เพจเฟซบุ๊กกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) โพสต์วันนี้ (24 พฤศจิกายน 2563) รายงานการช่วยชีวิตวาฬเพชฌฆาตดำที่เข้ามาเกยตื้นบริเวณบ้านเกาะเตียบ อ.ปะทิว จ.ชุมพร ตั้งแต่วันที่ 14 - 23 พฤศจิกายน 2563 รวม 10 วัน ว่า กรม ทช. โดยศูนย์วิจัย ทช. อ่าวไทยตอนกลาง รายงานว่า วาฬมีอาการลอยเอียง และสำลักน้ำเป็นบางจังหวะ แต่วาฬพยายามขับน้ำออกมาทางปาก สัตวแพทย์ได้ปรับแผนให้ยาขับน้ำร่วมกับยาละลายเสมหะเพิ่มเติม ส่วนอัตราการหายใจอยู่ที่ ๕-๑๒ ครั้งต่อ ๕ นาที อัตราการเต้นหัวใจ ๖๐-๘๐ ครั้งต่อนาที ยังคงให้อาหารทางสายยาง ผลการตรวจเลือดพบว่าวาฬมีภาวะเครียดและกล้ามเนื้ออักเสบ จึงให้ยาซึมและยาแก้การอักเสบ นอกจากนี้ ยังพบพยาธิใบไม้ปนมากับเสมหะ จึงเก็บตัวอย่างเพื่อระบุชนิดพยาธิต่อไป ทั้งนี้ มีการจัดเวรเฝ้าระวังอาการอย่างต่อเนื่อง
ชมคลิป การให้สารน้ำ ยา และอาหารทางสายยาง เมื่อวันที่18 พย.2563
https://www.facebook.com/DMCRTH/videos/455507242096809
สำหรับข้อมูลเกี่ยวกับวาฬเพชฌฆาตดำ “ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์” นักวิทยาศาสตร์ทางทะเล และรองคณบดี คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ เคยให้ไว้ว่า วาฬชนิดนี้พบทั้งในอ่าวไทยและอันดามัน ตัวผู้ยาว 6 เมตร ตัวเมียยาว 5 เมตร อยู่รวมเป็นฝูง ในไทยมีการเกยตื้นอยู่บ้าง แบ่งเป็นการเกยตื้นเป็นฝูง เช่น เกาะราชา ปี 51 แต่ส่วนใหญ่ที่พบ เป็นการเกยตื้นตัวเดียว เนื่องจากป่วย/บาดเจ็บ/พลัดหลงจากฝูง ครั้งหลังสุดที่เกยตื้นแบบมีชีวิตคือที่พัทยา ในปี 62 การเกยตื้นแบบมีชีวิตของวาฬชนิดนี้ ส่วนใหญ่ไม่ค่อยรอด แม้เจ้าหน้าที่จะพยายามเต็มที่ แต่การรักษาวาฬป่วยไม่ใช่เรื่องง่าย