xs
xsm
sm
md
lg

บันทึก ร.๖ หลังคณะทหารวัย ๒๐ คิดล้มเจ้าเป็นสาธารณรัฐ!ทุกระบบเป็นแค่ตัวอักษร ขึ้นอยู่กับคน!!

เผยแพร่:   โดย: สุวิชชา เพียราษฎร์



ในปี ๒๔๕๔ ที่พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวขึ้นครองราชย์ ได้เกิดเปลี่ยนแปลงทางการเมืองในประเทศจีน เมื่อ ดร.ซุนยัดเซ็น ได้เข้ายึดอำนาจล้มราชบัลลังก์กษัตริย์เม่งจู สถาปนาประเทศจีนขึ้นเป็นสาธารณรัฐ กลิ่นไอประชาธิปไตยก็โชยเข้ามาถึงเมืองไทย นายทหารหนุ่มกลุ่มหนึ่งซึ่งล้วนแต่อยู่ในวัย ๒๐ เศษ บางคนเพิ่งจบออกมาจากโรงเรียนนายร้อยอายุยังไม่ถึง ๒๐ ก็มี คิดจะเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทยให้เป็นสาธารณรัฐบ้าง และจะใช้วิธีรุนแรงสุดขั้วตามสไตล์คนหนุ่มที่ไม่คิดหน้าคิดหลัง ถึงขั้นจะปลงพระชนม์ ร.๖ โดยใช้วิธีจับสลากหาคนลงมือ แต่คนที่จับได้ซึ่งมียศร้อยเอกเกิดขวัญผวาไม่กล้าทำ ความเลยแตก ทำให้เกิดคดี “กบฎ ร.ศ.๑๓๐” ทั้งคณะ ๙๑ คนถูกจับ ศาลตัดสินลงโทษตั้งแต่ ๑๒ ปีจนถึงขั้นประหารชีวิต

แต่เมื่อคณะตุลาการศาลทหารได้นำคำพิพากษาขึ้นทูลเกล้าฯถวาย พระเจ้าอยู่หัวทรงมีพระมหากรุณาธิคุณให้ลดโทษลง คงมีผู้ต้องโทษจำคุกในคดีนี้เพียง ๒๓ คน และไม่มีใครได้รับโทษถึงตาย ส่วนอีก ๖๘ คนซึ่งเดิมลงโทษไว้ ๒๐ ปีถึง ๑๒ ปี ได้รับอภัยโทษทั้งหมด ทั้งยังไม่ถูกไล่ออกถอดยศด้วย

หลังจากนั้นราว ๑ เดือน ได้ทรงมีพระราชบันทึกในจดหมายเหตุรายวัน แสดงคุณและโทษของการจะเป็นสาธารณรัฐมีรัฐธรรมนูญไว้ว่า

“ถ้ามีผู้ต้องการ “คอนสติตูชั่น” จริงๆ และเปนไปได้จริงๆ จะเปนคุณอย่างใดหรือไม่ ถ้าแม้ต่างว่ามีคนอยู่จำพวก ๑ ซึ่งตั้งใจดีจริง มีความมุ่งดีต่อชาติดีจริง จะมาร้องฎีกาขึ้นโดยตรงๆ ขอให้มีคอนสติตูชั่น เราเองจะไม่มีความแค้นเคืองเลย ตรงกันข้ามเราจะยอมพิจารณาดูว่า จะสมควรยอมตามคำขอร้องของคนๆนั้นฤาไม่ ถ้ายิ่งมีคอนสติตูชั่นได้จะยิ่งดี เพราะเรารู้สึกอยู่แล้วเหมือนกัน ว่าการที่มอบการปกครองไว้ในมือเจ้าแผ่นดินคนเดียวเป็นผู้มีสิทธิ์ขาดนั้น ดูเปนการเสี่ยงบุญเสี่ยงกรรมอยู่ ถ้าเจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่มีสติปัญญาสามารถและและมีความตั้งใจมั่นอยู่ว่า จะทำการให้บังเกิดผลอันดีที่สุดแก่ชาติบ้านเมือง ฉนี้แล้ว ก็จะเป็นการดีที่สุด จะหาลักษณะการปกครองอย่างใดมาเปรียบปานได้โดยยาก แต่ถ้าแม้เจ้าแผ่นดินเปนผู้ที่โฉดเขลาเบาปัญญา ขาดความสามารถ ขาดความพยายาม เพลิดเพลินไปแต่ในความศุขส่วนตัว ไม่เอาใจใส่ในน่าที่ของตน ฉนี้ก็ดี ฤาเปนผู้ที่มีน้ำใจพาลสันดานหยาบดุร้ายและไม่ตั้งอยู่ในราชธรรม เห็นแก่พวกพ้องและบริวารอันสอพลอและประจบ ฉนี้ก็ดี ประชาชนก็อาจได้รับความเดือดร้อน ปราศจากความศุข ไม่มีโอกาสที่จะเจริญได้ ดังนี้จึงเห็นว่าเปนการเสี่ยงกรรมอยู่

ส่วนการที่มี “คอนสติตูชั่น” เป็นอันตัดความไม่แน่นอนไปได้มาก เพราะอำนาจมิได้อยู่ในมือคนเดียว ซึ่งถึงแม้จะดีฤาชั่วปานใดก็เปลี่ยนไม่ได้ ประชาชนได้มีเสียงในการปกครองบ้านเมืองตนเอง เสนาบดีผู้รับตำแหน่งน่าที่ปกครองก็รับผิดชอบต่อประชาชน จำเปนต้องทำการให้เปนไปอย่างดีที่สุดที่จะเปนไปได้ เพราะถ้าแม้ว่าทำการในน่าที่บกพร่อง ประชาชนไม่เปนที่ไว้วางใจต่อไป ก็อาจจะร้องขึ้นด้วยกันมากๆ จนเสนาบดีต้องลาออกจากตำแหน่ คนที่ประชาชนไว้วางใจก็จะได้มีโอกาสรับตำแหน่งรับน่าที่ ฯลฯ

ถ้าแม้จะกล่าวไปแต่โดยทางเปนแบบแผนดีฤาไม่ คงไม่มีใครเถียงเลย คงต้องยอมรับว่าดีทั้งนั้น แต่แบบอย่างใดๆ ถึงแม้ว่าจะดีที่สุดเมื่อเขียนอยู่ในกระดาษ เมื่อใช้จริงเข้าแล้วบางทีก็มีที่เสียหายปรากฏ ดังปรากฏอยู่แก่ผู้ที่ได้ศึกษาและรู้เหตุการณ์ที่เปนไปในนานาประเทศ เพราะเหตุหลายประการ”

ทรงบันทึกถึงวืธีการที่จะมีผู้แทนราษฎรในระบอบรัฐธรรมนูญนั้นว่า

“...จึงต้องใช้วิธีจัดรวมเป็นคณะ คือผู้ที่มีความเห็นพ้องกันในปัญหาสำคัญๆ รวมกันเข้าเป็นคณะฤาปาร์ตี้ เพื่อจะได้ช่วยกันลงความเห็นเหมือนๆกันมากๆในเมื่อเข้าประชุมสภา ดังนี้เปนที่ตั้ง ครั้นเมื่อจะมีการเลือกสมาชิกเข้ามาใหม่ ต่างคณะก็ย่อมจะต้องมีความประสงค์ที่จะให้ผู้มีความเห็นพ้องกับคณะของตนได้รับเลือก ต่างคณะจึงต่างจัดหาบุคคลอันพึงประสงค์ไปให้รับเลือก วิธีดำเนินอันถูกต้องตามกฎหมายนั้น คือแต่งสมาชิกแห่งคณะไปเที่ยวพูดจาเกลี้ยกล่อมราษฎรให้เห็นผลอันดีที่จะพึงมีมา โดยทางที่ให้คณะได้มีโอกาสทำการโดยสะดวก ถ้าความจริงเปนไปเพียงเท่านี้ ก็เปนอันไม่มีที่ติ

แต่ความจริงมิได้หมดอยู่เพียงแค่นี้ คือ การเกลี้ยกล่อมมิได้ใช้แต่เฉพาะทางเที่ยวพูดจา ไม่ได้ใช้ฬ่อใจราษฎรแต่ด้วยถ้อยคำเท่านั้น ยังมีฬ่อใจทางอื่นๆอีก ตั้งแต่ทางเลี้ยงดู จัดยานพาหนะให้ไปมาโดยสะดวกและไม่ต้องเสียทุนทรัพย์ จนถึงติดสินบนตรงๆเปนที่สุด คณะใดมีทุนมากจึงได้เปรียบอยู่มาก

ตกลงรวบรวมใจความว่า ราษฎรไม่ได้เลือกผู้แทนของตนเพราะรู้แน่ว่าเปนคนดี สมควรจะเปนผู้แทนตนด้วยประการทั้งปวง ฉนี้เลย ตามจริงเลือกบุคคลผู้นั้นผู้นี้เพราะมีผู้บอกให้เลือก ฤาติดสินบนให้เลือกเท่านั้น

เมื่อเปนเช่นนี้แล้ว ก็นับว่าผิดจุดมุ่งหมายเดิมของคอนสตูชั่นแล้ว คืออำนาจไม่ได้อยู่ในมือประชาชนจริงๆ แต่ไปอยู่ในมือแห่งคนส่วนน้อยแห่งชาติเท่านั้น

แต่ถ้าคนเหล่านี้มีความตั้งใจดีอยู่ และเป็นผู้ที่มีความรักชาติบ้านเมืองของตน ก็คงจะอุตส่าห์พยายามกระทำการงานไปตามน่าที่อันได้รับมอบไว้นั้นโดยสุจริต แต่ผู้ที่มีความคิดซื่อตรงต่อชาติฝ่ายเดียว ไม่คิดถึงตนเองฤาผลประโยชน์ของตนเองมีอยู่บ้างฤา

เข้าใจว่าถึงจะมีก็ไม่มากปานใด คนโดยมากถึงว่ารักชาติบ้านเมือง ก็มักจะคิดถึงประโยชน์ส่วนตัวเจือปนอยู่เป็นอันมาก คงจะมีความต้องการอำนาจและต้องการผลอันพึงมีมาแต่การเป็นผู้มีอำนาจ ต้องการโอกาศที่จะได้อนุเคราะห์แก่ญาติพี่น้องฤาคนชอบพอกันบ้างเปนธรรมดาอยู่”

อีกปัญหาหนึ่งก็คือการเปลี่ยนรัฐบาลบ่อยๆ ซึ่งทรงบันทึกไว้ว่า

“ในขณะเมื่อปาร์ตี้ใดได้รับน่าที่ปกครอง ฤาพูดตามศัพย์อังกฤษซ่า “ถืออำนาจ (อินเปาเวอร์)” ปาร์ตี้นั้นก็เลือกเอาแต่คนที่มีความเห็นพ้องกับตนไปตั้งแต่งไว้ในตำแหน่งน่าที่ในรัฐบาล เป็นทางรางวัลพวกพ้อง และที่ได้ไปช่วยเหลือปาร์ตี้ในเมื่อกำลังพยายามจะหาอำนาจอยู่นั้น พอเปลี่ยนปาร์ตี้ใหม่ได้เข้าถืออำนาจ เจ้าน่าที่ต่างๆก็เปลี่ยนไปด้วยทั้งชุด ตั้งแต่ตัวเสนาบดีลงไป การเปลี่ยนเจ้าน่าที่ทำการงานของรัฐบาลทั้งชุดเช่นนี้ ถ้ายิ่งเปลี่ยนบ่อยเท่าใดก็ยิ่งชอกช้ำมากเท่านั้น การงานก็อาจที่จะเสียหายไปได้มากๆ เพราะบางทีคนพวก ๑ ได้เริ่มคิดไว้แล้ว แต่ยังมิทันจะได้กระทำไปให้สำเร็จ ก็มีคนอื่นเข้ามารับน่าที่เสียแล้ว งานการก็เท่ากับต้องเริ่มริไปใหม่”

พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงมีพระราชบันทึกเรื่องนี้ในขณะที่เมืองไทยยังไม่มีรัฐธรรมนูญ และยังไม่มีการเลือกตั้ง ซึ่งก็เป็นประสบการณ์ที่ทรงเห็นมาในต่างประเทศขณะที่ไปศึกษาอยู่ถึง ๙ ปี แต่บัดนี้เวลาผ่านมากว่า ๑๐๐ ปี และประเทศไทยมีรัฐธรรมนูญมา ๘๗ ปีแล้ว การเมืองไทยก็ยังเหมือนที่พระราชบันทึกไม่มีผิด

การลงสมัครรับเลือกตั้งเป็นผู้แทนราษฎร คนที่มีความตั้งใจจะทำงานรับใช้ชาติและประชาชนด้วยความบริสุทธิ์ใจ ไม่สามารถลงสมัครด้วยตัวเองได้ เพราะรัฐธรรมนูญกำหนดให้สังกัดพรรค อีกทั้งการหาเสียงก็ต้องใช้เงินจำนวนมาก จึงต้องให้พรรคการเมืองเป็นนายทุน ที่ผ่านมา ๘๗ ปียังไม่เคยเห็นมีเศรษฐีคนไหนเอาเงินมาตั้งพรรคการเมืองเพื่อมุ่งสร้างความเจริญให้ประเทศ สร้างความเท่าเทียมกันในสังคม เห็นแต่ตั้งเพื่อหวังผลประโยชน์ทางธุรกิจของตนเท่านั้น และไม่ใช่ทุ่มเงินให้แค่หาเสียงเลือกตั้ง เมื่อได้รับเลือกเข้ามาแล้วยังมีเงินเลี้ยงดูกันเป็นรายเดือนอีก เพื่อให้คอยยกมือตามมติของนายทุนพรรค เลวร้ายยิ่งกว่านี้ ยังมีเงินจากรัฐบาลต่างประเทศมาสนับสนุน เพื่อให้สนองความต้องการทั้งด้านเศรษฐกิจและยุทธศาสตร์ ถือได้ว่าเป็นระบบอาณานิคมยุคใหม่ชัดๆ

เราจะทนทู่ซี้ให้เป็นเช่นนี้กันต่อไปหรือ คงไม่ได้อยู่ที่พรรคการเมืองแล้ว ต้องอยู่ในมือของคนที่มีสิทธิ์เลือกตั้งทุกคน และแน่นอนว่าไม่ใช่อยู่ที่ม็อบรับจ้างข้างถนน 

ท่อนหลังๆนี้เป็นแค่ “คำรำพัน” ของผู้เขียน ที่เห็นการเมืองมาเกือบตลอดอายุประชาธิปไตยไทย
คำว่า “รำพัน” พจนานุกรมอธิบายความหมายไว้ว่า พร่ำพูดด้วยความเศร้าโศกครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น