“กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เผยภาพเจ้าหน้าที่ดูแลวาฬเพชฌฆาตดำที่ลอยมาเกยตื้นบริเวณเกาะเตียบ อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยวาฬมีอาการน่าเป็นห่วง ไม่สามารถว่ายน้ำได้เอง ด้าน ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ โพสต์ให้กำลังใจทั้งเจ้าหน้าที่ที่ดูแลและวาฬเพชฌฆาตดำตัวดังกล่าว
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. เพจ “กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง” เผยภาพขณะที่เจ้าหน้าที่ดูแลวาฬเพชฌฆาตดำที่ลอยมาเกยตื้นบริเวณเกาะเตียบ อ.ปะทิว จ.ชุมพร วาฬมีอาการน่าเป็นห่วงยังอ่อนแรง และไม่สามารถว่ายน้ำได้เอง โดยผู้โพสต์ระบุว่า “อาการยังไม่ดีขึ้น วาฬเพชรฆาตดำเกาะเตียบ ชุมพร” วันที่ 15 พฤศจิกายน 2563 กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช.อ่าวไทยตอนกลาง ดูแลรักษาวาฬเพชรฆาตดำเกยตื้นบริเวณเกาะเตียบ อ.ปะทิว จ.ชุมพร โดยอาการวันนี้วาฬมีอาการอ่อนแรง ไม่สามารถว่ายน้ำได้เอง อัตราการหายใจอยู่ที่ 14-20 ครั้งต่อ 5 นาที อัตราหัวใจ 60-90 ครั้งต่อนาที สัตวแพทย์เจาะเลือดเพื่อส่งตรวจสุขภาพ และให้สารน้ำ น้ำตาล และวิตามินทางเส้นเลือด ทั้งนี้ใช้อวนล้อมรอบบริเวณที่รักษาวาฬอยู่ และจัดเวรยามเฝ้าติดตามอาการอย่างใกล้ชิด”
ล่าสุด วันนี้ (16 พ.ย.) เฟซบุ๊ก “Thon Thamrongnawasawat” หรือ ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ นักวิชาการด้านทะเลและสิ่งแวดล้อม และอาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โพสต์ให้กำลังใจเจ้าหน้าที่ที่ดูแลรักษาวาฬเพชฌฆาตดำตัวดังกล่าวโดยระบุว่า “ส่งกำลังใจให้น้องวาฬเพชฌฆาตดำที่เกาะเตียบ ชุมพร วาฬยาว 4 เมตรเข้ามาเกยตื้นที่ปะทิวในวันที่ 14 พย. เจ้าหน้าที่กรมทะเล/อาสาสมัครช่วยกันพาน้องออกจากฝั่ง แต่วาฬอ่อนแรงจนกลับเข้ามาเกยตื้นอีกครั้ง ถึงตอนนี้ทีมงานช่วยกันสร้างจุดพยาบาลชั่วคราวกลางทะเล พยุงให้น้องพ้นน้ำ และให้น้ำเกลือ/สารอาหารเพื่อให้น้องแข็งแรงขึ้น
วาฬชนิดนี้พบทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน ตัวผู้ยาว 6 เมตร ตัวเมียยาว 5 เมตร อยู่รวมเป็นฝูง ในไทยมีการเกยตื้นอยู่บ้าง แบ่งเป็นการเกยตื้นเป็นฝูง เช่น เกาะราชา ปี 51 แต่ส่วนใหญ่ที่พบ เป็นการเกยตื้นตัวเดียว เนื่องจากป่วย/บาดเจ็บ/พลัดหลงจากฝูง ครั้งหลังสุดที่เกยตื้นแบบมีชีวิตคือที่พัทยา ในปี 62 การเกยตื้นแบบมีชีวิตของวาฬชนิดนี้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรอด แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามเต็มที่ แต่การรักษาวาฬป่วยไม่ใช่เรื่องง่ายเลย ส่งกำลังใจไปให้ผู้เกี่ยวข้องทุกท่าน ทุกคนทำดีที่สุดแล้ว ได้แต่หวังว่าน้องวาฬจะรอดครับ”