xs
xsm
sm
md
lg

“ดร.นณณ์” ชี้ “ปลานิล” ถึงจะเอเลียนสปีชีส์ แต่ก็เป็นแหล่งอาหารสำคัญ เติมเต็มแหล่งน้ำที่มีแต่ปลาชะโด

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด ระบุ แม้ปลานิลจะถือเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน แต่ก็เป็นแหล่งอาหารสำคัญของคนไทย เพราะก่อนหน้านี้ปลาชะโดเคยทำลายปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ปลาตะเพียนมาแล้ว แต่ปลานิลช่วยเติมเต็มช่องว่าง แต่แนะอย่าปล่อยลงสู่แหล่งน้ำอีก กังวลระบบนิเวศน์ของไทยถูกทำลายจากการสร้างเขื่อน ทำลายป่าริมน้ำ ฝาย ขุดลอก ถม ทำลายตลิ่งธรรมชาติ

วันนี้ (14 ส.ค.) เฟซบุ๊ก Nonn Panitvong ของ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ นักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด โพสต์ข้อความถึงกรณีที่มีการพาดพิงถึงปลานิลในโซเชียลมีเดียด้วยข้อความที่ทำให้เกิดความเกลียดชัง (Hate Speech) ระบุว่า ความแตกต่างระหว่างปลานิล กับปลาชะโด ซึ่งถือเป็นสิ่งมีชีวิตรุกรานต่างถิ่นก็คือ ปลาชะโดเป็นปลาที่มีการกระจายพันธุ์ดั้งเดิมอยู่ในประเทศไทย ซึ่งคนพาเคลื่อนย้ายไปได้ไม่ยาก พบทุกลุ่มน้ำยกเว้นสาละวินและกษัตริย์-สุริยะ สาเหตุหลักที่ปลาชะโดกลายเป็นปัญหากินปลาชนิดอื่นๆจนเหลือน้อยในหลายแหล่งน้ำ คือ ชะโดสามารถขยายพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำนิ่ง ขณะที่ปลาที่เป็นเหยื่อของปลาชะโดส่วนใหญ่ ไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำนิ่ง

แหล่งน้ำที่มีปัญหาปลาชะโด ส่วนใหญ่เป็นแหล่งน้ำปิด บ่อในหมู่บ้าน อ่างเก็บน้ำ เขื่อน ซึ่งเป็นแหล่งน้ำนิ่ง ปลาชะโดชอบแหล่งน้ำนิ่งที่เปิดโล่ง ต่างจากปลาช่อนซึ่งชอบแหล่งน้ำนิ่งที่รกกว่าชะโด ดังนั้น เขื่อน บ่อ อ่างเก็บน้ำต่างๆ ปลาชะโดชอบจะวางไข่เลี้ยงลูก ส่วนปลาที่เป็นเหยื่อปลาชะโดส่วนใหญ่ คือ ปลาชนิดที่มีเกล็ด อาทิ ปลาซิว ปลาสร้อย ปลาขาว ปลาตะเพียน ซึ่งต้องการทุ่งน้ำท่วมในการสืบพันธุ์ แต่จะไม่สามารถขยายพันธุ์ได้ในเขื่อน บ่อ อ่างเก็บน้ำ ไม่มีทุ่งน้ำท่วม หากหลงเข้าไปจะถูกปลาชะโดกิน หรือคนจับกินจนหมด

“ถ้าอยู่ในระบบนิเวศที่เป็นไปตามธรรมชาติชะโดมันไม่ใช่ปัญหาหรอก มันมีความสมดุลย์ของมัน ชะโดก็จะพอมีผู้ล่า มีนกน้ำที่มาคอยควบคุมประชากรได้บ้าง แต่ถ้าระบบนิเวศถูกทำลาย สร้างเขื่อน สร้างฝาย สร้างประตูน้ำ หรือเป็นบ่อน้ำนิ่งๆ ลึกๆ ตลิ่งชันๆ ไม่มีพื้นที่น้ำตื้น ไม่มีพืชน้ำ พืชชายน้ำเลย ปลาอื่นมันก็สืบพันธุ์ไม่ได้ ไม่มีที่หลบภัยใดๆ ก็เสร็จปลาชะโดหมด ดังนั้น ถ้าอยากได้ระบบนิเวศที่พออยู่ร่วมกันได้ อย่างน้อย ในบ่อควรมีพื้นที่น้ำตื้น ให้ปลาอื่นได้หลบภัย พอทำรังวางไข่ได้บ้าง แต่ถ้าเป็นบ่อเฉยๆ นี่เสร็จชะโดหมดแน่นอน” ดร.นณณ์ กล่าว

ส่วนปลานิลนั้น จัดเป็นสิ่งมีชีวิตชนิดพันธุ์ต่างถิ่นรุกราน (Invasive Alien Species) ที่มาจากนอกเขตการกระจายพันธุ์ตามสัตวภูมิศาสตร์เดิม ถูกนำเข้ามาโดยมนุษย์ สามารถขยายพันธุ์ได้ด้วยตัวเอง ปลานิลต่างกับปลาดุกบิ๊กอุย เพราะปลานิลอยู่มานานมากแล้ว กระจายพันธุ์ไปทั่วประเทศ สิ่งมีชีวิตรุกรานต่างถิ่นที่อยู่และขยายพันธุ์ เอาออกให้หมดยากมาก ทั่วโลกมีอยู่ไม่กี่ตัวที่กำจัดได้หมด และต้องเป็นพื้นที่ระบบปิดด้วย

ขณะเดียวกัน ปลานิลขยายพันธุ์เองได้ หยุดปล่อยไปตอนนี้ก็ไม่ได้ช่วยอะไรขึ้นมา เพราะมีอยู่แล้วทุกแหล่งน้ำ ต่างจากปลาดุกบิ๊กอุยที่ขยายพันธุ์ไม่ได้ เป็นหมัน ถ้าหยุดปล่อยปลาดุกบิ๊กอุยได้ อีกไม่กี่ปี ปลาที่ปล่อยไปแล้วแก่ตายไปก็จบ การรณรงค์ให้หยุดปล่อยปลาดุกบิ๊กอุย จะส่งผลให้ปลาดุกบิ๊กอุยหมดไปจากธรรมชาติได้ ในแหล่งน้ำนิ่ง ไม่มีพืชน้ำ ไม่มีทุ่งน้ำท่วม ที่มีปัญหาอย่างปลาชะโดนั้น ปลาท้องถิ่นไทย มีอยู่ไม่กี่ชนิดที่สามารถขยายพันธุ์ได้ แต่ปลานิลขยายพันธุ์ได้ในแหล่งน้ำปิด จึงเป็นหนึ่งในแหล่งอาหารสำคัญของคนที่มีต่อไปได้เรื่อยๆ ซึ่งถือว่ามีประโยชน์ และเติมเต็มช่องว่างหนึ่งที่สัตว์ไทยทำไม่ได้

“คือถ้าถามว่าควรจะปล่อยปลานิลไหม ผมก็จะบอกว่าอย่าปล่อยแหล่ะ แต่ถามว่าไม่ปล่อยวันนี้แล้วจะช่วยให้ปลานิลลดลงไหม ก็คงไม่...ประเทศไทยโชคดี คนไทยโชคดีที่เกิดมาในส่วนของโลกที่มีความหลากหลายทางชีวภาพสูงมากแห่งหนึ่งของโลก ความหลากหลายนี้ ทำให้ระบบนิเวศของเรามีความยืดหยุ่นสูง เรามีเอเลี่ยนเพิ่มเข้ามา 10-20 ชนิดในแหล่งน้ำบ้านเรา ระบบนิเวศเราก็พอรับได้ ปลาเค้าก็พอจะปรับตัวอยู่ร่วมกันได้ มันจะไม่พังไปเลยเหมือนในบางระบบที่มันมีความยืดหยุ่นน้อยกว่า เอาจริงๆ ก็คือในระบบนิเวศที่สมบูรณ์และหลากหลายอย่างบ้านเรา สัตว์ต่างถิ่นจะแทรกแซงเข้าไปได้น้อยมาก ปลาซัคเกอร์เจอเยอะตามแหล่งน้ำปิดหรือแหล่งน้ำเน่า คลองที่มีประตูน้ำ น้ำไหลถ่ายเทไม่เป็นไปตามธรรมชาติ ไม่ได้มีเยอะแยะในแม่น้ำที่มีระบบนิเวศดีๆ ปลานิลก็เจอตามแหล่งน้ำปิดนิ่งมากกว่า” ดร.นณณ์ กล่าว

ดร.นณณ์ กล่าวว่า แม้ระบบนิเวศในประเทศไทยมีความหลากหลายสูง เทียบกับบางพื้นที่ซึ่งเปราะบาง ระบบนิเวศบนเกาะบางเกาะ เช่น ฮาวายที่ไม่เคยมียุง หรือเกาะกวมที่ไม่เคยมีงู สัตว์พวกนี้ไปโผล่ตรงนั้นระบบนิเวศก็พังไปหมด แต่อย่าประมาท เพราะความหลากหลายทางชีวภาพ กำลังลดลงเรื่อยๆ ระบบนิเวศที่สมบูรณ์ สามารถที่จะทนการรบกวนได้ แต่ระบบนิเวศที่ถูกทำให้อ่อนแอลงจากการทำลายอย่างการสร้างเขื่อน ทำลายป่าริมน้ำ ฝาย ขุดลอก ถม ทำลายตลิ่งธรรมชาติ โดยไม่คำนึงถึงการเป็นระบบนิเวศของแหล่งน้ำเช่นในปัจจุบัน จะทำให้ระบบนิเวศน์ของไทยอ่อนแอลงและถูกรุกรานทำลายได้ง่ายยิ่งขึ้น

“เราคนไทยคุ้นเคยกับคำว่า “ในน้ำมีปลา ในนามีข้าว” ผมเห็นเราเดือดร้อนนะเวลาเราเสียแชมป์การส่งออกข้าวให้ประเทศอื่น ผมเห็นเรารักและให้เกียรติชาวนาเป็นกระดูกสันหลังของชาติ ในนาเราต้องมีข้าว แล้วประโยคแรกหล่ะ? เราห่วงกันไหมว่าสักวันในน้ำจะไม่มีปลา?” ดร.นณณ์ กล่าวทิ้งท้าย


ข้อมูลจากกรมประมง ระบุว่า ปลานิล เป็นปลาที่ได้รับความนิยมอย่างแพร่หลายในหมู่ประชาชนชาวไทย มีต้นกำเนิดมาจากพันธุ์ปลา Nile tilapia จำนวน 50 ตัว ซึ่งสมเด็จพระจักรพรรดิอากิ ฮิโต เมื่อครั้งทรงดำรงพระอิสริยยศมกุฏราชกุมารแห่งประเทศญี่ปุ่น ได้น้อมเกล้าน้อมกระหม่อมถวายแด่พระบาทสมเด็จพระมหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร เมื่อวันที่ 25 มี.ค. 2508 ก่อนที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลี้ยงไว้ในบ่อที่สวนจิตรลดา พระราชวังดุสิต จนแพร่ขยายพันธุ์เป็นจำนวนมาก

ปลาชนิดนี้เจริญเติบโตดี เลี้ยงง่าย และเนื้อมีรสชาติดี เหมาะที่จะเป็นแหล่งอาหารโปรตีนที่สำคัญของประชาชนทั่วไป จึงพระราชทานปลาที่เพาะเลี้ยงจากสวนจิตรลดาจำนวน 10,000 ตัว แก่กรมประมง เมื่อวันที่ 17 มี.ค. 2509 เพื่อขยายพันธุ์และแจกจ่ายแก่ประชาชนเพื่อนำไปเลี้ยงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ และพระราชทานชื่อปลาชนิดนี้ว่า “ปลานิล” ปัจจุบันปลานิลเป็นปลาที่นิยมบริโภคโดยทั่วไปในประเทศ และสามารถส่งออกนำรายได้เข้าประเทศมีมูลค่าถึงประมาณ 900 ล้านบาทต่อปี
กำลังโหลดความคิดเห็น