ดร.ธรณ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล เผยภาพของนักดำน้ำชาวไทย เป็นภาพกองหินบริเวณจุดดำน้ำอันดามันใต้ จ.กระบี่ ชาวเน็ตร้องว้าวสวยเกินบรรยาย และสภาพทะเลยังดีมาก ยกเป็นความงามจากอันดามันใต้ ในวันที่ทะเลสงบใส
วันนี้ (16 พ.ย.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านนิเวศทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ได้โพสต์ภาพ กองหินในทะเล จังหวัดกระบี่ ซึ่งมีความสวยงามมาก โดยระบุว่า “ทีมเพื่อนธรณ์ไปร่วมสำรวจจุดดำน้ำอันดามันใต้ รายงานว่า ใต้น้ำดี โดยเฉพาะหินม่วงหินแดงสวยมาก
หินม่วงหินแดงเป็นกองหินในทะเลกระบี่ อยู่ห่างฝั่งเกือบ 70 กิโลเมตร เป็นจุดดำน้ำแบบ SCUBA ที่ใช้คำว่า “ต้องแวะ” กองหินเล็กๆ เต็มไปด้วยปะการังอ่อน จนกลายเป็นชื่อ ซึ่งชื่อมาจากหลักวิทยาศาสตร์ง่ายๆ เมื่อแสงลงทะเลจะโดนดูดกลืนทีละช่วงคลื่น ไล่ลำดับตื้นไปลึก = แดง-เขียว-ฟ้า ยิ่งลงลึก ช่วงคลื่นสียิ่งหาย สุดท้ายเมื่อถึง 25 เมตร สีที่เหลือคือฟ้า เราถึงเรียกว่า “โลกสีคราม” หินม่วง-ลึกกว่า เหลือแสงน้อย ปะการังอ่อนเห็นเป็นดงทะมึนสีม่วงอมฟ้า หินแดง-ตื้นหน่อย แสงสีแดงยังเหลือ ปะการังอ่อนเป็นสีแดง ที่เด็ดไม่แพ้ปะการังอ่อนคือความหลากหลายของสรรพสัตว์ ดูในภาพคงเห็น ปะการัง กัลปังหา ฟองน้ำครก ดาวขนนก ฯลฯ ปลาเล็กก็มี ปลาฝูงก็มาก แมนต้าฉลามวาฬมาเป็นระยะ เคยดำน้ำกลางคืน เมื่อสมัยก่อน เจอกระเบนหลังดำตัวเป้งๆ ชนิดกางแขนสุดยังกว้างไม่พอ เธอเข้ามากินกุ้งมดแดง ห่อตัวบนฝูงกุ้งโชคร้าย วูบเดียวหมดฝูง 10-20 ตัว
โดย เป็นกองหินที่ต้องยกนิ้วให้ว่าต่อให้ไม่มีสัตว์ยักษ์เข้ามาก็ยังมหัศจรรย์ใจสั่นเต้นตุบ ถือเป็นตัวแทนความหลากหลายทางชีวภาพแห่งอันดามัน โดยเฉพาะอันดามันใต้ บอกได้ว่าติดกลุ่มท็อปทะเล รายงานจากเพื่อนธรณ์ สภาพทะเลยังดีมากไม่เจอลอบ มีเศษอวนชิ้นเล็กติดบ้าง ไม่มีผืนใหญ่ ตอนนี้ ยังสบายใจ แต่ตอนหน้าต้องคิดหน่อย เพราะยังมีแนวคิดโครงการ “คลองไทย” ที่ต้องมองให้รอบด้าน แม้ร่องน้ำจะไม่ออกมาถึงที่นี่ แต่เส้นทางเรือคงไม่ไกล จะสร้างไม่สร้าง ก็คงต้องดูความหมายของ “ยั่งยืน” และ “ความเสี่ยง” ขณะนี้ยังตอบไม่ได้ นักวิทยาศาสตร์ทางทะเลจะพูดด้วยข้อมูล ตอนหน้าเมื่อมีข้อมูลเพียงพอ จะเริ่มบอกเพื่อนธรณ์ ชื่นชมความงามจากอันดามันใต้ ในวันที่ทะเลสงบใสไปก่อนนะ”
คลิกชมโพสต์ต้นฉบับ