเหลือเขาอย่างไร ดังนั้นตรงนี้จะมีการพิจารณาตลอดเวลา ฉะนั้นหน้าที่ในการล็อกดาวน์หรือหน้าที่เพิ่มระวังสูงสุด ก็เป็นหน้าที่ของศบค. ใหญ่ ฝ่ายมหาดไทยกับความมั่นคง สาธารณสุขของเรามีหน้าที่แนะนำว่า เรารับไหวได้ถึงเมื่อไหร่ เรามีทรัพยากร ความสามารถอีกเท่าไหร่"
ตอนนี้บางจังหวัด คนในท้องถิ่นไม่ยอมรับรพ.สนามเอาคนเป็นโควิดไปอยู่ใกล้ๆ จะแก้ปัญหายังไง?
หมอเอ้ก : "ตอบยาก อยู่ที่ความเข้าใจและการสื่อสารที่ต้องช่วยกัน โรคโควิดไม่ใช่อากาศลอยพัดมาโดนตัวเราแล้วจะเป็น อย่างที่ทราบกันดีมีการติดผ่านฝอยละออง อย่างมีข่าวบางคนไปแจ้งความ ไม่ให้มีรพ.สนาม ต้องนำเรียนว่าโรคระบาดไม่เลือกหรอกว่าจะติดเฉพาะคนสมุทรสาคร ไม่ติดคนราชบุรี ดังนั้นถ้าหากสมุทรสาครแตก หรือจังหวัดใดก็ได้แตก คนก็ต้องล้น ผู้ป่วยหรือผู้เสี่ยงติดเชื้อก็ต้องล้นไปอยู่จังหวัดข้างๆ อยู่แล้ว การเตรียมรพ.สนาม การเตรียมสถานที่ตรวจดูแลผู้ป่วยกลุ่มเสี่ยง เป็นการทำล่วงหน้าเพื่อไม่ให้มันแตกและล้นไปโดยไม่มีการควบคุม อยากให้เข้าใจอย่างนี้ ไม่ใช่ว่าคนไข้เยอะมาก จังหวัดนี้แล้วปล่อยล้นไปอีกจังหวัดเพื่อให้ไปรักษา มันไม่ใช่ เราตั้งรพ.สนามในค่ายทหารเพื่อรองรับผู้ป่วย หรือกลุ่มเสี่ยงที่จะล้นออกมาล่วงหน้า เราไม่ได้มองว่าโรคอยู่ที่ไหน แต่มองว่าโรคจะไหลไปทางไหน ณ วันนี้ สะเก็ดไฟกระจายไปทั่วเราก็ต้องมองล่วงหน้าว่ามันจะกระจายไปอย่างไร เราจะมารอเป็นแมววิ่่งไล่จับหนูแล้วดับไฟแต่ละที่ก็คงไม่ทัน"
แอปฯ จะพัฒนาต่อไป ตอนแรกหมดกำลังใจ โดนด่าแอปฯ 18 มงกูฏ ตอนนี้กำลังใจกลับคืนมาหรือยัง?
ชิงชัย : "กลับมาแล้วครับ ยืนยันว่าเราไม่ได้เป็นเหมือนที่เขาแอบอ้าง เราอยากให้คนใช้ฟรี"
ไลน์ส่งข้อความมาหาคุณ?
ชิงชัย : "เป็นพี่เลี้ยงหลายท่านมาช่วยแนะนำ สอนการทำโปรแกรมนี้ขึ้นมา และก็มีนักพัฒนาหลายๆ ท่านที่ไม่ได้พูดถึง เขาก็ให้คำแนะนำช่องโหว่ในการพัฒนาระบบ"
สุดท้ายอยากบอกอะไรคนไทย?
ธีระยุทธ : "สำหรับคนที่ยังไม่ได้ลองใช้งาน อยากให้ลองใช้ คุณจะทราบข้อมูลคนอยู่จุดเสี่ยงได้เลย ไม่ต้องสมัครไม่ต้องอะไรทั้งสิ้น แค่แอดเข้ามา"
หมอเอ้กอยากเตือนอะไร?
หมอเอ้ก : "ถ้าไม่อยากโดนล็อกดาวน์อีกรอบ เราชิงล็อกดาวน์ตัวเองก่อน ถ้าไม่มีความจำเป็นต้องออกจากบ้านก็ให้อยู่ที่บ้านเพื่อไม่ไปแพร่เชื้อต่อ แล้วการเสพข่าวก็ควรเสพจากทางการ ผมเชื่อว่าทุกคนมีความตั้งใจดีอยู่แล้ว อีกอันคือมาตรการต้องติดตามจากภาครัฐ ให้ชัดเจน"