xs
xsm
sm
md
lg

ดร.นณณ์ วอนอย่าปล่อย “ปลาดุก” ทำบุญ ชี้ปลาดุก 1 ตัน สามารถกินสัตว์น้ำได้ถึง 1.8 ล้านตัวต่อปี

เผยแพร่:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นักวิชาการวอนอยากทำบุญด้วยการปล่อยปลา อย่าปล่อยปลาดุก ระบุปลาดุก 1 ตัน สามารถกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี ซึ่งปลาดุกปัจจุบันนั้นเป็นลูกผสมจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย หากนำมาปล่อยตามธรรมชาติจะส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศได้

วันนี้ (9 ส.ค.) เฟซบุ๊ก “Nonn Panitvong” หรือ ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบนิเวศน้ำจืด ออกมาโพสต์รณรงค์วอนหากอยากทำบุญด้วยการปล่อยปลา อย่าปล่อยปลาดุกเนื่องจากอ้างข้อมูลว่า ปลาดุก 1 ตัน สามารถกินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี โดยเผยรายละเอียดว่า “คำนวณผลกระทบของปลาดุกปล่อยต่อระบบนิเวศ สรุปสำหรับใครที่ขี้เกียจอ่าน ปลาดุก 1 ตัน กินสัตว์น้ำประมาณ 1,800,000 ตัวต่อปี โดยปลาดุกที่นิยมเลี้ยงเพื่อนำมาเป็นอาหารในปัจจุบันในประเทศไทย เป็นปลาดุกลูกผสมที่เกิดจากปลาดุกยักษ์จากทวีปแอฟริกาและปลาดุกอุย ลูกปลาที่เกิดมาเป็นปลาลูกผสมที่ถือว่าเป็นชนิดพันธุ์ต่างถิ่น เรียกชื่อทางการค้าว่าปลาดุกบิ๊กอุย ได้ปลาที่โตเร็ว มีเนื้อดีพอสมควรและเป็นหมัน การใช้ประโยชน์คือนำมาบริโภคตามจุดประสงค์ที่ถูกเลี้ยงขึ้นมา ในปัจจุบันมีผู้นิยมนำปลาดุกบิ๊กอุยไปปล่อยในแหล่งน้ำธรรมชาติของประเทศไทยเพื่อทำบุญ แต่การกระทำดังกล่าว ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในพื้นที่นั้นๆ โดยผมจะขอยกตัวอย่าง ในกรณีที่ปลาดุกที่ถูกเลี้ยงมาในที่เลี้ยงด้วยอาหารสำเร็จรูปตลอดชีวิตสามารถปรับตัวหัดหาอาหารเองในธรรมชาติเป็น ไม่ถูกใครจับไปเสียก่อน ดังนี้

สมมติฐาน
ปลาดุกเป็นปลาที่กินทั้งพืชและสัตว์ สักครึ่งๆ 50:50
ปลาดุกกินอาหารวันละ 5% ของน้ำหนักตัว
ปลาดุกที่ปล่อยขนาดทั่วไปของตลาดประมาณ 3 ตัว/1 กิโลกรัม
ปลาดุกถูกปล่อยลงไปในแหล่งน้ำที่สมบูรณ์มีอาหารให้กิน

โจทย์
- นายบุญหนัก ต้องการปล่อยปลาดุก 1,000 กิโลกรัม คิดเป็นปลาดุกประมาณ 3,000 ตัว
- ปลาดุก 1,000 กิโลกรัม จะกินอาหารวันละ 50 กิโลกรัม (1,000*5%)
- ในอาหาร 50 กิโลกรัมนี้เป็นสัตว์ครึ่งหนึ่ง ดังนั้นคิดเป็นสัตว์น้ำหนักรวม 25 กิโลกรัม หรือ 25,000 กรัม (1 กก. = 1,000 กรัม)
- ปลาดุกตัวขนาดนี้ สัตว์น้ำท้องถิ่นอย่าง ลูกปลาบู่ ลูกปลาตะโกก ลูกปลาตะเพียน ปลาซิว กุ้งฝอย และ หอยขม ที่กินได้พอดีๆคำจะตัวประมาณ 2-3 เซนติเมตร ก็จะหนักไม่เกิน 5 กรัม ดังนั้น ปลาดุก 3,000 ตัว ที่นายบุญหนักปล่อยไปนี้ ถ้าต้องการมีชีวิตที่ดีก็ต้องกินสัตว์น้ำอื่นๆ ไปวันละ 5,000 ตัว (25,000/5) หรือปีละ 1,800,000 ชีวิต (5,000*360)
- อันนี้คำนวณแบบง่ายๆ ว่า ปลาดุกไม่ได้โตขึ้นด้วยนะ ในความเป็นจริงกินไปโตไปก็จะกินเยอะขึ้นเรื่อยๆ หรือถ้าระบบนิเวศแถวนั้นมันเสื่อมโทรมไปแล้ว ปลาดุกคุณหนูที่ถูกเลี้ยงดูมาอย่างดี จู่ๆ ถูกเอามาปล่อยให้สู้ชีวิตด้วยตัวเองหาอาหารกินไม่ได้ก็อาจจะอดตายไปอย่างทรมานก็เป็นไปได้เช่นกันครับ

สรุป ด้วยสมมติฐานดั้งเดิมว่าปลาดุกรอด การปล่อยปลาดุก 1 ตัน เราจะสูญเสียสัตว์น้ำท้องถิ่นไปประมาณ 1.8 ล้านชีวิตต่อปี ในจำนวนนี้อาจจะเป็นลูกปลาเศรษฐกิจ ที่ถ้าปล่อยให้โตไปก็จะเป็นอาหารของชาวบ้านได้อีก ในจำนวนนี้อาจจะเป็นปลาหายากที่ถ้ารอดไปก็จะสามารถไปสืบพันธุ์ต่อได้ ในจำนวนนี้มีปลาท้องถิ่นขนาดเล็กซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศอย่างปลาซิวที่จะเป็นอาหารของปลาท้องถิ่นขนาดใหญ่ต่อไป ทั้งหมดนี้เป็นสัตว์น้ำที่อยู่ของเค้าดีๆ ก็มีใครก็ไม่รู้เอาสัตว์ผู้ล่ามาปล่อยลงไปในบ้านเค้าเต็มไปหมด คือ ลองนึกภาพคุณอยู่ในบ้านของคุณดีๆก็มีใครไม่รู้เอาเสือ เอาสิงโตมาปล่อยลงไปในหมู่บ้านคุณเพื่อทำบุญ โดยคุณไม่มีทางที่จะสู้เลย ผมไม่ใช่ผู้เชี่ยวชาญเรื่องบุญบาปสักเท่าไหร่ อ่านแล้ว คิด วิเคราะห์ แยกแยะ กันนะครับว่าควรจะปล่อยไหม สาธุ Credit ภาพก็ตามในภาพเลยนะครับ”

ทั้งนี้ ปัจจุบัน ดร.นณณ์ ผาณิตวงศ์ เป็นนักวิชาการอิสระด้านระบบนิเวศน้ำจืด เป็นเจ้าของรางวัล ASEAN Biodiversity Heroes คนแรกของประเทศไทย และเป็นกรรมการบริษัท น้ำตาลนครเพชร จำกัดอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม โพสต์ดังกล่าวได้รับความสนใจจากชาวเน็ตมากมาย บางรายออกมาโต้แย้งข้อมูลดังกล่าว และมองว่า ส่วนตัวนั้นพบเจอปลาดุกในธรรมชาติได้น้อยสุด ปลาที่ร้ายและควรระมัดระวังในการปลอยลงธรรมชาติควรเป็นปลาดูดฝุ่น หรือปลาซัคเกอร์ โดยโพสต์ดังกล่าวมียอดแชร์กว่า 1,500 ครั้ง และกดไลก์อีกกว่า 800 ครั้งด้วยกัน




กำลังโหลดความคิดเห็น