เพราะสิ่งแวดล้อม เป็นรากฐานของชีวิตและลมหายใจของมนุษย์ หากป่าไม้ พื้นดิน ทะเล และระบบนิเวศของโลกเสียสมดุลไป แหล่งอาหารของมนุษย์ย่อมจะได้รับผลกระทบ รวมไปถึงสัตว์อื่นๆ บนโลกก็จะใช้ชีวิตลำบาก นี่คือสาเหตุที่ทั่วโลกมาประชุมกันเพื่อหาทางออก อันเป็นที่มาของ "วันสิ่งแวดล้อมโลก" 5 มิถุนายน ของทุกปี
ปีนี้ เจ้าภาพวันสิ่งแวดล้อมโลก คือ ประเทศกัมพูชา ภายใต้ธีม Celebrate Biodiversity ที่ตอนนี้มีความหลากหลายของพันธุ์นกเป็นอันดับหนึ่งของโลก มีความหลากหลายของกล้วยไม้, ผีเสื้อ, ปลาน้ำจืด และสัตว์เลื้อยคลานเป็นอันดับสองของโลก
ความหมายของคำว่า Biodiversity โดยรากศัพท์แล้วหมายความถึงความหลากหลายของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ยังพบกลุ่มคำในความหมายดังกล่าว เช่น Biological diversity หรือ Diversity เป็นต้น
ความหลากหลายทางชีวภาพ หมายถึง การมีชนิดพันธุ์ของสิ่งมีชีวิตหลากหลายชนิดมาอยู่ร่วมกัน ณ สถานที่หนึ่งหรือระบบนิเวศใดระบบนิเวศหนึ่ง ทั้งนี้เราสามารถจัดแบ่งความหลากหลายทางชีวภาพได้เป็น 3 ลักษณะ คือ
1. ความหลากหลายของชนิดพันธุ์ ( species diversity ) ของสิ่งมีชีวิต
2. ความหลากหลายของพันธุกรรม ( genetic diversity )
3.ความหลากหลายของระบบนิเวศ ( ecolosystem diversity )
ซึ่งความหลากหลายทั้ง 3 ลักษณะ มีความสัมพันธ์กันอย่างซับซ้อนในสภาพแวดล้อมและจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตอยู่ของสิ่งมีชีวิตบนโลก
ประวัติวันสิ่งแวดล้อมโลก (World Environment Day)
เนื่องจากธรรมชาติได้รับผลกระทบจากกิจกรรมของมนุษย์ และภัยธรรมชาติ ก็ทำให้ทั่วโลกได้ตระหนักเห็นความสำคัญของสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็น การประชุมสหประชาชาติเรื่องสิ่งแวดล้อมของมนุษย์ (UN Conference on the Human Environment) เมื่อปี พ.ศ. 2515 ที่ประเทศสวีเดน จุดเริ่มต้นครั้งนั้นได้รับความร่วมมือจาก 113 ประเทศทั่วโลก และมีผู้สังเกตการณ์ 1,500 คน จากหน่วยงานและองค์กรต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับสิ่งแวดล้อม จึงเกิดเป็นการลงนามข้อตกลงให้จัดตั้ง โครงการสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ (UNEP: United Nations Environment Programme) ที่ประเทศเคนยา และมีเว็บไซต์องค์กรหลัก คือ www.worldenvironmentday.global