สมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทยโอดโควิด-19 ซ้ำเติมสมาชิก 400 รายกระทบหนัก ออเดอร์ส่งออกวูบ แถมก่อนหน้าเจอนโยบายงดใช้ถุงพลาสติกในห้างขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อ ส่งผลคำสั่งซื้อหายไปจำนวนมาก รอลุ้นรัฐอนุโลมให้ห้างฯ กลับมาใช้ถุงพลาสติกความหนาเกิน 36 ไมครอน เพื่อรีไซเคิลแทนได้ มิ.ย.นี้
นายสมชัย เตชะพานิชกุล นายกสมาคมอุตสาหกรรมพลาสติกไทย เปิดเผยว่า ขณะนี้ผู้ประกอบการอุตสาหกรรมพลาสติกที่เป็นสมาชิกประมาณ 400 รายได้รับผลกระทบอย่างหนักทำให้ส่วนใหญ่ต้องหยุดการผลิตชั่วคราวเนื่องจากการแพร่ระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19 ) ส่งผลต่อความต้องการตลาดส่งออกลดลง ประกอบกับก่อนหน้านี้ผู้ผลิตบางส่วนได้รับผลกระทบจากนโยบายการงดใช้ถุงพลาสติกในห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อที่มีผลตั้งแต่ 1 ม.ค. 63
“มาตรการงดใช้ถุงพลาสติกของภาครัฐในห้างขนาดใหญ่และร้านค้าสะดวกซื้อส่งผลให้ห้างร้านงดคำสั่งซื้อในประเทศจนผู้ผลิตบางส่วนหยุดไลน์การผลิตเฉลี่ย 70% ก่อนหน้านี้ไปแล้วแต่บางส่วนที่เหลือก็ยังเดินหน้าไปได้เพราะมีคำสั่งซื้อจากต่างประเทศกรณีที่เป็นผู้ส่งออกแต่เมื่อโควิด-19 เข้ามาก็ยิ่งกระทบหนักเพราะตลาดส่งออกก็มีปัญหาเช่นกัน ขณะที่ทุกฝ่ายก็หวังว่าโควิด-19 จบเร็วธุรกิจก็ฟื้นกลับมาเร็วขึ้น” นายสมชัยกล่าว
ทั้งนี้ ผลจากไวรัสโควิด-19 ได้ส่งผลให้ประชาชนหันมาใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียวทิ้ง (Single Use) เพิ่มขึ้นซึ่งก็รวมถึงถุงหูหิ้ว ถุงใส่ขยะเพื่อความปลอดภัยในการป้องกันการแพร่เชื้อโรคและยังสะดวกสบายแต่หากเทียบกับห้างฯ ที่เป็นผู้ซื้อรายใหญ่ที่ลดลงไปก็ยังเทียบไม่ได้ และถุงพลาสติกที่ใช้อยู่ในขณะนี้ส่วนหนึ่งเป็นสต๊อกเดิมของยี่ปั๊ว อย่างไรก็ตาม ผลพวงดังกล่าวเป็นการตอกย้ำให้เห็นว่าพลาสติก Single Use ไม่ได้เลวร้ายเสมอไปแต่การจัดการขยะพลาสติกคือความยั่งยืนกว่าการงดใช้ ดังนั้นจึงคาดหวังว่ารัฐจะอนุโลมให้ห้างร้านต่างๆ สามารถใช้ถุงพลาสติกที่มีความหนาเกิน 36 ไมครอน (Multiple Use) ได้ซึ่งทางผู้ประกอบการค้าปลีกสมัยใหม่หรือโมเดิร์นเทรดก็ยอมรับในเรื่องนี้แล้ว
“ที่ผ่านมาร้านค้าต้องการลดต้นทุนจึงใช้ความหนาเพียง 10 กว่าไมครอน หรือที่ชาวบ้านเรียกถุงก๊อบแก๊บ เพราะบางแล้วเกิดปัญหาใช้แล้วทิ้งสร้างขยะพลาสติก ล่าสุดเราได้มีการหารือร่วมกับทั้งรัฐและโมเดิร์นเทรดถึงการงดใช้ถุงพลาสติกที่จะอนุโลมให้ใช้ได้ที่มีความหนาเกิน 36 ไมครอน เพื่อนำไปรีไซเคิลได้ ซึ่งกำหนดว่าจะประกาศนโยบายนี้ช่วงวันสิ่งแวดล้อมโลกหรือ 4 มิ.ย. หากไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลงก็น่าจะเดินไปในทางนี้เพราะปัจจุบันบางส่วนได้นำถุงสปันบอนด์มาใช้แทนซึ่งเป็นพลาสติกเช่นกันสุดท้ายปัญหาก็ไม่ได้ลด” นายสมชัยกล่าว
นอกจากนี้ จากสถานการณ์ต่างๆ ที่เปลี่ยนไปทางสมาคมฯ ยังเห็นว่าโรดแมพที่รัฐบาลวางไว้ในการจัดการขยะพลาสติกน่าจะขยับเลื่อนออกไปโดยเฉพาะเดิมที่วางแผนที่จะกำหนดให้ตลาดสดที่อยู่ในการดูแลของราชการที่จะห้ามใช้ถุงพลาสติกวันที่ 1 ม.ค. 64 รวมไปถึงการกำหนดระยะเวลาการงดใช้พลาสติกประเภทใช้ครั้งเดียว (Single Use) ทั้งหมดที่มีการวางเป้าหมายในปี 2565 ก็น่าจะมีการปรับเลื่อนเช่นกัน
“โรดแมปเดิมที่คุยกันไว้คืองดใช้ถุงพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง หรือ single use plastic bags ที่มีความหนาไม่เกิน 36 ไมครอน ในปี 2565 หรือ อีก 2 ปีข้างหน้าแต่รัฐได้ทำเร็วกว่าแผนจึงคิดว่าสถานการณ์นี้น่าจะกลับมาทบทวนเพราะขยะพลาสติกทางแก้ที่ยั่งยืนคือการบริหารจัดการขยะไม่ใช่งดการใช้ทั้งหมด” นายสมชัยกล่าว