ผู้จัดการสุดสัปดาห์ - แวดวงสิ่งแวดล้อมออกมาย้ำเตือน “สายบุญ” อย่าหาทำ! หยุดคิดหยุดซื้อ “ปลาดุก” ในตลาดหรือบ่อเลี้ยง เพื่อนำไปปล่อยสู่แม่น้ำลำคลอง ไม่เพียงไม่ได้บุญไม่ช่วยสเดาะห์เคราะห์แคล้วคลาด ยังบาปมหันต์เป็นต้นตอทำให้เกิดการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์สัตว์น้ำท้องถิ่นของไทย
เรียกว่าวิกฤตการณ์ “เอเลี่ยนสปีชีย์” บุกระบบนิเวศน์เมืองไทยยังคงแผ่ขยายยากที่จะควบคุม โดยเฉพาะกรณีปลาเอเลี่ยนอย่าง “ปลาดุกบิ๊กอุย” ที่สายบุญนิยมนำมาปล่อยสู่แม่น้ำลำคลองนับเป็นมหันตภัยร้ายแรงต่อระบบนิเวศน์ เพราะการรุกรานของปลาเอเลี่ยนสปีชี่ย์ส่งผลกระทบต่อสัตว์น้ำท้องถิ่นรุนแรงถึงขั้นสูญพันธุ์
สำหรับ เอเลี่ยนสปีชีส์ (Alien Species) หมายถึงสัตว์สายพันธุ์ต่างถิ่นที่นเข้ามาแพร่ระบาดรุกรานจนสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศน์ในไทย บางสายพันธุ์มีความแข็งแรงจนสามารถยึดครองพื้นที่ ทำให้สัตว์สายพันธุ์เดิมสูญพันธุ์ ตลอดจนส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ ตลอดจนสุขอนามัยของมนุษย์
โดยเฉพาะ “ปลาดุกบิ๊กอุย” ตัวใหญ่ กินจุ กินไม่เลือกชนิดที่ “กินล้างกินผลาญ” อาหารหลักของเป็นพวกมันคือ ลูกปลา กุ้ง หอย ปู สัตว์น้ำขนาดเล็กต่างๆ ทั้งนี้ “ปลาดุกบิ๊กอุย 1 ตัน กินสัตว์น้ำประมาณ 1.8 ล้านตัวต่อปี” นับเป็นจำนวนมหาศาล
ฉะนั้น หากสายบุญนำ “ปลาดุกบิ๊กอุย” ไปปล่อยสู่น่านน้ำย่านไหนย่อมส่งผลต่อระบบนิเวศในบริเวณอย่างร้ายแรง สัตว์น้ำท้องถิ่นที่ควรจะเติบโตตามวงจรธรรมชาติจะโดน “ปลาดุกบิ๊กอุย” เขมือบไม่เหลือซาก ปริมาณสัตว์น้ำท้องถิ่นบริเวณนั้นๆ จะลดลงอย่างรวดเร็ว
กล่าวสำหรับปรากฎการณ์ “เอเลี่ยนสปีชีย์” ได้รับความสนใจในสังคมอีกครั้ง หลังจากนักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Nonn Panitvong เกี่ยวกับการปล่อยปลาอย่างไรให้ได้บุญ เนื่องจากผู้คนยังนิยมทำบุญด้วยการปล่อยปลาดุก
ในส่วนความเป็นมาของปลาดุกบิ๊กอุยนิยมเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหาร “ปลาดุกบิ๊กอุย” เป็น “ปลาดุกลูกผสม” ที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุยของไทย ลูกปลาที่เกิดมามีชื่อเรียกทางการค้าว่า “ปลาดุกบิ๊กอุย” ลักษณะเป็นปลาที่โตเร็ว เนื้อรสชาติดีพอสมควร โดยวัตถุประสงค์สำหรับการบริโภค ทว่า ปัจจุบันกลับมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุยไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติเพื่อทำบุญ โดยหารู้ไม่ว่าการกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ อย่างรุนแรง
“สรุปด้วยสมมติฐานดั้งเดิมว่า การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ปลาหายาก หรือ ปลาท้องถิ่น ลองนึกภาพ อยู่ในบ้านดีๆ ก็มีใครไม่รู้เอาเสือ เอาสิงโต มาปล่อยลงไปในหมู่บ้านคุณเพื่อทำบุญ โดยคุณไม่มีทางที่จะสู้” ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด ระบุ
ด้านนักวิทยาศาสตร์ทางทะเล ผศ.ดร.ธรณ์ ธำรงนาวาสวัสดิ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิทยาศาสตร์ทางทะเล คณะประมง มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ อธิบายว่าปลาดุกเป็นปลาที่กินไม่เลือกยิ่งปลาดุกบิ๊กอุยที่มีขนาดใหญ่ กินจุ โตไว นิยมเลี้ยงไว้เพื่อขาย ความที่ตัวใหญ่กว่าปกติจึงแทบไม่มีปลาที่มีขนาดใหญ่กว่าตามธรรมชาติมากิน หากนำปลาดุกจำพวกนี้ไปปล่อยลงในแม่น้ำลำคลอง ย่อมทำให้เกิดปัญหา รุนแรงต่อระบบนิเวศน์ตามมา
หากมีความประสงค์ทำบุญปล่อยปลาต้องศึกษาข้อมูลเสียก่อน ไม่ใช่เชื่อคำโพนทะนางชวนงมงายเพียงอย่างเดียว ซึ่งการปล่อยสัตว์น้ำต้องพิจารณา 4 ข้อสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงผลกระทบต่อระบบนิเวศ คือ 1. ปลาเล็ก 2. ปลากินพืช 3. ปล่อยครั้งละน้อยๆ และ 4. เลือกปล่อยปลาท้องถิ่น
ไม่เพียงเท่านั้น ยังเกิดสถานการณ์เกษตรกรผู้เลี้ยงปลาดุกในจังหวัดแห่งหนึ่ง ประสบผลกระทบหลังโควิด-19 แพร่ระบาด จับปลาดุกบิ๊กอุยส่งไปขายไม่ได้ จำใจเลี้ยงไว้ต่อจนโตเกินขนาด “โอเวอร์ไซส์” แถมเปลืองอาหารหมดค่าอาหารหลายหมื่นบาท ประเด็นคือมีการวิงวอนผ่านสื่อให้ผู้ใจบุญซื้อปลายดุกบิ๊กอุยไปปล่อย เป็นการทำบุญ ซึ่งแท้จริงเป็นความเชื่อผิดๆ การปล่อยปลาชนิดนี้เป็นการทำลายระบบนิเวศ ส่งผลกระทบให้สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่างมาก ท้ายที่สุด ประมงจังหวัดฯ ยื่นมือช่วยเหลือกันจัดกิจกรรมนำปลาดุกบิ๊กอุยจัมโบ้จัดจำหน่ายในราคาจัดโปรโมชันเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรแทน
สำหรับ ปลาเอเลี่ยนสปีชีส์ ที่รุกรานแหล่งน้ำในเมืองไทย ไม่ได้มีเพียงแค่ปลาดุกบิ๊กอุย ยังมีอีกเป็นจำนวนมาก อาทิ ปลาช่อนอเมซอน ปลาซักเกอร์ ปลาหมอเทศ ฯลฯ ตลอดจนสัตว์น้ำต่างถิ่นอีกมากมาย อาทิ หอยเชอรี่ เต่าญี่ปุ่น กุ้งเครย์ฟิช ฯลฯ
ยกตัวอย่าง สถานการณ์ระบาดของ “ปลาหมอสีคางดำ” ที่มีแหล่งกำเนิดอยู่ที่ประเทศแอฟริกา ในบริเวณแหล่งน้ำธรรมชาติ อ.อัมพวา จ.สมุทรสงคราม ส่งผลต่อชาวบ้านที่เพาะพันธุ์กุ้งสร้างความเดือดร้อนอย่างมาก เพราะปลาหมอสีแย่งกินกุ้งเป็นอาหารจนหมด ส่วนที่มาของปลาเอเลี่ยนชนิดนี้คาดว่ามีคนนำเข้ามาเพื่อเลี้ยง แต่เกิดความเบื่อหน่ายจึงปล่อยลงสู่แหล่งธรรมชาติ
หรือกรณีการแพร่ระบาดของ “ปลาช่อนอเมซอน” ปลาต่างถิ่นจากอเมริกาใต้ ที่มีอุปนิสัยเป็นนักล่า เข้ามาในเมืองไทยเพราะเอามาเลี้ยงเป็นปลาสวยงาม สุดท้ายเล็ดลอดสู่แหล่งน้ำธรรมชาติด้วยเหตุสุดวิสัยหลุดจากบ่อเลี้ยงในช่วงน้ำท่วม ตลอดจนบางคนเลี้ยงแล้วเบื่อก็แอบปล่อย สร้างปัญหาต่อระบบนิเวศน์รุนแรง
กรมประมงเปิดเผยข้อมูลว่าในปัจจุบันประเทศไทยประสบปัญหาการรุกรานของสัตว์น้ำต่างถิ่น “เอเลี่ยนสปีชีส์” การที่สัตว์น้ำต่างถิ่นเหล่านี้หลุดรอดลงสู่แหล่งน้ำธรรมชาติจะเกิดผลเสียตามมาอย่างหนัก เพราะสัตว์น้ำต่างถิ่นแย่งพื้นที่อยู่อาศัยและแย่งอาหารของสัตว์น้ำพันธุ์พื้นเมือง รวมถึงอาจเป็นตัวนำเชื้อโรคและปรสิตชนิดใหม่ๆ มาแพร่กระจายในแหล่งน้ำได้ ทำให้สัตว์น้ำพื้นเมืองของไทยลดน้อยลง นำไปสู่การสูญพันธุ์ของพันธุ์สัตว์น้ำพื้นเมือง ส่งผลต่อความหลากหลายทางชีวภาพในแหล่งน้ำธรรมชาติ และเกิดความเดือดร้อนกับเกษตรกรในการดำรงชีพ นำไปสู่ความสูญเสียทางด้านเศรษฐกิจได้หากไม่มีระบบการป้องกันและควบคุมอย่างทันท่วงที
อย่างไรก็ดี กรมประมง ประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือให้ผู้ครอบครองสัตว์ต่างถิ่นที่ไม่ประสงค์จะเลี้ยงต่อ ให้นําส่งมอบให้หน่วยงานของกรมประมง อย่าปล่อยลงสู่แหล่งน้ำเด็ดขาด เพราะผิดกฎหมาย ตามมาตรา 65 และมาตรา 144 แห่งพระราชกำหนดการประมง 2558 จำคุกไม่เกิน 2 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 ล้านบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
ต้องบอกว่า การจัดการกับปัญหาหยุดวงจรการแพร่ระบาดของ “เอเลี่ยนสปีชีย์” เพื่อไม่ให้ไปทำลายสัตว์น้ำพื้นถิ่นของประเทศไทย นับเป็นความท้าทายของกรมประมงตลอดจนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
และสุดท้ายการทำบุญโดยการปล่อยปลา หากเพียงแต่หลงงมงายเชื่อตามที่บอกต่อๆ กันมา ทำนองว่าการปล่อยปลายชนิดนั้นได้ผลบุญกุลอย่างโน้นอย่างนี้ หากพลาดพลั้งปล่อยปลาเอเลี่ยนสปีชีย์สู่แหล่งน้ำ แทนที่จะได้บุญจะได้บาปมหันต์ติดตัวยันโลกหน้า