นารากร อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ออกมาโพสต์คลิปม้าป่วยและตายไปด้วยโรคกาฬโรคม้า ตัดพ้อประเทศไทยเป็นประเทศที่ผู้มีอำนาจไม่เคยมองเห็นคุณค่าของชีวิตสัตว์ วอนนายกรัฐมนตรีประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉิน ควบคุมโรคระบาดม้าจริงจัง ย้ำความเสียหายไม่แพ้โควิดที่คร่าชีวิตมนุษย์
เมื่อวันที่ 26 เม.ย. เฟซบุ๊ก “นารากร ติยายน” หรือ น.ส.นารากร ติยายน อดีตผู้ประกาศข่าวชื่อดัง ได้โพสต์ไว้อาลัยถึง ม้ามีชื่อว่ามีนา ซึ่งป่วยกาฬโรคม้าแอฟริกา และต้องจบชีวิตอย่างทรมาน โดยมีเนื้อหาโพสต์ว่า ขอไว้อาลัยให้ “มีนา” ลูกม้าแห่ง อเล็กซ์ฟาร์ม เจ้าติดเชื้อโรคระบาด กาฬโรคม้าแอฟริกา AHS เจ้าอดทนต่อสู้กับโรคอยู่ 2 วัน สุดท้ายเจ้าก็สิ้นใจ “มีนา” เจ้าไม่ผิดที่เกิดเป็นม้า แต่เจ้าผิดที่เกิดเป็นม้าในเมืองไทย เมืองที่ผู้มีอำนาจไม่เคยมองเห็นคุณค่าของชีวิตสัตว์ ลาก่อนนะ “มีนา” เราได้เจอเจ้าครั้งนึง ได้ลูบหัวและกระซิบบอกให้เจ้าอดทนสู้กับโรค แต่พอเราจากมา เจ้าก็สิ้นใจในวันรุ่งขึ้น (รอดูคลิปต่อไป นาทีชีวิต ก่อนมีนาจะล้มลง และสิ้นใจตาย)
โดยหลังจากนั้น “ต๊ะ นารากร” ได้โพสต์คลิปนาที ที่ม้ามีนาหมดลมหายใจ โดยระบุโพสต์ว่า “คิดอยู่นานว่าจะเผยแพร่คลิปนี้ดีมั้ย? แต่มันคือความจริงที่ว่า โรคระบาดม้า กาฬโรคม้าแอฟริกา AHS ยังควบคุมไม่ได้ และยังมีม้าล้มตาย เพราะโรคระบาดนี้อยู่ทุกวัน
คลิปที่ 1 (เวลาประมาณ 1 ชม. ก่อนม้าจะล้ม) จะเห็นอาการบวมเหนือกระบอกตาม้า ดวงตาม้าเป็นสีแดงชัดเจน ม้ามีอาการหายใจหอบเหมือนสำลักน้ำ เดินไปมากระวนกระวาย
คลิปที่ 2 (ไม่กี่นาทีก่อนม้าจะสิ้นใจ) ม้ามีอาการหายใจหอบถี่ และรุนแรงขึ้น กระวนกระวายหนักขึ้น สุดท้ายล้มลง
คลิปที่ 3 เมื่อม้าล้มลง ขาทั้ง 4 ตะกายไปมาในอากาศ หายใจไม่ออก จนสิ้นลมหายใจไปในที่สุด
ขอเรียกร้องให้ ท่านนายกรัฐมนตรี ประกาศ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ ควบคุมโรคระบาดม้าทั่วประเทศ เพราะโรคนี้รุนแรงไม่แพ้โควิด-19
โดยเมื่อวันที่ 25 เม.ย. เพจ “สืบจากข่าว” ก็ได้ออกมาตั้งข้อสังเกตถึงสาเหตุการตายของม้าในประเทศไทย โดยให้ข้อมูลว่าโรคกาฬโรคม้านี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทย คาดว่า ตัองมีคนนำเข้าสัตว์ป่าจากแอฟริกา และไม่ผ่านการกักกันโรคตามกฎระเบียบ ซึ่งทางกรมอุทยานแห่งชาติ ควรออกมาเปิดเผยรายชื่อผู้นำเข้าสัตว์ป่า และช่วยกันตรวจสอบว่า มีใครบ้างไม่ปฏิบัติตามสัญญาไซเตส โดยย้ำว่า เหตุการณ์ประหลาดที่เกิดขึ้นกับฟาร์มม้าหลายแห่งเกิดจากโรคระบาดม้า ทำม้าไทยตายเกลื่อน ซึ่งขนาดม้าที่ว่าแข็งแรง ถ้าติดเชื้อจะ ล้มตายภายในไม่กี่วัน ภายใน 1-2 วันแทบจะร้อยเปอร์เซ็นต์
โดยเผยรายละเอียดและข้อมูลจำนวนม้าที่ล้มตายดังนี้ - วันที่ 27 มีนาคม 2563 พื้นที่อำเภอปากช่อง จังหวัดนครราชสีมา เบื้องต้นพบมีม้าแข่งล้มตายอย่างน้อย 42 ตัว
- วันที่ 28 มีนาคม 2563 การระบาดเริ่มเกิดขึ้นในฟาร์มม้าชื่อดังจำนวน 11 แห่ง ในเขต ต.ขนงพระ ต.หมูสี อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา มีม้าตาย 59 ตัว ล้มป่วยด้วยอาการไข้สูง ขอบตาบวมแดง หน้าตาบวม หายใจติดขัดเสียงดังก่อนเกร็งและตายในเวลา 24-48 ชั่วโมง
- วันที่ 29 มีนาคม 2563 มีรายงานว่า ที่ประจวบคีรีขันธ์ มีม้าตายจำนวน 6 ตัว ซึ่งเป็นม้าที่เลี้ยงไว้บริการนักท่องเที่ยวที่ชายหาดหัวหิน มีอาการซึมไม่กินอาหาร ปากบวม ลิ้นบวม เยื่อเมือกเป็นสีคล้ำ กล้ามเนื้อสั่น เดินเซ ไข้สูงในบางตัวและตายหลังจากแสดงอาการภายใน 2 วัน อาการดังกล่าว คล้ายกับที่เกิดขึ้น ที่อำเภอปากช่อง
- วันที่ 31 มีนาคม 2563 ม้าในฟาร์มพื้นที่อำเภอปากช่องตายเพิ่มเป็น 79 ตัว ซึ่งผลออกมาพบว่า ม้าที่ตายมีเชื้อโรคแอฟริกันฮอสซิกเนส (African Horse Sickness) หรือกาฬโรคแอฟริกา ในม้าอยู่ทุกตัว
- วันที่ 1 เมษายน 2563 มีการตายขยายวงกว้างของม้าออกไปไปแล้วรวม 109 ตัวในจำนวน 18 ฟาร์ม จากที่มีอยู่ 24 ฟาร์มในพื้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
- วันที่ 2 เมษายน 2563 ปศุสัตว์จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ยืนยัน ม้าที่ตายทั้งหมดในพื้นที่สาเหตุเกิดจากกาฬโรคแอฟริกาในม้าแบบเดียวกับที่ระบาดเขาใหญ่ ยอดตายในจังหวัดเพิ่มเป็น 10 ตัว
- วันที่ 16 เมษายน 2563 ชุมชนบ้านบ่อแขม อ.ชะอำ จ.เพชรบุรี ม้าตายเบื้องต้น 14 ตัวและคอกม้าในเพชรบุรี 126 ราย ม้าจำนวน 455 ตัว ลา 5 ตัว ไม่รวมม้าอีก 560 ตัวในสถานีเพาะเลี้ยงม้า สภากาชาดไทย เริ่มหวาดผวา ต้องกางมุ้งให้ม้าอยู่
จากไทม์ไลน์สถานการณ์ทั้งหมดทำให้เห็นว่า โรคดังกล่าวมีความรุนแรงมาก ม้าที่แข็งแรงหากติดเชื้อล้มป่วยก็จะตายในเวลาอันรวด และเริ่มขยายเป็นวงกว้างเรื่อยๆ และกรมปศุสัตว์ยืนยันยังไม่มีวิธีรักษา ยังไม่มีวัคซีนฉีดป้องกัน
ซึ่งสาเหตุการแพร่ระบาด เกิดจากการคาดการณ์ ของเจ้าของฟาร์มม้าหลายแห่งว่า “น่าจะเกิดจากเอกชนรายหนึ่ง นำม้าลายเข้ามาจากทวีปแอฟริกา และถูกส่งมาที่ฟาร์มม้าแห่งหนึ่งในพื้นที่เขาใหญ่ อำเภอปากช่อง เมื่อแมลงไปดูดเลือดม้าลาย ซึ่งเป็นสัตว์ต่างถิ่น และมาดูดเลือดของม้าในพื้นที่อำเภอปากช่อง ทำให้เกิดอาการป่วยและตายในเวลาอันรวดเร็ว คำถามคือว่า เอกชนดังกล่าวสามารถนำม้าลายเข้ามาเป็นจำนวนมาก และเกิดความบกพร่องในการตรวจควบคุมโรคได้อย่างไร